"หมอวรงค์" ห้าวประกาศเปลี่ยนอุดมการณ์ ปชป. ชูประชาธิปไตยสวัสดิการ ไม่เอาเสรี ปชต. ชี้ล้าสมัยทำรวยกระจุกจนกระจาย "ถาวร" สับเรตติ้งตกไม่ก้าวหน้า ถึงเวลาเลิกอนุรักษนิยม "นิพิฏฐ์" ซัดอ่อนหัดพูดมั่ว แยกไม่ออกระบอบปกครองกับระบบเศรษฐกิจ ยัน "อภิสิทธิ์" แม่ทัพดีที่สุดเวลานี้
ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้สมัครเข้ารับการหยั่งเสียงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 2 พร้อมด้วยสมาชิก 'กลุ่มเพื่อนหมอวรงค์' อาทิ นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายวิชัย ล้ำสุทธิ อดีต ส.ส.ระยอง ร่วมกันแถลงจุดยืนการทำงานและแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศในอนาคต
นพ.วรงค์กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนจะดำเนินการในแนวทางประชาธิปไตยสวัสดิการ โดยไม่เห็นด้วยกับเสรีประชาธิปไตย เพราะนำไปสู่การผูกขาด รวยกระจุก จนกระจาย โดยวางนโยบายไว้ 2 ข้อ คือ การบริหารจัดการภายในพรรค หากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคจะทำให้เห็นผลภายใน 2 สัปดาห์คือ การคัดเลือกผู้สมัครจะให้สิทธิ ส.ส.เก่า แต่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้สมัครที่ต้องการแข่งขัน เช่น จังหวัดชุมพร เราเคารพสิทธิ ส.ส.เก่า แต่ถ้ามีผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีศักยภาพจะใช้ระบบไพรมารีโหวตให้สมาชิกในพื้นที่ตัดสิน ซึ่งไม่ได้มีการล้างอดีต ส.ส.ที่ไม่หนุนตนอย่างที่มีบางคนเข้าใจ แต่จะให้สมาชิกพรรคเป็นคนตัดสิน บนหลักการว่าพื้นที่ไหนที่มีการลดจำนวน ส.ส. หรือมีการแข่งขัน เช่น พังงา มี ส.ส.แข่งกันถ้าตกลงกันได้ก็จบ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้จะให้สมาชิกพรรคตัดสิน นอกจากนี้กระจายอำนาจไปยังประธานสาขาด้วย
ทั้งนี้ วันใดที่ตนมีอำนาจในรัฐบาลมีสิ่งที่จะดำเนินการให้เห็นผลภายในสามเดือน คือ ปัญหาปากท้องประชาชนให้คนจน เกษตรกรมีเงินในกระเป๋า ซึ่งจะเป็นต้นทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งปาล์ม ยางพารา และข้าว จะมีการเพิ่มสวัสดิการด้วยการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย รวมทั้งจะมีการกระจายอำนาจด้วยการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศความเป็นมหานครให้กับ 10 หัวเมือง เช่น พิษณุโลก เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น โดยขอประกาศนำประเทศไทยแข่งกับสิงคโปร์
นพ.วรงค์กล่าวว่า จุดยืนทางการเมือง 4 ประการคือ 1.ไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่ถือว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ 2.จะร่วมมือและทำงานร่วมกับทุกพรรคการเมืองที่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ 3.ต่อต้านพรรคการเมืองที่ใช้อำนาจไม่ชอบ ใช้เสียงข้างมากเพื่อประโยชน์ส่วนตน และ 4.พรรคประชาธิปัตย์จะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นพรรคการเมืองใดมีพฤติกรรมจาบจ้วงถือว่าเป็นศัตรูกับพรรคประชาธิปัตย์
"ผมเป็นคนไม่ยึดติด หากได้เป็นหัวหน้าพรรค แม้ชนะเลือกตั้ง แต่ถ้าผลงานออกมาไม่ดี ถูกวิจารณ์ คะแนนนิยมตกต่ำ ผมก็ไม่อยู่ ต้องเปิดโอกาสให้คนใหม่มาทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้หมายถึงการลาออกจากหัวหน้าพรรคทันทีหากผลงานไม่ดี เพราะมีวาระ 4 ปี ผมเพิ่งเข้ามาลองไปถามคนที่อยู่มา 13 ปีจะดีกว่า และไม่ขอตอบว่าหากได้เป็นหัวหน้าพรรคแต่แพ้เลือกตั้งจะออกจากตำแหน่งหรือไม่" นพ.วรงค์ระบุ
ด้านนายถาวรกล่าวว่า สาเหตุที่ความนิยมประชาธิปัตย์ลดลง เป็นเพราะมีภาพลักษณ์ไม่ก้าวหน้า ไม่มีอะไรใหม่ ประกอบกับผลโพลล่าสุดพบว่าผู้นำประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับผู้นำพรรคอื่น พวกตนจึงกล้าเปลี่ยนเพื่อประชาชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นพรรคอนุรักษนิยม ดังนั้นการกำหนดจุดยืนและแนวนโยบายของพรรคต้องตรงกับสถานการณ์ การที่พรรควางแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเคยได้ผลในการต่อสู้กับเผด็จการ ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะการเมืองในปัจจุบันไม่ได้แบ่งขั้วสุดโต่งเป็นซ้ายหรือขวาอย่างในอดีต ขณะเดียวกันแนวทางเสรีนิยมทำให้เกิดปรากฏการณ์ "รวยกระจุก จนกระจาย" อีกทั้งประชาชนต้องการประชาธิปไตยที่กินได้จับต้องได้ เสรีนิยมจึงล้าสมัยไปแล้ว
นอกจากนี้ ทางกลุ่มจะต่อต้านแนวคิดมาร์กซิสต์ ที่พรรคการเมืองบางพรรคยึดแนวทางนี้เป็นวิธีสุดโต่งที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยอ้างเรื่องชนชั้น ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยคนกลุ่มที่มีแนวคิดแบบนี้จะเป็นศัตรูกับเรา ซึ่งจะไม่ยอมให้แก้กฎหมายอาญามาตรา 112 เด็ดขาด
นายวิชัย ล้ำสุทธิ อดีต ส.ส.ระยอง กล่าวถึงกรณี อดีต ส.ส.ภาคตะวันออกบางส่วนลาออกไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ว่า ระบบการบริหารพรรคที่ผ่านมาดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่ง ส.ส.ที่มีความสามารถในการทำงานถูกละเลย ไม่ถูกเสริมให้มีความก้าวหน้าหรือแสดงความสามารถเท่าที่ควร ทำให้เกิดความอึดอัดและความห่างเหินเหมือนเจ้านายกับลูกน้อง ไม่เหมือนเพื่อนร่วมงาน ทำให้ระบบบริหารภายในมีปัญหา จึงอยากเห็นผู้นำของพรรคไปสัมผัสกับประชาชนโดยตรง รวดเร็ว ทันใจ นอกจากนี้ สิ่งที่หนักใจมากที่สุดสำหรับภาคกลางและภาคตะวันออกคือเรื่องเลือดไหลไม่หยุด ที่ผ่านมาเราบอกว่าเขาหนีไป ถูกดูดไป แต่ไม่เคยมองตัวเองว่าปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไรในการบริหารงานที่ผ่านมา จึงต้องโทษตัวเองด้วย และต้องไม่ไล่ส่งเขาไป แต่ต้องไปเอาเขากลับมา
ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้ง ในหัวเรื่อง “ทำคลอดเชื่อหมอวรงค์ การเมืองเชื่อผม” ว่า วันนี้ นพ.วรงค์พูดหลายเรื่องไปไกลถึงขนาดจะเปลี่ยนอุดมการณ์ของพรรค จึงขอชี้แจงในฐานะคนรักชอบกัน เรื่องนโยบายสวัสดิการ ซึ่งในระยะหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคเป็นคนพูดเรื่องนี้บ่อยมาก โดยใช้คำว่าสังคมสวัสดิการ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยึดนโยบายสังคมสวัสดิการมาตลอดในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เช่น นโยบายเบี้ยยังชีพสูงอายุ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สวัสดิการผู้ใช้แรงงาน, นโยบายเรียนฟรี, นโยบายด้านสุขภาพ, นโยบายกองทุนการออมแห่งชาติ ฯลฯ การที่หมอวรงค์ออกมาพูดเรื่องนี้อาจทำให้คนเข้าใจผิดในนโยบายของพรรคในเรื่องสวัสดิการสังคม พรรคเราทำมากกว่าพรรคอื่นเสียอีก ที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย เน้นการให้ความเคารพในเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้งที่เที่ยงตรง ถ่วงดุลอำนาจ โปร่งใสและตรวจสอบได้
"การเปลี่ยนอุดมการณ์ไปสู่ระบอบอื่นซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิด หรือความอ่อนประสบการณ์ เช่น ระบอบประชาธิปไตยสวัสดิการจะค่อยๆ กัดกร่อนความเข้มแข็งทางอุดมการณ์ของพรรคลง ผู้ที่จะเป็นผู้นำพรรคจึงต้องเข้าใจถึงแก่นของเรื่องนี้ คำว่าสวัสดิการมิใช่เรื่องของระบอบการปกครอง แต่เป็นเรื่องนโยบาย ระบอบคอมมิวนิสต์ ก็มีสวัสดิการ ระบอบเผด็จการก็มีสวัสดิการ ระบอบประชาธิปไตยก็มีสวัสดิการ การทำให้สังคมกลายเป็น "รวยกระจุก จนกระจาย" เป็นเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรือเศรษฐกิจเสรีนิยมมากกว่า ไม่ใช่ระบอบการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ถ้าเราแยกไม่ออกระหว่างระบอบการปกครองกับระบบเศรษฐกิจเราก็มั่วไปได้ทุกวัน พรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาก็อาจโวยวายว่า เราจะเปลี่ยนอุดมการณ์เป็นเผด็จการสวัสดิการก็ยุ่งเลย" นายนิพิฏฐ์ระบุ
ทั้งนี้ แม่ทัพที่ดีที่สุดวันนี้ของประชาธิปัตย์เวลานี้คือ“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แม้ที่ผ่านมาเรายังรบไม่ชนะ แต่ยังรักษากองทัพไว้ไม่ให้ล่มสลาย แม่ทัพตนไม่ข่มขู่จะฆ่าทหาร จะปลดทหาร หากไม่ยอมเป็นพวก แต่อาศัยความร่วมมือความสมัครใจของทหารในการร่วมรบ
วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัครเข้ารับการหยั่งเสียงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 1 พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค, นายธารา ปิตุเตชะ และนายบัญญัติ เจตนจันทร์ อดีต ส.ส.ระยอง ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อกราบไหว้และปิดทองรูปหล่อพระครูภาวนาภิรัต (หลวงปู่ทิม อิสริโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ เกจิชื่อดังใน ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พร้อมเข้านมัสการขอพรจากพระครูวิจิตรธรรมาภิรัต (อาจารย์เชย) เจ้าอาวาสวัดละหารไร่ จากนั้นได้เดินข้ามสะพานคลองใหญ่ บริเวณด้านหลังวัด ไปยังบริเวณอาคารโคมแดง เพื่อพบกับประชาชนในพื้นที่กว่า 600 คน
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ จ.ระยอง ในครั้งนี้ เพื่อขอคะแนนเสียงและขอโอกาสจากชาวระยองในการสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง และหากชนะการเลือกหัวหน้าพรรค ก็พร้อมจะนำพาพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นรัฐบาลต่อไป
นายอลงกรณ์ พลบุตร ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 3 แถลงว่า พร้อมที่จะเป็นหัวหน้าพรรคของทุกคน และพร้อมที่จะนำพรรคสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยจุดยืนนโยบายวิสัยทัศน์ใหม่ที่ชัดเจน เคยทำ และทำได้จริง โดยเฉพาะแนวทางการเมืองสีขาวและกฎเหล็ก 5 ข้อจะพลิกโฉมหน้าพรรคประชาธิปัตย์แบบ 360 องศา และสร้างจุดเปลี่ยนการเมืองไทยแบบฉับพลันที่เรียกว่าปรากฏการณ์ Disruptive politics ทั้งนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำทันทีคือสร้างความสามัคคีก่อน ตนพร้อมเป็นโซ่ข้อกลางเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของประชาธิปัตย์ตามคอนเซ็ปต์ครอบครัวเดียวกัน พร้อมกับปฏิรูปพรรคและเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |