ประเทศกูมีเบื้องหลัง ‘อุ๋ย’แฉลูกอดีตนายกฯกรีดหน้าแรปเปอร์/‘โอ๊ค’โหน‘น้องผม’


เพิ่มเพื่อน    

 ประเทศกูมีสารพัด ทั้งนักการเมือง แกนนำมวลชน แห่หนุนเพลงแรปที่ด่าหมดทั้งชาติ ยกเว้นคนโกงหนีคดี "โอ๊คซุกโพย" ก็โหนด้วย สอนรัฐบาลโทษตัวเองช่วยโปรโมตเพลงให้ "น้องผม" ปราดเปรื่องจะสอนเบสิกการทำการตลาดแบบง่ายๆ ฟรีๆ ให้ อนาคตใหม่ไปไกล มีอำนาจเมื่อไหร่จะแก้ พ.ร.บ.คอมพ์ ขณะที่ตำรวจยันยังไม่จับกุมใคร แค่รวบรวมหลักฐานเท่านั้น 

    เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์เพลงประเทศกูมี ซึ่งเผยแพร่ในโลกโซเชียลกันอย่างกว้างขวาง ทั้งจากนักแต่งเพลง นักการเมือง แกนนำมวลชน กลายเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองของแต่ละฝ่าย 
    ทิวา สาระจูฑะ บ.ก.สีสัน เจ้าของรางวัลดัง "สีสัน อวอร์ด" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Tiva Sarachudha ถึง "เพลงประเทศกูมี" ว่า "ว่าจะไม่เขียนถึง แต่คิดแล้วคิดอีก ควรจะแสดงความรู้สึกสักหน่อย เพราะผมก็คนประชาธิปไตยเหมือนกัน หวังว่าจะไม่มีใครผูกขาดความรักประชาธิปไตยเอาไว้
    ผมได้ดูและฟังเพลงแรปที่วิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทยเพลงนั้นแล้ว ตั้งแต่วันแรกที่โพสต์และแชร์กัน ตัวเพลงไม่ติดใจอะไร ถือว่าเป็นเรื่องของความคิดคน อึดอัดก็ระบายออกมาเท่านั้น และในแง่การใช้คำก็พอมีฝีมือกันอยู่บ้าง แต่ด่าประเทศตัวเองหยาบๆ คายๆ นั่นก็เกินไป เกิดที่ไหนไม่มีหัวคิดเลยหรือ อย่าไปเอาอย่างผู้ใหญ่สิ้นคิดบางคนเลย
    แต่ที่ทำให้เซ็งและเศร้าใจนิดหน่อยเมื่อเห็นมิวสิกวิดีโอ ไม่ได้เศร้าที่เห็นหน้าตาคนร้อง แต่เศร้าที่ไปรื้อฟื้นนำเอาภาพเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 มาทำใหม่
    นักแรปทั้งหลายในคลิปวิดีโอนี้คงเกิดไม่ทันเหตุการณ์ตอนนั้น ถึงบางคนเกิดทัน แต่กระเจี๊ยวก็คงยังไม่พัฒนาเป็นไอ้จู๋ และคงไม่รู้ว่า เผด็จการยุคโน้นเป็นอย่างไร
    เพราะยุคนี้ใครจะทำปฏิวัติรัฐประหารต้องระมัดระวังพอสมควร รู้ว่าถ้ามีกรอบหรือกดกันมากเกินไป สุดท้ายก็จะถูกขับไล่โดยประชาชน และในสมัยที่โลกเปิดกว้าง ความสัมพันธ์ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างมาก ผู้ทำปฏิวัติจะขยับอะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก
    คนรุ่น 14 ตุลาคม 2516 ต่อเนื่องถึง 6 ตุลาคม 2519 ต้องเสียชีวิตเลือดเนื้อและพิกลพิการไปไม่รู้เท่าไหร่ในการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิเสรีภาพ แม้จะชะงักไปบ้างในช่วงปี 2535 และ 2549 แต่ก็ไม่ได้เป็นเวลายาวนานนัก เพราะประตูได้ถูกเปิดออกแล้ว
    เผด็จการยุคโน้นไม่ได้ละมุนละไมเหมือนยุคนี้ที่ปล่อยให้ด่ากันโครมๆ ภาษาวัยรุ่นก็คือ “มึงอย่ามาแอ๊ะ” พูดง่ายๆ ว่า ผู้ที่อ้างว่าเรียกร้องประชาธิปไตยสมัยนี้ ยังแทบไม่ได้ต่อสู้กับอะไรจริงๆ เลย
    การแต่งเพลงหรือเขียนวิพากษ์วิจารณ์อะไรสามารถทำได้ ไม่ว่าจะมาจากแนวคิดแบบไหน เพียงแต่ต้องระวังว่าจะไปละเมิดสิทธิของคนอื่นหรือเปล่าเท่านั้น เพราะนั่นเป็นเรื่องทางกฎหมาย
    แต่การนำภาพจำลองโศกนาฏกรรมที่เป็นความขมขื่นปวดร้าวจากอดีตมาใช้ประโยชน์ ผมถือว่าขาดความเคารพกัน ผมไม่อยากมองในแง่ลบว่า มีใครอยู่เบื้องหลังกิจกรรมครั้งนี้หรือเปล่า แต่ก็ได้ผลในการสร้างปฏิกิริยา ซึ่งคงสร้างความพะอืดพะอมต่อผู้มีอำนาจพอสมควร
    แต่ปฏิกิริยาจากผม ในฐานะเป็นหนึ่งในคนยุค 14 ตุลา และ 6 ตุลา ถือว่าวิดีโอที่เอาภาพเหตุการณ์เก่ามารื้อฟื้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ ในยุคปัจจุบัน เป็นความน่ารังเกียจ และออกจะต่ำทราม
    และถ้าใครที่เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กผม เห็นดีเห็นงามกับคลิปวิดีโอนี้ และไม่พอใจสิ่งที่ผมเขียนแสดงความรู้สึก ก็เชิญ unfriend ผมได้เลย ยิ่งเร็ว ยิ่งดี"
ทำลายชาติไม่ได้
    ขณะที่ "ดี้” นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น “น่า...ไม่เป็นไรน่า จะเพลงแรป เพลงหมอลำ ยุคนี้ เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป.. คนชอบก็ชม คนเกลียดก็ด่า แต่เพลงแค่นี้ทำลายชาติไม่ได้ดอกจ้ะ”
    นายนที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย บุดดาเบลส ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แชร์ข้อความจากแฟนเพจ “ตบดิ้น” ที่ระบุถึงกรณีเจ้าหน้าที่จะเอาผิดผู้ทำเพลงดังกล่าวว่า "เสรีภาพเป็นคนละเรื่อง กับการละเมิดกฎหมาย และหากจงใจปลุกระดมอาจมีการเลื่อนเลือกตั้ง"
    จากนั้นมีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ถามว่า "อยากฟัง ทรรศนะพี่อุ๋ยต่อน้องๆ ในวงการหน่อยคับ ตอนนี้คนแชร์เยอะมาก เด็กรุ่นใหม่ๆ มันจะไม่เข้าใจ"
    อุ๋ย บุดดาเบลส ตอบว่า “ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็เป็นสิทธิของเค้าครับ แต่ถ้าผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย เสรีภาพมีขอบเขต ไม่ด่ารัฐบาล ไปด่าชาวบ้านชาวช่องยังโดนฟ้องหมิ่นประมาทเลย อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่ที่แกล้งโง่ไม่เห็นว่าเผด็จการในคราบประชาธิปไตยเป็นยังไง ถ้าน้องเค้าสนใจหาข้อมูลกันอีกสักหน่อย คงไม่โหนเรื่องเสือดำ เค้าก็ดำเนินคดีกันปกติ เรื่องปิดกั้นสื่อ มองแง่ดี น้องคงโตไม่ทันยุครัฐบาลประชาธิปไตย คุมสื่อหนักกว่านี้ พูดไปไม่ฟังหรอกครับ บางเรื่องต้องใช้เวลากว่าจะเข้าใจ ถึงมีคำว่าวัยวุฒิ”
    แต่มีผู้ไม่เห็นด้วยได้คอมเมนต์ตอบโต้ว่า “ด่ารัฐบาลปูกันทั้งประเทศตอนนั้นไม่เห็นโดนจับกัน พอมารัฐบาลนี้ มันตรงกับเนื้อเพลงจริงๆ โดนเรียกซะงั้น”
    ทำให้ อุ๋ย บุดดาเบลส  โต้กลับเช่นกันว่า "ไม่โดนจับแต่โดน M79 โดยเจ้าของคอมเมนต์บอกว่าเป็นเหตุผลคนละกรณีกัน แต่อุ๋ยแย้งว่า กรณีเดียวกันเลยครับ วิจารณ์รัฐบาล เอกยุทธ อัญชันบุตร ชิปปิ้งหมู ตอนพี่เด๋อ จะสร้างเรื่องนายโอ๊คอ๊าค สันติบาลไปบุกบ้าน คุณคงไม่รู้ว่าลูกชายอดีตนายกฯ เอามีดกรีดหน้า Rapper ที่วิจารณ์เค้ามาแล้ว แต่เค้ากลัวอิทธิพลไงครับ เลยไม่กล้าเอาเรื่อง"
    ขณะที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Oak Panthongtae Shinawatra"  ว่า รัฐบาลไทย อย่าไปโทษน้องๆ เลย โทษตัวเองเถอะครับ เพลงประเทศกูมี ที่ทางการฯ ออกมาโวยวาย จะเอาผิดน้องๆ ศิลปินกัน ใครกันแน่ที่ช่วยโปรโมตเพลงให้น้องผมจะสอนเบสิก (Basic) การทำการตลาด (Social Marketing ) แบบง่ายๆ ฟรีๆ ให้ โดยไม่ต้องใช้เงินภาษี มาทำ จะได้ดูเป็น ทำเป็น ว่าประเด็นไหนควรจะเงียบ ประเด็นไหนควรจะประโคมข่าว วันพุธที่ 24 เพลงประเทศกูมี มีคนค้นหาขึ้นเป็นอันดับ 1 ก็จริง แต่มีแค่หลักหมื่นกลางๆ เท่านั้น
ประเทศกูมี "โอ๊ค"
          พอวันพฤหัสที่ 25 คำค้นหาอันดับ 1 กลายเป็น “ครางชื่ออ้ายแน่” ส่วนประเทศกูมี เงียบหายไปไม่ติด 1ใน 10 ถ้าจุดนี้ถ้ารัฐบาลยอมจบ เพลงก็จะดังประมาณนึงแล้วก็ค่อยๆ แผ่วไป เพราะเพลงแรปคนที่ไม่ชอบฟัง จะจับเนื้อไม่ทัน ฟังผ่านหูครั้งนึงแล้วก็จบไป แต่ปรากฏว่าพอวันศุกร์ที่ 26 ทั้งตำรวจ ทั้งโฆษกรัฐบาล ต่างออกมาชี้เป้า กระหน่ำว่าเพลงมันไม่ดี เสียใจน้องๆ เยาวชนออกมาทำร้ายประเทศ..ใครแชร์จะต้องติดคุก เท่านั้นแหละครับ คำค้นหาทะลุ 2 แสน ทำลายสถิติเพลงดังเลยทันที
          ดังนั้น อย่าไปโทษน้องๆ เลยครับ ตัวโฆษกรัฐบาลเอง รวมทั้งพี่ตำรวจ และลุงตู่ ที่อารมณ์เสียเดินหนีนักข่าวนี่แหละ ที่ทำตัวเอง และช่วยโปรโมตเพลงของน้องๆ ให้ดังขึ้นๆ จนวันนี้สื่อลงว่า ยอดวิวทะลุ 5 ล้านวิวไปแล้ว วิ่งแรงแซงกฐิน-ผ้าป่าทุกกอง ยิ่งเบรก-ยิ่งลื่นไถล เอาไม่อยู่ควรทำไงดี ปล่อยให้เขาแสดงออกสิครับ ศิลปินอยู่ได้ด้วยเสียงปรบมือ น้องๆ อาจไม่น่ารักน่าหยิก และไม่มีโอกาสเข้าทำเนียบฯ ไปอวย ไปจับมือนายกฯ แบบศิลปินค่ายดังๆ เขาทำกัน แต่ทุกคนก็คือศิลปินเยาวชนที่รักประเทศชาติเหมือนๆ กัน มีแนวทางแสดงออกเป็นของตัวเอง คนเป็นผู้ใหญ่ควรต้องยอมรับความเห็นต่าง เพื่อเป็นตัวอย่างให้เยาวชน ไม่ใช่หรือครับ
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แทน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ว่า ไม่เหนือความคาดหมาย แต่การนำคนที่เป็นอดีตแกนนำม็อบชัตดาวน์ประเทศ ชัตดาวน์ระบบราชการ ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อจลาจลขัดขวางการเลือกตั้ง มาทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เช่นกรณีการบอกว่าแรปเปอร์ประเทศกูมีทำร้ายประเทศ มีการตั้งคำถามว่าระหว่างการแต่งและร้องเพลงกับการนำม็อบชัตดาวน์ประเทศ อย่างไหนสร้างความเสียหายและทำร้ายประเทศมากกว่ากัน 
    "การปูนบำเหน็จจากผลงานการชัตดาวน์ประเทศ ขัดขวางการเลือกตั้งจนนำมาสู่การปฏิวัติรัฐประหาร ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนมีสิทธิตั้งคำถามว่าเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ นายพุทธิพงษ์เป็นทั้งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่คาดว่าจะมาสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารหรือไม่ นึกไม่ออกว่าจะเป็นการส่งสัญญาณและสนับสนุนให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ได้อย่างไร" นายอนุสรณ์กล่าว
"มาร์ค"งงผิดตรงไหน
    ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปกติตนเป็นคนฟังเพลงแรปสากลอยู่แล้ว จึงเข้าใจแนวทางของเพลงลักษณะนี้ เพราะเป็นวิธีการสะท้อนสังคม จึงไม่ทราบว่าเพลงดังกล่าวผิดกฎหมายในประเด็นใด และเชื่อว่าการวิพากษ์วิจารณ์สังคมสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคล
    นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการแรปในลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติ หากใครจะชอบหรือไม่ชอบก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน ซึ่ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ยังบอกว่าไม่แน่ใจว่าเรื่องดังกล่าวเข้าข่ายคำสั่ง คสช.หรือไม่ แต่การจำกัดสิทธิในการแสดงออกก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้ คนที่ระบุว่าผิดกฎหมาย ก็ต้องอธิบายว่าผิดอย่างไร ขณะที่รัฐบาลหรือ คสช. ก็มีสิทธิ์แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่ตนมองว่าคนกลับไปดูแรปดังกล่าวเยอะขึ้นมากกว่า
    นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นเรื่องของการสะท้อนปัญหาของประเทศ พยายามบอกความจริงต่อสังคมด้วยการเสียดสีที่มีอยู่ตลอดในระบอบประชาธิปไตย กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกรัฐบาล เพราะหลักการประชาธิปไตยได้ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่กระทบคนอื่น การตั้งคำถามการแสดงความเห็นต่อเรื่องต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ล้วนมีรูปแบบวิธีการแสดงออกที่แตกต่างกันมาตามช่วงยุคสมัย 
    "กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มีรูปแบบของเขาที่จะนำเสนอให้ได้รับความสนใจ รัฐบาลควรจะเปิดใจกว้าง ลองฟังสิ่งที่เขาสะท้อนออกมาว่าเป็นจริงแค่ไหน จำเป็นต้องปรับปรุงอะไรหรือไม่ แทนการใช้กฎหมายไปควบคุม เพราะมองว่าการจะใช้บทกฎหมายมาลงโทษ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพ์ ดูจะเกินไป เพราะกฎหมายเหล่านี้ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าอาจกลายเป็นเครื่องมือของคนที่อยู่ในอำนาจหรือไม่" อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าว
    ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร กล่าวว่า อยากให้มองเจตนาของคนทำเพลงนี้ว่ามีเจตนาพิเศษอะไรหรือไม่ หากไม่มี ก็น่าจะทำความเข้าใจกันได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพของศิลปินที่สามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาพลักษณ์ของประเทศชาติด้วย ซึ่งเท่าที่ได้รับฟังนั้น มีถ้อยคำที่พอรับได้ที่เป็นข้อเท็จจริงตามสถานการณ์ในสังคม แต่บางถ้อยคำก็ทำให้ประเทศเสียหาย เพราะมีการบิดเบือน
    "หากเป็นผม จะทำเพลงประเทศกูดีมากกว่า เพราะประเทศไทยมีอะไรดีๆ อีกมากมาย เป็นสยามเมืองยิ้ม มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม มีวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม แม้แต่คนต่างชาติยังรักประเทศไทย เดินทางมาเที่ยวถึงปีละ 37 ล้านคน"
อนาคตใหม่ดาหน้าหนุน
    โฆษกกลุ่มสามมิตรกล่าวด้วยว่า แม้ว่าบ้านเมืองของเราจะมีความขัดแย้งกัน แต่ลึกๆ แล้วคนไทยรักกัน และคนไทยทุกคนก็รักประเทศ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นกรณีนี้ศิลปินคนทำเพลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะหาทางออกโดยทำความเข้าใจกันดีกว่าการใช้กฎหมายมาดำเนินการ อย่างไรก็ตาม หากมองแล้วมีเจตนาพิเศษที่จะทำให้ประเทศเสียหาย แต่ยังไม่แก้ไข ค่อยใช้วิธีตามกฎหมายดำเนินการ เพราะประเทศจะมีการเลือกตั้งแล้ว อยากให้บรรยากาศดี อย่าให้สังคมขัดแย้ง
    นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่า ที่มีหลายฝ่ายมองว่าเพลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ แต่ความจริงแล้ววิธีที่ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศที่ดีที่สุดคือ การที่เรายังคงมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากประชาชน แล้วเข้ามาดำรงตำแหน่งมากกว่า 5 ปี ส่วนเนื้อหาของเพลงที่บางฝ่ายมองว่าเป็นการทำลายประเทศนั้น หากจะพูดว่าใครทำลายประเทศมากกว่าระหว่างนักดนตรีที่ผลิตเพลงนี้กับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่กลุ่มนักดนตรี ขณะที่เนื้อหาเพลงซึ่งมองว่าอาจรุนแรง ขึ้นอยู่กับความเห็นของแต่ละบุคคล แต่ตนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ขณะเดียวกัน กลับทำให้หลายคนมองเห็นปัญหาของสังคมไทย นับได้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นเสียงสะท้อนของปัญหาเพื่อให้มีการแก้ไข ซึ่งสังคมต้องการคนแบบนี้
    ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เนื้อหาของเพลงไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายประเทศ ดังนั้นควรยอมรับความคิดที่หลากหลายและการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลาย อย่างไรก็ตาม การเตรียมใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มดังกล่าว ตนมองว่าเป็นการไม่เคารพสิทธิของกลุ่มแรปเปอร์ สิทธิของประชาชนในการแสดงความเห็นโดยสุจริต
        ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เชื่อว่าเนื้อหาของเพลงประเทศกูมี ไม่มีส่วนใดที่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ และหากเจ้าหน้าที่จะใช้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีเจตนารมณ์คือจัดการกับผู้ที่แฮ็กข้อมูล หรือผู้ที่ทำให้ระบบข้อมูลล่ม ต่อกรณีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่เตรียมเดินหน้าแก้ไขกฎหมายฉบับนี้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เกิดขึ้น ตนเข้าใจว่าเนื้อหาอาจสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลทหาร จึงพยายามทำให้ประเด็นกลายเป็นเรื่องที่กระทบความมั่นคง
    นพ.เหวง โตจิราการ  แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ประเทศกูมี ศิลปินของผู้ถูกกดขี่ ต่อสู้เปิดโปงพวกกดขี่เบียดบีฑาอย่างกล้าหาญ ไม่กลัวการใช้อำนาจเผด็จการมารังแกข่มเหง"
"จตุพร"วิจารณ์เรียบๆ
    ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า ตอนแรกคนอาจจะไม่สนใจ มีผู้ฟังจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะเท่านั้น แต่เมื่อภาครัฐให้ความสนใจ ทำให้เกิดเป็นกระแส ให้คนตามไปดู จนทำให้ยอดวิวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทะลุหลักหกล้านวิวแล้ว ในกรณีนี้เป็นตัวอย่าง บทเรียนที่สำคัญของภาครัฐในการใช้อำนาจ เมื่อมีความพยายามใช้อำนาจ จึงเกิดการต่อต้าน และยิ่งหากมีการจับกุมตามที่ประกาศ เป็นข่าว จะยิ่งทำให้เพลงนี้เป็นที่สนใจ เป็นเพลงฮิตประจำปี ที่มียอดวิวมากที่สุด โดยที่รัฐนั่นเองเป็นคนโฆษณา เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาด้วยอำนาจ ก็ไม่ใช่ความสำเร็จเสมอไป นี่เป็นตัวอย่างของความล้มเหลว ท้ายที่สุดก็กลายเป็นไฟลามทุ่ง 
    นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นอีกคนที่แสดงความเห็นผ่านโซเชียลฯ โดยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ระบุว่า ผมเกิดและเติบโตในประเทศไทย พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวดและบรรพบุรุษที่เหนือไปกว่านี้ก็เกิดในประเทศไทย และใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เกิดจนตาย ผมจึงรักประเทศไทย รักวัฒนธรรมไทย รักภาษาไทย รักอาหารไทย รักทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสิ่งที่ดีงามในความเป็นไทยผมจึงเป็นคนประเภทชาตินิยม แต่ไม่ถึงกับคลั่งชาติ
    ใครจะด่ารัฐบาล ด่านายกรัฐมนตรี ด่ารัฐมนตรี ด่านักการเมือง ด่าข้าราชการประจำ ก็ด่าไปเถอะ แต่ถ้าด่าประเทศไทย ผมรับไม่ได้ ถ้าใครที่เห็นว่าประเทศไทยไม่ดี มีแต่สิ่งเลวร้าย บุคคลนั้นก็ไม่ควรอยู่ในประเทศอีกต่อไปบุคคลประเภทที่ประกาศว่า ถ้ามีลูกจะไม่ให้อยู่และเรียนหนังสือในประเทศไทย ตัวเองก็ไม่ควรอยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่หน้าด้านมาตั้งพรรคการเมืองมาทำกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทย
     ใครที่เป็นเพื่อนผมในเฟซบุ๊ก หากท่านชื่นชอบเพลง "ประเทศกูมี" ที่ด่าประเทศไทยด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ซึ่งเป็นผลงานของพวกคอมมิวนิสต์หลงยุค กรุณาช่วยลบผมออกจากการเป็นเพื่อนด้วยครับ"
          ล่าสุด เพจเฟซบุ๊กชื่อ Rap Against Dictatorship ซึ่งเป็นผู้ทำเพลง “ประเทศกูมี” ได้โพสต์ข้อความยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้มีการดำเนินคดีกับศิลปินในกลุ่มแต่อย่างใด ทุกคนยังอยู่กันครบ รวมทั้งขอบคุณกำลังใจจากทุกคน ไม่ว่าจะส่งผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือในสื่อรูปแบบอื่นๆ ก็ตาม
          โดยระบุข้อความว่า ..สวัสดีครับ พวกเรายังปลอดภัยดีกันทุกคนนะครับ ขณะนี้ยังไม่มีการเข้าจับกุมใดๆ จาก จนท.รัฐตามที่มีการลือกัน แต่แน่นอนครับ สำหรับเรา ที่เป็นเพียงประชาชนตัวเล็กๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มันสร้างความกังวลใจให้พวกเราทุกคนเป็นอย่างมาก แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเรายังมีกำลังใจที่จะสู้ต่อ นั่นคือกำลังใจจาก ประชาชนด้วยกัน ที่คอยส่งให้ ทั้งผ่าน Social Networks และสื่อรูปแบบอื่นๆ
         แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของเพลงเรา และมีความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่พวกท่านก็ยังช่วยปกป้องเสรีภาพในการวิจารณ์ของพวกเราไว้ พวกเราได้อ่านทุกข้อความที่ท่านเขียน และขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริง
ยังไม่จับกุมใคร
       เราเชื่อว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าเรา-ประชาชน จะมีความแตกต่างกันแค่ไหน แต่พวกเราก็สามารถต่อสู้กับความไม่ถูกต้องร่วมกันได้ ขอขอบคุณทุกคนอีกครั้งครับ
     ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 บก.ปอท. ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. กล่าวถึงการตรวจสอบคลิปเพลง “ประเทศกูมี” ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดย พ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รรท.ผบก.ปอท. ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบเนื้อหาของเพลงว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ จากการตรวจสอบเบื้องต้น บก.ปอท. มีข้อมูลของบุคคลในคลิป ทั้งนักร้อง คนแต่งเพลง แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ขณะนี้ยังไม่มีการเชิญบุคคลที่อยู่ในคลิปเพลงมาสอบสวน 
         พ.ต.อ.ศิริวัฒน์กล่าวอีกว่า จากการพิจารณาคลิปเพลงดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่นั้น ต้องรอให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้แน่นหนา จึงจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ โดยส่วนตัวไม่อยากให้มีการแชร์หรือส่งต่อ ยอมรับว่าเรื่องนี้มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ
    รองโฆษก บก.ปอท. กล่าวถึงการแชร์คลิปที่โพสต์โดยไอจี "darng01" พร้อมข้อความระบุว่า เสียงประชาชนโห่ ต้อนรับศรีวราห์ หลังดำเนินการจับกุมแรป #ประเทศกูมี มาสอบสวน ว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นภาพเหตุการณ์เก่าเมื่อเดือน พ.ค.2561 ที่ สน.พญาไท โดยขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยงานใดเข้าไปพบหรือควบคุมตัวบุคคลในคลิปเพลงดังกล่าว
          เขาบอกว่า เบื้องต้น บก.ปอท.มีข้อมูลของบุคคลในคลิป ทั้งนักร้อง คนแต่งเพลง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเชิญบุคคลที่อยู่ในคลิปเพลงมาสอบสวน โดยอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆ ให้ครบถ้วนก่อน ถ้าหากพบว่าเข้าข่ายมีความผิดจึงจะเชิญมาสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
    นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายชื่อดังและเป็นเจ้าของเพจ “ทนายคลายทุกข์” ได้ไลฟ์สดพูดถึงกรณีดังกล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเนื้อหาในเพลงนั้นเป็นเท็จอย่างไร แต่โดยส่วนตัวคิดว่าแค่ถ้อยคำในเพลงเขา มันอาจจะดูแรงไปหน่อย ซึ่งก็เป็นภาษาวัยรุ่น แต่ถ้าจะเอาผิด ต้องตอบให้ได้ว่าเพลงนี้ทำให้ใครเสียหาย ฟังดีๆ เขาด่าใคร เพลงประเทศกูมี เนื้อหาแค่บอกเล่าเรื่องเสือดำ คอร์รัปชัน บอกประเทศมีอะไรบ้าง 
    เขากล่าวว่า ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าเนื้อหาเป็นเท็จ ก็ดำเนินคดีกับเขาไม่ได้ อันที่จริงประชาชนก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ พอมีคนร้องเพลงหน่อย รัฐบาลจะพังหรืออย่างไร เศรษฐกิจจะล่มสลาย จะพิสูจน์อย่างไง พอเพลงนี้มีคนร้อง พูดถึงคอร์รัปชัน การโกงกิน เสือดำ การประท้วงมีคนตาย ประชาชนพูดได้หรือไม่ มันมีกฎหมายที่ไหน ห้ามแต่งเพลงล้อเลียนรัฐบาล ห้ามแต่งเพลงเสียดสีสังคม ขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่ ถ้าดูในโลกโซเชียล อารมณ์คนส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยว่าเพลงนี้ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ควรโดนแบน ถ้ารัฐบาลไปทำสวนทาง ก็จะเสียคะแนน.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"