31 ม.ค. 61 - ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. ๒๘๐/๒๕๕๖ หมายเลขแดงที่ อ. ๑๔๔๒/๒๕๖๐ ในคดีที่นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม ๒๕๐ คน ผู้ฟ้องคดี และนายกร เอี่ยมอิทธิพล กับพวกรวม ๑๑ คน ผู้ร้องสอด ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กรณีสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน โดยคดีนี้ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุอันเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด และมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด จำนวน ๒๕๔ ราย
โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจหน้าที่ยับยั้งการชุมนุมที่เป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยปิดล้อมบริเวณรัฐสภาเพื่อไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบายได้ แต่ไม่ว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยสงบที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามขั้นตอนและวิธีการที่เหมาะสม แต่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุมและวิธีการยิงแกสน้ำตา ประกอบกับแกสน้ำตาที่นำมาใช้ได้ซื้อมาเป็นเวลานานจึงมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ต้องใช้แกสน้ำตาจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้โดยปกติทั่วไป ทำให้เกิดการปั่นป่วนชุลมุนและผู้ชุมนุมได้รับอันตรายเกิดความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้ชุมนุม จึงเป็นการกระทำละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นั้น มติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการประชุมแถลงนโยบายที่รัฐสภาเป็นไปตามปกติ ซึ่งหากมีเหตุการณ์ไม่สงบเรียบร้อย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สมควรติดตามสถานการณ์และเตรียมการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการสลายการชุมนุม จึงไม่ได้กระทำละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะต้องรับผิดต่อผู้ได้รับความเสียหาย สำหรับความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นั้น การกระทำละเมิดสืบเนื่องมาจากการชุมนุมบางส่วนที่มีลักษณะทำให้ผู้อื่นเกรงกลัวซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่จะต้องระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าว จึงให้ลดค่าเสียหายลงจากที่ศาลปกครองกลางกำหนด ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด จำนวน ๒๕๔ ราย ลดลงจากที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดร้อยละ ๒๐ และยกฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ .
สรุปย่อคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ อ. ๒๘๐/๒๕๕๖ หมายเลขแดงที่๑๔๔๒/๒๕๖๐ ระหว่างนายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม ๒๕๐ คน ผู้ฟ้องคดี นายกรณ์ เอี่ยมอิทธิพล กับพวกรวม ๑๑ คน ผู้ร้องสอด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
คดีนี้ผู้ฟ้องคดี ๒๕๐ คนและผู้ร้องสอด ๑๑ คน ฟ้องว่า จากการสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๘ ถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีอื่นและผู้ร้องสอดได้รับอันตรายแก่กายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย จึงฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลปกครองกลางไม่รับคำร้องของผู้ร้องสอดที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๖ ที่ ๘ ที่ ๙ และที่ ๑๑ ไว้พิจารณา ต่อมา มีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากลในการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก โดยใช้โล่กำบังผลักดัน ใช้ฉีดน้ำจากรถดับเพลิงแล้วจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตา รวมทั้งต้องประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบก่อน และการใช้แก๊สน้ำตาได้ยิงและขว้างตรงเข้าไปยังผู้ชุมนุมโดยตรงและยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และรถพยาบาล และการสลายการชุมนุมได้ใช้แก๊สน้ำตาที่ขัดต่ออายุการใช้งาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีได้ร่วมในการประชุมคณะรัฐมนตรีและมีมติว่าต้องประชุมในรัฐสภาและสั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผลักดันประชาชนที่ปิดล้อมรัฐสภาออกไปเพื่อให้แถลงนโยบายในวันดังกล่าวให้ได้ ซึ่งในขณะแถลงนโยบายเมื่อทราบว่ามีการสลายการชุมนุมทำให้ประชาชนบาดเจ็บนับร้อยคน แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ใส่ใจ หลังการประชุมสภาแล้วเสร็จเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังคงใช้กำลังและอาวุธสลายการชุมนุม นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมิได้สนใจสั่งห้ามการกระทำละเมิดต่อกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติมีความเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไต่ตรองไว้ก่อน จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด จึงมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดจำนวนตั้งแต่ ๘,๙๐๐ บาท ถึง ๕,๑๙๐,๙๖๔.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยโดยให้มีสิทธิได้รับในความเสียหายเท่าที่เหลือจากที่ได้รับเงินทดแทนเยียวยาความเสียหายจากหน่วยงานของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๕ และสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาในการต้องรักษาอย่างต่อเนื่องภายใน ๒ ปี ยกฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ ๔๕ คู่กรณีคือ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๑๓๕ ที่ ๑๓๗ ถึงที่ ๒๕๐ ผู้ร้องสอดที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๗ ที่ ๑๐ กับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางไม่ให้นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่ใช่การก่ออาชญากรรมโดยแท้ จึงไม่อาจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมทั้งหมดด้วยวิธีการเดียวกับการจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้ แต่หากการชุมนุมเป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายทำให้ผู้อื่นเกิดความเกรงกลัว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองย่อมมีอำนาจหน้าที่ระงับยับยั้งได้ แต่ทั้งนี้การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายระเบียบ
และขั้นตอนวิธีการที่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้ ดังนั้น ไม่ว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองย่อมไม่อาจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายระเบียบและขั้นตอนวิธีการที่เหมาะสมได้ ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๐๕/๒๕๕๑ อันเป็นคดีที่ผู้ชุมนุมบางรายยื่นฟ้องขอให้ยุติการใช้อาวุธต่อผู้ชุมนุมและมีคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวขอให้ห้ามการกระทำดังกล่าวในระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่าการชุมนุมหน้ารัฐสภามิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสมมีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล เมื่อการสลายการชุมนุมมีประชาชนเสียชีวิต ๑ ราย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากไม่ได้รับการแจ้งเตือน จึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองให้หากจะกระทำการใดๆ ต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงความเหมาะสมมีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล และศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าหลังเกิดเหตุคดีนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ๑ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งศาลสามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ปรากฏตามรายงานดังกล่าวได้ โดยพยานให้ถ้อยคำว่าหลักในการควบคมฝูงชนมี ๒ วิธี คือ ๑. เจรจา ๒. เจรจาไม่ได้ผลจึงใช้กำลังโดยให้เจ้าหน้าที่นำโล่และแก๊สน้ำตาติดตัวไปโดยไม่มีกระบอง ขั้นตอนการปฏิบัติ คือ ๑. ใช้กำลังผลักดัน ๒. รถฉีดน้ำ ๓. แก๊สน้ำตา ๔. กระสุนยาง ๕. ยิงปืนแหจู่โจมจับแกนนำ และข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันว่า ก่อนการใช้แก๊สน้ำตาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แต่อย่างใด โดยพยานให้ถ้อยคำว่าได้ประสานขอรถดับเพลิงไปยังกรุงเทพมหานครแล้วแต่ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตา โดยปรากฏว่าได้มีการขอรถไฟฟ้าส่องแสงสว่างและรถดับเพลิงไปยังกรุงเทพมหานครตามหนังสือวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑ แต่ไม่มีการเร่งรัดใดๆ และมีหนังสืออีกครั้งหนึ่งตามหนังสือลงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ อันเป็นวันเกิดเหตุทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทราบก่อนหน้านั้นแล้วว่าจะมีการชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาและเป็นการขอรถดับเพลิงหลังจากผู้ชุมนุมได้เคลื่อนมวลชนมาที่บริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อเวลา ๒๐ นาฬิกา ของวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ แล้ว และถึงแม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะอ้างว่ามีการกระทำความผิดต่อกฎหมายและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและอ้างส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวจำนวนหลายคดี แต่ก็ปรากฏตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าวว่าเป็นการกระทำหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรกเวลา ๖ นาฬิกาเศษ ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดแต่ละรายเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าว และข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมได้รับอันตรายแก่ชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากในระยะเวลาแตกต่างกันหลายครั้งหลายสถานที่ตั้งแต่เริ่มมีการสลายการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ ๖ นาฬิกาเศษ มิใช่ได้รับบาดเจ็บในช่วงเวลาเดียวกัน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากวัตถุระเบิดที่ตนพกพามา ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง ศาลปกครองมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงและรับฟังพยานหลักฐานที่ปรากฏในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ส่งสำนวนการไต่สวนต่อศาลโดยแจ้งว่าใช้ในการดำเนินคดีอาญา ศาลจึงไม่อาจรับฟังความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ส่งรายงานการตรวจสอบ
ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหมดต่อศาล ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ค้ำจุนการบริหารประเทศให้เป็นไปโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานบุคคลและพยานเอกสารจึงสมควรแก่การรับฟังเป็นอย่างยิ่ง โดยศาลไม่ได้รับฟังในส่วนที่เป็นความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการให้ถ้อยคำของพยานบุคคลและพยานหลักฐานซึ่งเป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ความเห็น เมื่อไม่มีปัญหาโต้แย้งและพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพยานบุคคลและพยานหลักฐานที่ปรากฏเป็นพยานหลักฐานเท็จหรือเกิดจากการปรุงแต่งหรือดำเนินการไปโดยกลั่นแกล้งผู้หนึ่งผู้ใด ศาลจึงสามารถรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ ส่วนการดำเนินการขององค์กรอื่นๆ และสำนวนการสอบสวนคดีอาญานั้น ศาลมีอำนาจพิจารณาเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานอื่นๆ และสามารถใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานว่าพยานหลักฐานใดรับฟังได้พยานหลักฐานใดรับฟังไม่ได้เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยคดี ซึ่งถึงแม้การให้ถ้อยคำของผู้ฟ้องคดีและพยานบางรายที่ยืนยันการกระทำที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายในคดีนี้ ซึ่งต้องรับฟังการให้ถ้อยคำของบุคคลดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง แต่ก็มีกลุ่มสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ซึ่งมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการชุมนุมและไม่ใช่ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ให้ถ้อยคำสอดคล้องต้องกันกับผู้ฟ้องคดีและพยานที่เป็นผู้ร่วมชุมนุม อีกทั้งพยานทั้งหมดได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ๑ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นเวลาใกล้ชิดกับวันเกิดเหตุที่ยังจดจำเหตุการณ์ได้ จึงฟังได้ว่าเป็นการให้ถ้อยคำตามความเป็นจริงไม่มีการเสริมแต่งข้อเท็จจริงใดๆ และยังมีการให้ถ้อยคำของกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมายืนยันในความไม่เหมาะสมในวิธีการสลายการชุมนุมและการใช้แก๊สน้ำตาอีกด้วย พยานหลักฐานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุมและมีข้อบกพร่องในวิธีการยิงแก๊สน้ำตา โดยยิงในแนวตรงขนานกับพื้นซึ่งไม่เป็นไปตามวิธีการที่ถูกต้องที่ต้องยิงเป็นวิถีโค้ง ประกอบกับแก๊สน้ำตาที่นำมาใช้เป็นแก๊สน้ำตาที่ซื้อมาเป็นเวลานานจึงมีประสิทธิภาพต่ำ จึงต้องใช้แก๊สน้ำตาจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้โดยปกติทั่วไป ทำให้เกิดความปั่นป่วนชุลมุนเกิดความเสียหายต่อผู้ชุมนุมมากเกินกว่าผลตามปกติที่เกิดจากการใช้แก๊สน้ำตาที่มีประสิทธิภาพดีและยิงโดยวิธีการที่ถูกต้อง และยังส่งผลเสียหายไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติจะรู้ถึงข้อบกพร่องของขั้นตอนในการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้กับผู้ชุมนุมก่อนการใช้แก๊สน้ำตาและข้อบกพร่องในประสิทธิภาพของแก๊สน้ำตาที่ทำให้ต้องยิงแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมากหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อบกพร่องดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดแต่ละรายจึงเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ชีวิตร่างกายสิทธิและเสรีภาพจึงเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดจึงต้องรับผิดต่อผู้ได้รับความเสียหาย
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง และการกระทำละเมิดดังกล่าวจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการจัดประชุมแถลงนโยบายที่รัฐสภา แต่มติดังกล่าวก็เป็นไปตามปกติเพื่อให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลดำเนินการไปได้เท่านั้น โดยปรากฏตามเอกสารมติคณะรัฐมนตรีว่า ประธานรัฐสภาได้มีหนังสือนัดประชุมแล้วหากมีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยและเป็นอุปสรรคต่อการประชุม หน่วยงานที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สมควรติดตามสถานการณ์และเตรียมการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา หากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกำหนดนัดหรือสถานที่ประชุมทางรัฐสภาคงต้องปรึกษาหารือกันแล้วแจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ และมีมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีติดตามตรวจสอบสถานการณ์และกำกับดูแลการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยประสานสั่งการผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการสลายการชุมนุมแต่อย่างใด การกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้มีการประชุมแถลงนโยบายจึงอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่มีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและมีระเบียบกฎหมายกำหนดขั้นตอนวิธีการปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ อีกทั้งเมื่อเริ่มมีการประชุมแล้วและเกิดความเสียหาย ย่อมเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะสั่งให้ปิดประชุมเพื่อยุติเหตุการณ์หรือไม่ มิใช่อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ดั้งนั้น นายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ได้กระทำละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดแต่อย่างใด
ในส่วนของค่าเสียหายนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า กรณีสืบเนื่องมาจากการชุมนุมบางส่วนมีลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายเสรีภาพและทรัพย์สินซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่จะต้องระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดแล้วเห็นว่าค่าเสียหายที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดสูงเกินส่วน จึงสมควรลดค่าเสียหายลดร้อยละ ๒๐ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดแต่ละรายจำนวนตั้งแต่ ๗,๑๒๐ บาท ถึง ๔,๑๕๒,๗๗๑.๘๔ บาท พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |