เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลถูกบุคคลปฏิเสธที่จะร่วม “สังฆกรรม” ด้วย ทั้งที่มีการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งไปแล้ว หลังเกิดกรณี "สฤณี อาชวานันทกุล" นักเขียนและกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ปาสาละ จำกัด ปฏิเสธที่จะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
“สฤณี” ปฏิเสธว่า เพราะไม่ต้องการทำงานร่วมกับ “เผด็จการทหาร” ทั้งที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ลงนามโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปเรียบร้อยแล้ว
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่า “ความจริง” เรื่องการแต่งตั้ง “สฤณี” ในครั้งนี้ เป็นความ “ตั้งใจ” หรือ “ผิดพลาด” ของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการกลั่นกรองคนก่อนที่จะให้ “บิ๊กตู่” ลงนามเซ็นคำสั่ง
แต่ที่แน่ๆ การปฏิเสธครั้งนี้ ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ดูย่ำแย่มากขึ้นไปอีก ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องรับศึกหนักหลายเรื่อง
ตั้งแต่กรณีแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หรือการขยับการเลือกตั้งออกไปอีก 3 เดือน หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่ พ.ศ. … จากเดิมให้มีผลบังคับทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เปลี่ยนเป็นให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน
โดยเฉพาะกรณีแรก ที่ต้องยอมรับว่าทำให้รัฐบาล และตัว “บิ๊กตู่” เสียความนิยมและแนวร่วมไปไม่น้อย อย่างกรณีล่าสุดที่นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่เคยประกาศตัวสนับสนุนทหาร ก็ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เพราะถูก “เซ็นเซอร์” ผลสำรวจเรื่องนาฬิกาหรู
แม้ในช่วงที่ผ่านมา “สฤณี” จะถูกมองว่า เป็นนักเขียนที่มีแนวคิดตรงข้ามกับทหาร มักจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ คสช.อยู่เสมอ แต่การปฏิเสธร่วมองคาพยพ มันทำให้เป็นการ “ตอกลิ่ม” กระแสแอนตี้ท็อปบูตให้ดังมากขึ้นไปอีก
จะด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลไม่กีดกันคนเห็นต่างมาร่วมทำงานด้วย หรือจะเป็นความผิดพลาดในการตรวจสอบข้อมูล ทัศนคติบุคคลต่างๆ ก่อนจะแต่งตั้ง หรือจะเป็นเรื่องความผิดพลาดในการประสานงาน ผลที่ออกมาคือ เป็นการ “ย้ำแผล” ตัวเองทั้งสิ้น
กรณี “สฤณี” ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลหน้าแตก ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ มีเรื่องในลักษณะนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ครั้งเฉพาะการแต่งตั้งบุคคลสำคัญ ยังไม่นับตำแหน่งเล็กๆ ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวสาร
ถ้าจำกันได้ ตอนแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ หลังจากคำสั่งออกมา ปรากฏชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มานั่งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
ปรากฏเป็นข่าวฮือฮา เพราะเป็นการดึงอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ตัวเองเข้าไปยึดอำนาจมาร่วมทำงาน ก่อนที่ “ชัชชาติ” จะออกมาปฏิเสธไม่ขอเข้าร่วม โดยอ้างว่าไม่ได้มีการพูดคุยกันมาก่อน
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยตอนนั้นระบุว่า จริงๆ แล้ว “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่พอใจอย่างมาก รวมทั้งการตำหนิจากมวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ทำให้ “ชัชชาติ” รีบถอนตัวออกมา
แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่คนให้ความสนใจเท่าไหร่นักเท่ากับการปฏิเสธไม่ร่วมหอลงโลงกับ “คณะรัฐประหาร”
เช่นเดียวกับในกรณี นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ปฏิเสธที่จะเป็นกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ที่คำสั่งมาในคราวเดียวกับ “ชัชชาติ”
แม้ “สมชัย” จะพูดรักษาน้ำใจ โดยการขอบคุณนายกฯ ที่เห็นความสำคัญ แต่ภาพที่ออกมาจากการปฏิเสธของเขาที่คนภายนอกเข้าใจคือ รัฐบาลชุดนี้ไม่น่าทำงานด้วย
ในช่วงนั้น การลาออกดังกล่าวเหมือนเป็นการตอกย้ำกระแสข่าวเรื่องที่ว่า ไม่มีใครอยากทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ ที่มีปัญหาหลายด้านจริง ที่สำคัญ ไร้อิสระ จนหาคนมาทำงานด้วยยาก และถ้าย้อนกลับไปแรกๆ เรื่องนี้เคยเป็นประเด็นใหญ่โตตอน “ทิชา ณ นคร” ลาออกจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
นี่เป็นจุดเล็กๆ ที่รัฐบาลพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่เคยส่งผลดีกับตัวเองสักครั้ง
และไม่ว่าประวัติบุคคลเหล่านี้จะเป็นอย่างไร แต่การปฏิเสธเข้าร่วมทำงานกับรัฐบาลแต่ละครั้ง มันเหมือนเป็นการ “ซ้ำบาดแผล” ที่ลึกอยู่แล้วให้ยิ่งบานเบอะเข้าไปอีก
เป็นการพลาดแบบไม่น่าพลาด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |