การเมืองขณะนี้ ภาพใหญ่อยู่ที่การรอให้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีผลหลังวันที่ 12 ธ.ค. ซึ่งขั้นตอนต่อจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องมีการออก พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ภายในไม่เกิน 150 วัน นับจาก 12 ธ.ค.2561 แต่ก่อนหน้านั้นก็มีข่าวว่า ปลายเดือน พ.ย.นี้ กกต.จะนัดประชุมตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อหารือ-ขอทราบท่าทีพรรคการเมืองก่อนที่จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส.
ทั้งนี้ เมื่อการเมืองไปถึงช่วงกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้-กกต.มีการออกพระราชกฤษฎีการเลือกตั้ง มันก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ คสช.ยากจะยื้อ ไม่ยอม ปลดล็อกพรรคการเมือง ถึงตอนนั้นก็ต้องปลดล็อกไปโดยปริยาย และหากการเมืองไปถึงจุดนั้น ความคึกคักมีมากขึ้นจากตอนนี้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ก็เห็นความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งพรรคเก่า-พรรคใหม่-พรรคใหญ่-พรรคเล็ก กับการเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้ง
หากโฟกัสไปที่การเคลื่อนไหวของ "พรรคใหม่-พรรคเล็ก" ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็พบความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ซึ่งแม้ในหน้าสื่ออาจไม่สามารถชิงพื้นที่ได้มากนัก เพราะโดยหลัก สื่อและสังคมก็จะสนใจไปที่พรรคใหญ่-กลางเป็นหลัก แต่เป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องสรุปรีวิวให้เห็นทิศทาง
เริ่มจาก พรรคพลังธรรมใหม่ ที่คนทำพรรคก็คือ อดีตคนพรรคพลังธรรม ที่เคยมีหัวหน้าพรรคอย่าง พลตรีจำลอง ศรีเมือง-ทักษิณ ชินวัตร และหลายคนในแวดวงการเมืองตอนนี้ก็เคยอยู่พลังธรรมมาก่อน อย่างพรรคเพื่อไทยก็เช่น สุดารัตน์ เกยุราพันธุ, พงศ์เทพ เทพกาญจนา หรือประชาธิปัตย์ ก็อย่าง ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, ถวิล ไพรสณฑ์, วิลาศ จันทรพิทักษ์ เป็นต้น
พลังธรรมใหม่ ยุคนี้มีอดีตคนพลังธรรมคือ นพ.ระวี มาศฉมาดล อดีตแนวร่วม กปปส.เป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พลังธรรมใหม่มีการประชุมผู้สมัคร ส.ส.และแกนนำพรรค
โดย หมอระวี ย้ำว่า พรรคพลังธรรมใหม่พร้อมแล้วสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.62 และสิ่งที่พรรคจะเคลื่อนต่อจากนี้ก็เช่น 20 พ.ย.นี้ พรรคจะทำการปฐมนิเทศ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.สัดส่วน 150 คน โดยตอนนี้พรรคมีสมาชิกพรรคครบ 80,000 คนก่อนการเลือกตั้ง
"จะเป็นการพิสูจน์ให้ประชาชนทั่วประเทศเห็นว่าพรรคพลังธรรมใหม่ คือพรรคที่ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง เราเป็นพรรคที่ประชาชนมาร่วมกันเสียสละเวลา เงินทอง เพื่อที่จะสร้างพรรคของประชาชนจริงๆ โดยเราไม่ได้มีเงินทองมากมายที่จะไปสู้กับพรรคอื่น แต่เราจะใช้อุดมการณ์ ความมุ่งมั่น พยายาม ของสมาชิกทั่วทั้งประเทศที่จะทำการสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายหลักคือ เราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นดินแดนที่ปราศจากคอร์รัปชัน และต้องการปฏิรูปพลังงานไทย" นพ.ระวีระบุ
หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส.-คปท.สมัยรัฐบาลเพื่อไทย แต่เน้นหนักไปที่การเคลื่อนไหวเรื่องพลังงาน-ทวงคืน ปตท. ยังพูดถึงท่าทีของพรรคต่อการเมืองหลังการเลือกตั้งไว้ว่า สถานการณ์พรรคการเมืองเวลานี้ แบ่งออกไป 3 ก๊ก 1.คือพรรคประชาธิปไตยที่พรรคเพื่อไทยเป็นคนนำ 2.พรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ และ 3.ก๊กเสรีประชาธิปไตยที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นธงนำ
"สำหรับพรรคพลังธรรมใหม่เราขอยืนยันว่าเราไม่ได้อยู่ใน 3 ก๊กนี้ เราไม่ต้องการประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่เราต้องการธรรมาธิปไตย คือประชาธิปไตยที่เป็นธรรม หากเราไม่ประสบความสำเร็จได้คะเนนเสียงตามที่วางเป้าหมายไว้ เราจะให้สมาชิกในพรรคทั่วประเทศลงประชามติเลือกรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคอื่นๆ ที่พวกเราเห็นว่ามีความเหมาะสมมากที่สุดในขณะนั้น"
ขณะที่อีกหนึ่งพรรคเล็ก อย่าง พรรคภราดรภาพ ที่มีอดีต ส.ส.กทม.ไทยรักไทย ยุคเลือกตั้งปี 2544 ม.ร.ว.ดำรงค์ดิศ ดิศกุล เป็นหัวหน้าพรรคภราดรภาพ ซึ่งเป็นพรรคที่มีกระแสข่าวว่า คนในกลุ่มสามมิตร ของสมศักดิ์ เทพสุทิน เชื่อมต่อเอาไว้ เผื่อเกิดเหตุกรณีไม่คาดฝันกับพรรคพลังประชารัฐ เช่น กกต.รับรองการตั้งพรรคพลังประชารัฐไม่ทันในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ หรือดีลการเข้าพรรคพลังประชารัฐของกลุ่มสามมิตรไม่ลงตัว ทางสมศักดิ์ก็จะขนลูกทีมมาอยู่กับพรรคภราดรภาพ
อันพบว่า แม้จะเป็นพรรคที่เปิดตัวไม่หวือหวา สื่อไม่ค่อยสนใจมาก แต่ทางแกนนำพรรคก็เริ่มทำกิจกรรมการเมืองกันบ้างแล้ว หลังเห็นพรรคใหญ่เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักผ่านกิจกรรมการรับสมัครสมาชิกพรรค
อย่างเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน ม.ร.ว.ดำรงค์ดิศ ก็ไปที่ตลาดสดซอยเพชรเกษม 79 เพื่อรับสมัครสมาชิกพรรคในพื้นที่เขตหนองแขม โดยเริ่มจากพื้นที่ตลาดสดซอยเพชรเกษม 79, ตลาดนัดซอยเพชรเกษม 77, ตลาดอุ่นเรือน และตลาดอัศวิน
หัวหน้าพรรคภราดรภาพ-อดีต ส.ส.ไทยรักไทย บอกว่า ที่ทางพรรคเคยประกาศเป้าหมาย ส.ส.ไว้ที่ 10 คน ไม่ใช่เป้าหมายที่คาดหวังสูงเกินไป พอหลังจากที่พรรคเริ่มออกนโยบายก็คิดว่าจะได้สมาชิกเข้ามาเพิ่ม เพราะเป้าหมายของพรรคคือการทำอย่างไรไม่ให้มีการแบ่งแยกซ้ายขวาเหมือนวันนี้ ซึ่งการเดินหาสมาชิกจะไปทั่วประเทศ แต่คงไม่สามารถลงทุกพื้นที่ได้ พรรคจะมีตัวแทนแบ่งงานกันไป ใครรับผิดชอบภาคไหน ก็ไปหาสมาชิกที่ภาคดังกล่าว
ม.ร.ว.ดำรงค์ดิศ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวเป็นพรรคสาขาของกลุ่มสามมิตร พลังประชารัฐว่า ผมมาจากพรรคไทยรักไทย และเคยเป็นกรรมการบริหารพรรคมาก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วพรรคของเราจะพยายามเป็นตัวเชื่อมของคนละฝ่ายมาพูดคุยกัน ถอยคนละก้าว หรือถอยได้แค่ไหนเพื่อการพูดคุยกัน
และปิดท้ายที่ พรรคพลังท้องถิ่นไท ของ ชัช เตาปูน หรือ ชัชวาลย์ คงอุดม อดีต ส.ว.กทม.-ผู้กว้างขวางย่านเตาปูน-บางซื่อ ก็มีการเปิดตัวแกนนำพรรคกันไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
โดยกรรมการบริหารพรรคพลังท้องถิ่นไท (พทท.) มีด้วยกัน 29 คน อาทิ ชัชวาลย์ เป็นหัวหน้าพรรค เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นักการเมืองท้องถิ่นคนดัง เป็นรองหัวหน้าพรรค ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ อดีต สปช. เป็นเลขาธิการพรรค ชื่นชอบ คงอุดม อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโฆษกพรรค รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือฟิล์ม อดีตนักร้องนักแสดงชื่อดัง เป็นรองโฆษกพรรค
ชัช เตาปูน ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับคนในรัฐบาล คสช.และคนในพรรคพลังประชารัฐ ทั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่า พรรคพลังท้องถิ่นไทจะได้ ส.ส.อย่างน้อย 20 ที่นั่ง สำหรับเรื่องการทำงานร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ นั้น พรรคสามารถทำงานร่วมได้กับทุกพรรค ถ้ามีนโยบายใกล้เคียงกันก็ไปด้วยกันได้ เราไม่เลือกว่าจะอยู่ฝ่ายใด และเมื่อพรรคตนลงเลือกตั้งแล้ว ก็อยากจะเป็นรัฐบาล ไม่ใช่ฝ่ายค้าน มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.2562
เป็นความเคลื่อนไหวของพรรคเล็ก-พรรคใหม่ ที่ค่อยๆ วอร์มอัพการเมือง ก่อนเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งแม้พรรคเหล่านี้อาจไม่ใช่พรรคใหญ่ ที่จะเป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง แต่ก็ไม่แน่ พรรคเล็ก-พรรคใหม่ ดังกล่าวและอีกหลายพรรคที่ไม่ได้นำมารีวิว บางพรรคน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |