1พ.ย.61-ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสุตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีข้อห่วงใยต่อการออกประกาศรมว.สาธารณสุข ยกระดับสารสกัด น้ำมันกัญชาจากยาเสพติดประเภทที่ 5 มาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 2 เพื่อให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อาจจะขัดกับพ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการว่า ยืนยันว่านโยบายยังไงก็ต้องมีการปลดล็อค ซึ่งการออกประกาศรมว.สาธารณสุขนี้ก็เป็นการปลดล็อคเล็กๆ ซึ่งก็ได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปคุยกันให้ตกผลึก จะเอาให้ถูกใจทุกคนคงเป็นไปไม่ได้
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า ประกาศรมว.สธ.เพื่อยกระดับสารสกัด น้ำมันกัญชาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 2 เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ได้ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ไม่เช่นนั้นอาจต้องรอกฎหมายใหม่เลยทีเดียว ซึ่งหากกฎหมายใหญ่ออกมาแล้วมีส่วนใดที่ยังติดขัดกันก็สามารถปรับแก้ได้ แต่ตอนนี้พิจารณาออกเป็นประกาศซึ่งพิจารณาแล้วเท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทำมาก่อนเพื่อให้ในระยะอันสั้นนี้สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 9 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเพื่อขอมติเรื่องการออกประกาศ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติก็เข้าสู่กระบวนการร่าง และผ่านขั้นตอนการเสนอรมว.สาธารณสุขลงนาม คาดว่าภายในพ.ย.นี้ ซึ่งต้องย้ำว่าประกาศนี้ก็เพื่อเปิดให้มีการใช้ในไทยได้ โดยส่วนของไทยทราบว่ามีการศึกษาทดลองกัน เช่นที่ องค์การเภสัชกรรม และมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลว่าจะกระทบกับการใช้งานในศาสตร์การแพทยท์แผนไทยนั้น เบื้องต้นจากการหารือร่วมกับอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯพบว่าตำรับยามีการในรูปแบบของน้ำมันกัญชาที่ได้จากการสกัดในรูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังมีการหารือร่วมกันต่อไป ส่วนเรื่องการใช้ใบ ใช้ดอกนั้นยอมรับว่าอาจจะติดกฎหมายอยู่.
นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า หากประกาศกระทรวงฯ ตีความในแบบเดิมเรื่องสารสกัดที่ให้ได้ในรูปของน้ำมัน ตำรับยาแพทย์แผนไทยที่เข้าข่าย มีเพียงสูตรตำรับสนั่นไตรภพ ซึ่งเป็นน้ำมันทาแก้ขับลมช่องท้อง ส่วนสูตรอื่นๆ คงต้องรอกฎหมายใหญ่ในการปลดล็อก แต่ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้ทาง อย. พิจารณาเพื่อขอขยายคำจำกัดความของสารสกัด ให้ครอบคลุมแพทย์แผนไทยมากขึ้น ไปแล้วโดยมีการเสนอในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางเลขาธิการ อย.รับเรื่องไว้พิจารณา โดยน่าจะมีข้อสรุปในการประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ อย่างสารสกัดจากการต้มก็จะออกมาในรูปของยาน้ำ หรือสารสกัดจากการกลั่นด้วยแอลกอฮอล์ ซึ่งทางเภสัชกรรมจะเรียกว่าทิงเจอร์ โดยจะไม่เหลือกาก จากดอก ไม้ เพราะอย. กังวลในเรื่องการเหลือชิ้นส่วนพวกนี้ กลัวว่าจะมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ แต่หากใช้ตามรูปแบบดังกล่าวก็จะไม่มีกาก ซึ่งก็จะทำให้ตำรับยาแพทย์แผนไทยขยายกว้างขึ้น อย่างไรก็ตามแต่หากไม่ได้จริงๆก็คงต้องรอตัวกฎหมายใหญ่ ซึ่งจะครอบคลุมขึ้น
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวถึงประเด็นที่ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กังวลว่าการปลดล็อกกัญชา จะยิ่งทำให้ประเทศไทยผลิตยาจากสารสกัดกัญชาได้ยากขึ้น เนื่องจากมีเงื่อนไขมากมาย ทั้งการขึ้นทะเบียนยา ข้อบ่งชี้โรคก็จำกัด ทำให้อาจต้องนำเข้าสารจากต่างประเทศ ว่า การขึ้นทะเบียนเป็นยานั้นต้องมีมาตรฐาน แต่หากมีโรคที่พิสูจน์ชัดเจน มีสูตรยาชัดเจนก็จะขึ้นยาเหมือนทะเบียนยาอื่นที่มีการขึ้นทะเบียน อย่างไรก็ตามในกลุ่มของยาที่ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนแต่เป็นยาที่มีการกำหนดขนาดการใช้อย่างชัดเจนนั้น ก็อาจจะผ่านแต่ต้องมีการกำหนดผู้ดูแล ผู้ใช้ให้ชัดเจน โดยให้ อย.เป็นคนจำหน่าย หรืออาจเป็นผู้นำเข้าเพื่อจำหน่าย เป็นต้น
“ขณะนี้ยาที่ได้จากกัญชาที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ 2 ยี่ห้อ เป็นยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับผลข้างเคียงจากการทำคีโม ซึ่งเป็นสเปร์ย หากมีอาการคลื่นไส้ก็พ่น และการรักษาโรคลมชัก แต่ต้องดูเรื่องราคาและกลุ่มผู้ใช้ ว่ามีคนใช้หรือไม่ อย.จึงจะสั่งเข้ามา แต่หากมีราคาสูงและมีผู้ผลิตในประเทศอาจมีราคาถูกลง ซึ่งอย.ก็อาจจะนำมาจำหน่าย โดยจะเป็นการดำเนินการภายหลังการยกระดับแล้ว หากจะนำเข้าและขึ้นทะเบียนได้เร็ว อภ.ก็สามารถนำเข้าได้หากมีผู้ป่วยต้องการ โดยให้อย.เป็นผู้จำหน่าย” นพ.สุรโชค กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |