"ชำนาญ" หลุดตำแหน่ง ก.ต. หลังผู้พิพากษาทั่วประเทศลงมติถอดถอนท่วมท้น 3,165 คน จากทั้งหมด 4,635 คน กรณีถูกร้องก้าวก่ายและข่มขู่ผู้พิพากษา ถือเป็นครั้งแรกในวงการตุลาการที่มีการถอดถอน อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 แกนนำยื่นคำร้อง ชี้เป็นชัยชนะของศาลยุติธรรมที่มุ่งปกป้องความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงแม้จะจากผู้พิพากษาด้วยกัน
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการนับคะแนนผลการลงมติเพื่อถอดถอนหรือไม่ถอดถอน นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา และกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.) ในศาลฎีกา ออกจากตำแหน่ง ก.ต. ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติ
ธรรม พ.ศ.2543
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 61 นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2, นายพงษ์ศักดิ์ ตระกูลศิลป์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และ น.ส.มณี สุขผล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้แทนยื่นคำร้องต่อนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้มีการลงมติเพื่อถอดถอนนายชำนาญออกจากตำแหน่ง ก.ต. โดยกล่าวหาว่านายชำนาญมีพฤติการณ์ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่และข่มขู่ผู้พิพากษา ในคดีมรดกของครอบครัวนายชำนาญ ที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา
ต่อมา สำนักงานศาลยุติธรรมและศาลทั่วประเทศได้ติดประกาศคำร้องถอดถอน พร้อมรายชื่อผู้เข้าร่วมยื่นคำร้องขอถอดถอนที่ตรวจสอบความถูกต้องแล้วจำนวน 1,735 คน โดยภายหลังมีผู้ถอนรายชื่อ 1 คน เหลือ 1,734 คน และได้ติดประกาศคำชี้แจงของนายชำนาญ ซึ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดว่าเป็นความเท็จ ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด จากนั้นได้จัดส่งบัตรลงคะแนนให้กับผู้พิพากษาทั่วประเทศทางไปรษณีย์ เพื่อลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอน ซึ่งมีผู้พิพากษาส่งบัตรลงคะแนนกลับมายังสำนักงานศาลยุติธรรมทั้งหมด 3,548 ใบ จากบัตรลงคะแนนที่ส่งให้ผู้พิพากษาทั่วประเทศ 4,635 ใบ
ปรากฏว่า มีผู้พิพากษาลงคะแนนให้ถอดถอนนายชำนาญจากตำแหน่ง ก.ต. จำนวน 3,165 ใบ ไม่ถอดถอน 193 ใบ และบัตรเสีย 190 ใบ จากจำนวนผู้พิพากษาทั่วประเทศ 4,635 คน ถือว่าไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (2,318 คน) ของผู้พิพากษาทั่วประเทศ ดังนั้น นายชำนาญต้องพ้นจากตำแหน่ง ก.ต. ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 42 นับตั้งแต่วันนี้ 26 ต.ค.เป็นต้นไป อันเป็นวันที่นับคะแนนเสร็จสิ้น ตามระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการเข้าชื่อและการลงมติเพื่อถอดถอนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2544 ข้อ 17
นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ตัวแทนผู้เข้าชื่อร้องถอดถอน ก.ต. กล่าวว่า เป็นชัยชนะของศาลยุติธรรมที่มุ่งจะปกป้องความเป็นอิสระของศาล ไม่ใช่แค่ชัยชนะของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา หรือผู้เข้าร่วมถอดถอน ซึ่งนับตั้งแต่มีระเบียบในการถอดถอน ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในปี 2544 เป็นต้นมา ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก การลงคะแนนเสียง 3,165 คะแนน ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของผู้พิพากษา ทำให้เห็นว่าศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับหลักความเป็นอิสระ ซึ่งประชาชนจะมั่นใจว่าจะได้รับการพิจารณาที่เที่ยงธรรม ปราศจากการแทรกแซง แม้ว่าจะเป็นผู้พิพากษาด้วยกันก็ต้องถูกลงโทษ
นายสืบพงษ์ยังได้เผยแพร่เอกสารขอบคุณผู้ร่วมลงมติ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ร่วมกันแสดงออกถึงเจตจำนงอันบริสุทธิ์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อปกป้องรักษาหลักความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี ทำให้สังคมได้รับรู้ว่าผู้พิพากษาจะไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ใด แม้กระทั่งผู้ที่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษา ความสำเร็จในภารกิจครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะของสถาบันศาลยุติธรรมอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน และจะได้รับการจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของศาลยุติธรรมตลอดไป”
ขณะที่นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของนายชำนาญในตำแหน่งประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ว่ายังคงปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ต่อไป การลงมติวันนี้ เป็นกรณีที่นายชำนาญถูกยื่นถอดถอนให้พ้นจากการเป็น ก.ต.ชั้นฎีกาเท่านั้น คนละส่วนกับการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
เมื่อถามถึงกรณีที่ประชุม ก.ต.ชุดใหญ่ (15 คน) มีมติวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นกับนายชำนาญ ในการรักษาวินัยผู้พิพากษา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 68 กรณีคู่ความในคดีร้องเรียน และ ก.ต.ได้รับทราบรายงานข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ในช่วงการพิจารณาความเหมาะสมวาระโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการตุลาการทั่วประเทศ ส่อจะทำการขัดต่อประมวลจริยธรรม แทรกแซงการทำหน้าที่หรือไม่ มีความคืบหน้าอย่างไร นายสุริยัณห์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวก็กำลังดำเนินการอยู่ตามขั้นตอนที่ ก.ต.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
ด้านนายชำนาญกล่าวว่า มติถอดถอนให้พ้นจาก ก.ต.ชั้นฎีกาวันนี้ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนในตำแหน่งประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกาที่จะต้องพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งตนก็จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้ต่อไปจนครบอายุราชการ 65 ปี คือเดือน ก.ย. 2562 ขณะที่วันนี้ก็มีกลุ่มเพื่อนผู้พิพากษาโทร.มาให้กำลังใจด้วย ส่วนครอบครัวของตน ที่ผ่านมาเราก็ให้กำลังใจกัน ต่อไปคือการรอพิสูจน์ข้อเท็จจริงในส่วนที่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลต่างๆ ไว้ตามกระบวนการยุติธรรม
นายชำนาญกล่าวว่า กระบวนการถอดถอนมิได้มีการไต่สวน มีเพียงกระบวนการที่ให้ส่งคำชี้แจงเป็นเอกสารปิดประกาศให้ผู้พิพากษาทั่วประเทศได้รับทราบ ซึ่งระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการเข้าชื่อและการลงมติเพื่อถอดถอนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2544 ก็มิได้กำหนดขั้นตอนให้มีการไต่สวน ต่างกับระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ.2561 (บังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระ) ซึ่งเป็นระเบียบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่ออกมาเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้กำหนดวิธีการ ขั้นตอนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยการไต่สวนไว้อย่างละเอียด ซึ่งตนเห็นว่าระเบียบดังกล่าว นักการเมืองยังมีโอกาสมากกว่า ก.ต.เสียอีก ที่จะได้นำข้อเท็จจริงมาชี้แจงและมีการไต่สวน
เมื่อถามถึงกรณีที่ประชุม ก.ต.มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นว่านายชำนาญได้กระทำการขัดต่อประมวลจริยธรรมผู้พิพากษาหรือไม่ นายชำนาญกล่าวว่า นี่แหละ ก็แสดงให้เห็นว่าข้อกล่าวหาของตนยังไม่ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงให้ยุติ แต่กลับมีกระบวนการถอดถอนขึ้นมาก่อน ที่ผ่านมามีเพียงหนังสือแจ้งให้ทราบจาก ก.ต.เท่านั้นว่าให้ตั้งคณะกรรมการสอบฯ แต่กระบวนการอื่นๆ ที่จะมาสู่การชี้แจงยังไม่ได้ทำอะไรเลย
"ที่ผ่านมาคิดว่าการทำหน้าที่ในฐานะ ก.ต.ก็เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน เพราะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการดูแลให้ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษา เมื่อวันนี้ต้องพ้นภารกิจนี้ที่หนักและเครียดอยู่เหมือนกัน ก็ไม่มีอะไร ผมรู้สึกโล่งใจ I’m free. ที่ได้เป็นอิสระ จากนี้ไปผมก็จะดำเนินการในส่วนของผมแบบ My Way"
นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ กล่าวถึงขั้นตอนดำเนินการของศาลหลังจากนายชำนาญพ้นตำแหน่งว่า ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 บัญญัติว่า จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลฎีกาแทนตำแหน่งที่ว่างลง 1 ตำแหน่ง ภายใน 45 วัน เพื่อให้ได้ ก.ต. ครบ 15 คน โดยตำแหน่ง ก.ต.ที่ว่างลง จะมีการเลือกตั้งของผู้พิพากษาในชั้นศาลฎีกา ส่วนคณะ ก.ต. ที่ยังเหลืออยู่ 14 คน ในขณะนี้ก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติต่อไป
นายชำนาญ ปัจจุบันอายุ 64 ปี ยังคงดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีศาลล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งผู้พิพากษานี้ถึงอายุราชการ 65 ปี โดยการโยกย้ายล่าสุด นายชำนาญต้องพลาดการขึ้นตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา อาวุโสลำดับที่ 1 เนื่องจากติดปัญหาชั้นพิจารณาความเหมาะสมการดำรงตำแหน่ง จากกรณีที่ถูกร้องเรียนเรื่องที่เป็นประเด็นถอดถอนดังกล่าว
ระหว่างมีการดำเนินกระบวนการถอดถอน นายชำนาญได้ใช้สิทธิตามกฎหมายแจ้งความดำเนินคดีคณะผู้รวบรวมรายชื่อและผู้พิพากษาเผยแพร่ข้อมูลที่นำมาสู่มาการถอดถอนจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกประกอบด้วย นายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4, นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2, นายพงษ์ศักดิ์ ตระกูลศิลป์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์, นายพัลลอง มั่นดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และ น.ส.มณี สุขผล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา รวม 6 คน ฐานหมิ่นประมาท, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 พร้อมแจ้งความเพิ่มนายสืบพงษ์ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย ส่วนครั้งที่สอง ได้แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้พิพากษาและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์-แชร์ข้อความประเด็นยื่นถอดถอนอีก 12 คน ในข้อหาหมิ่นประมาทฯ เช่นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |