พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือพระปิยมหาราชของชาวไทย ได้เสด็จฯ ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศอยู่หลายครา เพื่อทรงศึกษาความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ รวมทั้งแบบอย่างการปกครองของบ้านเมือง นำมาสู่การพัฒนาประเทศไทยในหลากหลายด้านเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และหนึ่งในการเสด็จฯ เยือนต่างแดนครั้งสำคัญของรัชกาลที่ 5 คือเสด็จฯ เยือนเมืองต่างๆ ในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ถึง 3 ครั้ง เสด็จฯ อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2413 ซึ่งนับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเป็นครั้งแรก จากนั้นยังได้เสด็จฯ เยือนชวาอีก 2 ครั้งใน พ.ศ.2439 และ พ.ศ.2444 จากข้อมูลที่ปรากฏในจดหมายเหตุเสด็จประพาสเกาะชวาในรัชกาลที่ 5 ระบุว่า แต่ละครั้งพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเขียนผ้าบาติก อันเป็นหัตถศิลป์เลื่องชื่อของชวา และทรงซื้อผ้าบาติกกลับมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย ทำให้ทรงมีผ้าบาติกกว่า 300 ผืน
โดยผ้าเหล่านี้มีความโดดเด่นทั้งในแง่ความงดงามของศิลปะและองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์การแต่งกายของชวา ซึ่งขณะนี้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในเขตพระราชฐานชั้นในในพระบรมมหาราชวัง
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดนิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา” จัดแสดงผ้าบาติกสะสมที่สวยงามจากเมืองต่างๆ บนเกาะชวา เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ร่วมน้อมระลึกถึงพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 5 ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การพัฒนาประเทศในรัชสมัยของพระองค์ และได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมการใช้ผ้าบาติกในประเทศอินโดนีเซียด้วย
ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ตระหนักถึงคุณค่าของผ้าบาติกที่พระองค์ทรงเก็บสะสมไว้ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อ พ.ศ.2557 เชิญผ้าบาติกดังกล่าวออกมาเพื่อจัดแสดงนิทรรศการผ้าบาติก ซึ่งกว่าจะมาเป็นนิทรรศการครั้งนี้ได้ คณะทำงานต้องนำผ้าบาติกโบราณเหล่านี้มาผ่านกระบวนการอนุรักษ์ผ้าตามมาตรฐานสากล เพื่อชะลอการเสื่อมสภาพ อีกทั้งยังต้องศึกษาค้นคว้าเรื่องผ้าบาติกของอินโดนีเซีย ตลอดจนประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น เพื่อนำมาประกอบนิทรรศการให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อที่ประชาชนจะได้ชมนิทรรศการนี้แล้วตระหนักได้ชัดเจนถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระปิยมหาราช ที่ทรงรวบรวมวิทยาการและศิลปวัฒนธรรมของชวามาปรับใช้ในการวางรากฐานพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน สืบมาจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นการได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับผ้าบาติกเพิ่มขึ้นอีกด้วย
“ใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลเรื่องผ้ารวมแล้วเป็นระยะเวลาถึง 4 ปี โดยการนำหลักฐานจากผ้า และเดินทางไปศึกษาโดยตรงถึงประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งครั้งแรกต่างไม่เข้าใจว่าพระองค์ทรงเก็บสะสมผ้ากว่า 300 ผืนไว้ทำไม โดยไม่มีการเอาออกมาใช้เลย จนพอได้ศึกษาก็รู้ว่า เป็นพระราชดำริของพระองค์ท่านที่ทรงอยากให้จัดเก็บไว้ให้เราทุกคนได้ศึกษาความงดงามในศิลปวัฒนธรรมของต่างประเทศที่มีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อไทย” ปิยวรากล่าว
ศาสตรัตน์ มัดดิน ภัณฑารักษ์นิทรรศการ
ส่วนที่จัดแสดงในนิทรรศการจะประกอบด้วยผ้าบาติก 37 ผืน ศาสตรัตน์ มัดดิน ภัณฑารักษ์นิทรรศการ กล่าวว่า เนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอจึงไม่สามารถนำมาแสดงได้ครบ 300 ผืนในเวลาเดียวกัน แต่จะนำจำนวนที่เหลือมาจัดแสดงรอบต่อไป ส่วนที่นำมาจัดแสดงทั้งหมดได้ผ่านการศึกษาเรื่องราวของผืนผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นในชวา จากหลักฐานสำคัญที่มาพร้อมกับผ้าบาติกของพระองค์ คือป้ายคำอธิบาย ซึ่งมีรายละเอียดของผ้าแต่ละผืน เช่น ประเภทของผ้า ชื่อลวดลาย สถานที่ผลิต ราคา ผู้ใช้ผ้าประเภทนั้นๆ และชื่อผู้ทูลเกล้าฯ ถวายผ้าผืนดังกล่าว
ภัณฑารักษ์นิทรรศการกล่าวต่อว่า พระองค์มีผ้าบาติกจากเมืองการุต เมืองทาสิกมาลายา และเมืองจิปีเดส ซึ่งเป็นผ้าที่ได้จากการเสด็จฯ เยือนชวาครั้งแรก ทั้ง 3 เมืองมีเอกลักษณ์ต่างกัน เมืองการุต เป็นผ้าที่ขึ้นชื่อเรื่องสีเหลืองอ่อนคล้ายมะม่วงสุก และการย้อมสีทับ ส่วนทาสิกมาลายาจะมีผ้าบาติกย้อมสีเข้ม ตกแต่งลายทั้งผืน และจิปีเดส เน้นสีแดง ส่วนไฮไลต์ผ้าของพระองค์จะอยู่ที่ผ้านุ่งโสร่งจากเมืองลาเซ็ม ซึ่งพระองค์ไม่ได้เสด็จฯ เมืองนี้ แต่ซื้อจากพ่อค้าที่มาขายเมื่อตอนเสด็จฯ ครั้งที่ 3 ระหว่างประทับที่เมืองบันดุง ที่บอกว่าเป็นไฮไลต์ เพราะเอกลักษณ์ของผ้าผืนนี้มีลวดลายวิจิตรด้วยลายพันธุ์พฤกษา นก ผีเสื้อ แจกัน ดอกไม้ และโคมไฟห้อยลงมาจากกิ่งไม้ พื้นหลังของผ้าเป็นสีเหลือง เท่าที่ได้ศึกษามา ผ้าผืนนี้เกิดจากกระบวนการเตรียมผ้าฝ้ายด้วยการแช่น้ำมัน ละหุ่ง หรือน้ำมันผลโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับความเชื่อ สัญลักษณ์ต่างๆ ของชาวจีน เพราะว่าเจ้าของโรงเขียนผ้าเมืองนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวชวาเชื้อสายจีน เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมที่สวยงามมาก
และยังมีผ้าเก่าแก่ที่อายุน่าจะราวๆ ต่ำกว่าปี พ.ศ.2410 คือผ้าโสร่งจากเมืองเซมารัง ชวากลาง เป็น 1 ใน 5 ผืนของพระองค์ที่สันนิษฐานว่ามาจากโรงเขียนผ้าของนางแคโรดินา โจเซพินา วอน แฟรงเดอมองค์ เป็นผ้าที่เขียนลายด้วยมือ ย้อมสีธรรมชาติและแต้มสีบนผ้าฝ้าย มีการตกแต่งฟันปลาที่บริเวณหัวผ้า คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากผ้าอินเดีย ส่วนท้องผ้าเขียนตามความคิดสร้างสรรค์ของช่าง เป็นลายนกตัวใหญ่เกาะอยู่บนเถาองุ่นในแนวทแยง ผู้ชมจะได้เห็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของผ้าจากโรงเขียนผ้าของนางแคโรดินา คือสีเขียวแบบ 'แพรงกามอง' ซึ่งได้จากการย้อมสีน้ำตาลอ่อนทับสีฟ้า พระองค์ทรงมีผ้าสะสมอีกหลายผืนที่ไม่ซ้ำกัน เพราะนอกจากโสร่งแล้วก็มีผ้าโพกศีรษะ ที่สวมใส่ได้เฉพาะข้าราชบริพารระดับสูงเท่านั้น หาชมได้ยาก เช่น ผ้าโพกหัว ‘ลายกาบาห์ สินาวูร์’ จากโรงเขียนผ้าของนางแวน ลาวิก แวน แพบสต์ จากเมืองเมืองยอกยาการ์ตา ชวากลาง ที่เคยเสด็จฯ เยือนครั้งที่ 2 ผ้าลายนี้สื่อถึงเมล็ดข้าวที่กระจายอยู่ทั่วทั้งผืน มีสี่เหลี่ยมตรงกลาง หมายถึงทะเลสาบ โดยรวมต้องการสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของเมืองในสมัยโบราณ
นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการยังมีผ้าอีกหลายผืนที่ผู้ชมจะได้ศึกษาศิลปะลวดลายของชวาที่ถูกซ่อนเอาไว้ ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า การเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวานั้นไม่เพียงแต่จะเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังทรงสนพระทัยในธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่มีร่วมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย นิทรรศการเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-เดือน พ.ค.2564 ณ ห้องจัดแสดง 3-4 พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |