5 พ.ย. 61 - พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีบรรดาประธานสภา และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ทยอยลาออกจากตำแหน่งหลังต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ว่า ขณะนี้เรากำลังรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และรอรับหนังสือแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจากสภามหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากที่ได้ทราบอย่างไม่เป็นทางการจากสภามหาวิทยาลัย ทราบว่ามหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฎทุกแห่ง จะส่งหนังสือทักท้วงมาถึง ป.ป.ช. จากนั้นป.ป.ช. จะรับไว้พิจารณา
พล.ต.อ. วัชรพล กล่าวว่า เบื้องต้นได้ชี้แจงไปว่า จะต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมาย เนื่องจากเป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่หากพบว่ามีเหตุผลที่สามารถรับไว้พิจารณาได้ก็จะต้องพิจารณา ซึ่งยังมีเวลา เนื่องจากประกาศฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ แต่ตอนนี้กฎหมายเขียนไว้อย่างไรต้องปฏิบัติตามนั้นไม่มีทางเป็นอย่างอื่น โดยกฎหมายใหม่บัญญัติให้ข้าราชการทุกคนต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ข้าราชการระดับสูงต้องยื่นต่อป.ป.ช. ส่วนที่เหลือยื่นต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐกว่าล้านคน ในอนาคตจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินทุกคนเพื่อความโปร่งใส แต่อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.พร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่า สภามหาวิทยาลัยขอให้ทบทวนและยกเลิกให้ผู้บริหารในสภามหาวิทยาลัย ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินต่อป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า กฎหมายไม่เปิดโอกาสให้เราทำเช่นนั้น เพราะถ้าทำได้คงไม่ออกประกาศดังกล่าวตั้งแต่ต้น เนื่องจากกฎหมายบัญญัติว่าผู้บริหารระดับสูงจะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แม้รู้ว่าจะมีปัญหาตามมาเช่นในกรณีนี้ ที่จะให้ส่งผลมีการลาออกจากตำแหน่ง ทำให้หน้าที่การงานต้องสะดุดหยุดลง ดังนั้น จึงต้องหาหนทางอย่างอื่นว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง หากไม่สามารถแก้ไขได้ก็อาจต้องเลื่อนระยะเวลาการยื่นในช่วงเริ่มต้นนี้ เพื่อให้ทุกอย่างลงตัวมากขึ้น เราเข้าใจถึงปัญหาดี แต่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช. จะรายงานปัญหาดังกล่าวให้รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบต่อไป พร้อมกับประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก ไม่ใช่ว่าเราไม่รับฟัง โดยในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ในวันอังคารที่ 6 พ.ย.นี้ จะมีการหยิบยกปัญหาดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม เป็นเรื่องเร่งด่วนด้วย
“เรื่องนี้ต้องมีทางออกอยู่แล้ว เรารับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายไม่ใช่ว่าประกาศออกมาแล้วก็ปิดบ้านทันที ส่วนจะขอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 หรือไม่นั้น จะต้องมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เสียก่อนว่าควรจะมีทางออกอย่างไร เพราะเจตนารมย์ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เขียนกฎหมาย ป.ป.ช.นี้เกี่ยวกับการแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้นเพื่อต้องการให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่วนทางออกจะเป็นอย่างไรจะชี้แจงให้สาธารณะชนได้ทราบต่อไป”ประธาน ป.ป.ช. กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |