สหรัฐเริ่มบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรภาคน้ำมันและการเงินของอิหร่านครั้งหนักหน่วงรุนแรงที่สุดแล้วเมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี มั่นใจอิหร่านจะเอาตัวรอดจากการคว่ำบาตรครั้งนี้ได้อย่างภาคภูมิ ขณะรัฐบาลจีนประณามสหรัฐการขยายอำนาจศาลเกินขอบเขต ยืนกรานจีนจะทำการค้าทวิภาคีกับสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ต่อไป แต่ "ไมค์ ปอมเปโอ" แก้เกี้ยว ระบุจีนได้รับสิทธิยกเว้น
ชาวอิหร่านเผาธนบัตรดอลลาร์และธงชาติสหรัฐขณะชุมนุมประท้วงด้านนอกสถานทูตเก่าของสหรัฐในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2561 ก่อนหน้าที่มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐจะเริ่มมีผลในวันจันทร์ / AFP
มาตรการลงโทษอิหร่านรอบใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งสหรัฐคุยว่าเป็น "การแซงก์ชันที่หนักหน่วงรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา" เกิดขึ้น 6 เดือนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจถอนสหรัฐออกจากความตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการที่ครอบคลุม ปี 2558 เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้
ในคำแถลงถ่ายทอดทางโทรทัศน์ของอิหร่านวันเดียวกัน ประธานาธิบดีโรฮานีประกาศว่าอิหร่านจะอ้อมผ่านการคว่ำบาตรที่ผิดกฎหมายและไม่ยุติธรรมของสหรัฐไปได้อย่างภาคภูมิ เพราะมาตรการของสหรัฐนั้นขัดต่อกฎข้อบังคับระหว่างประเทศ
"พวกเราอยู่ในสภาวะสงครามทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญหน้ากับมหาอำนาจขี้รังแก ข้าพเจ้าเชื่อว่า ในประวัติศาสตร์อเมริกาไม่มีผู้ที่เข้าทำเนียบขาวคนใดที่ขัดต่อกฎหมายและอนุสัญญาระหว่างประเทศถึงเพียงนี้" เขากล่าว
ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งพุ่งเป้าเล่นงานอิหร่านนับแต่เขาเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐเมื่อต้นปี 2560 โจมตีว่า ความตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านลงนามไว้กับ 6 ชาติมหาอำนาจ ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐ, จีน, รัสเซีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และเยอรมนี นั้นมีข้อบกพร่องและไม่เพียงพอที่จะยับยั้งอิหร่านให้เลิกบ่อนทำลายเสถียรภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง
การคว่ำบาตรรอบใหม่นี้สหรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อตัดการส่งออกน้ำมัน ซึ่งลดลงไปถึงวันละ 1 ล้านบาร์เรล นับแต่เดือนพฤษภาคม และตัดสถาบันการเงินของอิหร่านออกจากระบบการเงินโลก ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ คุยไว้กับรายการ "เฟซเดอะเนชัน" ของสถานีซีบีเอสเมื่อวันอาทิตย์ด้วยว่า สหรัฐจะกดดันให้อิหร่านขายน้ำมันดิบไม่ได้เลย
รัฐบาลทรัมป์กล่าวไว้ว่า สหรัฐต้องการเจรจาทำข้อตกลงฉบับใหม่กับอิหร่านที่จะควบคุมการแทรกแซงของอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลาง และควบคุมโครงการมิสไซล์ของอิหร่านด้วย รัฐบาลอิหร่านยืนกรานปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้
ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีที่กรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2561 / Iranian Presidency / AFP
โรฮานีกล่าวว่า อิหร่านจะไม่เจรจาต่อรองใหม่อีก อันดับแรก สหรัฐต้องเคารพความตกลงที่ได้ข้อสรุปกันไปแล้วก่อน นั่นจึงเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาต่อรองครั้งใหม่
สหรัฐได้ให้สิทธิพิเศษแก่ 8 ประเทศที่ได้รับการยกเว้นจากมาตรการลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ ในจำนวนนี้รวมถึงอินเดีย, ญี่ปุ่น และตุรกี ที่สหรัฐยอมให้ซื้อน้ำมันจากอิหร่านได้ต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้และต่อตลาดโลก
นับแต่ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงและประกาศจะรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตร โดยที่ประเทศอื่นๆ ที่ร่วมลงนามต่างคัดค้านอย่างแข็งขัน มีบริษัทเอกชนและธนาคารหลายแห่งในประเทศเหล่านี้ที่ไม่ต้องการสร้างศัตรูกับกระทรวงการคลังสหรัฐถูกบีบให้ถอนตัวจากตลาดอิหร่านแล้ว รวมถึงบริษัท โททาล, เปอโยต์ และเรโนลต์ของฝรั่งเศส และบริษัท ซีเมนส์ ของเยอรมนี
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ รัฐบาลจีนยืนยันว่าจีนจะยังทำการค้ากับอิหร่านต่อไปตามปกติ หัวชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงว่า จีนคัดค้านการคว่ำบาตรโดยฝ่ายเดียวและการขยายขอบเขตอำนาจศาล จีนเชื่อว่าความร่วมมือปกติระหว่างจีนกับอิหร่านภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศนั้น ถูกกฎหมายและชอบด้วยกฎหมาย
โฆษกจีนผู้นี้ไม่ได้ตอบคำถามที่ว่าจีนอยู่ในกลุ่ม 8 ประเทศที่ได้รับการยกเว้นหรือไม่ แต่ยืนยันว่าจีนยังคง "ความร่วมมือปกติ" กับอิหร่านที่อยู่ภายใต้กรอบการทำงานของกฎหมายระหว่างประเทศ
เวลาต่อมา ปอมเปโอแถลงที่กรุงวอชิงตัน ประกาศรายชื่อ 8 ประเทศ ที่สหรัฐจะให้สิทธิพิเศษ ยกเว้นจากมาตรการคว่ำบาตรห้ามซื้อน้ำมันของอิหร่าน ได้แก่ จีน, อินเดีย, อิตาลี, กรีซ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และตุรกี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |