คลอดมาตรการ ลดกระทบSME หลังปรับค่าแรง


เพิ่มเพื่อน    

ครม.รับทราบการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 5-22 บาทต่อวัน มีผล 1 เม.ย.61 หลายหน่วยงานร่วมออก 3 มาตรการ บรรเทาผลกระทบเอสเอ็มอี ด้านนายกฯ สั่งกำชับดูแลราคาสินค้าห้ามแพงเกินจริง 
    นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศให้ปรับเพิ่มขึ้น 8-20 บาทต่อวัน หรือตั้งแต่ 308-330 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงออก 3 มาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะเห็นว่าสัดส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นเอกชนรายใหญ่ยังพอรับภาระได้ ข้อเสนอดังกล่าวเป็นความเห็นจากทั้ง 3 ฝ่ายได้ข้อยุติร่วมกัน โดยที่ประชุม ครม.ไม่ได้ปรับแก้ไขตัวเลขแต่อย่างใด แม้จะมีกระแสข่าวว่าเคยเสนอปรับเพิ่ม 5-22 บาท
    สำหรับกระทรวงการคลังออกมาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ กำหนดให้นายจ้างนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้ลูกจ้างมาหักลดหย่อนภาษีในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ 1.15 เท่า จากมาตรการเดิมหักลดหย่อน 1 เท่า บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.61 โดยมีเงื่อนไขคือ บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน รวมทั้งอัตราค่าจ้างรายวันที่จ่ายจะต้องสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิม มาตรการดังกล่าวรัฐบาลเสียรายได้ 5,400 ล้านบาทต่อปี แต่จะเป็นการลดภาระรายจ่ายและเพิ่มการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นับว่าเป็นการช่วยลดภาระคนละครึ่งระหว่างเอกชนและรัฐบาลประมาณ 9-10 บาท
    ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจเอสเอ็มอี ในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หวังให้เอสเอ็มอีสามารถดำเนินธุรกิจต่อไป โดยมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น สามารถลดค่าใช้จ่ายของกิจการ เพื่อไปชดเชยภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการปี 61-63 ใช้งบประมาณรวม 5,000 ล้านบาท โดยปี 61 จะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ปี 62 ใช้งบ 2,500 ล้านบาท และปี 63 ใช้งบ 2,000 ล้านบาท ด้วยการส่งคณะทำงาน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และสถาบันการเงิน ที่มีบทบาทหน้าที่ส่งเสริมเอสเอ็มอี ลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา กำหนดแนวทาง และหลักเกณฑ์ผู้เข้าร่วมโครงการ
    ทั้งนี้ จะเปิดรับสมัครและคัดเลือกสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ พร้อมจัดสัมมนาชี้แจงแนวทางการดำเนินการ, จัดทำฐานข้อมูลโครงการ, สำรวจสถานประกอบการ ตลอดจนจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งนี้เบื้องต้นกำหนดเอสเอ็มอีเป้าหมาย โดยจังหวัดขนาดใหญ่ 25 จังหวัด จังหวัดละ 100 กิจการ, จังหวัดขนาดกลาง 33 จังหวัด จังหวัดละ 60 กิจการ และจังหวัดขนาดเล็ก 19 จังหวัด จังหวัดละ 28 กิจการ ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำปี 61 จะกระทบทางตรงต่อต้นทุนของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5-1 ของต้นทุนทั้งหมด แต่เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถลดต้นทุนได้ร้อยละ 10 เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหรือลดต้นทุนได้ 3-5% ของต้นทุนรวมทั้งหมด คาดว่าภายใน 3 ปี มีกลุ่มเป้าหมายเอสเอ็มอี 50,000 กิจการ และบุคลากรเอสเอ็มอีได้รับการถ่ายทอดความรู้ 250,000 คน
    สำหรับมาตรการที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกมาตรการลดผลกระทบจากการลดการใช้แรงงาน โดยแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 50% ของราคาเครื่องจักร และการปรับปรุงมาตรการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่ม เพื่อพัฒนาความสามารถจากการแข่งขันเดิมของปี 57 โดยจะขยายให้ครอบคลุมการอบรมบุคลากรให้มีทักษะเพิ่มขึ้น โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่า ของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 ปี มาตรการลงทุนจากเดิมช่วยเหลือด้านวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีชั้นสูง วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ ขยายเพิ่มเป็นด้าน Big Data, Internet ได้รับยกเว้นภาษี 2 เท่าเช่นเดียวกัน
    นายณัฐพรกล่าวว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุม ครม. มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เร่งหามาตรการช่วยเหลือร้านค้าและผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อลดผลกระทบที่จะได้รับจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ก่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลบังคับใช้ไม่ให้ฉวยโอกาสเพิ่มราคาสินค้าสูงเกินจริง เพราะค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นสัดส่วนน้อยมาก เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แบ่งเป็น 7 ระดับ 1.เป็นการปรับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี อัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 308 บาท 2.ปรับขึ้นจำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ลำพูน สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ศรีสะเกษ ตาก ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ระนอง มหาสารคาม ชุมพร สตูล ตรัง แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง นครศรีธรรมราช และหนองบัวลำภู อัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 310 บาท 
    3.ปรับขึ้น 21 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด นครสวรรค์ พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ กาญจนบุรี อ่างทอง สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และน่าน อัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 315 บาท
    4.ปรับขึ้น 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี และจันทบุรี อัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 318 บาท
    5.ปรับขึ้น 14 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ขอนแก่น กระบี่ นครราชสีมา พังงา เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี และตราด เป็นต้น อัตราอยู่ที่ 320 บาท
    6.ปรับขึ้น 7 จังหวัด อาทิ กทม. นนทบุรี ฉะเชิงเทราสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี และนครปฐม เป็นต้นอัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 325 บาท
    7.ปรับขึ้น 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง อัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 330 บาท โดยค่าเฉลี่ยทั้ง 77 จังหวัดโดยมีการปรับค่าแรงต่ำสุด 5 บาท และสูงสุด 22 บาท ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 315.97 บาท.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"