ในการเสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ได้มีกระแสพระราชปรารภมีข้อความตอนหนึ่งว่า พระองค์ได้เสด็จฯ ไปนอกพระราชอาณาเขตหลายครั้งคือ เสด็จประพาสอินเดีย พม่ารามัญ ชวาและแหลมมลายูหลายครั้ง ได้ทรงเลือกสรรเอาแบบแผนขนบธรรมเนียมอันดีในดินแดนเหล่านั้นมาปรับปรุงในประเทศให้เจริญขึ้นแล้วหลายอย่าง
แม้เมืองเหล่านั้นเป็นเพียงแต่เมืองขึ้นของมหาประเทศในทวีปยุโรป ถ้าได้เสด็จฯ ถึงมหาประเทศเหล่านั้นเองประโยชน์ย่อมจะมีขึ้นอีกหลายเท่า ทั้งจะได้ทรงวิสาสะคุ้นเคยกับพระมหากษัตริย์และรัฐบาลของประเทศน้อยใหญ่ในยุโรปด้วย เป็นทางส่งเสริมทางไมตรีให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงได้ทรงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินในวันที่ ๗ เมษายน ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) มีกำหนดเวลาประมาณ ๙ เดือน
ในการเสด็จประพาสครั้งแรกนี้ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตลอดระยะทาง พระราชหัตถเลขานี้ต่อมาได้รวมเป็นหนังสือเล่มชื่อ พระราชนิพนธ์เรื่อง "ไกลบ้าน" ให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่เสด็จฯ ไปอย่างมากมาย
ส่วนการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จกลับแล้ว จึงทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ขณะที่เรือพระที่นั่งมุ่งหน้าไปยังนอร์ธเคป นอร์เวย์ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระอาทิตย์เที่ยงคืน เป็นคนไทยกลุ่มแรกที่ได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกประจักษ์แก่ตาทั่วหน้ากัน ในคืนวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๕๐ ทรงถ่ายรูปได้เพียง ๔ รูป พระอาทิตย์ก็กลับเข้าไปในเมฆหมอก ช่วงระยะเวลาของพระอาทิตย์เที่ยงคืนในแต่ละเมืองจะไม่
เหมือนกัน
โดยหลักการแล้ว ยิ่งอยู่เหนือจากเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลขึ้นไปเท่าไหร่ยิ่งดูได้นานขึ้น ตัวอย่างเช่นที่ เมืองทรอมโซ (Tromso) นั้น จะดูได้ระหว่าง ๑๖ พฤษภาคม ถึง ๒๗ กรกฎาคม สถานที่ที่สามารถชมพระอาทิตย์ได้นานที่สุดอยู่ที่ สวาลบอร์ด (Svalbard) ซึ่งเป็นหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอาร์กติก ทางตอนเหนือของแผ่นดินใหญ่ในนอร์เวย์ขึ้นไปอีก ๔๐๐ ไมล์ หรือ ๖๔๐ กิโลเมตร ที่ท่านสามารถดูชมได้ตั้งแต่ ๑๙ เมษายน ไปจนถึง ๒๓ สิงหาคม
คนไทยส่วนมากจะนิยมไปที่ North Cape คงจะเป็นเพราะว่าเจ้านายของเราคือ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยเสด็จฯ มาแล้ว อีกอย่างคือจะได้ขึ้นชื่อว่า ตูข้าได้เคยมาเหยียบจุดเหนือสุดของทวีปยุโรปแล้ว
North Cape หรือ Nordkapp ตั้งชื่อโดยนักเดินเรือและนักสำรวจชาวอังกฤษที่มีชื่อว่า ริชาร์ด ชานเซลเลอร์ (Richard Chancellor) ที่เดินทางไปกับกลุ่มของเซอร์ฮิวจ์ วิลละบี (Sir Huge Willoughby) ในระหว่างการพยายามที่จะสำรวจหาเส้นทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเดินเรือจากทะเลเหนือไปเมืองจีนในปี ๑๕๓๓ หรือ พ.ศ.๒๐๗๖ บุคคลที่ส่งเสริมให้นอร์ธเคปกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญได้แก่ คิงออสการ์ที่ ๒ แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ เสด็จประพาสเมื่อปี ๑๘๗๓ (พ.ศ.๒๔๑๖) สมัยก่อนการเดินทางไป North Cape นั้นต้องอาศัยเรือเฟอร์รีเพียงอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ทางการนอร์เวย์ได้ทำอุโมงค์สำหรับรถยนต์วิ่งยาว ๖.๘๗๐ กิโลเมตร หรือ ๖,๘๗๐ เมตรเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปี ๑๙๙๙ หรือ พ.ศ.๒๕๔๒
ทุกๆ ปีนักท่องเที่ยวราว ๒๐๐,๐๐๐ คนได้มาเยือนริมผาบริเวณขอบทวีปยุโรปลึกลงไป ๓๐๗ เมตร จากขอบผาเป็นทะเลอาร์กติก จุดนี้ถือเป็นจุดเหนือสุดของทวีปยุโรป ณ เส้นแวง ๗๑ องศา ๑๐ ลิปดา ๒๑ พิลิปดาเหนือ
"...ทำนายกันได้ว่า นานไปจะมีเครื่องเตเลโฟน สักเท่านาฬิกาพก พกไปไหนๆ ได้ เมื่อจะพูดกับใคร พูดลงไปที่นาฬิกาพก และเอาหูฟังที่นาฬิกาพกจะรู้กันได้..."
ข้อความข้างต้นหากพูดกันในปัจจุบัน คงไม่มีใครรู้สึกว่าแปลกพิสดารแต่อย่างใด แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปเกือบร้อยปีในเวลาที่กรุงเทพมหานครมีโทรศัพท์ใช้กันอยู่ไม่ถึง ๕๐๐ เครื่อง แต่ละเครื่องนั้นใหญ่โตมโหฬารและต้องใช้ประกอบกับหม้อแบตเตอรี่เครื่องละ ๔ หม้อ ผู้ที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวในเวลานั้นคงจะคิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไร และคงจะนึกภาพไม่ออกเป็นแน่
ข้อความข้างต้นคือพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เป็นฉบับที่ ๓๑ ในจำนวนทั้งสิ้น ๔๓ ฉบับ คราวเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐
พระราชหัตถเลขาตอนนี้ทรงเขียนที่ตำบลโนโตดเดน ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันพุธที่ ๓๑ กรกฎาคม หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานของโรงงานแยกธาตุไนตริกแอซิคด้วยกำลังไฟฟ้าจากพลังน้ำของบริษัท นอรวีเยียน ไฮโดรเอเลกตริก ไนโตรเยน กัมปานี ลิมีติค ซึ่งทรงเล่าถึงการดำเนินการของบริษัทนี้ว่า
“...เขาทำการแปลก คือจับธาตุไนตริกจากลมในอากาศด้วยแรงไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า ผู้ที่เป็นไดเร็กเตอร์ของกัมปานีนี้ชื่อ เอส ไอเด...พระยาชลยุทธ (๒) มีหุ้นส่วนอยู่ในกัมปานีนี้ด้วย จึงได้บอกข่าวคราวมาถึง เขาจึงอยากให้พ่อได้เห็นงานที่ทำซึ่งตั้งแต่พ่อได้ยินก็อยากดูเป็นกำลัง...”
ธาตุไนตริกแอซิคที่ใช้กำลังไฟฟ้าแยกออกจากอากาศนั้น เมื่อนำไปผสมกับปูนแล้วเผาในความร้อนสูงจะกลายเป็นคัลเซียมไนเตรด ซึ่งใช้เป็นปุ๋ยสำหรับบำรุงพืชพรรณต่างๆ ซึ่งทรงบันทึกว่า "...ปูนนี้ใช้เป็นปุ๋ย...เหมือนอย่างกับดินประสิวที่เกิดเองโดยธรรมดาที่เมืองชิลี แต่เพราะเหตุที่ใช้แรงน้ำ...จึงไม่ใคร่เสีย ด้วยเหตุที่ทำการได้ถูกเช่นนี้ราคาจึงได้น้อยกว่าดินประสิวที่เกิดเองโดยธรรมดาที่เมืองชิลีที่ขายอยู่ในเวลานี้..."
“...พ่ออยากจะทดลองเฟอเตอไลเซอในเมืองเราบางทีจะดี จึงให้พระยาชลยุทธคิดอ่านจัดส่งไปลองดูหนึ่งตันก่อน...”
ประเทศไทยเราเป็นประเทศกสิกรรม ที่ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารขึ้นอยู่กับธรรมชาติมาช้านาน ถ้าน้ำบริบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล ก็ได้ผลผลิตดี ถ้าฝนแล้ง น้ำไม่พอผลผลิตก็น้อย ปุ๋ยเคมีที่มีต้นทุนต่ำน่าจะเป็นทางเลือกเป็นวิทยาการใหม่ที่สนพระทัยต้องพระประสงค์จะทอดพระเนตร ถึงแม้ว่าตำบลโนโตดเดน ที่ตั้งของบริษัทจะอยู่ห่างไกลและทางไปจะค่อนข้างทุรกันดาร ก็ไม่ทรงย่อท้อ
ในคราวนั้นเสด็จพระราชดำเนินลงเรือชื่ออัลเบียน จากท่าเรือเมืองเบอร์เกนเมืองท่าใหญ่ด้านทิศตะวันตกของประเทศนอร์เวย์ไปยังเมืองเบรวิก และเสด็จฯ โดยรถไฟไปยังเมืองสกีน จากเมืองสกีนเสด็จฯ ลงเรือกลไฟชื่อวิกตอเรีย เดินเรือผ่านทะเลสาบขึ้นไปในระดับความสูง ๓ ระดับด้วยกัน
เมื่อจะเปลี่ยนระดับน้ำเรือต้องเข้าไปในช่องระหว่างประตูน้ำ ๒ ด้าน แล้วปล่อยน้ำจากด้านสูงลงไป เมื่อได้ระดับจึงเปิดประตูให้เรือแล่นออกมา ลองนึกภาพดูว่ากว่าจะถึงตำบลโนโตดเดนซึ่งอยู่ด้านเหนือสุดของทะเลสาบนอร์ดเซอ ต้องใช้เวลาเสด็จฯ ระหกระเหินถึง ๖ วัน โดยวันสุดท้ายต้องเสด็จฯ โดยรถ ซึ่งทรงเล่าว่า
“...หนทางเป็นโคลนเฉอะแฉะไปหมดทั้งนั้น น่ากลัวรถจะลื่น พ่อออกคร้ามๆ ดูมันน่ากลัวจะเลยลงไปในช่องเขา...ถ้าขึ้นสูงทีไรต้องใช้ถึงเกียร์ ๑ และเปิดเต็มแรงจนลั่นตูมๆ ออกจะน่ากลัวอันตราย ควันขึ้นกลุ้มๆ แต่กระนั้นแห่งหนึ่งที่สูงชัน คนขับเผลอไปไม่ได้ลดเกียร์ ๑ ...ตกลงต้องลงเข็นส่งขึ้นไปถึงยอด มีติดจริงๆ อยู่แห่งเดียวเท่านั้น นอกจากนั้นก็มาได้แต่เขย่าขย่อนเหลือกำลัง ฟัดโงกเงกกันมาจนตลอดทาง...”
ต้องทนทรมานพระวรกายมาเพื่อทอดพระเนตรโรงงานนี้เพื่ออะไรถ้าไม่ใช่เพื่อความสมบูรณ์พูนสุขของประเทศชาติและประชาชนชาวไทย การที่ได้ทรงรู้มาก...เห็นมาก ในความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อจะได้ทรงนำมาพัฒนาประเทศชาติให้เจริญทัดเทียมอารยประเทศ
เมื่อได้ทอดพระเนตรโรงงานผลิตไนเตรดจากไฟฟ้ากำลังน้ำแล้ว ทรงบันทึกต่อไปว่า..."นั่งสนทนากันถึงเรื่องไฟฟ้าในเวลากินเข้า ใช้ได้เป็นอัศจรรย์มากขึ้นทุกที
...คิดจะใช้ยิงปืนใหญ่ไม่ให้ต้องบรรจุดิน...
...อีกอย่างหนึ่งนั้นจะทำให้ฝนตกได้...
...ความคิดที่จับไนเตรดและทำปุ๋ยนี้เป็นความคิดของมิสเตอร์ไอเด เขาขอเปเตนท์ทั่วทุกประเทศ
...จะใช้โทรเลขไม่มีสาย...ผิดกับที่ทำกันอยู่แล้วเดี๋ยวนี้ด้วยอาศัยแรงน้ำ
...ทำนายกันได้ว่า นานไปจะมีเครื่องเตเลโฟน สักเท่านาฬิกาพก พกไปไหนๆ ได้...
...เพียงในเวลาในอายุพ่อเท่านี้ แต่ก่อนไฟฟ้าดูเป็นแต่ของทดลองเล่น เดี๋ยวนี้เป็นของที่จำเป็นใช้ได้ประโยชน์จริง
กว้างขวางนักหนาแล้ว ยิ่งรู้มาก ความคิดก็ยิ่งแตกมากออกไป ความวิเศษขึ้นในการงานของมนุษย์จะหาที่สุดมิได้ ผู้ใดมีชีวิตอยู่ช้าไป ฤๅที่เกิดมาใหม่ๆ คงจะได้เห็นแต่สิ่งซึ่งวิเศษดีขึ้นร่ำไปไม่มีที่สุด"
๒๓ ตุลาคมที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทยน้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้าหลวง ในความเป็นมหาราชของพระองค์ท่าน นอกจากจะเป็นกษัตริย์ผู้ปฏิวัติสยาม นักปกครองแล้ว พระองค์ท่านยังทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ และมองการณ์ข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ
นี่คือพระปิยมหาราชของคนไทย.
----------
อ้างอิง: ดร.ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ, สมุดภาพ ๑๐๐ ปีไกลบ้าน ตามรอยเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |