มหาเธร์: 'มาเลเซียจะช่วย ไทยแก้ปัญหาชายแดนใต้'


เพิ่มเพื่อน    

      นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดแห่งมาเลเซีย มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่  24-25 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นการมาเยี่ยมไทยครั้งแรกหลังจากกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จากการสร้างปาฏิหาริย์การเมืองคว่ำรัฐบาลของนาจิบ ราซัค ด้วยการจับมือกับอันวา อิบราฮิมซึ่งเคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมาก่อน

      ผมมีโอกาสสัมภาษณ์มหาเธร์ครั้งที่สองในสามเดือน มีประเด็นถาม-ตอบหลายเรื่องที่สำคัญ ขอนำบางตอนมาเล่าให้ฟังดังนี้

      สุทธิชัย: ท่านได้พบกับนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาในการมาเยือนครั้งนี้ เรื่องที่ท่านจะช่วยแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้างครับ

      มหาเธร์: ก่อนหน้านี้เรามีปัญหาเกี่ยวกับก่อการร้าย และไทยก็ได้ช่วยเราไว้เยอะ และจากการร่วมมือของไทยก็ทำให้เราแก้ปัญหาได้ ดังนั้นเราจึงรู้สึกมีความจำเป็นที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยไทยแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ เพราะความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้และจะไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้นหากเราทำการเจรจาให้ทำการหยุดยิง หากความรุนแรงลดลงก็จะดีต่อการพัฒนาประเทศ

      สุทธิชัย: ท่านนายกฯ ประยุทธ์ได้บอกอะไรเกี่ยวกับขั้นตอนและได้ขอให้ท่านช่วยอะไรบ้างครับ

      มหาเธร์: มาเลเซียมีจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจน เรามีคนที่มีความรู้ด้านนี้อย่างมาก เราได้แต่งตั้งผู้สนับสนุนการเจรจาสันติภาพ ท่านได้บอกว่าการมีกองทัพในภาคใต้ไม่ได้มีเพื่อรบรากับประชาชน แต่มีเพื่อรักษาความสงบและความมั่นคงในภาคใต้ ผมเชื่อว่ากองทัพไม่ได้ไปกดขี่ประชาชน แต่จะต้องมีการพูดคุยเพิ่มเติม มีการหยุดยิงและลงนามในข้อตกลง

      สุทธิชัย: ท่านได้แต่งตั้งผู้สนับสนุนการเจรจาสันติภาพ อับดุล ราฮิม บิน โมห์ด นูร์ และฝั่งไทยก็มีหัวหน้าคนใหม่ที่มาดูแลขั้นตอนนี้ พวกเขารู้จักกันไหม

      มหาเธร์: ราฮิมมีความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย รู้จักผู้นำและเจ้าหน้าที่ไทย เขาเข้าใจว่าไทยต้องการทำอะไรและสามารถทำตามได้อย่างดี เพราะเขาเคยเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาในการหยุดความรุนแรงในมาเลเซีย

      สุทธิชัย: ท่านได้พาเขามาพบท่านนายกฯ ด้วยไหม เขาได้เจอกันไหม

      มหาเธร์: เจอครับ 

      สุทธิชัย: แล้วราฮิมได้เจอพลเอกอุดมชัย (ธรรมสาโรรัชต์) หัวหน้าฝ่ายเจรจาของรัฐบาลไทยหรือยังครับ

      มหาเธร์: เจอกันแล้วครับ

      สุทธิชัย: ท่านเคยบอกผมว่าขั้นตอนสันติภาพจะต้องขยายวงและเพิ่มการมีส่วนร่วมของฝ่ายอื่นๆ  ท่านกำลังเสนอกับฝ่ายไทยว่าควรจะนำเอาหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนสันติภาพหรือไม่

      มหาเธร์: ใช่ครับ เราควรมีการพูดคุยกับหลายๆ ฝ่าย เราไม่สามารถมีตัวแทนของคนภาคใต้จากแค่กลุ่มเดียว เพราะหากเรานำเสนอ 1 กลุ่ม กลุ่มอื่นๆ อาจไม่เห็นด้วย ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือพูดคุยกับหลายฝ่าย ให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับขั้นตอนสันติภาพ

      สุทธิชัย: ท่านกำลังเชิญชวนคนจำนวนมากกว่านี้เข้ากระบวนการสันติภาพใช่ไหมครับ โฆษกกลุ่ม  BRN บอกนักข่าวเมื่อ 2 วันที่แล้วว่าจะต้องขยายบทบาทของผู้สนับสนุนการเจรจาสันติภาพ โดยควรมีส่วนร่วมขององค์กรนานาชาติที่นอกเหนือจากมาเลเซีย ท่านคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่

      มหาเธร์: ถ้าเห็นความจำเป็นจริงๆ เราก็ควรยอมรับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ด้วย แต่ในขณะนี้ไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม

      สุทธิชัย: BRN บอกว่าพวกเขามีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม จะต้องมีความพยายามอย่างจริงใจเพื่อยุติความรุนแรงและคาดหวังว่ารัฐบาลไทยจะเปิดกว้างมากขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาเสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรมผ่านท่านแล้วหรือยัง

      มหาเธร์: ยังไม่มีการพูดคุยหลังจากที่เราได้แต่งตั้งราฮิม คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ผมก็ไม่รู้จักเขา ดังนั้นผมหวังว่าเราจะได้รับแจ้งเกี่ยวกับความคืบหน้าเมื่อราฮิมเข้ามารับหน้าที่

      สุทธิชัย: แต่ท่านรู้จักกับองค์กรเหล่านี้ พวกเขาไว้ใจท่านและท่านอาจสามารถนำพาพวกเขาเข้าสู่กระบวนการนี้ได้

      มหาเธร์: ผมเคยลองครั้งหนึ่งแล้ว โดยได้นำพวกเขามารวมกัน และพวกเขามีความเต็มใจที่จะยุติความรุนแรง แต่น่าเสียดายที่กลุ่มอื่นๆ ไม่เห็นด้วย

      สุทธิชัย: ตอนนี้ท่านจะโน้มน้าวและเชิญชวนพวกเขาอย่างไรครับจึงจะเห็นผล

      มหาเธร์: ก็ต้องพยายามต่อไป

      สุทธิชัย: ท่านรู้จักพวกเขาทั้งหมดและสามารถเชื่อมโยงกับองค์กรเหล่านี้ทั้งหมด แต่ประเด็นหลักที่ถูกวิจารณ์ถึงกระบวนการอื่นๆ คือผู้ที่พูดคุยกับรัฐบาลไทยไม่ได้เป็นตัวแทนของคนที่อยู่ในพื้นที่ พวกเขาไม่สามารถพูดแทนกระบวนการทั้งหมดเพื่อชี้ปัญหาที่แท้จริงได้

      มหาเธร์: ใช่ นั่นเป็นเรื่องจริง เพราะมีกลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่มที่ไม่ต้องการเจรจาต่อรอง ยังยืนยันแนวทางการต่อรองเจรจาเงื่อนไขเดิม พวกเขายังคงเชื่อว่าความรุนแรงสามารถบรรลุทำให้เป้าหมายได้

      สุทธิชัย: และท่านเชื่อว่าท่านทำได้

      มหาเธร์: ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาได้

      สุทธิชัย:  แล้วจะโน้มน้าวพวกเขาอย่างไรครับ

      มหาเธร์: เราต้องพูดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา เราเคยมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิปกครองตนเองและเรามีปัญหาในการเผชิญหน้า โดยมีการเรียกร้องจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเราแก้ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ด้วยการเจรจา ไม่ใช้ความรุนแรง.

      (พรุ่งนี้: ก่อนจะถึงวันหยุดยิง)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"