“ประยุทธ์” เผยนัดคุยพรรคการเมืองต้องดูเวลาเหมาะสม อาจเป็น พ.ย.หรือต้น ธ.ค. ยังกั๊กเปิดตัว อ้างไม่มีกำหนดเวลา เอือมเสียงหมอดูเชียร์นั่งนายกฯ ต่อ “หญิงหน่อย” เปิดหน้าชนเต็มสูบ เลือกโคราชบ้านเกิด “ลุงตู่” หาสมาชิก พร้อมชูสโลแกน “ลูกอีสาน หลานย่าโม” หวังใช้บารมีพ่อขยายฐานเสียง ชาติพัฒนาแพแตก “สิริพงศ์” เลือดใหม่ลาออกไปซบภูมิใจหนู อ้างไม่ใช่แนวทางเดียวกัน “กำนัน” โดนลองของ ชี้กลุ่มอำนาจเก่าส่งคนป่วน
ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนในการนัดพรรคการเมืองพูดคุยเพื่อปลดล็อกภายในเดือน พ.ย.ว่า มีการเตรียมการไว้อยู่แล้ว จะเป็น พ.ย.หรือต้น ธ.ค.เดี๋ยวดูกันอีกที ต้องดูเวลาที่เหมาะสม ช่วงนี้ก็รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในสื่อโซเชียลมีเดียก็พูดกันเยอะแยะไปหมด โดยได้มอบหมายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รวบรวมไว้ทั้งหมด และหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งก็คงรับฟัง
"ต่างคนก็ต้องต่างฟัง ผมก็จะทนและฟังให้มากที่สุด ถ้าท่านพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้แต่การเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่พูดทำนองที่ทำให้การเลือกตั้งสับสนอลหม่าน เพราะวันนี้ประเทศเดินหน้าไปด้วยดี" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) เริ่มเปิดรายชื่อผู้จะถูกเสนอเป็นนายกฯ บ้างแล้ว พล.อ.ประยุทธ์พร้อมเปิดตัวหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า พรรคการเมืองไหนจะเสนอใครก็ว่ากันไป ส่วนตนเองยังไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับใคร และยังไม่มีกำหนดเวลา ว่าต้องเมื่อไหร่ อย่างไร ตอนนี้ถ้าถึงเวลาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับทางการเมือง ก็ค่อยว่ากันอีกที อย่าไปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก อยากให้ดูว่ารัฐบาลนี้ทำอะไรมากกว่า และไปดูว่ารัฐบาลต่อไปจะทำอะไรอีกบ้าง ได้มากกว่าที่ตนเองทำหรือไม่ เพราะฉะนั้นขอร้องว่าอย่าไปฟังว่าไอ้นั่นจะทำ ไอ้นี่จะไม่ทำ เลิกเสียที ทำใหม่ เพราะมันไม่ง่ายนักหรอก ถ้าทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างที่ตนเองทำอยู่ในเวลานี้
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีเสียงสะท้อนในเชิงลบจะมีผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลและ คสช.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ฟังเสียงสะท้อนทั้งเชิงลบและเชิงบวก และแม้เสียงสะท้อนเชิงบวกจะมีมากมาย แต่สื่อก็ไปขยายในเชิงลบมากกว่า ผลสะท้อนเชิงบวกสื่อขยายให้บ้างหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ แต่ก็ไม่ค่อยเห็น ส่วนใหญ่สื่อมักขยายเรื่องเชิงลบมากกว่า แต่ยืนยันว่าไม่ว่าเสียงสะท้อนเชิงลบจะมีมากหรือน้อย ก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นบวกเป็นลบ ทั้งนี้ เหตุผลที่จะทำให้ตัดสินใจก็อยู่ที่ความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก การดำเนินการ การบริหารประเทศ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท เป็นสิ่งที่ติดตามอยู่ตลอดเวลา ก็หวังว่าประชาชนและข้าราชการจะเข้าใจ ว่าวันนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่
ลุงตู่ขี้เกียจตอบ
ถามถึงคำทำนายหมอดูที่ระบุว่าจะได้เป็นนายกฯ ต่อ รวมถึงแฟนคลับชาวเชียงใหม่ต้องการให้ไปลงพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงเบื่อหน่ายว่า "คำถามที่พวกท่านถามมาเวิ่นเว้อ เป็นการเมืองทั้งสิ้น ผมขี้เกียจตอบ และไม่ได้โมโหใคร แต่ขี้เกียจตอบ เพราะมันไม่มีประโยชน์กับผมหรือใครเลยทั้งสิ้น"
ถามอีกว่า จะปรับช่องทางการสื่อสารหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีการบิดเบือนข้อมูล นายกฯ กล่าวว่า ทุกอย่างก็จะเป็นเหมือนเดิม เพราะคนเสนอข่าวข้อมูลก็เป็นคนเดิม โดยเฉพาะสื่อมวลชนก็เป็นแบบเดิม ก็ไม่สามารถแก้อะไรได้ทั้งนั้น แต่ก็ขอขอบคุณทุกคน
เมื่อซักว่า ถึงวันนี้นายกฯ เหนื่อยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่า ไม่เหนื่อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาการบาดเจ็บจากนิ้วมือด้านขวาซ้นของ พล.อ.ประยุทธ์ คาดว่าจะมีอาการหนักขึ้น เนื่องจากพยาบาลได้พันผ้าลักษณะเฝือกอ่อนเต็มฝ่ามือ ซึ่งคาดว่ามาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้โล้ชิงช้าระหว่างลงพื้นที่ รวมทั้งได้พบปะชาวบ้านมีการจับมือ ซึ่งชาวบ้านบางคนไม่ทราบว่านายกฯ มีอาการบาดเจ็บมาก่อนจึงจับมืออย่างแน่น จนบางครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับแสดงอาการบาดเจ็บให้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมบอกว่ายังเจ็บมืออยู่
นายวิษณุกล่าวถึงการประชุมร่วม คสช.กับพรรคการเมือง ว่ายังไม่ชัดเจน เพราะเดือน พ.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเดินทางไปต่างประเทศ 3-4 ครั้ง แต่การประชุมน่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. โดยเป็นช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในประเทศไทย
นายวิษณุยังกล่าวถึงกระแสนักการเมืองย้ายพรรคกันไปมาจำนวนมากในช่วงนี้ว่า ไม่เป็นไร โดยคนที่จะลงรับสมัคร ส.ส.ต้องมีสภาพสมาชิกพรรค 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง ถ้าวันเลือกตั้งคือ 24 ก.พ.2562 ต้องเป็นสมาชิกภายในวันที่ 26 พ.ย.นี้ แต่หลังวันดังกล่าวก็ย้ายพรรคได้อยู่ แต่ลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้แล้ว ถ้าพอใจเป็นแค่สมาชิกพรรคไม่เป็นไร ซึ่งก็มีบางคนที่ไม่ได้จะลงสมัครเป็น ส.ส.
วันเดียวกัน ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกต่อนายพิสิษฐ์ พิทยฐากุลเจริญ นายทะเบียนพรรค เพื่อไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โดยจะไปสมัครเป็นสมาชิก ภท.ในวันเดียวกัน
ทั้งนี้ ระหว่างนายสิริพงศ์ยื่นใบลาออก มีนายภราดร ปริศนานันทกุล และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทอง พรรค ชพน. มาให้กำลังใจ โดยต่างสวมกอด ขณะที่นายสิริพงศ์มีน้ำตาคลอเบ้า ซึ่งนายสิริพงศ์กล่าวภายหลังยื่นลาออกว่า แม้ลาออกจากพรรค ชพน.แล้วยังเป็นพวกเดียวกันเหมือนเดิม ยังสามารถทำงานร่วมกันกับอดีต ส.ส.พรรค ชพน.ได้
“ก่อนตัดสินใจลาออก ได้คุยกับผู้ใหญ่หลายคน ซึ่งเขาบอกว่าให้อยู่ช่วยงานพรรคก่อน แต่ผมมองว่าแนวทางของพรรค ชพน.ตอนนี้ไม่ใช่แนวทางของผมอีกต่อไป และไม่พร้อมทำงานให้กับพรรคในสภาพของผมที่เป็นแบบนี้ ยืนยันไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องแนวทางทางการเมือง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคล ที่ผ่านมาเข้าสังกัดนี้เพียงคนเดียว ดังนั้นเมื่อวันนี้ไปก็ไปคนเดียว ไม่มีชวนใครออกตาม” นายสิริพงศ์กล่าว
เมื่อถามถึงบทบาทที่จะทำในพรรค ภท. นายสิริพงศ์ตอบว่า มี 2-3 โครงการที่อยากเข้าไปทำ โดยเฉพาะการนำโมเดลบุรีรัมย์ด้านกีฬาไปพัฒนาและต่อยอดในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และเสนอตัวทำคนรุ่นใหม่ให้พรรค ภท. ส่วนการลงเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของ ภท.นั้น ก็มีความพร้อม แม้การต่อสู้ในพื้นที่กับพรรคเพื่อไทย (พท.) นั้นจะยาก แต่เมื่อลงสนามแล้วต้องสู้ เปรียบเหมือนนักมวยที่ลงสนามแล้วต้องสู้กัน
เมื่อถามว่า ก่อนยื่นใบลาออกได้คุยกับนายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่ ชพน.แล้วหรือไม่ นายสิริพงศ์รับว่า ไม่ได้คุยกัน แต่หลังจากนี้จะเข้ามาลาผู้ใหญ่ทุกคนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ส่วนเหตุผลที่ไม่คุย ไม่ใช่เพราะโกรธหรือขัดแย้งกัน แต่ไม่อยากให้มองเป็นการต่อรอง หลังจากนี้ในอนาคตพร้อมนั่งดื่มกาแฟ เพื่อพูดคุยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้
ชี้ ชพน.เสียคนอนาคตไกล
ขณะที่นายภราดรกล่าวว่า รู้สึกเสียใจ แต่ยอมรับกับการตัดสินใจของนายสิริพงศ์ เพราะเชื่อว่าคิดมาอย่างดีแล้ว ส่วนการทำงานการเมืองนั้นมั่นใจว่ายังทำงานร่วมกันได้ แม้เป็นคนละพรรค แต่เราคือพวกเดียวกัน
หลังจากนายสิริพงศ์ได้ยื่นหนังสือลาออกไม่กี่นาที นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคในฐานะผู้ชักนำนายสิริพงศ์ให้ทำงานร่วมกับพรรคได้เดินทางเข้าพรรค เพื่อมาส่งนายสิริพงศ์พร้อมระบุว่า เสียใจที่พรรค ชพน.ขาดบุคคลที่เป็นความหวังและอนาคตของพรรค แต่เมื่อนายสิริพงศ์ตัดสินใจลาออกแล้ว ก็เคารพการตัดสินใจ เพราะการเมืองคือเรื่องของอาสาสมัคร และสมัครใจ เมื่อใจไม่ไป ก็อยู่ยาก และอาจทำงานร่วมกันได้ยาก และไม่ต้องอวยพรให้นายสิริพงศ์ เพราะเชื่อมือว่าคนเก่งอยู่ที่ไหน ย่อมทำงานได้ และประสบความสำเร็จ
“ผมเสียดายที่พรรคชาติไทยพัฒนาเสียโอกาส แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าสิริพงศ์จะอยู่ที่ไหนก็ต้องสู้ เชื่อว่าประชาชนฉลาดว่าจะเลือกคนแบบไหนที่สามารถทำประโยชน์ให้ได้” นายสมศักดิ์กล่าว
ด้านความเคลื่อนไหวของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นั้น ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค รปช. พร้อมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมจัดตั้งพรรค และคณะยังคงเดินคารวะแผ่นดินหาสมาชิกพรรคเป็นวันที่ 5 ในเส้นทางถนนสีลม-เจริญกรุง-บางรัก โดยตลอดเส้นทางได้รับการตอบรับดี โดยนายสุเทพกล่าวว่า จากการเดินมา 5 วันได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี แต่ก็มีคนที่มาจ้องป่วน ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นกลุ่มอำนาจเก่า เพราะเห็นหน้าชัดเจนเป็น 2 คนเดิมที่มาก่อกวนที่ย่านเยาวราช ยืนยันว่าไม่ใช่กลุ่ม กปปส.เก่าที่ไม่พอใจที่มาตั้งพรรคการเมือง ดังนั้นขอฝากถึงกลุ่มการเมืองเก่า ขอให้ใจกว้าง อย่าใจแคบ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้หวั่นไหว และฝากทีมงานไปว่าอย่าตอบโต้
นายสุเทพยังชี้แจงถึงกรณีหลายคนมองว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล หัวหน้าพรรค ไม่มีบทบาทและประชาชนสับสนว่าใครเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริง ว่าไม่สับสน ม.ร.ว.จัตุมงคลเป็นหัวหน้าพรรคชุดแรก และ รปช.จะประชุมสมัชชาพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 15 ธ.ค นี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสมาชิกจะเลือกใคร ถ้าประชาชนเห็นว่า ม.ร.ว.จัตุมงคลเหมาะสม ก็เลือกเป็นหัวหน้าเช่นเดิม
ส่วน ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่า หากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคก็พร้อม เพราะเชื่อว่ามีความรู้ความสามารถเพียงพอจากผลงานที่ผ่านมาในการคิดเมกะโปรเจ็กต์ สมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และปลัดกระทรวงการคลัง แม้หลายคนมองว่าไม่ติดดินก็ตาม ก็เชื่อมั่นว่าจะบริหารพรรคต่อไปได้ เพราะสามารถใช้คนให้ถูกกับงานได้
ทั้งนี้ ในเวลา 11.30 น. ระหว่างที่ขบวนของนายสุเทพเดินทางมาถึงซอยศรีเวียง หน้าโรงแรมแชงกรี-ลา มีผู้หญิงรายหนึ่งได้พูดเสียงดังเชิงต่อว่านายสุเทพว่า "ไม่ห่มผ้าเหลืองมาเหรอคะ ไหนว่าจะบวชไม่สึก คิดว่าประชาชนโง่หรือคะ กินข้าวนะ ไม่ได้กินหญ้า รู้ไว้ด้วย" โดยนายสุเทพไม่ได้ตอบโต้อะไร และเมื่อเวลา 13.00 น. ระหว่างคณะนายสุเทพอยู่ฝั่งตรงข้ามซอยเจริญกรุง 44 มีผู้หญิงอายุประมาณ 60 ปี เดินชูป้ายภาพถ่ายคู่ของนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ ไปมาในซอยดังกล่าว แต่เมื่อขบวนของนายสุเทพเดินผ่าน หญิงคนดังกล่าวก็เดินกลับเข้าไปในซอย โดยไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ
เปิดตัวชน "บิ๊กตู่"
ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีรายงานแจ้งว่า ในวันที่ 31 ต.ค. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรค มีกำหนดลงพื้นที่ จ.นครราชสี มารับสมัครสมาชิกพรรค และรับฟังความคิดเห็นประชาชนใน อ.เมืองฯ อ.สีคิ้ว ซึ่งสาเหตุที่คุณหญิงสุดารัตน์เดินทางมานครราชสีมาเป็นจุดแรก เพราะต้องการปรับภาพลักษณ์ฐานเสียงที่มีอยู่เฉพาะในพื้นที่ กทม. เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง อีกทั้งพื้นที่อีสานมีจำนวน ส.ส.มากที่สุด และนครราชสีมาก็มีจำนวน ส.ส.เขตถึง 14 ที่นั่ง เป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจาก กทม.
“นายสมพล เกยุราพันธุ์ บิดาคุณหญิงสุดารัตน์มีพื้นเพเป็นคนนครราชสีมา เคยเป็น ส.ส.นครราชสีมาเมื่อการเลือกตั้งปี 2512 ในนามอิสระ คุณหญิงสุดารัตน์จึงให้ความสำคัญ พร้อมกับจะชูคำขวัญลูกอีสาน หลานย่าโม ที่สะท้อนความเป็นทายาทของนายสมพล รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณชักธงรบถึง พล.อ.ประยุทธ์ ที่เกิดในนครราชสีมา และประกาศตัวเป็นคนโคราชมาโดยตลอดด้วย” รายงานระบุ และว่า หลังจากนี้คุณหญิงสุดารัตน์จะลงพื้นที่ต่างๆ โดยในการเลือกตั้งคุณหญิงสุดารัตน์จะเป็น 1 ใน 3 รายชื่อพรรคจะเสนอเป็นนายกฯ
นายโกศล ปัทมะ อดีต ส.ส.นครราชสีมา พท. กล่าวในเรื่องนี้ว่า จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากหอการค้าจังหวัด และกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นอาชีพหลัก เพราะนครราชสีมาปลูกอ้อยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน แต่ที่ผ่านมานโยบายรัฐบาลมักเอื้อประโยชน์ให้นายทุนที่นำอ้อยไปแปรรูป เราจึงต้องการแก้ปัญหาดังกล่าวให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์มากที่สุด โดยสิ่งที่ประชาชนสะท้อนมาจะรวบรวมเพื่อไปปรับเป็นนโยบายสำหรับการเลือกตั้ง
นายพงศกร อรรณนพพร เลขาธิการพรรคเพื่อธรรม (พธ.) กล่าวว่า พรรคมีจุดยืนชัดเจนในแนวทางประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ ตามที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคประกาศไว้ ส่วนการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น พรรคตั้งใจส่งผู้สมัครให้ได้มากที่สุดเกือบครบ 350 เขต เพราะผู้สมัครบางรายคุณสมบัติไม่ครบถ้วน จึงทำให้ส่งไม่ครบ แต่จะส่งครบทุกภาค
“ประเด็นที่วิจารณ์กันว่าพรรคเพื่อธรรมเป็นนอมินีหรือเป็นสาขารองรับให้พรรคเพื่อไทยกรณีเกิดอุบัติเหตุการเมืองนั้น ขอเรียนว่าพรรคเพื่อไทยก็คือพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อธรรมก็คือพรรคเพื่อธรรม เราไม่ได้เป็นนอมินีให้ แต่ถ้าแนวทางอุดมการณ์การเมืองตรงกัน เราก็โอเค ไม่มีปัญหา ที่ยืนยันได้ชัดเจนวันนี้คือ เราไม่เอาเผด็จการ” นายพงศกรกล่าว
พธ.ย้ำไม่ใช่นอมินี พท.
เมื่อถามว่า พร้อมรองรับสมาชิกพรรค พท.หรือไม่ หากเกิดอุบัติเหตุการเมืองจริงๆ นายพงศกรกล่าวว่า คงไม่ใช่ โครงสร้างพรรคใดก็เป็นโครงสร้างตามพรรคนั้น เพียงแต่ถ้าแนวทางเราไปคล้ายกัน ถ้าเขาจะมา เราก็ไม่ได้ว่า สิ่งที่ยืนยันได้คือ พรรคเพื่อธรรมไม่ใช่นอมินีพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าแนวคิดตรงกัน ผู้ที่จะมามีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งก็พร้อมรับ แต่ต้องตรวจคุณสมบัติก่อน
ถามอีกว่า พรรค พธ.เน้น ส.ส.ระบบเขตหรือระบบบัญชีรายชื่อมากกว่ากัน นายพงศกรกล่าวว่า เน้นทั้ง 2 ระบบ ซึ่งเราส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบเขต ก็หวังระบบเขตมาก่อนในลำดับต้นๆ แต่ผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็อยู่ที่พี่น้องประชาชนตัดสิน เมื่อผลออกมาค่อยมาดูกันอีกครั้ง
สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ได้ทำหนังสือเชิญประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2 ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ เพื่อลงมติเลือกหัวหน้าพรรค, คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง 11 คน ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โดยองค์ประชุมจะมีประมาณ 302 คน
"เชื่อว่าการเลือกหัวหน้าพรรคจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งในข้อบังคับพรรคระบุไว้ว่า การเลือกหัวหน้าพรรคต้องเลือกจากที่ประชุมใหญ่ โดยให้คำนึงถึงผลการหยั่งเสียงที่สมาชิกพรรคได้เลือก ส่วนจะมีบุคคลใดถอนตัวหรือไม่นั้น ขณะนี้มีการแสดงเจตจำนงกันไว้บ้างแล้ว หากได้รับผลการหยั่งเสียงจากสมาชิกทั่วประเทศเป็นที่ 2 และ 3 อาจถอนตัว แต่ต้องยอมรับว่าสมาชิกมีอิสระในการลงคะแนน และสุดท้ายผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคต้องเป็นไปตามที่ประชุมใหญ่" นายราเมศกล่าว
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป.โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “ทำไมถึงต้องเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ว่า ในการดีเบตระหว่างผู้สมัครหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์พูดว่า ปชป.จะไม่เป็นรัฐบาลเพียงเพื่อคนของพรรค แต่จะเป็นรัฐบาลหากเราสามารถขับเคลื่อนนโยบายเพื่อประชาชน ประโยคอย่างนี้ใครๆ ก็พูดได้ แต่มีใครบ้างที่เรามั่นใจว่าพร้อมทำตามนี้จริง นายอภิสิทธิ์เป็นนักการเมืองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคนหนึ่ง แต่ก็เป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่รอบรู้ ซื่อสัตย์ และอดทน รวมทั้งแอ่นอกยอมรับกระแสกดดันมาโดยตลอด ไม่เคยออกอาการตัดพ้อ น้อยใจ หรือถอดใจ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลือกหัวหน้าพรรค คือต้องมั่นใจว่าหัวหน้ามีจุดยืนที่หนักแน่นและชัดเจนในการรักษาอุดมการณ์ของพรรคในการปกป้องประโยชน์ของประเทศ และนี่คือสาเหตุหลักที่ประกาศยืนยันสนับสนุนนายอภิสิทธิ์
"พรรคเราโชคดีที่มีผู้สมัครหัวหน้าพรรคที่มีคุณภาพทั้งสามคน แต่หากถามว่าใครพร้อมที่สุดที่จะเป็นนายกฯ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผมว่าคำตอบชัดเจนคือคุณอภิสิทธิ์ เราต้องเลือกคนที่เป็นไปได้มากที่สุด เพราะหากเราตั้งใจเพียงเลือกหัวหน้าพรรคที่จะพร้อมยอมให้คนนอกพรรคเป็นนายกฯ ผมว่านั่นคือความคิดที่จะยิ่งทำให้พรรคอ่อนแอ และสุดท้ายมีสิทธิ์ล่มสลาย ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันต้องเป็นอภิสิทธิ์เท่านั้น"
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรค 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคแผ่นดินธรรม, พรรคประชาชาติ, พรรคพลังชาติไทย, พรรคประชาธรรมไทย และพรรคคลองไทย ซึ่งคำขอจดทะเบียน เอกสารและหลักฐานของทั้ง 5 พรรคครบถ้วน จึงรับจดทะเบียน นอกจากนี้ กกต.ยังประกาศให้พรรคคนไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง โดยทั้ง 2 กรณีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทำให้ปัจจุบันมีพรรคการเมือง 81 พรรค จดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ 16 พรรค และพรรคการเมืองเดิม 65 พรรค.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |