23ต.ค.61-“สมพงษ์” หวั่นจีนรุกคืบ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมนักศึกษาเข้ามาเรียนในไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเรียนรู้แนวคิด ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมไทย ถ้าหางานทำได้หลังเรียนจบยิ่งดี ได้สิทธิพิเศษไม่ต้องใช้ทุนคืน ชี้ส่งผลกระทบบัณฑิตจีนแย่งงานบัณฑิตไทยแน่ อีกทั้งทุนจีนยังเข้าเทคโอเวอร์ ม.เอกชนขนาดเล็ก คาดมีผลต่อวงการศึกษาไทยแน่แม้ยังไม่ชัดในณะนี้ วอน" สกอ.-ศธ."ตื่นตัวเห็นทิศทางปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีนักศึกษาจีนจำนวนมากเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยระยะแรก ประเทศจีนจะส่งนักศึกษาเข้ามาเรียนในคณะวิชาต่างๆ เป็นเวลา 5-6 ปี ซึ่งตนเคยสัมภาษณ์นักศึกษาจีนเหล่านี้ พบว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลจีนที่จะส่งนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนรู้แนวคิด ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมไทย รวมทั้งรสนิยมความชอบต่างๆของคนไทย และหากสามารถหางานทำได้ในประเทศไทย นักศึกษาจีนก็จะได้รับการยกเว้นการใช้ทุนคืน จึงพบว่าเด็กจีนสามารถพูด เขียน ภาษาไทยได้ดี และหางานทำในประเทศไทยได้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และจากการติดตามสถานการณ์ทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา ยังพบว่า มีการรุกคืบเข้ามาอย่างต่อเนื่องและยังมีการเข้ามาในกิจการมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กบางแห่ง หรือที่เรียกว่าการเทคโอเวอร์มหาวิทยาลัย โดยมีคณาจารย์คนไทยช่วยสอนนักศึกษาจีน
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า การซื้อกิจการมหาวิทยาลัยเอกชน สามารถมองได้ 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างไทยและจีน แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง การที่ทุนจีนซื้อมหาวิทยาลัยไทย และให้อาจารย์ไทยผลิตบัณฑิตจีนที่มีความรู้ความเข้าใจบริบทของสังคมไทย รู้ถึงวิธีคิด วิถีชีวิตของคนไทย ก็อาจส่งผลกระทบต่อไทยได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตนจึงอยากเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตระหนักถึงเรื่องนี้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ อยากให้เรารู้เท่าทันกลุ่มทุนจีนให้มากขึ้น และสร้างจุดสมดุลของการศึกษากับการลงทุนดังกล่าว ซึ่งต่อไปบัณฑิตจีนอาจแย่งงานบัณฑิตไทยก็ได้ เพราะเด็กไทยติดโซเชียลมีเดีย ไม่ขยัน ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยดี ขณะที่มหาวิทยาลัยไทยก็ยังปรับปรุงคุณภาพได้ยังไม่ดีพอ
“โลกอนาคต สถาบันอุดมศึกษาต้องปั่นป่วนแน่ เพราะประเทศต่างๆ ตื่นตัว ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และรุกคืบเข้ามาในอุดมศึกษาไทย หากเรายังไม่เลิกขัดแย้งกัน อุดมศึกษาไทยก็จะพ่ายแพ้ ตกอันดับหลุดลุ่ยไปไกล ขณะนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะปลดแอกตัวเองจากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาอุดมศึกษาได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งผมอยากถามว่า ถ้าเราตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ไม่สำเร็จในรัฐบาลนี้ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ”อ.คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว.