"สันติภาพแดนใต้" มิติมหาเธร์


เพิ่มเพื่อน    

    เห็น "มหาเธร์-พลเอกเปรม" พบกัน "มีความสุขลึกๆ" บอกไม่ถูก
    โบราณว่า.......
    บ้านเมืองไหน มีคนอายุวัฒนะ ๙๐ ขึ้นไป แสดงว่า บ้านเมืองนั้น อุดมมงคล
    พลเอกเปรม ๙๙ ปี นายกฯ มหาเธร์ ๙๓ ปี ต่างคน ต่างไม่ได้พบพานกัน นานกว่า ๓๐ ปี
    แล้ววันหนึ่ง มิตรสหายต่างเมือง ผู้เคยเป็น "นายกฯ ร่วมสมัย" มีโอกาสได้โคจรมาพบกัน 
    เห็นหน้ากัน เกาะกุมมือกัน ยิ้ม-หัวเราะร่วมกัน ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกัน
    ที่สำคัญ.......
    ได้นั่งรำลึกอดีตแต่หนหลัง ที่หลายเรื่องเคยร่วมวิกฤติเดียวกันมา เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง 
    และบางปัญหา เคยช่วยแก้กันมา เช่น ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์ อันเป็นหนามยอกอกมาเลย์ยาวนาน
    ที่สุดของมนุษย์ก็เท่านี้..........
    เมื่อยืนยาวถึงศตวรรษ สุขใดๆ ก็จืดชืด
    เหลือ ๒ สุข เท่านั้น
    บ้านเมืองสุข 
    กับสุขจากได้สนทนาและรำลึกเรื่องหลังกับมิตรสหายผู้รู้ใจกัน!
    มหาเธร์ กลับมาเป็นนายกฯ หนสอง เมื่อพฤษภา.๖๑ นี่เอง เท่าที่จำได้ นอกจากไปเยือนจีนแล้ว
    ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่มหาเธร์ "เดินสายไปแนะนำตัว" นายกฯ น้องใหม่" ตามประเพณีปฏิบัติ
    จะว่าไป ประหนึ่ง "ญาติผู้ใหญ่" จากบ้านใกล้เรือนเคียงเยี่ยมเยือน 
    พูดตรงๆ มหาเธร์วันนี้ หน้าตาท่านคล้าย ๓๙ มากกว่า ๙๓ ดูหนุ่มแน่นกว่าตอนไปชวนอันวาร์ล้มรัฐบาลนายนาจิบเป็นไหนๆ
    คนวัย ๙๓ เดินหลังตรงเหมือนคันทวน เรียกว่าสมาร์ทนับว่าการเมืองเป็นโอสถทิพย์ได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน
    รอยยิ้มและแววตาท่าน ขณะพูดคุย เหมือนน้ำเย็นจากจุดลึกก้นมหาสมุทร
    เห็นได้ หยั่งได้ แต่ลึก...ยากถึง!
    มหาเธร์เป็นบุคคลน่าศึกษาในเส้นทางการเมืองหลากมิติ
    หนึ่งในหลายหัวข้อที่หารือตกลงกับรัฐบาลไทย และที่ท่านตั้งใจสื่อให้คนไทยทราบเป็นพิเศษ
    เห็นจะเป็นเรื่อง "ความร่วมมือแก้ปัญหา ๓ ชายแดนภาคใต้"
    ท่านพูดในบริบทว่า.......
    "มาเลย์เคยมีปัญหาเรื่องโจรจีนคอมมิวนิสต์ ไทยก็ช่วย เมื่อไทยมีปัญหา ๓ จังหวัดใต้ มาเลย์ก็ต้องช่วย"
    เรื่อง ๓ จังหวัดใต้ ที่เปลี่ยนตัว-เปลี่ยนมุมการเจรจา โดยมาเลย์เป็นตัวกลางนี่
    ก่อนมหาเธร์พบปะเจรจากับนายกฯ ประยุทธ์ ท่านให้สัมภาษณ์พิเศษ "ข่าวสามมิติ" ไว้น่าสนใจ โดยคุณ "กิตติ สิงหาปัด" เป็นผู้สัมภาษณ์ 
    "รู้เขา-รู้เรา" ไว้ก่อนดีสุด
    แนวคิด-แนวทางของท่านมหาเธร์ต่อกรณีนี้เป็นอย่างไร ก็ฟังคำตอบดูนะ
    -เชื่อว่าความรุนแรงไม่ส่งผลดีกับทุกฝ่าย ในมาเลย์เองก็เคยมีปัญหารุนแรง และมีการเจรจาจนได้รับสันติภาพ โดยการช่วยเหลือจากประเทศไทย และปัจจุบันนี้ เราก็อยู่อย่างสันติ
    เห็นว่าสถานการณ์ในภาคใต้ของไทย ยังไม่ใช่สงครามและความรุนแรงที่แท้จริง ควรต้องเจรจา และเป็นปกติ บางครั้งก็ได้ บางครั้งก็เสีย การเจรจาดี ดีกว่าการเผชิญหน้ากัน     เมื่อพูดถึงข้อเสนอกับรัฐบาลไทย มหาเธร์บอกว่า
    -ที่นำมาพูดจากับนายกฯ ประยุทธ์ ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ และไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนๆ
    เราจำเป็นต้องรู้สาเหตุ และจัดการกับปัญหา ไม่ใช่การเผชิญหน้า ไม่ใช่การต่อสู้กัน นี่คือความหวังของเรา 
    มีการต่อสู้มานานกว่า ๖๐ ปี แต่ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ขณะนี้ จึงถึงเวลาที่ต้องเจรจาพูดคุยกัน
    กับคำถามว่า "อะไรคือสาเหตุแท้จริงของความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้"?
    คำตอบจากมหาเธร์ คือ.......
    -จากประวัติศาสตร์ที่ประเทศส่วนใหญ่เป็นคนมาเลย์ ที่ศรัทธาในศาสนาอิสลาม
     สนธิสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษสมัยนั้น ที่ให้แบ่งคนมาเลย์ในภาคเหนือเป็น ๒ ส่วน
    ส่วนหนึ่งอยู่ในมาเลย์ อีกส่วนหนึ่งอยู่ในไทย ความรู้สึกที่ไม่ดี ที่รู้สึกว่า "ถูกกระทำ" ยังคงอยู่ อาจรู้สึกว่าเป็นพลเมืองชั้น ๒ 
    ถามถึงประเด็นมาเลย์เป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" ในการพูดคุย ทำไมไม่คืบหน้า หรือคืบไปช้ามาก? มหาเธร์ตอบว่า
    -ทั้ง ๒ ฝ่าย อาจแข็งเกินไปในทุกการเจรจา 
    เราจำเป็นต้องเตรียมตัว สำหรับที่จะเสียบางอย่าง และได้บางอย่าง ไม่สามารถได้ทุกอย่าง 
    บางครั้ง ทั้ง ๒ ฝ่าย ต้องยอมเสียบางอย่าง เพื่อจะได้บางอย่าง
    กับคำถาม "การที่มาเลย์แต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาคนใหม่ ไทยก็ตั้งคนใหม่ จะช่วยให้การเจรจาเร็วขึ้นไหม? มหาเธร์ตอบกว้างๆ ว่า
    -ผู้อำนวยการความสะดวกคนใหม่ เคยมีประสบการณ์ในการเจรจาพูดคุย สมัยที่มาเลย์มีปัญหากับโจรจีนคอมมิวนิสต์ ไทยก็เคยช่วยเหลือ จึงมีความสัมพันธ์ที่ดี
    และในระหว่างที่เป็นผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ เคยมีประสบการณ์ความรุนแรง และในที่สุด ความรุนแรงก็ยุติ
    "ควรจะมีกลุ่มใหม่เข้าร่วมเจรจาไหม?"
    -ควรเปิดกว้างให้ทุกฝ่าย ทุกคนควรต้องยอมรับว่า การต่อสู้ด้วยอาวุธ ไม่ใช่วิธีจะได้ในสิ่งที่ต้องการ ต้องเจรจากันตามกรอบกฎหมาย 
    ถ้าเราพร้อมที่จะเสียบางอย่างและได้บางอย่าง ผลการเจรจาก็เป็นที่ยอมรับทั้ง ๒ ฝ่าย
    ถ้าฝ่ายหนึ่งเสียมาก หรือฝ่ายหนึ่งเรียกร้องมามากเกินไป ก็ไม่มีทางจะบรรลุข้อตกลง
    "ท่านต้องการเห็นอะไรจากการเจรจาสันติสุข?"
    -ถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องการเห็นสันติภาพในพื้นที่ ซึ่งความต้องการของคนในพื้นที่ บางส่วนได้รับการตอบสนอง ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องยุติความรุนแรง
    คุณกิตติถาม "จะเห็นความสำเร็จในสมัยของท่านไหม ซึ่งอาจจะ ๒ ปี ต่อจากนี้?"
    คำตอบจากมหาเธร์ มีว่า.....
    "ผมคิดว่า คงจะนานกว่านั้น เราต้องอดทน"    
    การที่เราเรียกร้องอะไรอย่างสุดโต่ง จะไม่มีทางให้การเจรจาสำเร็จได้
    กับคำถาม "ควรใส่งบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อจะไม่สร้างความรุนแรง และไทย-มาเลย์ ควรมีความร่วมมือกันมากขึ้นไหม?
    -ผมคิดว่าถ้าเศรษฐกิจดี ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ แนวโน้มความรุนแรงก็จะลดลง 
    ซึ่งเรื่องนี้ ต้องให้ความสนใจอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้รู้สึกว่า ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี
    แต่แน่นอน สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการศึกษา ในมาเลย์เราให้คนได้รับการศึกษาอบรม เพื่อให้เขามีรายได้
    คำถามสุดท้าย........
    "ท่านเคยพูดเรื่องหนึ่ง ให้คนมาเลย์ที่ถือ ๒ สัญชาติ เคารพกฎหมายไทย วันนี้ ท่านมีอะไรจะบอกเขาไหม?"
    -ก็คงบอกเหมือนเดิม เราต้องการความชัดเจน ระหว่างคนถือสัญชาติไทย และสัญชาติมาเลเซีย"
    ครับ นี่คือคำตอบมหาเธร์.....
    ก็นำไปพินิจ-พิจารณากันดู ว่าการเจรจาสันติภาพใน ๓ จังหวัดใต้ 
    จากคำตอบนี้ ทำให้มองเห็นแสงสันติภาพจากการอำนวยการของรัฐบาลมาเลย์ในยุคมหาเธร์ได้มากน้อยขนาดไหน?
    พลเอกเปรมนั้น ขึ้นเป็นนายกฯ ปี พ.ศ.๒๕๒๓ ส่วนมหาเธร์ ขึ้นเป็นนายกฯ ปี พ.ศ.๒๕๒๔
    มาเลย์มีปัญหา "โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา" มาเป็นร้อยปี แก้ไม่ตก 
    ทางเหนือของมาเลย์ ซึ่งติดทางใต้ของไทย เหตุการณ์ตอนนั้น ก็เหมือนไทยตอนนี้ ที่ ๓ จังหวัดใต้ พื้นที่ติดมาเลย์
    โจรจีนเข้าไปโจมตีมาเลย์ แล้วหลบเข้ามาซุกอยู่ในเขตแดนไทย 
    ตอนนี้ พวกก่อการร้าย ก่อเหตุใน ๓ จังหวัดใต้ ก็หลบเข้าไปซุกในมาเลย์ 
    ยุคนั้น มาเลย์มาขอให้ไทยช่วยปราบ พลเอกเปรมออกคำสั่ง ๖๖/๒๓ 
    ตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ ๔๓ 
    ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายทุกรูปแบบ ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 
    รวมถึง "ปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา"!    
    "พลโทหาญ ลีลานนท์" แม่ทัพภาคที่ ๔ ใช้นโยบาย "ใต้ร่มเย็น" ช่วยมาเลย์ปราบ
    ต่อด้วย พลโทวันชัย จิตต์จำนงค์-พลโทวิศิษย์ อาจคุ้มวงษ์ และ พลตรีกิตติ รัตนฉายา 
    ทั้งปราบ ทั้งเจรจาสันติภาพ เฉพาะการเจรจา พูดคุยกันถึง ๕ ครั้ง ๕ หน ทั้งในไทย ในมาเลย์ 
    จนจบสงบศึกเบ็ดเสร็จ........
    "เจรจาสันติภาพไตรภาคี ครั้งที่ ๕ ระหว่างมาเลเซีย-ไทย กับพรรคคอมมิวนิสต์ มลายา เมื่อ ๒-๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒" ที่ภูเก็ต!
    เจรจากันกี่ปีล่ะ สันติภาพจึงเกิดในมาเลย์?
    คำตอบ คือ ๙ ปี!
    มหาเธร์จะเป็นนายกฯ แค่ ๒ ปี แล้วยกเก้าอี้ให้ "นายอันวาร์"
    ฉะนั้น สันติภาพ ๓ จังหวัดใต้ ถ้าจะพึ่งเจรจาเป็นหลัก ก็รู้แล้วนะ ว่าจะเมื่อไหร่?.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"