ปฏิรูปการเมืองยังไปไม่ถึงไหน


เพิ่มเพื่อน    

 แม้รัฐบาลจะจัดตั้งคะกรรมการปฏิรูปขึ้นมามากกว่า 10 คณะ และหนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปการเมือง ในขณะที่เรายังไม่รู้ว่าคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเขาวางแนวการปฏิรูปการเมืองเอาไว้อย่างไรบ้าง แต่พฤติกรรมทางการเมืองขององค์ประกอบทางการเมืองของประเทศไทยเราในมิติทั้งหลาย ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่แสดงให้เห็นว่ามีการปฏิรูป เพราะหลายอย่างก็ยังคงเหมือนเดิม เริ่มต้นตั้งแต่การตั้งพรรค เมื่อปี่กลองการเมืองเกิดขึ้น ก็จะมีหลายกลุ่มหลายฝ่ายขยับขึ้นมาตั้งพรรค โดยที่ใช้ชื่อต่างๆ นานาที่ดูเหมือนจะสะท้อนอุดมการณ์ของพรรค แต่เมื่อมองลึกเข้าไปว่ามีใครมาร่วมก่อตั้งพรรคบ้าง เรากลับไม่เห็นความมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนอย่างไร ทำให้เราไม่แน่ใจว่าพวกเขาตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อต้องการเข้ามาทำงานเพื่อบริหารบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าจริงหรือเปล่า ยิ่งรอบนี้การนับคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่นำเอาคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคะแนนของผู้ชนะการเลือกตั้งเขตหรือแพ้การเลือกตั้งเขต ก็ทำให้วัตถุประสงค์ของการตั้งพรรคกลายเป็นยุทธศาสตร์ของการเอาชนะการเลือกตั้งมากกว่าการแสดงอุดมการณ์ ทำให้มีทั้งพรรคที่แสดงตนเป็นสาขาของพรรคใหญ่ และพรรคที่แสดงตนเป็นพันธมิตรของพรรคใหญ่ เป็นพรรคแนวร่วมของพรรคใหญ่ และเป็นพรรคอะไหล่ที่รอร่วมกับพรรคที่ชนะเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของการก่อตั้งพรรค คำว่าอุดมการณ์ที่เป็นพื้นฐาน (Platform) การทำงานการเมืองของพรรคไม่มีความชัดเจน
    เมื่อมีการตั้งพรรคใหม่ขึ้นมามากมาย ก็จะมีการย้ายพรรคของคนที่เคยเป็นอดีต ส.ส. ถามว่าพวกเขาย้ายพรรคเพราะอุดมการณ์ไม่ตรงกับพรรคเก่า แต่จะสอดคล้องกับพรรคใหม่มากกว่าใช่หรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่แน่ๆ เพราะตอนอยู่กับพรรคเก่าก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ใดๆ ดังนั้นจะบอกว่าจากพรรคเก่าไปเพราะอุดมการณ์ไม่ตรงกันก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ และจะบอกว่ามีอุดมการณ์ตรงกันกับพรรคใหม่ ก็คงไม่ใช่อีก เพราะพรรคใหม่ก็ไม่ได้แสดงอุดมการณ์ใดๆ ที่จะทำให้เราสามารถพิจารณาได้ว่าเขาย้ายเข้าพรรคใหม่เพราะเขาชื่นชอบอุดมการณ์และแนวทางในการทำงานการเมืองของพรรคใหม่ ถ้าหากจะให้เดาก็คิดว่าพวกเขาย้ายพรรคเพราะ (1) ต้องการให้ได้ลงรับเลือกตั้ง เพราะถ้าหากอยู่พรรคเก่าอาจจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ลงรับเลือกตั้ง (2) เกรงว่าอยู่พรรคเก่าอาจจะแพ้ได้ เพราะว่าพรรคเก่าหมดมนต์ขลัง ดังนั้นจึงต้องย้ายไปอยู่พรรคอื่นที่อาจจะมีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากกว่า (3) อาจจะมีคำสัญญาในด้านผลประโยชน์บางอย่างที่น่าพึงพอใจ ก็เลยตีจากไป (4) เห็นศักยภาพของพรรคใหม่ที่อาจจะชนะการเลือกตั้ง ได้โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ตนเองมีโอกาสเป็น ส.ส.ในซีกรัฐบาล เพราะไม่มีใครอยากเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อใครคนใดคนหนึ่งย้ายพรรคออกไปก็จะเจอขุนพลในพรรคเก่าออกมาถล่มว่าเป็นคนไม่ดีอย่างนั้นอย่างดี เป็นคนไร้ความสามารถ เป็นคนที่พรรคไม่ต้องการ เป็นคนที่ย้ายออกไปเพราะได้รับผลประโยชน์บางอย่าง 
    เมื่อลงสมัครรับเลือกตั้งพอจะเห็นแววแล้วว่าใครจะลงพรรคไหน พื้นที่ไหน ใครเป็นคู่แข่งกับใคร พรรคไหนจะต้องขับเคี่ยวกับพรรคไหน ก็จะเริ่มสาดโคลนใส่กัน ด่ากัน ขุดคุ้ยด้านมืดของฝ่ายตรงกันข้ามออกมาแฉ จริงบ้างเท็จบ้างก็ว่ากันไป ยิ่งสมัยนี้มี social media ซึ่งเป็นสื่อเปิดให้สามารถพูดและเขียนอะไรก็ได้ โดยไม่มีใครเป็น Gate keeper ปิดกั้น ก็ยิ่งรุนแรงกันใหญ่ ไม่ใช่เป็นการถล่มคู่ต่อสู้คนเดียว แต่จะทำกันเป็นขบวนการ พอคนหนึ่งเริ่มด้วยการ Post ก็จะมีคนเข้ามากด Like กด Share และเขียน Comments สำทับกันแบบรุนแรง ผู้สมัครคนใดเคยมีแผลเรื่องอะไร ก็จะมีคนนำเอาแผลนั้นมาขยี้ต่อให้แผลมันกว้างขึ้นไปอีก ที่เราเรียกกันว่าเป็น “การเมืองน้ำเน่า” ที่สาดโคลนใส่กันก็คงจะไม่ผิดนัก นี่ขนาด คสช.ยังไม่ได้ปลดล็อกให้ทั้งหมด แค่คลายล็อกให้ทำอะไรได้บางอย่าง เรายังได้พบเห็นการสาดโคลนใส่กันรุนแรงขนาดนี้ เมื่อถึงเวลาที่ปลดล็อกจริงๆ เราจะเจอความเน่าขนาดไหน ทำไมถึงไม่เน้นการพูดถึงนโยบายหรือแนวทางในการทำงานการเมืองของตนเองหรือของพรรคโดยไม่ต้องด่าว่าคนอื่น ทำไมจะต้องสร้างวาทกรรมด่าทอฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดด้วย ไม่แปลกใจเลยที่ทาง คสช.ต้องพิจารณาเรื่องการหาเสียงบนพื้นที่ Social media เพราะหากไม่กำหนดให้ชัดเจน กลิ่นน้ำเน่าคงโชยอย่างรุนแรงบนพื้นที่ Social media กรณีดังกล่าวนี้ อาจจะมีคนบอกว่าโบราณ เพราะในต่างประเทศเขาเปิดเสรีของการใช้ Social media ในการหาเสียงกันแล้ว มันก็อาจจะจริง แต่ต้องไม่ลืมว่าวัฒนธรรมการเมืองบ้านเรากับของเขาไม่เหมือนกัน เมื่อบริบทไม่เหมือนกัน จะให้ทำอะไรให้เหมือนกันก็คงยาก
    สื่อมวลชนบางรายก็ยังคงมีพฤติกรรมเหมือนเดิม บางรายก็บิดเบือนข่าวเพราะการได้รับผลประโยชน์จากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองบางคน เป็นการทำงานที่ไร้จรรยาบรรณ สร้างข่าวหลอก สร้างข่าวลวง เสนอข่าวผิด เสนอข่าวบิดเบือนอย่ามีวาระซ่อนเร้นเพื่อช่วยผู้สมัครบางคน หรือพรรคบางพรรค สื่อมวลชนบางรายไม่ได้รับผลประโยชน์อันใด แต่ทำงานด้านสื่อมวลชนในลักษณะของคนที่ชอบ “สงคราม” คือสนุกกับการนำเสนอข่าวที่แสดงให้เห็นการแตกแยกหรือการทะเลาะกันระหว่างพรรคบ้าง ระหว่างผู้สมัครบ้าง แทนที่จะนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ ให้เป็นข้อมูลสำหรับประชาชนให้นำไปใช้ในการตัดสินใจว่าจะลงคะแนนให้ใคร กลับนำเสนอข่าวเรื่องทะเลาะกัน ด่ากัน ถ้าหากสื่อมวลชนของเรายังคงเป็นเช่นนี้ ก็ยากที่เราจะได้เห็นการปฏิรูปด้านการเมืองของประเทศไทย ไม่ว่าคณะกรรมการปฏิรูปจะนำเสนออะไรไว้ก็คงยากที่เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จนถึงขนาดที่เราจะเรียกได้ว่ามีการปฏิรูปทางด้านการเมือง และในที่สุดเราคงต้องกลับไปอยู่กับวังวนเดิมๆ ที่ผ่านมา น่าเศร้าจัง.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"