สนช.ชี้ชะตา เอ็นจีโอกินรวบกสม.


เพิ่มเพื่อน    

        คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดที่ 4 ผ่านคณะกรรมการสรรหามาแล้วจำนวน 7 คน ถูกระบุว่า เอ็นจีโอกินรวบ เพราะ 4 ใน 7 คนเป็นเอ็นจีโอ ประกอบด้วย 1.นางสมศรี หาญอนันทสุข 2.นายไพโรจน์ พรหมเพชร  3.นายบุญแทน ตันสุเทพ วีรวงศ์ 4.นายสุรพงศ์ กองจันทึก

      อีก 3 คนมาจากภาคส่วนอื่นๆ ได้แก่ 1.นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร 2.นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช 3.นางประไพพร กาญจนรินทร์

      ขณะนี้คณะกรรมาธิการของ สนช.ได้ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมว่าที่

กสม. 7 คน ใกล้จะแล้วเสร็จปลายเดือน ต.ค.นี้ หรือต้นเดือนพ.ย. ทาง สนชจะต้องประชุมลับเพื่อรับฟังรายงานของคณะกรรมาธิการ จากนั้นจะอภิปรายและลงมติว่าใน 7 คนนี้ใครจะได้เป็นกรรมการสิทธิฯ ซึ่งถือเอาคะแนนเสียงเกินครึ่งเป็นเกณฑ์

        ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือ นอกจากมีเอ็นจีโอได้รับการสรรหาเข้ามามากเกินครึ่งแล้ว บางคนมีจุดยืนคัดค้านการลงโทษประหารชีวิต

        เหตุที่ สนช.ต้องเลือกกรรมการสิทธิฯ ทั้งๆ ที่ชุดเดิมยังไม่ครบวาระ เป็นเพราะ สนช.หักดิบ ออกกฎหมายเซตซีโร แปลว่า ต้องสรรหาชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก่อนชุดเดิมจะครบเทอม

        ส่งผลให้ กสม.ชุดเดิมซึ่งมี นายวัส ติงมิตร เป็นประธาน     ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2558 จะต้องพ้นสภาพไปเมื่อสรรหาได้ กสม.ชุดใหม่เข้ามารับตำแหน่ง ตามบทเฉพาะกาลของกฎหมาย กสม.

        เหตุที่ สนช.เซตซีโร เป็นเพราะองค์ประกอบของ กสม.ไม่สอดคล้องกับหลักการปารีสที่กำหนดให้สถาบันสิทธิมนุษยชนของทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติต้องเป็นตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ อย่างหลากหลาย ฯลฯ

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ กสม.ชุดนี้ซึ่งมีเอ็นจีโออยู่ด้วย ได้เกิดข้อขัดแย้งในการทำงาน

        ทำให้นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ลาออกไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 กสม.จาก 7 คน เหลือแค่ 6 คน นายสุรเชษฐ์ได้ทำหนังสือถึงประธาน กสม.ระบุเหตุผลในหนังสือลาออกว่า “บรรยากาศไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์”

      แต่วงการเอ็นจีโอและสื่อมวลชนที่ติดตามการทำงานรู้ดีว่าปัญหาคืออะไร

        “สำหรับเหตุผลที่นายสุรเชษฐ์ระบุว่า บรรยากาศไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์นั้น เนื่องจากได้เกิดความแตกแยกใน กสม.อย่างรุนแรง โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน จนทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน โดยเฉพาะในการประชุม กสม.ที่มีการจ้องจับผิดกัน จนทำให้นายสุรเชษฐ์เกิดความอึดอัด” เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งรายงานข่าวหลังนายสุรเชษฐ์ลาออกผ่านไป 1 วัน      เป็นการยืนยันว่า กสม.ขัดแย้งกันจริง แบ่งเป็น 2 ฝ่าย  คือฝ่ายเอ็นจีโอที่เป็นเสียงข้างน้อย กับฝ่ายนายวัสที่ไม่ได้เป็นเอ็นจีโอ

        ย้อนหลังกลับไปในสมัย กสม.ชุดที่ 2 ที่นางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธานปี 2552-2558 การทำงานประสบปัญหา เกิดเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้ง กรณีการชุมนุมของคนเสื้อแดง มีคนเจ็บคนตายจำนวนมาก   

        ต่อมาปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงเกือบครึ่งปี 2557 กปปส.ชุมนุมประท้วงการเลือกตั้ง มีคนเจ็บคนตายเช่นกัน

        กสม.ถูกโจมตีอย่างหนัก หาว่าเข้าข้างรัฐบาล

        นางอมราเคยให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ TCIJ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 ไว้ตอนหนึ่งกระทบไปถึงเอ็นจีโอ

        “การเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ส่งเสริมให้มีกันทั่วโลก เขามีกรรมการตรวจสอบสถานะของกรรมการสิทธิฯ ... ประเด็นความหลากหลายเป็นประเด็นที่สำคัญมากในการพิจารณา และเป็นประเด็นที่เอ็นจีโอจะลุกขึ้นซัดเราทุกเที่ยว เพราะเอ็นจีโอก็ต้องการเข้ามาเป็นกรรมการสิทธิฯ นี่จึงเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งเราพยายามแก้ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แต่ก็ถูกสกัดกั้น”

        นางอมรากล่าวว่า ข้อเสนอหนึ่งที่เราพยายามจัดการเรื่องนี้ คือในกระบวนการสรรหาที่จะได้ กสม. 7 คน ต้องเลือกให้ 7 คนสามารถทำงานที่แตกต่างกันและเสริมซึ่งกันและกันได้...

        คล้ายกับจะส่งสัญญาณไปถึงสังคมและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า กสม.ไม่ควรมีเอ็นจีโอมากเกินไป เพราะจะไม่มีความหลากหลายซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกันของ กสม.

        แต่การสรรหา กสม.ที่เกิดขึ้นในขณะนี้กลับเป็นไปคนละทางกับสิ่งที่นางอมราเคยพูด และหลักการปารีส

        นี่คือโจทย์ข้อใหญ่ที่ สนช.ต้องมีคำตอบในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"