กลัวกันใหญ่! กรรมการ สปสช. 4 คนไขก๊อกพ้นบอร์ดแล้ว หลังประกาศ ป.ป.ช.ให้ผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน "วัชรพล" ยันมีทางออกไม่ใช่ปิดบ้านหนี เตรียมรายงานรัฐบาล คสช. ย้ำเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญต้องทำเพื่อความโปร่งใส ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการจี้ ป.ป.ช.ทบทวน หวั่นกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่ออกหนีเปิดขุมทรัพย์
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีบรรดาประธานสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทยอยลาออกจากตำแหน่ง หลังประกาศ ป.ป.ช.เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ว่า ขณะนี้เรากำลังรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และรอรับหนังสือแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจากสภามหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากที่ได้ทราบอย่างไม่เป็นทางการจากสภามหาวิทยาลัย ทราบว่ามหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งจะส่งหนังสือทักท้วงมาถึง ป.ป.ช. จากนั้น ป.ป.ช.จะรับไว้พิจารณา
เบื้องต้นได้ชี้แจงไปว่าจะต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมาย เนื่องจากเป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่หากพบว่ามีเหตุผลที่สามารถรับไว้พิจารณาได้ก็จะต้องพิจารณา ซึ่งยังมีเวลาเนื่องจากประกาศฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ แต่ตอนนี้กฎหมายเขียนไว้อย่างไรต้องปฏิบัติตามนั้นไม่มีทางเป็นอย่างอื่น
"กฎหมายใหม่บัญญัติให้ข้าราชการทุกคนต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ข้าราชการระดับสูงต้องยื่นต่อ ป.ป.ช. ส่วนที่เหลือยื่นต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐกว่าล้านคน ในอนาคตจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินทุกคนเพื่อความโปร่งใส แต่อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.พร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย"
ผู้สื่อข่าวถามว่า สภามหาวิทยาลัยขอให้ทบทวนและยกเลิกให้ผู้บริหารในสภามหาวิทยาลัยยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพลตอบว่า กฎหมายไม่เปิดโอกาสให้เราทำเช่นนั้น เพราะถ้าทำได้คงไม่ออกประกาศดังกล่าวตั้งแต่ต้น เนื่องจากกฎหมายบัญญัติว่าผู้บริหารระดับสูงจะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แม้รู้ว่าจะมีปัญหาตามมาเช่นในกรณีนี้ ที่จะให้ส่งผลมีการลาออกจากตำแหน่ง ทำให้หน้าที่การงานต้องสะดุดหยุดลง ดังนั้นจึงต้องหาหนทางอย่างอื่นว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง หากไม่สามารถแก้ไขได้ก็อาจต้องเลื่อนระยะเวลาการยื่นในช่วงเริ่มต้นนี้เพื่อให้ทุกอย่างลงตัวมากขึ้น เราเข้าใจถึงปัญหาดี แต่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
รายงานรัฐบาล คสช.
เขากล่าวว่า ป.ป.ช.จะรายงานปัญหาดังกล่าวให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบต่อไป พร้อมกับประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก ไม่ใช่ว่าเราไม่รับฟัง โดยในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันอังคารที่ 6 พ.ย.นี้ จะมีการหยิบยกปัญหาดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมเป็นเรื่องเร่งด่วนด้วย
"เรื่องนี้ต้องมีทางออกอยู่แล้ว เรารับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าประกาศออกมาแล้วก็ปิดบ้านทันที ส่วนจะขอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 หรือไม่นั้น จะต้องมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนว่าควรจะมีทางออกอย่างไร เพราะเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เขียนกฎหมาย ป.ป.ช.นี้เกี่ยวกับการแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น เพื่อต้องการให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่วนทางออกจะเป็นอย่างไรจะชี้แจงให้สาธารณชนได้ทราบต่อไป" ประธาน ป.ป.ช.กล่าว
นายวีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) เผยว่า CHES ได้ทำหนังสือถึงประธาน ป.ป.ช.เพื่อสนับสนุนประกาศของ ป.ป.ช.เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 ในราชกิจจานุเบกษา เพราะกระบวนการดังกล่าวจะช่วยสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงานในสถาบันอุดมศึกษา
"การทำหนังสือถึง ป.ป.ช.ของกลุ่มอธิการบดีบางคน เพื่อเอาใจกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่หลายคนคิดจะลาออก เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นฐานเสียงอำนาจให้กับอธิการบดีเหล่านั้นขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโต หรือเรียกง่ายๆ ว่าสภาเกาหลัง แล้วประชาชนจะมองสังคมอุดมศึกษาอย่างไร กับคนที่ไม่ตรงไปตรงมา คนมีจริยธรรม เสียสละ ทำงานจริง เพื่อประโยชน์สังคม ย่อมไม่กลัวการตรวจสอบ หากโปร่งใส ต้องตรวจสอบได้ นอกจากนี้ผมว่า ป.ป.ช.ควรจะตรวจสอบไปถึงคณบดีของมหาวิทยาลัยด้วย เพราะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมาก บางคณะมีเงินรายได้ต่อปีถึง 300 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่งอีก อย่างไรก็ตามกฎหมายของไทย เมื่อประกาศใช้แล้วจะมาล้อเล่นให้ทบทวนคงไม่ใช่ และที่ว่าเป็นกลุ่มวิชาการไม่ต้องถูกตวจสอบเป็นข้ออ้าง หากได้ยกเว้นแล้วหน่วยงานอื่นๆ ก็จะเอาเป็นตัวอย่างได้" เลขาฯ CHES กล่าว
จี้ ป.ป.ช.ทบทวน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือถึง ป.ป.ช.เพื่อทบทวนเรื่องดังกล่าว ไม่ทราบว่าสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคเอกชนในสภาของระดับมหาวิทยาลัยและระดับอาชีวศึกษา ก็รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่จะต้องเปิดเผยทรัพย์สิน และได้แสดงเจตจำนงเพื่อขอลาออก ดังนั้นตนจึงมองว่าการกำกับอย่างหนึ่ง เช่นเรื่องความโปร่งใส ก็อาจจะทำให้มีผลเสียอีกด้านหนึ่ง คงต้องมีการหารือร่วมกันในเรื่องนี้ โดยตนและ นพ.อุดมจะไปร่วมหารือกับ ป.ป.ช.ในเร็วๆ นี้เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน
"หากไม่สามารถทบทวนได้คงต้องตั้งสติดูว่าจะทำอย่างไรต่อ เพราะการที่กรรมการสภาขอลาออกก็ถือเป็นสิทธิ์ เราบังคับเขาไม่ได้ และเราก็คงต้องเดินต่อไปข้างหน้า เพราะขณะนี้ทิศทางการขับเคลื่อนการศึกษาของเราค่อนข้างที่จะชัดเจนอยู่แล้ว แต่หากมีภาคเอกชนอยู่ด้วยผมคิดว่าเราจะเดินได้ดีกว่าเขาไม่อยู่แน่นอน ดังนั้นจึงขอให้มีการหารือร่วมกับ ป.ป.ช.ก่อน"
ถามว่าเห็นด้วยกับหลักการเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินเพื่อสร้างความโปร่งใสหรือไม่ นพ.ธีระเกียรติตอบว่า เรื่องความโปร่งใสจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้น แต่ความโปร่งใสนั้นสามารถแสดงได้หลายรูปแบบ อีกทั้งยังคงต้องไปดูด้วยว่าภาคเอกชนที่มาเป็นกรรมการสภามีอำนาจหน้าที่อะไร อนุมัติเรื่องใดได้หรือไม่ เข้ามาในฐานะอะไร และตนเข้าใจว่า ป.ป.ช.มีเจตนาที่ดี แต่หากจะใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมดกับเรื่องโปร่งใสก็อาจจะส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ
4 บอร์ด สปสช.ไขก๊อก
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดถึงอย่างมากในสภาอุตสาหกรรม เพราะกรรมการในสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มาจากตัวแทนภาคเอกชน ดังนั้นการที่จะต้องมาแสดงบัญชีทรัพย์สินทั้งของตัวเอง คู่สมรส และหากผิดพลาดจะต้องโทษคดีอาญานั้น อาจจะทำให้ไม่มีกำลังใจในการทำงานร่วมกัน ซึ่งตนมองว่าเป็นปัญหาอีกประเด็นหนึ่งและเป็นปัญหาใหญ่ด้วย เพราะว่าทุกวันนี้ภาคการศึกษาต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วย ส่วนภาคเอกชนเองก็ต้องการที่จะเข้ามาช่วยให้สามารถขับเคลื่อนไปด้วยกัน อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้พบกับอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นท่านหนึ่ง ซึ่งพบว่ากรรมการสภาลาออกแล้วจำนวน 5 รายหลังจากที่มีการเผยแพร่ประกาศดังกล่าว
ขณะที่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้มีกรรมการ 4 ท่านที่ยื่นลาออกไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยทั้ง 4 ท่านถือเป็นกำลังสำคัญในการทำงานมาตลอด แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้กระทบกับการทำงาน ยังครบองค์ประชุม แต่ทั้ง 4 ท่านทำงานดีมาตลอด จึงอยากขอให้ช่วยกันทำงานต่อ ตนจึงได้ติดต่อเพื่อหารือทางโทรศัพท์กับทั้ง 4 ท่าน แต่รับเพียง 3 ท่าน โดยขอให้ทั้งหมดทบทวนเรื่องการยื่นลาออก ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาให้พวกท่านได้พิจารณาสักระยะ โดยเหตุผลของการลาออก ตนคงบอกไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร หรือเรื่องจากประกาศของ ป.ป.ช.หรือไม่ หรืออาจเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ยืนยันว่าทั้งหมดทำงานดีมาตลอดและอยากขอให้ทำงานด้วยกันต่อไป
ทั้งนี้ กรรมการ สปสช. 4 คนที่ยื่นลาออกจากบอร์ด สปสช.แล้ว ประกอบด้วย 1.นพ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ทางเลือก 2.นางชุมศรี พจนปรีชา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง 3.นายสมใจ โตศุกลวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย และ 4.นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยในการประชุมบอร์ด สปสช.มีมติให้หารือเรื่องนี้อีกครั้งว่าทั้ง 4 ท่านจะทบทวนการลาออกหรือไม่ แต่ในการประชุมบอร์ดครั้งนี้ ปรากฏว่ากรรมการทั้ง 4 ท่านไม่ได้มาเข้าร่วมในการประชุมแต่อย่างใด
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ประกาศของ ป.ป.ช.นั้นจะมีผลภายใน 90 วัน และการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้นหลายอย่างเป็นความลับทางกฎหมาย ไม่ได้มีการนำข้อมูลไปเปิดเผย ต่างกับการยื่นบัญชีตรวจสอบทรัพย์สินของฝ่ายการเมือง โดยกรรมการบอร์ดต่างๆ จะมีการเปิดเผยข้อมูลก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นๆ มีปัญหาหรือมีเรื่องเท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |