การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ออกแบบมาเพื่อกำจัดเผด็จการรัฐสภา และไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากหรือเกิน 250 เสียง
จึงมีการวิเคราะห์กันว่า พรรคการเมืองระดับกลางอาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา จะมีสถานะ “ตัวแปร” กำหนดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กำชัยชนะ
ด้านหนึ่งคือฝ่ายประชาธิปไตย (พรรคเพื่อไทย และ พรรคสาขา) อีกด้านคือฝ่ายสืบทอดอำนาจ (พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ ระยะหลังมีแนวโน้มสูง)
กลับมาที่พรรคขนาดกลางที่ถูกจับตามีโอกาสเป็น “ตัวแปร” มากที่สุด หนีไม่พ้น “พรรคภูมิใจไทย” อันดับสามจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 โดยมี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล กุมบังเหียนตั้งแต่ปี 2555 ก่อนนำทัพจริงในการเลือกตั้งปี 2562
ด้วยยุทธศาสตร์พรรคสายกลางเป็นมิตร เข้าได้กับทุกฝ่าย เล่นการเมืองเชิงสร้างสรรค์ มุ่งแก้ปัญหาปากท้องเป็นสำคัญ กับสมมุติฐานตัวเลข ส.ส.ต้องมากกว่าเลือกตั้งปี 2554 ที่ได้เพียง 34 เสียง (กลุ่มเพื่อนเนวิน 27 กลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน 7 เสียง)
อาศัยความแข็งแกร่งของผู้สมัครที่เป็น ส.ส.เดิม และผู้สมัครที่มีคะแนนในพื้นที่เป็นอันดับ 2 จากการเลือกตั้งปี 2554 ที่แยกทางออกไปน้อยมา และส่วนใหญ่ก็ยังทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ยังมีอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.เกรดเอและบวก จากพรรคอื่นๆ รวมทั้งดึงมือดีในโลกดิจิทัลอย่าง พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธาน กสทช. มาเป็นโฆษกพรรค ด้วยนวัตกรรมใหม่ “ไม่พูดการเมือง” มาร่วมอุดมการณ์
ขณะเดียวกัน “หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” ยังกำหนดสเปกผู้สมัครพรรครอบนี้ ต้องมีคะแนนความนิยมส่วนตัวอย่างต่ำ 20,000 เสียง
แปลความว่า หากแม้ไม่ได้ ส.ส.เขต ก็ยังได้รับอานิสงส์ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ภายใต้ระบบเลือกตั้ง “จัดสรรปั่นสวนผสม” จะตัดคะแนนบัญชีรายชื่อพรรคใหญ่ที่จะได้โควตาเต็มแล้ว และเกลี่ยไปสู่พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กตามลำดับ
“ตัวเลข ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ประเมินไว้อย่างต่ำ 50 เสียง ประกอบไปด้วย ส.ส.เขตอย่างน้อย 38-40 เสียง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ต่ำกว่า 10 เสียง โดยมีคะแนนนิยมของพรรคจากสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคไม่ต่ำกว่า 3 ล้านเสียงแน่นอน” แหล่งข่าวจากพรรคภูมิใจไทยเปิดเผย
ด้วยตัวเลขบวกๆ 50 เสียง จึงมีความสำคัญมาก วิเคราะห์กันว่ามีโอกาสสูงเป็นขั้วที่ 3 มีสภาพเป็น “ตัวแปร” สามารถกำหนดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เป็นรัฐบาล ที่ไปรวบรวมเสียงมาได้ประมาณ 210-230 เสียง โดยมีอำนาจต่อรองมหาศาล เลือกได้ว่าเบอร์หนึ่งพรรคภูมิใจไทย จะ “นั่งนายกฯ คนกลางเสียเอง” หรือทำหน้าที่ “ผู้ประคองนายกฯ” หลังเลือกตั้งไปตลอดทั้ง 4 ปี พร้อมด้วยบริหารกระทรวงเกรดเอ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ อย่างในสมัยปี 2552-2554 ที่ "เนวิน ชิดชอบ" ทำสำเร็จมาแล้ว
ที่ฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลต้องยอมเพราะอยากได้อำนาจรัฐ ลดโอกาสถูกตามเช็กบิลย้อนหลัง และไม่ต้องการเป็นฝ่ายค้าน “อดยากปากแห้ง” ดังวลีอมตะของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ
แต่ในทางกลับกัน พรรคภูมิใจไทยก็อย่าได้ประมาท มั่นใจคะแนนจากพื้นที่เพียงอย่างเดียว เมินกระแสช่วงเลือกตั้ง และรวมทั้งคนเข้ามาใหม่บางคนยังมีเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่... ซึ่งหากสถานการณ์ข้างหน้าผันแปรไม่เป็นใจ ก็อาจทำให้ได้ ส.ส.มาน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ หรือต่ำกว่า 30 เสียง
สถานะ “ตัวแปร” จะเปลี่ยนเป็น “พรรคอะไหล่” ถูกจับไปอยู่ขั้วที่ 4 หรือเป็นพรรคอันดับ 5 หรืออันดับ 6 มีความสำคัญแค่เติมเสียงในสภาฯ ให้มั่นคง อำนาจต่อรองไม่มี และผลตอบแทนเพียงกระทรวงเกรดซี เช่น รมช.วัฒนธรรม
การเลือกตั้งจึงห้ามประมาททุกรายละเอียด และเก็บแต้มทุกเม็ด เพราะสถานะขั้วที่ 3 แตกต่างจากขั้วที่ 4 ดังฟ้ากับเหว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |