“ออมสิน” เปิดผลสำรวจรากหญ้ามีเงินออมเพียง 32.2% สำหรับใช้ยามฉุกเฉิน-เจ็บป่วย-สำรองไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน-เป็นทุนประกอบอาชีพ และใช้ยามเกษียณ โอดอุปสรรคสำคัญคือไม่มีเงินเหลือพอเก็บออม พร้อมมองระยะต่อไปแนวโน้มการออมของไทยโตแผ่วลง จากการเร่งลงทุนโครงการบิ๊กโปรเจ็กต์ทำให้ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้ทำการวิจัยและสำรวจพฤติกรรมการออมของประชาชนฐานราก จากกลุ่มตัวอย่างประชาชน ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,150 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนฐานราก 32.2% มีเงินออม โดยส่วนใหญ่ 56.9% ของผู้ที่มีเงินออม มีการออมแบบรายเดือน จำนวนเงินออมเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 บาทต่อเดือน
“อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนฐานรากไม่สามารถเก็บออมได้ คือไม่มีเงินเหลือพอที่จะเก็บออม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลได้พยายามหาทางแก้ไข และสร้างให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงาน และสถาบันต่างๆ อาทิ กองทุนการออมแห่งชาติ และการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐานสำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” นายชาติชาย กล่าว
สำหรับวัตถุประสงค์การออมของประชาชนฐานราก พบว่า 3 อันดับแรก ออมเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน/เจ็บป่วย 71.7% สำรองไว้ใช้ 67.0% และเป็นทุนประกอบอาชีพ 39.3% โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนฐานรากที่มีการออมเพื่อใช้ยามเกษียณมีเพียง 23.5% เท่านั้น และเมื่อสำรวจลักษณะการออมและการลงทุนที่มีในปัจจุบันของประชาชนฐานราก พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีการออม/การลงทุน 3 อันดับแรก คือ ฝากไว้กับธนาคาร 80.3% เก็บไว้ที่บ้าน/ครัวเรือน 22.9% และ เล่นแชร์ 8.5%
ส่วนเป้าหมายการออม/การลงทุนในอนาคต พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 40.2% มีการตั้งเป้าหมายที่จะออมเงิน/ลงทุน โดยมีเป้าหมาย 3 อันดับแรก คือ สำรองไว้ยามฉุกเฉิน 29.7% เพื่อการศึกษา 29.1% และใช้จ่ายยามเจ็บป่วย 27.5% อุปสรรคสำคัญที่ไม่สามารถ ออมเงินได้ คือ ไม่มีเงินเหลือไว้ออม 52.3% มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน 24.2% และมีภาระหนี้สิน 18.6%
นอกจากนี้ ในส่วนของช่องทางการทำธุรกรรมการฝากเงิน 3 อันดับแรก คือ สาขาของธนาคาร 89.8% เครื่องฝากเงินสด 68.8% และ Mobile/ Internet Banking (ฝากโอน) 18.4% ทั้งนี้ จากผลสำรวจจะเห็นว่ากลุ่มคนฐานรากยังคงนิยมใช้บริการผ่านบุคคลที่สาขาของธนาคารซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธนาคารออมสินไม่มีนโยบายลดจำนวนสาขาลง เพื่อรองรับการให้บริการกับลูกค้าและประชาชนในทุกพื้นที่ต่อไป
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนฐานรากกับ “บัญชีเงินฝากพื้นฐาน” พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 92.3% คิดว่าการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐานเป็นเรื่องที่ดีเพราะ ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า/รายปีของการใช้บัตร ATM ช่วยเหลือผู้สูงอายุให้มีเงินออม และไม่กำหนดเงินฝากขั้นต่ำ ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 7.7% เห็นว่าไม่ควรกำหนดเรื่องเกณฑ์อายุ เกณฑ์รายได้ และควรจ่ายดอกเบี้ยพิเศษกว่าปกติ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีจากการศึกษาพบว่า ภาพรวมการออมของประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีปริมาณการออมเบื้องต้นของประเทศอยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 12.9% คิดเป็น 34.8% ของ GDP ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกันถือว่าอยู่ในระดับต้น ๆ โดยมีการออมในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินฝาก สลากออมทรัพย์ พันธบัตร ประกันชีวิต เป็นต้น
สำหรับเงินฝากที่อยู่ในสถาบันการเงิน ณ เดือน ส.ค. 2561 อยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท เป็นเงินฝากธนาคารพาณิชย์ 13.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.8% และธนาคารเฉพาะกิจ 4.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.2% ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารออมสิน คาดว่าในระยะต่อไปตัวเลขการออมของประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากการเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องการเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |