“พาณิชย์”เบรกดราม่าสหรัฐฯ แบนน้ำปลาไทย แจงแค่เตือน 4 ยี่ห้อ


เพิ่มเพื่อน    

 

“พาณิชย์”เบรกดรามาสหรัฐฯ แบนน้ำปลาไทย จนร้านอาหารต้องใช้เกลือแทน ยันไม่ได้ถูกห้ามนำเข้า มีแค่ 4 ยี่ห้อที่ถูกขึ้นบัญชีเตือน หากแจงได้ ก็ส่งออกได้ ส่วนยี่ห้ออื่นๆ ไม่มีปัญหา ส่งออกได้ตามปกติ พร้อมนำตัวเลขส่งออก 8 เดือนมายัน โดยส่งไปแล้วกว่า 6 พันตัน มูลค่า 231 ล้านบาท

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (USFDA) ห้ามนำเข้าน้ำปลาไทยบางยี่ห้อ ว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นความเข้าใจผิด เพราะปัจจุบันไทยยังสามารถส่งออกน้ำปลาไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้ตามปกติ มีเพียงน้ำปลาบางยี่ห้อที่มีปัญหา เพราะถูกสหรัฐฯ ใส่รายชื่อไว้ในบัญชีแจ้งเตือนสินค้าที่ถูกกักกันการนำเข้า (IMPORT ALERT) ว่าอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ตามระเบียบ 21 CFR PART 123 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 18 ธ.ค.2540 ที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ปลาและการประมงทุกอย่างทั้งที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศหรือในสหรัฐฯ ต้องได้รับการจัดเตรียม บรรจุ และเก็บรักษาให้เป็นไปตามข้อกำหนด HACCP หากผู้ผลิตรายใดไม่ปฏิบัติตาม อาจถูกกักกันการนำเข้า โดยไม่ต้องมีการตรวจตัวสินค้าจนกว่าจะมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการตามข้อแนะนำของการแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว

“ปัจจุบันมีน้ำปลาไทยถูกขึ้นบัญชี 4 รายการ คือ ตราคนแบกกุ้ง ปี 2553 ตราพูนสินและทิพรส ปี 2557 และล่าสุดตราปลาหมึก เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2561 ส่วนตราไซ่ง่อน ที่ถูกขึ้นบัญชีปี 2552 ได้เลิกกิจการไปแล้ว จึงไม่อยู่ในข่ายที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนอกจากน้ำปลาไทย ยังมีน้ำปลาจากเวียดนาม คือ ตันฮา ฟิซซอส ที่ถูกเตือนมาตั้งแต่ 12 ม.ค.2561 โดยน้ำปลาที่ถูกแจ้งเตือนจาก USFDA จะถูกกักไม่สามารถนำเข้าได้ในเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการนำเอกสารชี้แจงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย”นายอดุลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) อยู่ระหว่างการช่วยเหลือเอกชนและเจรจาผลักดันให้ USFDA ยกเลิกหรือผ่อนผันการกักสินค้าน้ำปลาจากผู้ประกอบการไทย ขณะที่ผู้ประกอบการก็ยินดีให้ตรวจสินค้า เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสารปนเปื้อนตามที่มีการกังวล และจะนำไปชี้แจงต่อ USFDA ต่อไป

นายอดุลย์กล่าวว่า สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกน้ำปลาใหญ่ที่สุดของไทย มีสัดส่วน 22-24% ของการส่งออกไปทั่วโลก และจากการตรวจสอบการส่งออกน้ำปลาไปสหรัฐฯ ในปัจจุบัน พบว่า ยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะถูกเตือนในบางยี่ห้อ เพราะยังมีผู้ส่งออกรายอื่นๆ อีกกว่า 10 ยี่ห้อ ที่ยังส่งออกได้ตามปกติ ไม่ถึงขั้นต้องใช้เกลือทดแทนตามที่เป็นข่าว

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงที่สหรัฐฯ สั่งแบนน้ำปลาไทย โดยไทยยังคงส่งออกน้ำปลาไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้ตามปกติ หรือแม้แต่ยี่ห้อที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเตือน ก็ยังส่งออกได้ แต่ต้องมีเอกสารประกอบการส่งออกให้ครบ เพราะสหรัฐฯ สุ่มตรวจและห้ามนำเข้าเฉพาะล็อตที่สงสัยว่าจะไม่ได้มาตรฐาน และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชี้แจง ซึ่งได้มีการชี้แจงไปแล้ว กำลังรอคำตอบจากสหรัฐฯ อยู่ ส่วนผลกระทบต่อร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ เท่าที่ตรวจสอบยังไม่มี เพราะมีน้ำปลาให้ใช้อีกหลาย 10 ยี่ห้อให้ใช้

ทั้งนี้ การส่งออกล่าสุดในช่วง 8 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ส.ค.) ส่งออกปริมาณ 6,199 ตัน เพิ่มขึ้น 2.38% มีมูลค่า 231 ล้านบาท ขณะที่ปี 2557 ส่งออกได้ 10,927 ตัน มูลค่า 372 ล้านบาท ปี 2558 ส่งออกได้ 11,166 ตัน มูลค่า 390 ล้านบาท ปี 2559 ส่งออกได้ 12,648 ตัน มูลค่า 479 ล้านบาท และปี 2560 ส่งออก 10,732 ตัน มูลค่า 395 ล้านตัน ซึ่งลดลง เพราะสหรัฐฯ ลดการนำเข้าทุกประเทศ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"