นิวแคลิโดเนีย ดินแดนหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ลงประชามติเมื่อวันอาทิตย์ สอบถามความคิดเห็นประชาชนเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชจากฝรั่งเศส ผลคะแนนระบุชาวเกาะห่างไกลแห่งนี้ยังต้องการเป็นดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศสต่อไป
นักเคลื่อนไหวสะบัดธงคานักและธงคอร์ซิกา ด้านหน้าสำนักงานใหญ่ของสหภาพแคลิโดเนียนที่สนับสนุนเอกราช ภายหลังผลประชามติคัดค้านการแยกตัวจากฝรั่งเศส ที่กรุงนูเมอา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พ.ย. 2561 / AFP
หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ที่เป็นแหล่งผลิตนิกเกิลถึง 1 ใน 4 ของโลกแห่งนี้อยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ของฝรั่งเศสราว 18,000 กิโลเมตร และถือเป็นฐานที่มั่นของฝรั่งเศสในแปซิฟิกที่กำลังเผชิญการแผ่อิทธิพลเพิ่มมากขึ้นของจีน
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน 2561 กล่าวว่า ผลการนับคะแนนประชามติครั้งนี้พบว่า ชาวนิวแคลิโดเนีย 56.4% ปฏิเสธข้อเสนอให้แยกตัวเป็นประเทศเอกราช ผลคะแนนนี้ถือเป็นชัยชนะที่ชัดเจนสำหรับฝ่ายที่ภักดีต่อฝรั่งเศสแต่ก็เป็นคะแนนที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ผลสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านี้ทำนายว่าฝ่ายที่ปฏิเสธการแยกตัวเป็นเอกราชจะชนะด้วยคะแนนระหว่าง 63-75%
ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แถลงผ่านโทรทัศน์ว่าเขามีความภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้ร่วมการก้าวเดินแห่งประวัติศาสตร์ไปด้วยกัน และถือเป็นสัญญาณของความเชื่อมั่นต่อสาธารณรัฐฝรั่งเศส ต่ออนาคตและต่อค่านิยมของฝรั่งเศส
ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แถลงภายหลังรู้ผลคะแนน / AFP
ผู้นำฝรั่งเศสวัย 40 ปีไม่ได้เข้าร่วมการรณรงค์หาเสียงในนิวแคลิโดเนียเท่าใดนัก แต่ระหว่างมาเยือนกรุงนูเมอาเมื่อเดือนพฤษภาคม มาครงประกาศว่า ฝรั่งเศสจะสวยงามน้อยลงหากไร้ซึ่งนิวแคลิโดเนีย เขายังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นของจีนในภูมิภาคนี้ด้วย
ดินแดนหมู่เกาะซึ่งบางครั้งถูกเรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า "ก้อนกรวด" แห่งนี้ มีประชากรประมาณ 175,000 คน จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธินั้นสูงเกินกว่า 80%
รายงานกล่าวว่า มีความหวั่นเกรงก่อนหน้านี้ว่าการลงประชามติครั้งนี้อาจกระพือความตึงเครียดระหว่างชนพื้นเมืองชาวคานัก ที่มีแนวโน้มต้องการแยกตัวเป็นเอกราช กับประชากรผิวขาว ที่มาตั้งรกรากที่นี่ภายหลังฝรั่งเศสผนวกหมู่เกาะนี้เป็นดินแดนของตนเมื่อปี พ.ศ. 2396
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรายงานว่า มีรถยนต์โดนเผาไปหลายคัน และเกิดเหตุการณ์ขว้างปาก้อนหินใส่กัน 2 เหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ แต่การลงประชามติโดยรวมถือว่าผ่านพ้นอย่างสงบ
หมู่เกาะแห่งนี้เคยเกิดความตึงเครียดจนลุกลามเป็นการต่อสู้ระหว่างเชื้อชาติในยุคทศวรรษ 1980 มีคนเสียชีวิตมากกว่า 70 คน สถานการณ์ครั้งนั้นนำไปสู่ความตกลงนูเมอา ปี 2541 ที่ปูทางไปสู่การกระจายอำนาจอย่างมั่นคง ซึ่งรวมถึงการลงประชามติในครั้งนี้ และอาจจะมีการลงประชามติอีก 2 ครั้งก่อนปี 2565
ชาวนิวแคลิโดเนียหย่อนบัตรลงประชามติในกรุงนูเมอา / AFP
อาโลซีโอ ซาโก ผู้นำของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช FLNKS ของนิวแคลิโดเนีย กล่าวภายหลังการประกาศผลคะแนนว่า พวกคานักเริ่มตระหนักแล้วว่า พวกเขาจำเป็นต้องแสดงถึงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะแยกตัวเป็นเอกราชให้ได้ในท้ายที่สุด "พวกเราอยู่ห่างจากชัยชนะไม่ไกล และยังมีการลงประชามติอีก 2 ครั้งรออยู่" เขากล่าวถึงการลงประชามติตามความตกลงนูเมอา
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลฝรั่งเศสเผชิญกับการประท้วงและเสียงเรียกร้องเอกราชในดินแดนไกลโพ้นหลายแห่ง ที่เป็นมรดกตกทอดจากยุคล่าอาณานิยม และบางครั้งถูกตั้งฉายาว่าเป็นคอนเฟตติ (กระดาษโปรยหลากสีสัน) ของอาณาจักรฝรั่งเศส
เฟรนช์เกียนาซึ่งอยู่ในอเมริกาใต้ และมายอต ซึ่งเป็นดินแดนกลางมหาสมุทรอินเดีย ก็เกิดการประท้วงครั้งใหญ่หลายครั้งเกี่ยวกับมาตรการชีวิตความเป็นอยู่และความรู้สึกว่าโดนทอดทิ้ง ส่วนที่คอร์ซิกา ใกล้กับแผ่นดินใหญ่ยิ่งขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศสก็เจอกับเสียงเรียกร้องเอกราชจากฝ่ายชาตินิยม แต่มาครงคัดค้าน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |