เรียนรู้วิธีเอาตัวรอดในทะเลเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
ปัญหาขยะในท้องทะเลยังคงเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงในแง่การสร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจสังคมประเทศ และไม่ได้มีแต่เพียงผู้ที่ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ออกมาปกป้องท้องทะเล โดยการคิดค้นนโยบายหรือกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเท่านั้น กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำของไทยกว่า 20 องค์กร อาทิ Skin dive Thailand, Diving diary, Sailing Yacht Pattaya and Phuket, DiveDD, Skin dive Ching Mai ฯลฯ ได้จับมือกันพัฒนาโครงการ “Sustainable Ocean Ambassador” หรือทูตมหาสมุทร เพื่อสื่อสารการอนุรักษ์และหยุดวิกฤติขยะในท้องทะเลไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UNESCAP)
นายไมเคิล บอทท์ ผู้แทนด้านการค้า การลงทุน และนวัตกรรม คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก องค์การสหประชาชาติ (UNESCAP) กล่าวว่า โครงการความร่วมมือ Sustainable Ocean Ambassador อยู่ภายใต้แนวทางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 12) ผลิต และบริโภคอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 14) การใช้ทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกร่วมกับอีก 193 ประเทศทั่วโลก มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร และทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีพรมแดนติดกับ 2 มหาสมุทร ได้แก่ มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยมีปริมาณพลาสติก น้ำเสีย และขยะในรูปแบบอื่นๆ ที่ไหลลงสู่ทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของประเทศทั่วโลก และมีส่วนก่อให้เกิดขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากที่สุดของโลก จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษของไทย เผยว่า ในปี 2560 มีขยะมูลฝอยในจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มากถึง 11.47 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติกประมาณ 340,000 ตัน โดยร้อยละ 10-15 มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ทะเลได้ ถือเป็นสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับขนาดของประเทศและระดับของการพัฒนาประเทศ
นายไมเคิล กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณพลาสติกเพิ่มขึ้น เกิดจากคนไทยใช้ถุงพลาสติกโดยเฉลี่ยจำนวน 8 ใบต่อวันต่อคน ส่วนใหญ่มาจากการใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหารที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งผู้จำหน่ายอาหารริมถนน พลาสติกเหล่านี้มีโอกาสที่จะไหลลงสู่ท้องทะเลได้ง่าย ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่อยู่ใกล้ทะเล แต่เป็นทุกพื้นที่ในประเทศมีส่วนทำให้ลงสู่ทะเลได้ สำหรับโครงการในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือช่วยตรวจสอบย้อนกลับขยะในทะเล โดยการจัดทำบันทึก และเก็บกู้ เพื่อพัฒนาแนวทางลดปริมาณขยะในท้องทะเลไทยอย่างยั่งยืน จากความตั้งใจและมุ่งมั่นของผู้ประกอบการเอกชนไทย
ด้านนายนิวัช รุ่งเรืองกนกกุล ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Skin Dive Thailand และผู้บริหาร บริษัท ไดฟ์ ดี ดี จำกัด กล่าวว่า สัตว์ทะเลเริ่มเสียชีวิตจากการกินซากถุงพลาสติกมากขึ้นปีละกว่า 100 ตัว โดยเฉพาะลูกโลมา เต่าทะเล วาฬ และพะยูน รวมถึงมีสัตว์ทะเลที่อยู่ในกลุ่มอาหารของมนุษย์ก็มีโอกาสบริโภคขยะเหล่านี้เช่นกัน ส่งผลให้ปัญหาที่ตามมา คือ ไมโครพลาสติกที่แตกตัวลงสู่ทะเลและสัตว์ทะเล นำเข้ามาสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการบริโภคสัตว์ทะเล โดยพื้นที่ทะเลก็เหมือนกับพื้นปูนในอาคาร ที่มองแล้วเหมือนสะอาด แต่ถ้าเอาไม้กวาดไปกวาดจะมองเห็นฝุ่นกองรวมกัน ส่วนในทะเลก็เห็นไมโครพลาสติก จากการดำน้ำจะพบอวนของชาวประมงที่ติดอยู่ตามตอ กิ่งไม้ ก้อนหินที่เก็บไม่หมดเป็นปัญหาไม่แพ้พลาสติก
นายนิวัช กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงเรียนสอนดำน้ำและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้พัฒนาความร่วมมือโครงการขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทาง และสื่อกลางในการสื่อสารการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้แก่คนไทยทั้งประเทศได้รับทราบและมีจิตสำนึกร่วมกัน รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรความยั่งยืนของมหาสมุทร โดยเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือภาคประชาสังคม และเครือข่ายธุรกิจ สามารถเข้าร่วมเป็นทูตแห่งท้องทะเลได้ โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับการอบรมการดำน้ำในระยะเวลา 8 ชั่วโมง แบ่งเป็นการอบรมในสระ 2 วัน และฝึกทักษะในทะเล 1 วัน และร่วมกิจกรรมที่จะจัดขึ้นเพื่อเป็นการสื่อสารการอนุรักษ์ท้องทะเล อาทิ กิจกรรมคลังขยะ, แผนที่ขยะในทะเล เป็นการสำรวจขยะที่พบในชายหาดและในทะเล เพื่อรายงานการพบเข้ามาในโซเชียลมีเดีย, กิจกรรมคัดแยก แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าและกิจกรรมสื่อสารการจัดการขยะและมลพิษในทะเลสู่สาธารณชนในช่องทางต่างๆ ต่อไป
"ผมเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา เพราะว่าผมได้รู้จักกับเพื่อนๆ ที่เป็นกลุ่มธุรกิจทางทะเลมากมาย พวกเขาทุกคนเป็นผู้ปิดทองหลังพระ ดูแลท้องทะเลไทยอยู่เบื้องหลัง ย้อนกลับไปตลอดเวลา 17 ปีที่ผมทำงานสอนดำน้ำมา ผมมองเห็นคนมาเที่ยวทะเลมากมาย เห็นนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เห็นเรืออยู่เต็มท้องทะเลกว่า 90% ว่ายน้ำไม่เป็น ดำน้ำไม่เป็น แล้วจะไปสนุกกับการท่องเที่ยวทางทะเลได้อย่างลึกซึ้งอย่างไร งานของผมอยู่กับทะเล มันทำให้ผมรู้จักทะเลมากขึ้น มันทำให้ผมรักทะเล แต่ถ้าผมไม่รู้จักทะเลเลย พอเห็นขยะลอยอยู่ต่อหน้า ก็จะรู้สึกเฉยๆ ซึ่งมันต่างกับคนที่อยู่กับทะเลทุกๆ วัน" นายนิวัชกล่าว
ขยะที่เก็บได้ตามท้องทะเล
ขณะที่นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขานุการมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม และในฐานะผู้ประกอบการเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เผยว่า ในทุกๆ ปี จะมีช่วงที่ขยะลอยมาติดที่ชายหาดเกาะทะลุจำนวนมากจนแทบมองไม่เห็นชายหาด ส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทพลาสติกและขวด จากการสังเกตพบว่าขยะบางชิ้นมีฉลากเป็นของต่างประเทศ เช่น เวียดนาม สะท้อนให้เห็นว่าขยะไม่ได้มีแค่ที่ไทยเพียงแห่งเดียว แต่เมื่อเข้ามาในไทยแล้วก็กลายเป็นขยะไทย ซึ่งต้องใช้เวลาเก็บนานเป็นอาทิตย์ โดยการจัดการดำเนินธุรกิจบนเกาะทะลุเอง มีกระบวนการจัดการขยะ อาทิ การแยกขยะ นำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมักกับ EM เพื่อใช้ในแปลงผักที่ปลูกเพื่อนำมาใช้ในกิจการ และนำเศษไม้ไปทำดิน นอกจากนี้ที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการอื่นๆ มักใช้อาหารมาล่อปลาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชม ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผิด ดังนั้นจึงพยายามให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นและยืนหยัดว่าจะไม่ทำเช่นนั้น
ทั้งนี้ ผู้บริหาร บริษัท ไดฟ์ ดี ดี จำกัด ยังบอกอีกว่า การเริ่มต้นจะช่วยกันอนุรักษ์และดูแลท้องทะเลตอนนี้ยังไม่สาย ทุกคนสามารถช่วยกันดูแลทะเลได้ และอยากให้มาร่วมเป็นทูตมหาสมุทร ช่วยกันดูแล ปกป้อง และพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเลให้เกิดความยั่งยืน และพานักท่องเที่ยวเที่ยวทะเลอย่างสนุกสนาน เป็นจุดเริ่มต้นของการซึมซับรักษ์ทะเล
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Sustainable Ocean Ambassador หรือสามารถดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก sustainable ocean ambassador soa.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |