ใต้-อีสานเลือก'หน.ปชป.' ระบบลงคะแนนล่มซ้ำอีก


เพิ่มเพื่อน    

    หยั่งเสียงเลือกหัวหน้า ปชป.ภาคใต้-อีสานคึกคัก "นายหัวชวน" ใช้สิทธิ์ที่ตรัง แต่ระบบดันล่มขัดข้องเป็นระยะๆ ยืดเวลาถึง 2 ทุ่มชดเชย กกต.พรรคถกเครียด "ทีมวรงค์" แหกกฎก๊อบปี้ source  code ออกไปดูเอง ด้าน "มาร์ค" ร่อนหนังสือดัก หวั่นเปิดช่องโกงคะแนน ชงปิดจุดอ่อนนับจำนวนคนใช้สิทธิ์หน้าหน่วย
    เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดให้มีการลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้และภาคอีสาน โดยเป็นการลงคะแนนผ่านหน่วยเลือกตั้งที่พรรคจัดเตรียมไว้ให้ผ่านระบบ Raspberry Pi ขณะที่การลงคะแนนผ่านแอปพลิเคชัน "D-elect" ในระบบแอนดรอยด์ ได้ขยายเวลาถึงเที่ยงคืนวันที่ 5 พ.ย. เนื่องจากเดิมใช้ได้เฉพาะเวอร์ชัน 7 ขึ้นไป มีการปรับให้สมาชิกที่ใช้เวอร์ชัน 5 และ 6 ลงคะแนนได้ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าหน่วยเลือกตั้งเกือบทุกพื้นที่เกิดปัญหาระบบออนไลน์ขัดข้องเป็นระยะ
    ที่หน่วยเลือกตั้ง เขต 2 ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก  โดยมีนายไพร พัฒโน นายกเทศบาลนครหาดใหญ่, พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี อดีตผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว, นายภิรพล ลาภาโรจน์กิจ อดีต ส.ส.สงขลา เขต 2 และสมาชิกพรรคต่างทยอยเดินทางมาใช้สิทธิ์ที่หน่วยเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 08.00 น. แต่ปรากฏว่าเครื่องลงคะแนนขัดข้อง จึงได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยให้กาหมายเลขในบัตรเลือกตั้ง และให้สมาชิกนำบัตรใส่ในหีบบัตรหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคแทน 
    ที่ศูนย์ประสานงานพรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 เลขที่ 37/12 ถ.มหาราช ต.กระบี่ใหญ่ อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ ได้มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เดินทางมารอลงคะแนนตั้งแต่ช่วงเช้า แต่หลังจากที่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ได้เปิดให้ลงคะแนนผ่านระบบออนไลน์ ปรากฏว่าระบบล่มไม่สามารถยืนยันข้อมูลของสมาชิกได้ ทำให้สมาชิกต้องรอนาน เจ้าหน้าที่จึงได้แนะนำให้สมาชิกบางคนลงคะแนนผ่านแอปพลิเคชัน 
    ที่ศูนย์ประสานงานพรรคประชาธิปัตย์อำเภอห้วยยอด เลขที่ 35 ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง  ตั้งแต่ 08.00 น. สมาชิกทยอยมาลงคะแนนกันอย่างต่อเนื่อง แต่หลายคนต้องพบกับความผิดหวัง บางคนตรวจสอบไม่พบว่ามีรายชื่อตนเองทั้งที่มีบัตรสมาชิก รวมทั้งระบบลงคะแนนก็ล่มเป็นระยะ
    ส่วนที่บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 5 ต.โคกหล่อ อ.เมืองตรัง ซึ่งเป็นบ้านของ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ อดีต ส.ส.เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 3,000 คนนั้น มีสมาชิกเดินทางมาน้อยเนื่องจากเลือกผ่านระบบแอปแทน อย่างไรก็ตาม เวลา 10.30 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ได้เดินทางมาหยั่งเสียงด้วย แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์เนื่องจากป่วยเป็นหวัดเจ็บคอ
    ที่หน่วยเลือกตั้ง บ้านเลขที่ 10/25 ถ.รัตนกิจ ต.ยะรม อ.เบตง (เขต 3) จ.ยะลา เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยมีนายณรงค์ ดูดิง อดีต ส.ส.ยะลา เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรคทยอยเดินทางมารอหยั่งเสียงตั้งแต่ก่อน 08.00 น. ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีความตื่นตัวเรื่องการเมือง และไม่อยากหยั่งเสียงผ่านแอปเพราะเกรงขั้นตอนผิดพลาดและคะแนนหาย 
    ที่ศูนย์ประสานงานพรรคประชาธิปัตย์ เลขที่ 121 หมู่ที่ 2 ถ.โชคชัย-เดชอุดม เขตเทศบาลตำบลประโคนชัย อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ บรรยากาศคึกคักไม่แพ้พื้นที่ภาคใต้ โดยมีนายภูมิสิทธิ์ มาประจง  อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรคจากหลายอำเภอของบุรีรัมย์ทยอยเดินทางมาใช้สิทธิ์ตั้งแต่เวลา 08.00 น. แต่ปรากฏว่าเครื่องลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคระบบ Raspberry Pi ขัดข้องไม่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณการใช้งานได้ เจ้าหน้าที่ต้องเร่งแก้ไขจนกระทั่งเวลา  10.45 น.จึงสามารถใช้งานได้ แต่เครื่องขัดข้องอยู่เป็นระยะ ท่ามกลางการเฝ้าติดตามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจและทหารอย่างใกล้ชิด
    ต่อมาในช่วงเย็น นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ เลขานุการคณะกรรมการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (กกต.พรรค) เปิดเผยว่า หลังจากเปิดให้สมาชิกใช้สิทธิ์หยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคในพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้ตั้งแต่ 08.00 น. ปรากฏว่าประชาชนให้ความสนใจมาใช้สิทธิ์หยั่งเสียงจำนวนมากที่หน่วยลงคะแนนซึ่งมีประมาณ 200 หน่วยรวม 2 ภาค มีเครื่องลงคะแนนหยั่งเสียง 230 เครื่อง แต่บางพื้นที่มีปัญหาเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดความล่าช้าในบางช่วง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามหน่วยลงคะแนนได้แจ้งปัญหาเข้ามาที่ศูนย์กลาง พร้อมทั้งแจ้งว่าประชาชนเรียกร้องให้ขยายเวลาการลงคะแนนออกไป กกต.พรรคจึงหารือกันและมีมติว่าจะขยายเวลาการใช้สิทธิ์จากเดิมให้ลงคะแนนได้ถึงเวลา  18.00 น.ออกไปเป็น 20.00 น. 
    ส่วนในวันที่ 9 พ.ย.ที่เป็นวันลงคะแนนในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และภาคเหนือ ที่เปิดให้ลงคะแนนในเวลา 08.00-18.00 น.นั้น กกต.พรรคจะรอดูความเหมาะสมอีกครั้ง แต่ในเบื้องต้นให้ยึดเวลาเดิมไปก่อน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้การลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้จะสามารถดำเนินการได้ แต่ยังมีประเด็นที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงจากทีม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้สมัครหมายเลข 2 ซึ่งได้คัดลอก source code ออกไป ผิดจากข้อตกลงเดิมที่ให้กรรมการไอทีทั้ง 3 ฝ่ายเข้าถึงร่วมกันได้แต่ห้ามเอาออกไป เพราะจะทำให้เกิดช่องว่างที่อาจเกิดการปลอม source  code ยิงคะแนนเข้าสู่ระบบ Blockchain และไม่สามารถตรวจสอบจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ที่แท้จริงได้ ที่สำคัญจะส่งผลต่อผลคะแนนจนอาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตได้ 
    ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัครหมายเลข 1 จึงได้ทำหนังสือถึงนายชุมพล กาญจนะ ประธาน กกต.พรรคเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ขอให้ปิดจุดอ่อนของระบบการหยั่งเสียง 3 ข้อ คือ 1.ให้มีการ set up ระบบ VPN server เพื่อป้องกันการเจาะระบบ Raspberry Pie จากคนที่ไม่หวังดี 2.ขอให้มีการเก็บ Log File (ข้อมูลจราจรในคอมพิวเตอร์) จากทุก server ที่ใช้ในการหยั่งเสียงตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ และ 3.ขอให้มีการบันทึกจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ตามหน่วยเลือกตั้งเพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาตรวจสอบกับ Log File ซึ่งจะทำให้ทราบถึงจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ที่แท้จริง
    โดยที่ประชุม กกต.ใช้เวลาพิจารณานานกว่า 7 ชั่วโมง ซึ่งตัวแทนทีม นพ.วรงค์ไม่เห็นด้วยตามข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ โดยในข้อแรกระบุว่าจะทำให้ระบบเกิดความซับซ้อนจนเกิดปัญหาขึ้นมาอีก กกต.จึงเห็นร่วมกันให้ตกไป แต่ข้อ 2 และข้อ 3 ที่ประชุมต้องใช้วิธีการลงมติ โดยเสียงส่วนใหญ่ให้ปฏิบัติตามข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เพราะเห็นว่าจะทำให้การเลือกตั้งตรวจสอบผู้มาใช้สิทธิ์ที่แท้จริงได้ และจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต จนทำให้ตัวแทนทีม นพ.วรงค์ไม่พอใจและเดินออกจากที่ประชุม
    นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นพ.วรงค์ได้ทำหนังสือถึงประธาน กกต.พรรค ขอให้ตรวจสอบบริษัทรับจ้างดำเนินการด้านไอทีให้การหยั่งเสียงครั้งนี้ โดยเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ไม่ต้องจัดให้มีการลงลายมือชื่อ ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือการนับจำนวนผู้หยั่งเสียง โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้รู้จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งที่การเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้น ส่งผลให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งวันที่ 9 พ.ย. และจะนำไปสู่การดำเนินการใช้อิทธิพลการเลือกตั้งที่ไม่ชอบได้ 2.ให้ดำเนินการลงโทษและมีคำสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่พรรคที่ดูแลด้านคอมพิวเตอร์ เข้าถึง รับรู้ รับทราบ ตรวจสอบฐานข้อมูลของผู้ใช้สิทธิ์หยั่งเสียงเลือกตั้งเกี่ยวข้องกับฐานข้อมูล เพราะยังไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ 4 ฝ่าย
    3.ให้ตรวจสอบความสามารถและคุณสมบัติของบริษัทที่มาจัดทำ OTP (ชุดรหัสผ่านใช้ครั้งเดียว)  เนื่องจากพบว่าไม่ได้มาตรฐานและสามารถโกงเลือกตั้งได้ ขอให้เปลี่ยนบริษัทใหม่ทันที และ 4.ให้เรียกบริษัท We ever Co.,Ltd. ที่รับจ้างเขียนโปรแกรมและจัดหาอุปกรณ์ในการลงคะแนนหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคมาตรวจสอบ เนื่องจากไม่สามารถจัดให้มีการลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้พรรคเสียหายและเป็นที่ไม่พึงพอใจของสมาชิกพรรคที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งใน กทม.  ภาคกลาง และภาคเหนือ  
    ทั้งนี้ นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ เลขานุการ กกต.พรรค กล่าวว่า กกต.ได้รับหนังสือแล้วแต่ไม่มีเวลาพิจารณา และได้หารือเบื้องต้นว่ากรณีแรกที่ต้องการให้ยกเลิกพิมพ์นิ้วมือไม่สามารถทำได้ เนื่องจากวันนี้มีการลงคะแนนแล้ว สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่พรรคก็มีการพูดคุยกับกรรมการไอทีของทั้งสามฝ่ายนอกรอบไปแล้วว่า เจ้าหน้าที่พรรคไม่ได้มีเจตนา ซึ่งว่ากล่าวตักเตือนไปแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"