หากจะพูดเกี่ยวกับพลังและความสามารถของสตรีทั่วโลก พบว่าในปัจจุบันสถานะทางการงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น ผู้ประกอบการไทย ต้องเร่งสร้างโอกาสทางธุรกิจ ผลิตสินค้าจับไลฟ์สไตล์จากพลังผู้หญิง หรือที่เรียกว่า She-economy
สำหรับผู้บริหารที่นับว่าเป็นหญิงเก่งคนหนึ่งอย่าง วรรณี ลีลาเวชบุตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารชื่อเสียงองค์กร ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า จากการศึกษาพบว่าจำนวนและบทบาทของสตรีในภาคแรงงานได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าในอนาคต กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่มีอิทธิพลสูงต่อการผลักดันเศรษฐกิจ ด้วยบทบาทในภาคแรงงาน กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และมีอำนาจการตัดสินใจซื้อมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ขณะเดียวกัน มีข้อมูลยืนยันจากผลสำรวจต่างๆ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก อาทิ รายงานผลวิจัยจากฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว ระบุว่าผู้หญิงจะเป็นผู้ตัดสินใจหลักด้วยตัวเองสูงกว่า 80% สำหรับการซื้อสินค้าในสินค้าประเภทที่อยู่อาศัย รถ อาหาร เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งแพ็กเกจท่องเที่ยว โดยมีปัจจัยมาจากรายได้ ความสามารถในการประกอบอาชีพที่ส่งผลให้ผู้หญิงมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องการยอมรับในสถานะทางสังคมที่ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทในการบริหารมากขึ้น มีข้อมูลจากแกรนท์ ธอร์นตัน ระบุว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้บริหารเพิ่มขึ้นเป็น 29% ในปี 2560 โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศของภูมิภาคนี้ ที่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
แม้ว่าข้อมูลจำนวนประชากรในประเทศไทยสัดส่วนของเพศชายและหญิงไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่เมื่อเจาะลึกลงไป จะพบว่าประชากรวัยทำงานที่มีกำลังซื้ออายุตั้งแต่ 25-54 ปี ซึ่งคิดเป็น 46% ของประชากรทั้งหมด เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียก็มีแนวโน้มสัดส่วนประชากรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้บทบาทของผู้หญิงในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น มีกำลังซื้อ และเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
แนวคิด She-economy หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังหญิง จึงเป็นโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากขนาดตลาดของผู้หญิงที่ใหญ่ขึ้น เป็นสิ่งที่นักการตลาดต่างเร่งแข่งกันแย่งชิงสร้างพื้นที่ความต้องการให้เกิดขึ้นในใจของผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิง ดังจะเห็นได้จากบริการที่จัดพิเศษเฉพาะสตรี เช่น ที่จอดรถ ห้องพักในคอนโดฯ ซึ่งนักการตลาดจะเจาะกลุ่มย่อยเฉพาะสตรีมากขึ้น รวมทั้งเรื่องการสร้างแบรนด์และชื่อเสียง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและให้แบรนด์เป็นที่รักของกลุ่มลูกค้าผู้หญิง นอกจากนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาสนใจและคิดค้นผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และรสนิยมของผู้หญิงมากขึ้น เพื่อให้กลายเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของผู้บริโภค
แต่ในขณะเดียวกันการจะสร้างให้สินค้าและบริการเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจผู้บริโภค ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาไลฟ์สไตล์และรสนิยมที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ มาดูกันว่าจากกลุ่มผู้หญิงตัวอย่างจำนวนกว่า 6,000 คน จาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน จะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้าง โดยในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยชื่นชอบ และมีไลฟ์สไตล์ในการเลือกใช้แบรนด์ไทย มีพฤติกรรมกล้าที่จะลองซื้อและบริโภคสินค้าแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไทยและอินเตอร์แบรนด์
นับว่ามีความจำเป็นมากที่แบรนด์ไทยต้องสามารถทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงแพสชั่นในตัวสินค้า และเกิดกระแสให้คนพูดถึงแบบปากต่อปาก พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมในความเป็นสินค้าของคนไทย เช่น ความรู้สึกที่มีส่วนร่วมการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลทีมชาติไทย หรือความภูมิใจในแบรนด์ไทยที่เติบโตในต่างประเทศ เช่น นารายา จึงจะกลายเป็นแบรนด์เลิฟได้ ส่วนผู้บริโภคชาวจีนจะมีไลฟ์สไตล์ที่จะนิยมใช้สินค้าแบรนด์เนมที่เสริมภาพลักษณ์ เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีระดับ รวมไปถึงการเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพ
การขยายตลาดสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าผู้หญิงในประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเอเชีย ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องหาอัตลักษณ์ และนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศ เพื่อให้สามารถขยายตลาดสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทยได้ และเพื่อส่งเสริมผลักดันให้แบรนด์ไทยตื่นตัวกับการให้ความสำคัญเรื่องการสร้างชื่อเสียงขององค์กร การสร้างแบรนด์ให้ได้รับการยอมรับ เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอีกด้วย.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |