แม้จะผ่านมา 1 ปี แต่ภาพเหตุการณ์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560 ณ ช่วงเวลานั้นก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของปวงชนชาวไทย
ในการนี้กรมศิลปากรจัดเวทีเสวนา “ภาพแห่งความทรงจำ พระสถิตในดวงใจตราบนิรันดร์” ภายใต้กิจกรรมรำลึก พระสถิตในดวงใจตราบนิรันดร์ เพื่อบอกเล่าภาพแห่งความทรงจำของผู้ที่มีโอกาสปฏิบัติงานในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยมีอาจารย์อนุชิต สุนทรกิติ ช่างภาพอาสา, นายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ, นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน และนางสาวนวลพรรณ นาคปรีชา นักจดหมายเหตุ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จุดประสงค์ของการจัดเสวนาในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผ่านภาพเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยผู้ที่ทำงานเบื้องหลังในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ หวังให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ความเข้าใจในการทำงานในแต่ละหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอย่างอื่นที่จะจัดไปจนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 อาทิ การจัดนิทรรศการและฉายวีดิทัศน์การสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างพระเมรุมาศ และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ
ในวงเสวนา นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ ได้นำภาพการออกแบบในช่วงเวลานั้น พร้อมกับถ่ายทอดความรู้สึกในฐานะผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญว่า ได้คัดเลือกภาพจากกว่า 1,000 ภาพ ให้เหลือ 9 ภาพ เพื่อมาถ่ายทอดความรู้สึกกับการได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ ภาพแรกที่ได้ฉายให้เห็นนั้น เป็นความประทับใจอย่างที่สุดที่ได้มีโอกาสได้เป็นผู้นั่งบนโต๊ะ เพื่อส่งมอบภาพการออกแบบพระเมรุมาศให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้ทรงคัดเลือก และพระองค์ได้ตรัสกับตนว่า ฉันจำคุณได้ ซึ่งเป็นประโยคที่ตนจะรู้สึกดีใจอย่างมากในวันนั้น และภาพที่แสดงให้เห็นถึงการทรงงานของพระองค์ที่โรงขยายแบบวิธานสถาปกศาลา ซึ่งเป็นชื่อที่พระองค์พระราชทานนามให้ แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและมีความละเอียดในการทรงงานในทุกๆ ครั้ง
“และอีกภาพที่แสดงให้เห็นถึงผังการออกแบบพระเมรุมาศที่มีความงดงามและมีความหมายทั้งสิ้น แม้จะเป็นภาพที่เราภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่นี้ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกเจ็บปวดไปด้วย แต่ในการสร้างครั้งนี้มี 2 แนวความคิดคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นสมมติเทพ คือพระนารายณ์ และมีครุฑมาสร้างเป็นเสาเพื่อเป็นส่วนประกอบ และพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงครองราชย์ด้วยทศพิธราชธรรม และการออกแบบที่ต้องชัดเจนเลยคือ พระเมรุมาศต้องเป็นทรงบุษบกเท่านั้น ซึ่งในการออกแบบก็มีหลายส่วนเข้ามาช่วย เพื่อให้สมพระเกียรติของพระองค์มากที่สุด อีกภาพที่มีความหมายที่ดูแล้วสะเทือนใจ คือภาพของการก่อสร้างพระเมรุมาศแล้วมีเด็กคนหนึ่งยืนมองอยู่นั้น ทำให้เราได้คิดว่า สิ่งหนึ่งกำลังจะจากไป แต่อีกสิ่งหนึ่งกำลังจะเติบโตขึ้น ส่วนภาพสุดท้ายคือภาพความอลังการและยิ่งใหญ่สมกับพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเสียสละตนเพื่อประชาชนไทย” ก่อเกียรติกล่าว
ส่วนงานจิตรกรรม นายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้เผยความรู้สึกถึงหน้าที่อันยิ่งใหญ่ว่า นับว่าเป็นครั้งที่ 3 ที่ได้รับหน้าที่ในส่วนงานจิตรกรรม โดยในครั้งแรกเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ และครั้งที่สอง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ ซึ่งในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตนได้ทำหน้าที่เขียนภาพและออกแบบฉากบังเพลิง ภาพที่นำมาบอกเล่าจึงเป็นลวดลายเรื่องราวบนฉากบังเพลิงทั้ง 4 ด้าน โดยเป็นเรื่องราวของพระนารายณ์อวตาร 8 ปาง โครงการในพระราชดำริ และพระปรมาภิไธยย่อ ปภร ซึ่งเป็นรูปแบบการเขียนในแบบไทย แต่มีความร่วมสมัย และการออกแบบอีกส่วนหนึ่งคือที่ พระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นเรื่องราวของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวไทยในทุกภาค
อาจารย์อนุชิต สุนทรกิติ ช่างภาพอาสา หนึ่งในผู้ที่มีส่วนบันทึกภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เล่าความประทับใจว่า ได้เริ่มบันทึกภาพเหตุการณ์ในครั้งนั้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เริ่มบันทึกในบริเวณท้องสนามหลวง ตนได้เห็นจิตอาสาในส่วนอื่นที่มาให้บริการประชาชน ที่มารวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมายอย่างหนาแน่น ยังมีความโศกเศร้าอยู่บนใบหน้า และภาพในส่วนของการเตรียมพระราชพิธีตั้งแต่ในช่วงเช้า และการซ้อมเดินขบวนในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพฯ ที่ใช้เวลากว่า 89 ชั่วโมง หรือภาพในส่วนของการทำงานจิตรกรรม ซึ่งทุกๆ ภาพไม่ได้มีเพียงแค่ส่วนที่นำมาแสดง แต่ยังมีอีกหลายพันภาพ ซึ่งทั้งหมดก็จะได้รับการคัดเลือกเพื่อส่งให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติด้วย
นางสาวนวลพรรณ นาคปรีชา นักจดหมายเหตุ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ที่ได้เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพฯ และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า การสังเกตการณ์ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน แม้ว่ากำลังคนที่คอยบันทึกเรื่องราวจะมีไม่เพียงพอ แต่นับว่าเป็นเรื่องราวดีๆ ที่มีจิตอาสาและเครือข่ายจากหลายหน่วยงานร่วมส่งข้อมูลและรูปภาพมาให้ ภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นแม้ว่าอาจจะพักผ่อนไม่เพียงพอ ต้องฝ่ารถติด หรือแม้การทำงานกลางสายฝน แต่ก็ต้องทำหน้าที่ให้เสร็จสมบูรณ์ และไม่ใช่แค่ตน แต่ประชาชนคนไทยเองก็ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดีด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมรำลึก พระสถิตในดวงใจตราบนิรันดร์ ได้แล้วตั้งแต่วันนี้-2 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00-16.00 น. ยกเว้นวันจันทร์ ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |