คัดสรร 250 ส.ว. เพื่อการเมือง-ปฏิรูปประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

 

        การออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา  (ส.ว.) นำไปสู่การตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ในบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก กำหนดให้มี ส.ว. 250 คน ก่อให้เกิดเสียงวิเคราะห์วิจารณ์ต่อเนื่องกันมาเป็นปี เช่น เป็นการปูทางให้ คสช.สืบทอดอำนาจ

        พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง เพราะทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ส.ว. กำหนดให้ คสช.เป็นคน “จิ้ม” รายชื่อ ส.ว.ในรอบสุดท้าย หลังผ่านกระบวนการคัดสรร แถมยังให้ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผบ.ตร.รวม 6 คน เป็น ส.ว.โดยอัตโนมัติ

        ที่สำคัญ รธน.กำหนดให้วุฒิสภา (ส.ว. 250 คน) ประชุมร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส. 500 คน) เพื่อโหวตเลือกนายกฯ

        เมื่อให้ คสช.มีต้นทุน 250 ส.ว. นักการเมืองหรือใครก็แล้วแต่ ที่ไม่ได้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และไม่ได้เป็นหัวหน้า  คสช. ย่อมเข้ามาเป็นนายกฯ ได้ยาก

      กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้ ส.ว.มีที่มา 2 ทาง

        ทางที่ 1 ให้สมัครที่อำเภอแล้วเลือกกันเองตามกลุ่มอาชีพ ประสบการณ์ซึ่งมี 10 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่ม ผู้สมัครอิสระจะเลือกกันเอง และสมัครโดยนิติบุคคลเสนอชื่อก็เลือกกันเอง   จากนั้นให้ผู้ผ่านการเลือกกันเองของทุกอำเภอของแต่ละกลุ่มอาชีพมาเลือกกันเองในระดับจังหวัด และนำผู้ที่ผ่านการเลือกกันเองไปเลือกระดับประเทศให้ได้ 200 คน จาก 10 กลุ่มอาชีพ กลุ่มอาชีพละ 20 คน ซึ่งแบ่งเป็นผู้สมัครอิสระ 10 คน สมัครโดยนิติบุคคลเสนอชื่อ 10 คน

        กกต.ส่งรายชื่อ 200 คน เรียงคะแนนตามลำดับให้ คสช. จิ้มให้เหลือ 50 คนเพื่อเป็น ส.ว. ส่วนอีก 50 คนเป็นรายชื่อสำรอง

        ทางที่ 2 สมัครส่วนกลาง คสช.จะแต่งตั้งคณะกรรมการ 9-12 คนมาออกหลักเกณฑ์ วิธีการต่างๆ แล้วคัดเลือกไว้ 400 คน จากนั้นส่งรายชื่อให้ คสช.จิ้มให้เหลือ 194 คน เมื่อบวกกับ ผู้นำเหล่าทัพและตำรวจที่แต่งตัวรออยู่แล้ว 6 คน ก็จะเป็น 200 คน

        รวม 2 ทางจะเป็น ส.ว. 250 คน

        กระบวนการสมัคร การคัดเลือกทั้ง 2 ทางนี้แตกต่างกัน    ทางที่ 1 กกต.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งได้เปิดให้องค์กรนิติบุคคลมาลงทะเบียนเพื่อให้มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลลงสมัครเพื่อเลือกกันเอง กกต.ได้กำหนดปฏิทินไว้แล้ว ให้สมัครวันที่ 10-14 ธันวาคม และเริ่มเลือกระดับอำเภอวันที่ 30 ธันวาคม กระทั่งสิ้นสุดที่การเลือกระดับประเทศในวันที่ 16 มกราคม 2562

        ส่วนทางที่ 2 ยังไม่มีการชี้แจงจาก คสช. ว่าจะตั้งกรรมการคัดเลือก 9-12 คนเมื่อใด จะให้ กกต.มาช่วยดำเนินการหรือไม่ จะเปิดให้สมัครวันไหน จะส่งประวัติและเอกสาร หลักฐานอะไรบ้าง จะได้ 400 รายชื่อวันไหนเพื่อส่งให้ คสช.เคาะให้เหลือ 194 คน ฯลฯ

        ส.ว.ชุดใหม่ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็น “ส.ว.ลากตั้ง” เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือน ส.ส. ข้อกล่าวหาย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์ของ คสช. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า รวมถึงพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และผู้นำกองทัพคนอื่นๆ ที่เป็นสมาชิก คสช.

      อย่างไรก็ตาม ส.ว.ย่อมถือเป็นผู้แทนปวงชาวไทยเช่นเดียวกับ ส.ส. นี่คือสิ่งที่ รธน.บัญญัติไว้ในมาตรา 114

      เมื่อ ส.ส.ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมือง ส.ว.ย่อมมีสถานภาพเป็นนักการเมืองเช่นเดียวกัน การประพฤติปฏิบัติของนักการเมืองที่ดีคือการเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง ด้วยจิตวิญญาณแห่งการรับใช้ประชาชน ทั้งการพูด การกระทำต้องให้สมกับการเป็นผู้มีวุฒิภาวะและประพฤติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีงาม

        รัฐธรรมนูญมาตรา 270 บัญญัติไว้ ดังนี้

        มาตรา 270 นอกจากจะมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้วุฒิสภาตามมาตรา 269 มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ในการนี้ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือน

        จะเห็นได้ว่านอกจากวุฒิสภาจะมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การกลั่นกรองกฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญยังมีภารกิจเรื่องการปฏิรูปเพิ่มเติมเข้ามาด้วย

      ดังนั้น การเป็นผู้ที่ต้องรอบรู้เรื่องการปฏิรูป และยุทธศาสตร์จึงถือเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ คสช.ต้องคำนึงถึง

        การเลือก 250 ส.ว.ที่ “ผิดฝา ผิดตัว” ไม่เพียงแต่จะซ้ำเติมให้ภาพลักษณ์ ส.ว.ที่ถูกค่อนแคะว่า “สภาลากตั้ง” ตกต่ำลง ยังสะเทือนไปถึง คสช.

        และอาจทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกดังที่หลายคนเป็นห่วงก็เป็นได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"