การอนุรักษ์โขนและเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย มี "มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" เป็นหนึ่งในหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนเก็บรักษาโขนไว้ในแผ่นดิน อีกทั้งประเทศไทยได้เสนอโขนต่อองค์การยูเนสโกเพื่อพิจารณาขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ในปี 2561 ซึ่งยูเนสโกจะประกาศผลช่วงเดือนธันวาคมนี้ แม้ยังมาไม่ถึง แต่การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโขนและการแสดงโขนสำคัญสูงสุด
เหตุนี้ มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ จัดการแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุดศึกกุมภกรรณ ตอน ปริศนาอสุรี-ขุนกระบี่หลงกล ขึ้น ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ เมื่อวันก่อน เพื่อให้เยาวชนและผู้สนใจที่เข้ามาเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย ณ ศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ ได้แสดงออกถึงคุณค่าศิลปะไทย และภาคภูมิใจในฐานะศิลปินตัวน้อยสืบทอดมรดกชาติ ในงานมีทั้งการบรรเลงวงมโหรี เพลงโหมโรงมหาฤกษ์ เพลงเงี้ยวรำลึก เพลงนกขมิ้น เดี่ยว 3 ขลุ่ย และหมู่ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ ขลุ่ยหลิบ ต่อด้วยรำถวายพระพรงดงาม รำซัดชาตรี ก่อนเริ่มการแสดงโขนรามเกียรติ์สร้างความประทับใจให้ผู้ชมที่มาไม่ต่ำกว่า 500 คน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ กล่าวว่า กว่า 8 ปีที่มูลนิธิคึกฤทธิ์ได้ทำโครงการฝึกหัดการแสดงโขนและนาฏศิลป์ ปีแรกมีผู้สนใจเรียน 70 คน ปัจจุบันมี 700 คน มาฝึกหัดที่ศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ ทุกๆ วันอาทิตย์ เวลา 09.00-12.00 น. ส่วนใหญ่จะเรียนโขน มี 150 คน เรียนดนตรีไทย ละคร พากย์โขน และขับร้องเพลงไทยเดิม มีศิลปินแห่งชาติร่วมสอน โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.) ทั้งสถานที่ฝึกซ้อมและเงินทุน ครูผู้ดูแลได้ ครูจตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโขน และศิลปินคึกฤทธิ์ ศิลปินแห่งชาติด้านนาฏศิลป์ และศิลปินอาวุโสรวมแล้ว 40 คน โดยกระบวนการเรียนการสอน ท่วงท่าไม่ต่างจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์และโขนสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ครูสอนตามขั้นตอนและจารีต แต่ละท่านฝีมือเยี่ยม เชี่ยวชาญเป็นโขนยักษ์ โขนลิง ขับร้อง วันอาทิตย์จะแบ่งกันสอน ทำให้ศูนย์ศิลปะการแสดงมีชีวิตชีวา ทุกปีจะให้เยาวชนแสดงในโรงละครขนาดใหญ่ได้มาตรฐาน เพื่อให้แสดงฝีมือเต็มที่
"เด็กเรียนด้วยความเต็มใจและรักศิลปะการแสดงไทย รวมถึงชมรมนาฏศิลป์ในโรงเรียนต่างๆ ก็ส่งมาเรียนกับครูศิลปินแห่งชาติ เด็กจะได้วิชาติดตัว คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งก็สนใจเรียน ศิลปะจะอยู่ได้ ถ้ามีคนสนใจเรียนรู้ ส่วนจะแพร่หลายหรือไม่อยู่ที่การส่งเสริม ปัจจุบันมีศิลปะตะวันตก ดนตรีเกาหลีที่เร็วและง่าย เข้าถึงได้มากกว่า การจะแข่งขันเพื่อให้โขนศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงอยู่ได้ นอกจากส่งต่อให้เยาวชนรักมรดกชาติแล้ว สื่อก็ต้องทำรายการที่สนุกสนานและเป็นประโยชน์ช่วยสืบสานศิลปะไทยอีกทางหนึ่ง ส่วนการขึ้นทะเบียนโขนไทยเป็นมรดกโลก กระบวนท่ารำของไทยก็อ่อนช้อยงดงาม เครื่องแต่งกายก็ประณีต แม้เราจะก้าวช้ากว่า แต่ก็สนับสนุนให้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า ถ้ายูเนสโกขึ้นทะเบียนโขนเป็นมรดกโลกจะเกิดประโยชน์ เพราะภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนจะเห็นคุณค่ามากขึ้น แต่ถึงไม่ขึ้นก็ไม่เป็นไร เพราะศิลปะและวัฒนธรรมไทย โขน นาฏศิลป์ ดนตรีไทย เป็นมรดกของชาติอยู่แล้ว จะรักษารากเหง้าให้ยั่งยืนอย่างไร นอกจากสอนที่สถาบันคึกฤทธิ์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ ยังมีสถาบันอื่นๆ มาขอวิชา ครูยินดีให้ เพราะพวกเขาคืออนาคตผู้สืบต่อศิลปวัฒนธรรม
"ทุกวันนี้นักแสดงโขนมีจำนวนลดน้อยลง ครูผู้เป็นพ่อโขนแม่โขนที่สถาบันคึกฤทธิ์ภูมิใจเมื่อมีเยาวชนให้ความสนใจมาเรียนรู้ ฝึกฝน บางครอบครัวพาลูกมาเรียนโขน พ่อไปเรียนดนตรี แม่เรียนรำ บางครอบครัวพี่เรียนโขนลิง น้องเรียนโขนยักษ์ ส่งผลให้ศิลปวัฒนธรรมมีชีวิตชีวา” จตุพรกล่าว
ด้าน สุดจิตต์ พันธ์สังข์ ครูโขนยักษ์ประจำศูนย์ศิลปะการแสดง กล่าวว่า ตนช่วยวางหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเป็นหลักสูตร 4 ปี เริ่มจากยืดตัว ดัดตัว พร้อมที่จะฝึกแม่ท่าตามอิริยาบถของตัวละครนั้นๆ อีกทั้งตีบทท่า เมื่อเรียนถึงปี 4 แล้วจะสามารถร่ายรำเป็นตัวเอกแสดงโขนได้ ครูผู้ควบคุมจะดูแววและส่งเสริมผู้เรียน เด็กเล็กสุดที่มาฝึกหัดโขนอายุ 5 ขวบ ตอนนี้มีเยาวชนเรียนโขนเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ผู้ใหญ่ที่สนใจหัดโขนก็มาจากหลายอาชีพ มีทั้งหมอ นักการทูต คนที่ฝึกจบแล้วกลับมาเป็นผู้ช่วยครูก็มาก นอกจากฝึกสอนโขน ยังสอดแทรกเรื่องมารยาท การเคารพผู้ใหญ่ การไหว้ กราบครู ช่วยพัฒนาเด็กทั้งบุคลิกภาพและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนครูจะรักษาศิลปะนี้ต่อไป อาจารย์คึกฤทธิ์เคยบอกว่า "เอ็งรักษาตัวให้ดี ฝึกฝนให้ดี และมีสติ" ก็ยึดคำสอนท่านจนวันนี้ ไม่ให้ตายไปกับตัว เราฝังเรื่องโขนไว้ในใจเยาวชนได้แล้ว มีมาตรฐาน มรดกแขนงนี้ไม่สูญหายแน่นอน
แม้จบการแสดงในโรงละครขนาดใหญ่ มอบอรรถรสให้ผู้ชมอย่างทั่วถึง แต่การเรียนรู้ฝึกหัดโขนยังไม่จบ สนใจจะฝึกไปที่ศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ กันได้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |