ลีลาฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อไทยล็อกเก้าอี้หัวหน้าพรรค เลือกพอเป็นพิธี "วิโรจน์" นั่งต่อ แต่ไม่ได้เป็นนายกฯ แก๊งบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ ไม่ให้เป็น "จตุพร" ไม่ได้พกความแค้นออกจากคุกจริงๆ เสนอพรรคเพื่อชาติเป็นเกาะกลางลดความขัดแย้ง "มาร์ค" ลงใต้ หาเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ลั่นยางพารา มะพร้าว ปาล์มน้ำมันต้องได้รับการแก้ไข
วันเสาร์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองอย่างคึกคัก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า มีทั้งการเดินรณรงค์ให้ประชาชนบริจาคเงินเข้าพรรค การเปิดที่ทำการสาขาพรรค รับสมัครสมาชิกพรรค รวมถึงกิจกรรมทางสังคม ที่นักการเมืองพยายามเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการหาเสียงไปในตัว
ที่วงเวียนโอเดียน เขตสัมพันธวงศ์ กทม. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) พร้อมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานคณะทำงานรณรงค์เชิญชวนประชาชนเป็นสมาชิกพรรค รปช. นำคณะผู้จัดตั้งพรรคร่วมกิจกรรมเดินคารวะแผ่นดินเป็นวันที่ 3 ที่ย่านเยาวราช โดยเริ่มต้นเดินจากซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ หรือวงเวียนโอเดียน ไปยังศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า ถนนเยาวราช, สำเพ็ง, ท่าน้ำราชวงศ์, วัดเล่งเน่ยยี่ ถนนเจริญกรุง และวัดไตรมิตรวราราม ระยะทางรวมประมาณ 4 กิโลเมตร
นายสุเทพกล่าวว่า ในการเดินคารวะแผ่นดินวันที่สามของพรรค รปช. เลือกมาเดินเยาวราช เพราะได้รับประสบการณ์จากตอนที่เป็นแกนนำ กปปส. ถูกเชิญชวนชาวเยาวราชร่วมกันต่อสู้ พบว่าพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนชาวเยาวราชเป็นบุคคลที่มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดินสูงมาก หลายคนให้กำลังใจเพราะแผ่นดินไทยให้โอกาสตระกูลชาวจีนได้ผ่านพ้นความทุกข์ยาก ชาวเยาวราชจึงจะสนับสนุนคนที่มุ่งมั่นทำความดีให้กับบ้านเมือง
"ผมจึงมาที่นี่เพื่อให้พี่น้องชาวเยาวราชทราบว่าพรรครวมพลังประชารัฐตั้งใจทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น สร้างการเมืองของประชาชน พร้อมกันนี้เชื่อมั่นว่าประชาชนคนไทยวันนี้ ทุกคนคำนึงเรื่องที่จะให้ประเทศอยู่รอดต่อไป มากกว่าการยึดติดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หากประเทศไม่สงบเรียบร้อย ก็จะเดินหน้ากันไม่ได้ ดังนั้นขออย่าคิดว่าจะแย่งฐานเสียงจากพรรคใด วันนี้ประชาชนนับหนึ่งใหม่แล้ว"
นายสุเทพกล่าวอีกว่า ในส่วนการตอบรับของการเดินย่านสุขุมวิทเมื่อวันที่ 26 ต.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับย่านวรจักร ในวันแรก (25 ต.ค.) พบว่าย่านวรจักรมีความอบอุ่นกว่า เพราะเป็นชุมชนดั้งเดิม ในขณะที่ย่านสุขุมวิทเป็นย่านชุมชนธุรกิจมากกว่า แต่ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน ทั้งนี้ เราพยายามเดินให้มากที่สุดและให้ทั่วถึงที่สุด เพื่อเชิญชวนคนมาสมัครเป็นเจ้าของพรรค
ในขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองอื่นๆนั้น ส่วนตัวไม่มีเวลาสนใจพรรคอื่นๆ ไม่ใช่ว่าไม่ให้ความสำคัญพรรคการเมืองอื่น แต่ภาระหน้าที่ในพรรค รปช.ที่เพิ่งตั้งพรรคขึ้นมาใหม่นั้นหนักหนา ไม่มีเวลาติดตามเบื้องหน้าเบื้องลึกของแต่ละพรรคเป็นอย่างไร โดยมองว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้านี้ ประชาชนจะมีการตื่นตัวมาก แล้วประชาชนจะตัดสินใจเข้ามาร่วมทำงานการเมืองมากขึ้น เพราะว่าวันนี้ประชาชนทั้งหลายก็คิดเหมือนกันว่าจะต้องนำพาประเทศฝ่าฟันวิกฤติไปให้ได้ต้องพาประเทศไปสู่เป้าหมายสูงสุด ให้ประเทศมีความเจริญมั่นคงประชาชนอยู่ดีกินดี
ยืนยันไม่แก้รัฐธรรมนูญ
เมื่อถามถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าหลังจากการเลือกตั้งจะต้องมีการแก้รัฐธรรมมนูญในหลายเรื่องที่ขัดแย้งกันเอง นายสุเทพตอบว่า พรรค รปช.มีจุดยืนเดียว เรารับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่วมกับประชาชน 16.8 ล้านคน ไม่มีความคิดว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ พี่ประชาชนลงประชามติรับแล้วต้องทำให้เป็นผลสำเร็จ ไม่ติดใจว่าใครเป็นคนร่าง แต่ติดใจว่ารัฐบาลวันนี้ดีแล้ว เหมาะสมสำหรับประเทศในขณะนี้
ส่วนการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ตนมองว่ามีความจำเป็น เพราะก่อนที่เราจะตัดสินใจลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เราได้ศึกษาเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ชาติแล้ว เห็นว่าประเทศอยู่ในความจำเป็นที่จะต้องใช้ยุทธศาสตร์ชาติ เพราะนักการเมืองเข้ามามีอำนาจ ก็เปลี่ยนแปลงตัวเอง ประเทศเราเดินหน้าไม่ได้ เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องที่จำเป็น
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า สำหรับการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 28 ต.ค. จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพื่อให้คณะกรรมการชุดเดิมที่ทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว ได้ทำหน้าที่ต่อเนื่อง พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ในวัย 84 ปี จะทำหน้าที่หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค
ในส่วนของการเลือกหัวหน้าพรรคนั้น มี 2 แนวทางที่หารือกันคือ เสนอให้มีแคนดิเดตแข่งขันแล้วให้สมาชิกโหวตแข่งขันกัน กับอีกแนวทางเสนอชื่อแคนดิเดตมาแข่งขัน แต่ผู้ถูกเสนอชื่อจะขอถอนตัวเพื่อเปิดทางให้พล.ต.ท.วิโรจน์ได้รับการโหวตเลือกก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จากนั้นจะมีการใช้อำนาจคณะกรรมการบริหารแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่มาอีกชุดคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การเมือง ที่เตรียมไว้รองรับสำหรับสู้ศึกเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ในการประชุมใหญ่ยังกำหนดสมาชิก โหวตเลือกคณะกรรมการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นคณะกรรมการที่มีความสำคัญ โดยจะมีสัดส่วนผู้ที่มาเป็นคณะกรรมการจากหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ร่วมเข้ามาทำหน้าที่
นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการประชุมสมาชิกพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เชื่อว่าบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อล้วนเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความเหมาะสม ไม่ว่าสมาชิกเลือกใครขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค จะได้รับการยอมรับ ไม่เกิดความแตกแยกอย่างแน่นอน
ออกมาแบบกลางๆ
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สมาชิกยังไม่ได้คุยกัน หรือได้รับสัญญาณมาว่าจะต้องมีการเลือกอะไรกันอย่างไร มีผู้เสนอแคนดิเดตหัวหน้าพรรคกันกี่คน แต่ความเห็นส่วนตัวคาดว่าน่าจะออกมาอย่างกลางๆ คือคณะผู้บริหารพรรคชุดนี้ คงไม่จำเป็นจะต้องไปเป็นฝ่ายบริหารในฝ่ายรัฐบาล ในแง่โอกาสพรรคเพื่อไทย หากได้เป็นรัฐบาล คิดว่าการโหวตเลือกกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 28 ต.ค.จะออกมาดี เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
เมื่อถามถึงกระแสข่าวทั้ง พล.ต.ท.วิโรจน์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ต่างอาจจะได้เข้ามาทำหน้าที่ในพรรค นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีการส่งสัญญาณอะไรมาทางตน เชื่อว่าคนที่ได้รับการเสนอชื่อ ล้วนมีความเหมาะสมทั้งสิ้น ในฐานะผู้ที่ทำงานกับพรรคมาโดยตลอด ไม่ว่าสมาชิกจะเลือกใครมาทำหน้าที่ พร้อมยอมรับ ยินดี ถือมติของสมาชิกพรรคเป็นหลัก
นายพายัพ ปั้นเกตุ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า ที่ผ่านมาพล.ต.ท.วิโรจน์ได้ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมาหลายปี ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว ขณะที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่ต้องประกาศ 3 รายชื่อตอนเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าพรรคก็ได้ เพราะพรรคเพื่อไทยมีบุคลากรอยู่มาก ก็ไม่ควรทำให้ต้องเกิดปัญหาอะไร ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะมีการเปลี่ยนไปจากที่เคยมีข่าวก่อนหน้านี้
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวที่จะไปเป็นเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ พรรคเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย(พท.) ว่า ไม่เป็นความจริง และในวันที่ 28 ตุลาคม ก็จะเดินทางไปประชุมเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ตนจะลง ส.ส.เขตมหาสารคาม เหมือนที่เคย ไม่มีผู้ใหญ่มาบอกว่าจะต้องย้ายไปอยู่ที่ใด
เขาอ้างว่าในภาคอีสานมีพรรคการเมืองต่างๆ ออกเดินสายหาสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าหรือพรรคใหม่ แต่ก็ยังมีบางพรรคที่เล่นไม่ซื่อ แจกเงินชาวบ้าน ด้วยการขอบัตรประจำตัวประชาชนแล้วนำมากรองในเอกสารสมัครสมาชิกพรรค โดยดำเนินการผ่านเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งทำอย่างแพร่หลายในภาคอีสาน แม้จะเคยปรากฏเป็นข่าวแล้วก็ตาม จึงอยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จับตาดูและตรวจสอบ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย เป็นการแจกเงินเพื่อให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิก
นายจรูญพงศ์ พันธุ์ศรีนคร อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ขณะมีความพยายามของกลุ่มบุคคลที่กำลังจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองหนึ่งที่สนับสนุนรัฐบาลไปยื่นรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของพื้นที่ จ.นครราชสีมา ต่อคณะกรรมการ กกต.กลาง โดยไม่ผ่านการประชาพิจารณ์ตามหลักเกณฑ์ที่กกต.กำหนด เพื่อเอื้อต่อพวกของตัวเอง
ล็อกเขตเลือกตั้ง
เขายกตัวอย่างเช่นที่ อ.พิมาย ซึ่งเป็นอำเภอใหญ่และเป็นอำเภอชั้น 1 มีประชากรถึงกว่า 128,000 คน ในอดีตการแบ่งเขตเลือกตั้งอำเภอพิมายจะถูกจัดให้เป็นอำเภอหลัก แล้วเอาอำเภอรอบๆ มารวมเป็นเขต แต่รูปแบบแบ่งเขตใหม่ที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวเสนอให้แบ่งอำเภอพิมายออกเป็น 3 เขต ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นอกจากนี้ เขตเลือกตั้งอื่นๆ อีก 13 เขต ก็ถูกแบ่งออกจนแทบไม่เหลือเค้าโครง 3 รูปแบบเดิมที่ กกต.จังหวัดนครราชสีมานำมาให้ประชาชนชาวโคราชเสนอความคิดเห็นแต่อย่างใด จึงขอเรียกร้องไปยัง กกต.กลาง พิจารณายึดรูปแบบเขตเลือกตั้งทั้ง 3 แบบ ที่กกต.จังหวัดนครราชสีมาตามได้ทำประชาพิจารณ์จากชาวโคราชและเสนอให้ กกต.กลางพิจารณาไปแล้ว โดยเฉพาะแบบที่ 1 ที่ชาวโคราชส่วนใหญ่เห็นด้วยมากที่สุดถึง 1,183 คน
ที่สำนักงานสาขาพรรคเพื่อชาติ ประจำภาคเหนือ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีการจัดประชุมสมาชิกพรรคเพื่อชาติ เพื่อจัดตั้งสาขาพรรคและเลือกตั้งคณะกรรมการพรรคเพื่อชาติ มีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ เดินทางมาร่วมเป็นวิทยากร ของสถาบันพัฒนาการเมือง พรรคเพื่อชาติ ในครั้งนี้ด้วย ในหัวข้อฟื้นประชาธิปไตยก้าวไปด้วยกัน
นายยงยุทธกล่าวว่า มาในฐานะผู้ให้กำลังใจ มาสังเกตการณ์ในฐานะผู้มีประสบการณ์ จุดอ่อนที่สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ การทำลายขีดความสามารถของคนไทย ทำลายการมีส่วนร่วมของคนไทย เป็นจุดอ่อนที่ทำให้คนเก่ง คนดี ไม่สามารถมาร่วมใช้ความรู้ ให้เป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือพรรคการเมืองได้ เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้พรรคการเมืองถูกยุบ อีกทั้งรัฐธรรมนูญนี้ยังมีลักษณะที่ถอยหลังเข้าคลอง โดยให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งร่วมมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ผิดหลักการประชาธิปไตยสากล
การที่มีพรรคการเมืองหนึ่งนำเอาชื่อนโยบายของรัฐบาลมาตั้งเป็นชื่อพรรค ให้นึกถึงคำที่เคยต่อว่ารัฐบาลหนึ่งว่า คอร์รัปชันเชิงนโยบาย ดูจะเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ เป็นเรื่องอำพรางฉ้อฉลการเลือกตั้งหรือไม่
ไม่พกความแค้นจริงๆ
ด้านนายจตุพรกล่าวว่า มาให้ความรู้กับประชาชนในฐานะวิทยากรของสถาบันพัฒนาการเมือง พรรคเพื่อชาติ เช่นเดียวกับโรงเรียนการเมือง ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ด้วยการเลือกตั้งในคราวนี้ไม่เหมือนในอดีต ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการนับคะแนน การหาเสียงเลือกตั้ง บรรยากาศการเลือกตั้ง ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมกันอีกแล้ว แต่สิ่งที่เรามีความคาดหวังก็คือว่า การเลือกตั้ง ที่ตนยังมีสิทธิในการใช้สิทธิอยู่ เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ประชาชนมีส่วนในการกำหนด อนาคตของตัวเองอย่างแท้จริง
เขากล่าวว่า ในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมานี้ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งก็ยังคงไม่สามารถบริหารประเทศได้ บ้านเมืองอยู่ในสภาพลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้ประเทศไทยเราเสียโอกาส และนำเอาเหตุผลเรื่องความแตกแยกมาเป็นเหตุผลหลักในการยึดอำนาจ
"ผมก็ได้ประกาศตั้งแต่ออกจากเรือนจำมาแล้วว่า ไม่ได้พกความแค้นเข้าไป และไม่ได้พกความแค้นออกมา ถ้ายังปล่อยให้บ้านเมืองเดินต่อไปด้วยความแตกแยก บ้านเมืองก็จะยิ่งถดถอย แต่ก็มิใช่ว่าเราจะไม่ให้มีความคิดแตกต่างกัน พรรคเพื่อชาติที่เรามาเป็นกองเชียร์ ที่เราพยายามชวนกันมาเป็นเกาะกลาง ที่จะพูดคุยอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้หลักการประชาธิปไตย ไม่ใช่ให้เกิดการเปลี่ยนจุดยืน"
นายจตุพรเชื่อว่า หากประเทศไทยอยู่ในบรรยากาศที่พูดคุยกันได้ แม้จะคิดแตกต่างกัน สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ก็จะมีความหวังเพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเรียกร้องกันมาโดยตลอดนั้นไม่ใช่ว่าไปเปลี่ยนความคิดใครจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นโยบายที่ดี มักมาจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ไม่ได้เป็นสมาชิก จะเข้าข่ายครอบงำ บงการ นำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งความจริงแล้วทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอ แล้วพรรคการเมืองต่างๆ ก็มีสิทธิที่จะรับฟัง เพราะฉะนั้นการเขียนกฎหมายที่มีลักษณะกว้างขวาง อยู่ที่ว่าจะหยิบยกมาตีความหรือไม่ อีกทั้งกรณีที่ให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เป็นการทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ ไม่มีความมั่นคง
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคชาติไทยพัฒนามีมติให้ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และลงมติเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ นัดประชุมครั้งแรก วันที่ 7 พ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. โดยมีวาระพิจารณาที่สำคัญคือการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามที่ข้อบังคับพรรคกำหนด เช่น โฆษกพรรค, ผู้อำนวยการ รวมถึงคณะทำงานชุดต่างๆ อาทิ คณะทำงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์พรรค ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น นายวราวุธ ศิลปอาชา คาดว่าจะได้รับเลือกให้ทำงานภายใต้คณะทำงานชุดดังกล่าว ส่วนการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. นั้น คาดว่าจะเป็นสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ชัดเจน
"หญิงหน่อย"ร่วมยินดี
“หลังการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แล้ว ถือว่าได้รับการตอบรับและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาคนใหม่พร้อมเป็นผู้ที่ทำงานประสานกับคนทุกกลุ่มของพรรคและขับเคลื่อนพรรคให้ไปสู่การเลือกตั้ง”
นายนิกรเผยว่า หลังที่ น.ส.กัญจนาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โทรศัพท์ผ่านตนถึง น.ส.กัญจนา เพื่อแสดงความยินดี ที่นักการเมืองผู้หญิงถูกเลือกให้มีทบาทนำภายในพรรค ซึ่งตนได้แจ้งให้ น.ส.กัญจนาทราบ และได้กล่าวขอบคุณตอบคุณหญิงสุดารัตน์แล้วเช่นกัน
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 1 พร้อมคณะ อาทิ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ, นายชำนิ ศักดิเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค, นายนิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา, นายกรณ์ จาติกวณิช ฝ่ายยุทธศาสตร์พรรค, นายพนิช วิกิตเศรษฐ์, นายสามารถ มะลูลีม อดีต ส.ส.กทม., นายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา, นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีตส.ส.พัทลุง, นายฮอศารี ม่าเหล็ม อดีต ส.ส.สตูล และนายอันวาร์ สาและ อดีต ส.ส.ปัตตานี ลงพื้นที่พบปะสมาชิกพรรคจังหวัดปัตตานี โดยก่อนหน้าจะพบสมาชิกพรรคได้เดินทางไปสักการะหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดปัตตานี พร้อมกันนี้นายอภิสิทธิ์ได้ร่วมกิจกรรมลอดท้องช้าง ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นสิริมงคล
จากนั้นเดินทางไปปราศรัยกับสมาชิกพรรคที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี โดยตอนหนึ่งนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคไม่ใช่ครั้งแรกของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคือ ส.ส. และประธานสาขา แต่วันนี้สมาชิกทุกคนมี 1 สิทธิ์และ 1 เสียงเท่ากัน เพราะตลอด 72 ปี สมาชิกทุกคนคือเจ้าของพรรค พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เป็นของใครหรือครอบครัวใด แต่เป็นของสมาชิกพรรคทุกคน สมาชิกคือเจ้าของพรรคตัวจริง อย่างไรก็ตาม ขอเชิญชวนให้ทุกคนไปลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคในวันที่ 1-3 พ.ย.นี้ทางโทรศัพท์ หรือหากใครไม่สะดวก ก็เดินเข้าคูหาได้ในวันที่ 5 พ.ย. ซึ่งเป็นกำหนดของชาวใต้ ซึ่งหากตนได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคต่อ ก็จะต้องเร่งนำทัพสู่การเลือกตั้ง
"ผมดูแล้วว่าการเมืองแบบนี้ดียาก เพราะคนทำงานขาดตัวเชื่อมโยง เศรษฐกิจที่ดีจริงๆ จะต้องสะท้อนผ่านราคาสินค้าเกษตร ทั้งยางพารา มะพร้าว และสภาพประมง ดังนั้นจึงต้องพาประเทศออกจากการเมืองนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องการ คือ 1.ต้องเป็นประชาธิปไตย ซึ่งในที่นี้ผมหมายถึงการสัมผัสรู้ถึงว่าประชาชนต้องการอะไร 2.ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์เพื่อแก้ปัญหา และ 3.ต้องซื่อสัตย์สุจริต เมื่อมองดูแล้ว พรรคที่ทำได้คือพรรคประชาธิปัตย์ และผมอาสาให้ประชาธิปัตย์ไปสู่จุดนั้น"
เสนอดีเบตว่าที่นายกฯ
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า มีหลายเรื่องที่จะต้องเข้ามาแก้ไขให้ประชาชน โดยเฉพาะปัญหาการประมงที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการที่ไม่เข้าใจปัญหาของรัฐบาล จนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมงของประเทศ ทุกครั้งที่มีสหภาพยุโรปมาพบ ตนจะพยายามอธิบายว่าไทยไม่มีความคิดที่จะค้ามนุษย์ คนไทยรักสิ่งแวดล้อม การออกมาตรการเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อวิถีของคนไทย สร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมง ซึ่งตนได้รับคำตอบจากสหภาพยุโรปว่า กดดันเรื่องการค้ามนุษย์ก็จริง แต่การออกมาตรการเป็นเรื่องของรัฐบาลไทย ดังนั้น ถ้าวันที่ 5 พ.ย. หัวหน้าพรรคคือตน หน้าที่คือนำพรรคสู่การเลือกตั้ง และหากได้เป็นรัฐบาลปัญหาของประชาชน ทั้งยางพารา มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ต้องได้รับการแก้ไข เพราะถือเป็นนโยบายตามคำสั่งของประชาชน
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า จากการได้ดูการถ่ายทอดสดการดีเบตชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเย็นวันที่ 26 ตุลาคม เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความคิดว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจัดดีเบต ประชันวิสัยทัศน์ผู้ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และทางเฟซบุ๊ก ไลฟ์สดให้ประชาชนได้รับชมทั้งประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงคะแนนในวันเลือกตั้ง
เขากล่าวว่า หลังมีพระราชกฤษฎีการลือกตั้ง ส.ส. จัดให้มีการเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองจะส่งรายชื่อผู้จะเป็นนายกฯ พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ โดยเจ้าตัวยินยอม จากนั้นพรรคการเมืองก็จะรณรงค์หาเสียงอย่างจริงจังด้วยรูปแบบต่างๆซึ่งต้องเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ตนเห็นว่าการจัดดีเบตให้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ มาประชันวิสัยทัศน์กัน จะเป็นการกระตุ้นความสนใจของประชาชนได้อย่างดี ทำให้เข้าใจวิสัยทัศน์และแนวทาง นโยบายการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของแต่ละพรรค และผู้ที่จะขึ้นมาเป็นนายกฯ โดย กกต.อาจจะจัดสัก 2 ครั้ง เช่น ช่วงกลางของการหาเสียงและช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 5 วัน กรณีที่มีหลายพรรคต่างก็เสนอรายชื่อผู้จะเป็นนายกฯ ก็อยู่ที่ กกต.จะพิจารณาว่าจะจัดให้พรรคไหนมาดีเบตกัน วันไหน ด้วยรูปแบบอย่างไร ทั้งนี้ การหารือร่วมกันระหว่าง กกต.กับพรรคการเมืองจะทำให้การจัดดีเบตดำเนินไปได้
??“การเลือกประธานาธิบดีของสหรัฐซึ่งมี 2 พรรคใหญ่แข่งกัน เป็นเรื่องที่คนไทยคุ้นเคย เพราะดูจากข่าวที่สื่อถ่ายทอดสด สำหรับเมืองไทย ผมเสนอให้การมีจัดดีเบตเช่นกัน และทำให้เป็นวัฒนธรรมการรณรงค์หาเสียง ผู้ที่ถูกพรรคการเมืองเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ จะต้องแสดงความรู้ความสามารถและวิสัยทัศน์ให้ปรากฏต่อประชาชนให้ได้เปรียบเทียบกัน ใครนำเสนอได้ดี มีปฏิภาณไหวพริบ ก็จะได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน อีกอย่างหนึ่ง จะทำให้คนตื่นตัวมาสิทธิกันจำนวนมาก” นายบุญเลิศกล่าว
เตือนระวังม็อบเด็ก
นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวถึงกรณี 4 รัฐมนตรีเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ว่า เชื่อว่าคงทบทวนการปฏิบัติหน้าที่จะมีปัญหาประโยชน์ทับซ้อน คงจะต้องลาออกจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้วย จะได้ไม่มีข้อครหากันมากขึ้น อย่าลืมว่าเมื่อเดินเข้าสู่เลือกตั้ง ต้องให้ประชาชนตัดสิน สิ่งสำคัญต้องระวังความรู้สึกประชาชน ทั้ง 4 รัฐมนตรีคงตระหนัก ระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวพันในการหาเสียง
หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปกล่าวว่า เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.62 และหลังจากเลือกตั้งไป มีรัฐบาลใหม่ บ้านเมืองจะสงบ ไม่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นอีกแน่นอน เพราะถ้าพรรคใดออกมาปลุกระดม เคลื่อนไหว ชักชวนคนมาชุมนุม จะถูกยุบพรรค มีโทษ จำคุก 10 ปี และตัดสิทธิ์ลงเลือกตั้งตลอดชีพ ตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 45 ระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค สมาชิกพรรค ไปชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง
"รัฐบาลหน้าไม่ว่าคนใดจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกฯ อีกรอบ จะต้องได้รับเสียงข้างมากโหวตลงมติในรัฐสภา ทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้อย่างสงบทุกอย่าง ประเทศเข้าสู่ระบบนิติรัฐ คือการใช้กฎหมายปกครองประเทศ ซึ่งวันนี้ผมเดินทางมา จ.สระแก้ว มาประชุมสมาชิกพรรคเพื่อจัดตั้งสภาประชาชนปฏิรูป จ.สระแก้ว ที่จะเป็นเครื่องมือของประชาชนในพื้นที่สามารถแก้ไขความทุกข์ร้อนที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐได้ โดยเดินหน้าเปิดสภาประชาชนปฏิรูปให้ครบทุกจังหวัด" นายไพบูลย์กล่าว
นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Paisal Puechmongkol” ระบุว่า อภินิหารทางกฎหมาย “ถ้า” กำหนดวันเลือกตั้ง ตรงกับวันสอบของเยาวชนอายุ 18-25 ซึ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 7 ล้านคน อาจเกิดกระแสพลิกผัน คณะกรรมการการเมืองของบางพรรค กำลังวางแผนตีโต้ในเรื่องนี้
ที่สำคัญคืออาจเชิญชวนเยาวชนทั่วประเทศไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยไม่เข้าห้องสอบ ซึ่งถ้าสำเร็จ ก็จะได้คะแนนเสียงเยาวชน 7 ล้านคนอย่างเป็นเอกภาพ หรือไม่ก็อาจจะดึงคนกลุ่มนี้ออกท้องถนนก็ได้ อันการเมืองนั้นเหมือนหมากรุกหมู่ ที่มีคนเดินหลายคน จึงพึงใคร่ครวญให้จงหนัก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |