“ปชป.” ระอุ จ่อซ้ำรอยกลุ่ม 10 มกรา “วรงค์” หาเสียงเดือดขู่ล้างบางก๊วนอภิสิทธิ์ อดีต ส.ส.ชุมพรยัวะอัดกลับแค่ร่างทรง “สุเทพ-ถาวร” นิพิฏฐ์รีบแตะเบรกแค่กลอนพาไป มาร์คเผยหยั่งเสียงจบ 3 คนต้องร่วมพัฒนาพรรค
การลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในช่วงวันที่ 1-3 พฤศจิกายน เริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการหาเสียงของผู้สมัครรับการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค โดยเมื่อวันที่ 23 ต.ค. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้สมัครรับการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.หมายเลข 2 ได้กล่าวตอนหนึ่งในการหาเสียงที่จังหวัดชุมพรว่า ได้บอกกับท่าน ส.จ.สันต์ (สันต์ แซ่ตั้ง) ไปว่า ไม่ต้องกลัว ใจเย็นๆ เรายืนอยู่บนหลักการ ความถูกต้อง วันใดเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พื้นที่ไหนที่ต้องการพิสูจน์ฝีมือระหว่างคนสองคนที่สูสีกัน เราจะให้พี่น้องเป็นคนตัดสิน ถ้าพี่น้องคิดว่าคนเก่าดีก็เลือกคนเก่า แต่ถ้าพี่น้องคิดว่า ส.จ.สันต์ดี ต้องเลือก ส.จ.สันต์ และถ้าพี่น้องคิดว่า ส.จ.สันต์จะได้เป็น ส.ส.ในอนาคต หมอวรงค์ต้องเป็นหัวหน้าพรรค
นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ อดีต ส.ส.ชุมพร ปชป.วิเคราะห์ถึงคำหาเสียงของ นพ.วรงค์ว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าหาก นพ.วรงค์ได้เป็นหัวหน้าพรรคแล้วจะล้างบาง ส.ส.ที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัครรับการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.หมายเลข 1 ทั้งๆ ที่นายอภิสิทธิ์ไม่เคยแบ่งพรรคแบ่งพวก ยึดหลักว่าทุกคนคือ ปชป. การหาเสียงของ นพ.วรงค์ เป็นวิธีการที่ไม่สร้างสรรค์ ถือเป็นการทำลายพรรคด้วยการสร้างความแตกแยก แล้วจะเข้ามาสร้างพรรคได้อย่างไร
นายธีระชาติกล่าวต่อว่า นอกจากในพื้นที่เขต 2 ที่ นพ.วรงค์ระบุว่าจะเปลี่ยนตัว ส.ส.หากได้เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ยังมีแผนที่จะเปลี่ยนตัว ส.ส.แบบยกจังหวัดชุมพร คือเขต 2 จะส่ง ส.จ.สันต์ลงสมัครแทนนายสราวุธ อ่อนละมัย, เขต 3 จะเอานายสุพล จุลใส นายก อบจ.ชุมพร พี่ชายนายชุมพล จุลใส ลงสมัครแทนตนเอง ส่วนเขต 1 จะเอานายนพพร อุสิทธิ์ หรือ ส.จ.โต้ง พี่เขยของนายชุมพล ลงสมัครแทนนายชุมพล ซึ่งจะขึ้นไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ
“หาก นพ.วรงค์ชนะได้เป็นหัวหน้าพรรค ผมก็คงเล่นการเมืองลำบาก ผมอยู่ไม่ได้ไม่เป็นไร แต่จะไม่ยอมให้ใครมาทำลายพรรคไม่ได้ แม้ว่านายชุมพลจะมีชื่อลงนามสนับสนุนรับรองหัวหน้าอภิสิทธิ์ให้ลงสมัคร แต่ในความเป็นจริงหาเสียงให้ นพ.วรงค์ เวลานายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ กปปส.เดินทางมาชุมพรก็ไปต้อนรับ เรียกว่าจะยึดชุมพรแบบยกจังหวัด ผมเชื่อว่าหาก นพ.วรงค์ชนะ คงดำเนินการตามแผนดังกล่าวจริง ๆ คือเขี่ยคนเก่าออก โดยอ้างระบบไพรมารีโหวต เพราะ นพ.วรงค์ไม่ใช่ตัวจริง เป็นแค่หุ่นเชิดของนายสุเทพและนายถาวร เสนเนียมเท่านั้น” นายธีระชาติกล่าว
ขณะที่นายอภิสิทธิ์พร้อมคณะในช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ จ.ชุมพรด้วย โดยช่วงหนึ่งนายอภิสิทธิ์ได้ตอบคำถามถึงกรณีผู้สมัคร ส.ส.บางรายในภาคอีสานที่ให้การสนับสนุน นพ.วรงค์ อาจมีปัญหาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่หาก นพ.วรงค์สอบตกว่า ทุกคนยืนยันว่าจะช่วยเหลือพรรค ทำงานกับพรรคต่อไป ส่วนกองเชียร์ของผู้สมัครใน จ.นครศรีธรรมราช จะขัดแย้งกัน ต้องยอมรับว่าการแข่งขันต้องมีกระทบกระทั่งกันบ้าง ขณะนี้ได้กำชับให้หลีกเลี่ยงการพาดพิง เพราะทุกคนต้องทำงานด้วยกันต่อไป
“หลังการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ผ่านพ้นไป ผู้สมัครทั้ง 3 คนก็จะต้องหันมาจับมือกัน เพื่อทำงานให้พรรค ปชป.และพี่น้องประชาชนต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าวย้ำเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหลังลงพื้นที่ อ.ท่าแซะ
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณี นพ.วรงค์ปราศรัยหากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้สมัครใน จ. ชุมพรว่า อย่าคิดว่าเป็นประเด็นความแตกแยกในพรรค เพราะบางครั้งเวลาที่มีคนมาฟังปราศรัย ผู้ปราศรัยอาจรู้สึกว่าเหมือนกลอนพาไปก็เป็นได้ ดังนั้น น.พ.วรงค์คงไม่มีเจตนาไปเปลี่ยนแปลงผู้สมัครของพรรคคนใดคนหนึ่ง และในฐานะที่เป็นผู้ดูแลพื้นที่ภาคใต้ ขอชี้แจงว่าการเปลี่ยนแปลงผู้สมัครนั้นก็มีกฎมีกติกาบังคับอยู่แล้ว
“ผู้ใช้สิทธิ์การหยั่งเสียงมีวิจารณญาณ ดังนั้นให้พวกเขาตัดสินเอง อย่าไปเพิ่มความร้อนแรงให้กันและกันดีกว่า” นายนิพิฏฐ์กล่าว
ส่วนนายอลงกรณ์ พลบุตร ผู้สมัครเข้ารับการหยั่งเสียงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.หมายเลข 3 กล่าวว่า การหาเสียงในระบบไพรมารีฯ ของพรรค มุ่งเน้นนำเสนอจุดยืนนโยบายวิสัยทัศน์ต่อสมาชิกจำนวนกว่า 2.6 ล้านคนทุกภาคทั่วประเทศ และตอบโจทย์ว่าผู้สมัครมีความพร้อมเป็นนายกฯ หรือไม่ หากพรรคชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่การออฟไซด์กฎหมายหรือหาเสียงล่วงหน้าเอาเปรียบพรรคอื่น
ทั้งนี้ ใน ปชป.ก็เคยเกิดความแตกแยกมาแล้วจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค โดยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2530 โดยครั้งนี้ได้เกิดกลุ่ม 10 มกราขึ้น มีนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรคปี 2522 และนายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคขณะนั้นเป็นแกนหลัก โดยเกิดเหตุจากเลือกหัวหน้าในวันดังกล่าว ซึ่งกลุ่มนายวีระได้เสนอชื่อนายเฉลิมพันธ์เป็นหัวหน้า และนายวีระลงชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคกับกลุ่มนายชวน หลีกภัย ที่เสนอชื่อนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคในขณะนั้น และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคขณะนั้น ซึ่งปรากฏว่าทั้งนายเฉลิมพันธ์และนายวีระพ่ายแพ้ และได้นำสมาชิกบางส่วนประกาศแยกตัวออกจาก ปชป.ออกมา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |