ไทยต้องเตรียมรับมือ AI กับ Biotech


เพิ่มเพื่อน    

      ผมคุยกับคุณเรืองโรจน์ กระทิง พูนผลเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากที่เขากลับจากการไปหาข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของจีนกับสหรัฐฯ

      อีกส่วนหนึ่งของการสนทนาวันนั้นที่ผมคิดว่าคนไทยควรจะสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ

        สุทธิชัย: จีนขยันมากและเก่งมาก และฟันฝ่ามา เรียกว่าถ้าตัวต่อตัวนี่ถือว่าคนจีนถ้าผ่านมาได้  ต้องสู้รบตบมือกับคนจำนวนมากกว่าอเมริกันแน่ใช่ไหมครับ

        เรืองโรจน์: ใช่ครับ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่คนจีนตระหนักรู้คือ เขาทำเองทุกอย่างไม่ได้ ต้องเข้าถึงเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ อย่างอเมริกามีเทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมากๆ เรียกว่า fab คือ food  agri biotech เขาบอกว่าโลกอนาคตจะเป็น AI บวก biotech แล้ว biotech เมื่อประสานกับเรื่องของ  food agri bio สามอย่างนี่เป็น area ที่มาแรงมาก

      ผมคิดว่าเป็น area ที่น่าสนใจ เพราะว่าประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่อง food กับ agri ซึ่งจริงๆ เราสามารถเอาจุดแข็งมาแปลงเป็น startup ที่เก่งได้ คือห่วงโซ่คุณค่า value chain ตั้งแต่ farm จนถึง  fork (จากไร่ถึงส้อมบนโต๊ะอาหาร) จะถูก disrupt และเปลี่ยนหมดเลย พอไปดูงานที่ซิลิคอนวัลเลย์เราเห็นว่าจะเปลี่ยนมหาศาลจริงๆ ใน 5-10 ปีข้างหน้า และเป็นอุตสาหกรรมระดับ trillion dollar หลาย trillion dollar ด้วย  

        สุทธิชัย: แล้วไทยเราอยู่ในฐานะที่จะได้ประโยชน์ เพราะเราเป็นประเทศที่มีอาหาร เป็นครัวโลกได้ ขณะนี้เราเข้าไปอยู่ในวงการ fab หรือยังครับ

        เรืองโรจน์: ผมว่าเรายังไม่ได้เท่าไหร่ เรายังมี startup ที่ทำเรื่องของ foodtech ค่อนข้างน้อย เรายังมีการแปลงตัวสิทธิบัตรและงานวิจัยออกมาเป็นเทคโนโลยีค่อนข้างน้อย และผมว่าเรายังมีผู้ประกอบการด้าน food agri ค่อนข้างน้อย นับตัวได้ ไม่ต้องพูดถึง biotech

      อย่างผมไปที่อเมริกา เขาสร้างเขตที่เรียกว่าซิลิคอนวัลเลย์ของ food agri bio ชื่อเขต Greater  Sacramento เอาเอกชนกับภาครัฐทำงานร่วมกัน ซึ่งผมว่าเป็นโมเดลที่ดีมาก ดึงเงินลงทุนเข้ามาแล้วเริ่ม work กับมหาวิทยาลัยชั้นนำใช้เป็นตัวกลาง เป็นศูนย์กลาง แล้วเอางานวิจัยของมาทำเป็นธุรกิจหารายได้ แปลงออกมาแล้วดึงผู้ประกอบการ ดึงเงินทุนเข้ามา จีนก็จะลงทุนกับ Greater Sacramento  ประมาณ 500 ล้านเหรียญ บอกว่าฉันต้องการเทคโนโลยีที่ฟีดจาก next billion

        สุทธิชัย: next billion feed คืออาหารจะต้องป้อนคนพันล้านคนในอนาคตเลยนะครับ แต่ว่าในเมืองไทยมองอย่างนี้ได้มั้ยว่า startup ทางด้าน food agri จะยาก เพราะว่าทุกวันนี้ธุรกิจด้านนี้บริษัทใหญ่ๆ คุมอยู่เกือบหมด ฉะนั้นเล็กๆ เกิดลำบาก มีทางออกยังไง

        เรืองโรจน์: ผมว่าเป็นไปได้ ถ้าเราดูอย่างที่อเมริกา มีโมเดลอย่างเช่น สิ่งที่เกิดขึ้น เกิดจากปลายทาง ปลายของ value chain คือฝั่งผู้บริโภค เพราะว่าผู้บริโภคต้องการอาหารประเภทสุขภาพ อย่างตอนนี้ที่มาแรงมาก ถ้าคุณสุทธิชัยไปเดิน Whole Foods ที่ Amazon เพิ่งซื้อมา ผมไปดู shelf แล้วตกใจมาก มันคือ plant-based protein alternative เป็นสารทดแทนโปรตีน อย่างเบอร์เกอร์ที่ทำจากผัก ครีมที่ทำจากผัก ไข่ทำจากผัก มายองเนสทำจากผัก แล้วอีกอันคือโหดมาก เป็นอกไก่ทำจากขนุน

        สุทธิชัย: ไก่ทำจากขนุน แล้วรสชาติเป็นยังไง คุณกระทิงลองหรือยัง

        เรืองโรจน์: ลองแล้วครับ ผมลองเบอร์เกอร์ แล้วเทคโนโลยีของเค้าเนี่ย อย่างเบอร์เกอร์ที่เรียกว่า impossible burger ซึ่ง บิล เกตส์ ลงทุนด้วยครับ เค้าทอดให้ดู แล้วผมลองชิม มันมีรสของเลือดด้วย  เขาใช้สารประกอบจากบีตรูตเอามาสร้างเป็นสารที่รสชาติคล้ายเลือด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว พอ plant-based protein alternative มา ปรากฏว่าหนึ่ง-ดีต่อสุขภาพมาก สอง-รสชาติใกล้เคียงกับเนื้อ ผมว่าอีกประมาณ 2 สเต็ปจะเหมือนเนื้อแล้ว และสาม-มันดีต่อสภาพแวดล้อมด้วย คนรุ่นใหม่กินอันนี้แล้วฮิป แล้วอร่อยด้วย แล้วมันจะเป็นแมสด้วย พอเกิดสิ่งนี้แล้วมันจะ disrupt ตั้งแต่ต้นทาง ต่อไปก็ไม่ต้องเลี้ยงสัตว์และเพาะเมล็ดพืช ถ้าคุณสุทธิชัยไปดูนะครับ พวกนี้เป็น startup หมดเลย

        สุทธิชัย: ฉะนั้น startup มาปั๊บ คนอย่าง บิล เกตส์ ก็พร้อมจะลงทุนร่วมด้วยเลย ไม่จำเป็นต้องเป็นยักษ์ใหญ่ที่จะทำเรื่องอาหาร

        เรืองโรจน์: ใช่ครับ มันเป็นเรื่องของแบรนด์ด้วย แม้กระทั่งบริษัทยักษ์ๆ พอออกมาทำปุ๊บ แตกไลน์ทำเป็น healthy food ปุ๊บ ปรากฏว่าผู้บริโภคไม่เชื่อ พอผู้บริโภคไม่เชื่อ startup ก็ใช้โอกาสนี้ ในเมื่อผู้บริโภคต้องการอะไรใหม่ๆ ต้องการ alternative

      อีกอย่างเป็นเรื่องของ trust ด้วย อย่าง startup บางตัวเอา blockchain มาใส่ในห่วงโซ่ ทำเป็น  traceability คือ trace กลับไปถึงต้นทางเลยว่า คุณช่วยเกษตรกรได้เท่าไหร่ อาหารออร์แกนิกจริง ห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้นจึงมีการ disrupt เกิดขึ้น

      ผมว่าประเทศไทยมีโมเดลที่พอจะเป็นไปได้ ผมคิดว่าถ้ามีโมเดลที่บริษัทใหญ่ๆ กับ startup มาทำงานด้วยกัน แล้วมีภาครัฐเข้ามาช่วย อย่างบางอย่างเป็นการวิจัยที่ต้องใช้การวิจัยค่อนข้างเยอะ แต่ตอนนี้เราเห็นว่ามหาวิทยาลัยไทยมี research และ development ค่อนข้างเยอะ แต่จริงๆ ที่ยังขาดคือการเอามาทำ commercialization

         อีกอันคือที่ต่างประเทศ อย่างอเมริกาจะมี accelerator ด้าน biotech ด้าน food จริงๆ เราไม่ควรใช้เงินเป็นตัวตั้ง พวกนั้นใช้เงินน้อยมาก แม้กระทั่งบางอย่างที่ดูเหมือนว่าต้องใช้ research เยอะ แต่จริงๆ มันมีการทำเป็นแล็บร่วมกัน เรียกว่า collaborator บาง startup ไปเช่าเดือนละหมื่นเดียวเพื่อใช้แล็บตรงนั้น ขนาดเรากำลังพูดถึงอเมริกาที่ต้นทุนแพงมาก ดังนั้นจึงเกิดการสร้างระบบนิเวศขึ้นมา ทำให้นวัตกรรมเร็วมาก

        สุทธิชัย: แล้วคุณกระทิงจะทำให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในไทยได้ยังไง เพราะมันคือแนวทางเลยนะว่า การช่วยกันการแชร์ facility อย่างแล็บที่ว่าเช่าเดือนละหมื่น แปลว่า startup ไทยมีโอกาส ไม่จำเป็นต้องเป็นห่วงเรื่องลงทุนมากมาย บริษัทยักษ์ๆ ก็รู้แล้วว่าจะต้องชักชวนคนรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อจะทำร่วมกันมิฉะนั้นเขาก็จะถูก disrupt อย่างแรงด้วย แต่ในไทยมีอุปสรรคไหมจะทำให้อย่างนี้เกิด สามารถจะทำให้เกิดขึ้นได้ไหม

        เรืองโรจน์: ผมว่าเกิดขึ้นได้ครับ อย่างที่เราไปนี่เราพาบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งไป เป็นทางด้านเครื่องดื่ม และเรา plan จะพาทางด้าน food และ agri ของไทยที่ใหญ่ๆ ไปดูด้วย พอเข้าไปดูปุ๊บปรากฏว่าสิ่งที่ startup มีคือความเร็วและความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่เห็นชัดมากๆ เลยคือ startup ที่เปรียวและมีประสิทธิภาพ

       ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆ จะต้องบอกว่าไม่ได้ ต้องสร้างแล็บร้อยล้าน แต่ startup จะหาวิธีการของเขา บอกว่าไม่จำเป็นต้องใช้แล็บขนาดนั้นก็ได้ ใช้แล็บที่มีราคาถูกกว่านี้มันมีวิธีการ อย่างที่เราไปเป็นแล็บทางด้าน Bio ชื่อว่า Indy Bio เป็นแล็บทางด้าน Bio แต่สร้าง startup ได้ปีละ 100 เจ้า ใช้เงินทุนทั้งหมด 500 ล้านบาทเอง   

        สุทธิชัย: แปลว่าไม่ได้อยู่ที่เงินอย่างเดียวแล้ว อยู่ที่สมอง อยู่ที่ความคล่องตัว และการแชร์ซึ่งกันและกัน ระหว่างยักษ์กับระดับกลางและระดับเล็กที่จะเกิดขึ้น

        เรืองโรจน์: ใช่ครับ พอบริษัทที่เข้าใจ รู้แล้วว่าฉันไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด เวิร์กกับ startup  ง่ายกว่า แล้วก็เริ่มเห็นว่ามันมีโมเดลการร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชน บริษัทยักษ์ใหญ่และ startup  สามอันนี้ไปด้วยกัน สิ่งนั้นมันจะเกิดขึ้นและจะช่วยเร่งนวัตกรรมขึ้นมาเยอะครับ

      ยกตัวอย่าง startup อีกอันนึงที่ไปดูมา ค่อนข้างเจ๋งเลยครับ เขาเป็น startup ที่เอาไวน์เข้ามา  ไวน์ที่ปกติบ่มมา 10-20 ปี เอามาเข้า molecular scanner สแกนโครงสร้างโมเลกุล พอรู้ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ก็สร้างกระบวนการและดูว่าต้องใช้สารอะไรบ้างที่มาจากธรรมชาติ เขาสร้างมันขึ้นมาภายในเวลา 1 คืน

      ผมลองชิมสาเก, ไวน์ และวิสกี้ที่ทำจากกระบวนการนี้ บางตัวใกล้เคียงมาก เราไม่ต้องรอบ่ม 20 ปีแล้ว มันต้องใช้ฮาร์ดแวร์หลายตัว startup บอกฉันไม่มีเงินซื้อฮาร์ดแวร์แบบนี้ ไม่มีเงินแบบบริษัทใหญ่ๆ ก็ต้องวิ่งไปหาสตาร์ทอัพอื่นที่ทำฮาร์ดแวร์แบบนี้ที่ถูกกว่า มันเกิดการผสมผสาน ถ้าบริษัทใหญ่ๆ  มีแบบนี้ ภาครัฐก็บอกว่าคุณลองทำอันนี้ใน sandbox มันเป็นเรื่องของ 3 ฝั่ง startup กับ startup  ด้วยกัน startup กับบริษัทใหญ่ๆ startup กับภาครัฐ เป็นโมเดลที่จะทำให้นวัตกรรมไปเร็ว

      อย่างถ้าเราบอกว่าติดปัญหาตรงนี้จะทำยังไง มันจะทำให้ Cycle ของนวัตกรรมไปไว แล้วอีกอันคือ  food agri bio คือคลื่นแรกจะถูกเปลี่ยนด้วยการเอา information technology เข้ามาใส่ food agri  bio ตอนนี้เหมือนกับอินเทอร์เน็ต 20 ปีที่แล้ว เป็น Area ที่กำลังจะถูก disrupt แล้วมันจะใหญ่กว่าเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต เพราะมันแตะทุกคนในโลกเพราะทุกคนต้องกิน แล้ว agri นี่จ้างคนตั้งไม่รู้เท่าไหร่  ตัว agri tech คือคลื่นแรกจะเป็น agricultural intelligence คือการเอา AI ไปใส่ในเกษตร.

            (พรุ่งนี้: ไทยจะตามทันได้อย่างไร?).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"