แรปการเมืองทดสอบ ความพร้อมคนไทย 4.0


เพิ่มเพื่อน    

    ผมฟังเพลงแรป "ประเทศกูมี" โดยกลุ่ม Rap Against Dictatorship ที่กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยแล้วครับ
    และพร้อมกันนั้นผมก็ติดตามฟังแรปเวอร์ชัน "รักเมืองไทย" ของคุณสมจิตร จงจอหอ นักมวยเหรียญทองโอลิมปิกด้วย
    ผมอ่านความเห็นทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับเนื้อหาของทั้งสองเพลงแล้วก็สรุปได้ว่า นี่คือการทดสอบความเป็นคนไทยในยุคเปลี่ยนผ่านจากการปกครองภายใต้ คสช.กว่า 4 ปีสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ครั้งสำคัญ
    เป็นการทดสอบว่าคนไทยพร้อมสำหรับก้าวเข้าสู่ความเป็น 4.0 จริงหรือไม่
    เพราะนี่คือกระบวนการปกติที่ทุกคนมีสิทธิ์จะมองประเทศของเราจากมุมมองที่แตกต่าง ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะชี้นิ้วกล่าวหาใครรักชาติมากน้อยกว่ากัน
    ผมเชื่อว่าทั้งคนที่แต่งเพลงแรปวิพากษ์สังคมไทยกับที่ชื่นชมข้อดีงามของประเทศไทยต่างก็รักประเทศไทย ต้องการเห็นประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ลูกหลานคนไทยได้เห็นสังคมที่ดีกว่านี้
    ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมเพลงนี้ไม่ใช่รายละเอียดนั้น หรือเพลงนั้นไม่ใส่รายละเอียดนี้ ย่อมเป็นวิจารณญาณของแต่ละคนซึ่งไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องต้องกันแต่อย่างใด
    เพราะนี่คือความสวยงามของความเป็นประชาธิปไตย หากเราเชื่อในจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง มิใช่เพียงแค่อ้างความเป็นประชาธิปไตยในความหมายหรือมุมมองของตนเท่านั้น
    การวิพากษ์สังคมของเราเองก็ไม่ใช่การ "สร้างความแตกแยก" เพราะหากเราต้องการจะสร้างชาติกันจริงๆ หรือจะให้ฝ่าข้าม "กับดัก" ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศจริงๆ ก็จำเป็นจะต้องเผชิญกับความเป็นจริง
    ความจริงที่ว่านี้จะต้องไม่เลือกเฉพาะข้อเท็จจริงบางด้านที่เราอยากได้ยินเท่านั้น
    เพราะประเทศไทยเรามีทั้งปัญหาที่ต้องแก้ไข และความดีงามที่ควรจะส่งเสริมเติมเต็ม 
    หากเราเลือกจะฟังเฉพาะส่วนที่เราอยากฟัง และปฏิเสธข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เราไม่ชอบหรือไม่อยากจะรับรู้ เราก็จะไม่สามารถยกระดับของประเทศชาติให้ได้มาตรฐานที่คนไทยทุกคนเรียกร้องต้องการ
    กรณีเพลงแรปที่กำลังเป็นข่าวขณะนี้เป็นการทดสอบความพร้อมจะร่วมกันสร้างชาติของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง...ทดสอบว่าเราพร้อมจะเปิดใจกว้างรับฟัง "อีกด้านหนึ่ง" เพื่อหาทางออกแก้ปัญหาของประเทศร่วมกันอย่างแข็งขันและจริงใจต่อกันเพียงใด
    รายละเอียดเราอาจเห็นต่างกันได้ แต่หลักการใหญ่ที่เราควรจะเห็นพ้องกันให้ได้คือ การเคารพในความเห็นต่าง และพยายามเข้าใจว่าทำไมอีกฝ่ายหนึ่งจึงคิดไม่เหมือนกับเรา เพื่อที่เราจะได้ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ในการร่วมกันผลักดันประเทศชาติให้เดินหน้าไปให้ได้
    หาไม่แล้วเราก็จะติด "กับดัก" เดิมๆ นี้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
    ผมเชื่อว่าเราสามารถที่จะเห็นพ้องต้องกันได้ว่าเราจะต้องต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างชาติกันอย่างแท้จริง
    ดังนั้นใครแสดงความเห็นต่อต้านเผด็จการ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ย่อมไม่อาจถูกกล่าวหาว่าพยายามจะ "บ่อนทำลายประเทศ" หรือ "เป็นภัยต่อความมั่นคง" 
    ในทำนองเดียวกัน หากใครแสดงความเห็นว่าประเทศไทยเรามีเรื่องดีๆ อยู่ไม่น้อย ก็ไม่ควรจะกล่าวหาว่าพวกเขากำลังเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจหรือสยบยอมผู้ปกครองประเทศในช่วงนั้นๆ
    เอาเข้าจริงๆ หากเราร่วมกันวิเคราะห์ทั้งข้อดีและข้อเสีย จุดอ่อนและจุดแข็งของสังคมไทยด้วยเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อแสวงหาทางออกของชาติได้ นั่นจะเป็นการร่วมกันเขียน "วาระแห่งชาติ" ที่แท้จริงได้อย่างแน่นอน
    การแสดงออกของคนแต่ละรุ่น แต่ละแนวทาง แต่ละรูปแบบย่อมมีความแตกต่างกันไป การใช้ลีลาและภาษาก็ย่อมไม่เหมือนกันสำหรับคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม 
    แต่ตราบใดที่เป็นการแสดงออกที่อยู่ในกรอบของกฎหมายและความถูกต้องชอบธรรมแห่งจริยธรรม  ผมถือว่าเราต้องรับฟังไม่ว่าเราจะเห็นด้วยในรายละเอียดบางประการหรือไม่
    นักแต่งและนักร้องเพลงแรปก็ไม่ต่างไปจากนักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง หรือศิลปินที่พ่นสีรูปต่าง ๆ ริมกำแพงเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมือง
    การแสดงออกทางการเมืองด้วยการเสียดสีเปรียบเปรยประชดประชันเป็นปรากฏการณ์ปกติของสังคมประชาธิปไตยสากล เพราะนักการเมืองอาสามาทำงานรับใช้ประชาชนก็ต้องพร้อมจะรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอๆ กับที่อยากได้รับเสียงชื่นชมยินดี
    การใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อข่มขู่คุกคามคนที่มีความเห็นแตกต่างย่อมสะท้อนว่าพวกเขาไม่มีความพร้อมจะทำหน้าที่ที่เสนอตัวมาเลยแม้แต่น้อย
    พวกเขาจึงไม่ควรได้รับความไว้วางใจในฐานะ "บุคคลสาธารณะ" แน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"