ส่งออกก.ย.วูบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน แจงปีก่อนฐานสูง


เพิ่มเพื่อน    

 

ส่งออกก.ย.วูบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน ทำได้มูลค่า 20,699.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.20% เหตุฐานปีก่อนสูง จากการส่งออกทองคำ ยานยนต์พุ่ง เจอพิษสงครามการค้าและวิกฤตการเงินในประเทศเกิดใหม่ แต่ภาพรวม 9 เดือนยังโต 8.13% มั่นใจทั้งปีทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 8%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนก.ย.2561 มีมูลค่า 20,699.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.20% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน นับจากเดือนก.พ.2560 ที่ติดลบ 2.87% แต่ภาพรวมการส่งออกรวมในช่วง 9 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย.) ยังส่งออกได้ดี มีมูลค่า 189,729.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.13% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,212.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.90% และรวมนำเข้า 9 เดือนมีมูลค่า 186,891.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.21% โดยเดือนก.ย.เกินดุลการค้า 487.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 9 เดือนเกินดุลการค้า 2,838.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกก.ย.2561 ที่ติดลบ 5.20% หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำออก จะลดลงเพียง 1.9% หากหักสินค้าทองคำออก ส่งออกลดลง 0.8% และหากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันออก ส่งออกลดลง 6.7%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การส่งออกไทยเดือนก.ย.2561 ที่กลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน มาจาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ ฐานการส่งออกทองคำและรถยนต์ปีก่อนขยายตัวสูงมาก ทำให้ปีนี้ส่งออกลดลง โดยมูลค่าการส่งออกทองคำหายไป 967 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการส่งออกรถยนต์หายไป 187 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทั้ง 2 สินค้ารวมกันทำให้มูลค่าส่งออกลดลง 5.3% ผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยหายไปประมาณ 402 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมูลค่าลดลง 1.8% และวิกฤติการเงินในตลาดเกิดใหม่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกสินค้าไทยหายไปประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมูลค่าลดลง 1% รวม 3 ปัจจัยดังกล่าว ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยหายไป 1,756 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงไปประมาณ 8%

อย่างไรก็ตาม หากแยกเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าที่กระทบต่อการส่งออกของไทย พบว่า มูลค่าหายไป 402 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 1.8% แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกผลกระทบทางตรง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกของไทยที่ถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้า การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวของไทยไปสหรัฐฯ เดือนก.ย.2561 มีมูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 60.1% หรือมูลค่าหายไป 75 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น โซลาร์เซลส์ ลด 77.1% เครื่องซักผ้า ลด 87.4% เหล็ก ลด 60.4% อะลูมิเนียม เพิ่ม 65.5% กลุ่มสอง ผลกระทบทางอ้อมหรือกลุ่มสินค้าที่จีนถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษี และไทยเป็นซัปพลายเชนให้จีน ทำให้ส่งออกไปจีนลดลง โดยไทยส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปจีนประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16.3% หรือมูลค่าหายไป 392 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ลด 24.1% เครื่องจักรและส่วนประกอบลด 35.6% เคมีภัณฑ์ ลด 11.1% และยานพาหนะและส่วนประกอบ ลด 37.4% และกลุ่มที่สาม ผลกระทบทางบวก เป็นสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นทดแทนของจีน มีมูลค่า 1,813 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.7% หรือส่งออกได้เพิ่มขึ้น 65 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เพิ่ม 12.9% เคมีภัณฑ์ เพิ่ม 26.4% ยานพาหนะและส่วนประกอบ เพิ่ม 9.6% และเครื่องจักรและส่วนประกอบเพิ่ม 12.6%

"การส่งออกที่กลับมาขยายตัวติดลบ มีสาเหตุที่ตรวจสอบได้ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวม โดยยังคงมั่นใจว่าการส่งออกทั้งปี 2561 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าจะขยายตัว 8% โดยในช่วง 3 เดือนที่เหลือ (ต.ค.-ธ.ค.) จะต้องได้ส่งออกให้ได้เดือนละ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ"น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย.2561 ไม่น่าประหลาดใจ เพราะมีหลายกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่กรมฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามหาโอกาสที่จะผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวให้ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไทยมีศักยภาพ เช่น กลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป ที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับคนภายในประเทศ โดยมีแผนที่จะผลักดันสินค้าเกษตรนวัตกรรม อาหารแปรรูป ทั้งในตลาดสหรัฐฯ CLMV และตะวันออกกลาง โดยคาดว่าปี 2561 จะเติบโต 8% มูลค่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนกลุ่มสินค้าได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ จะหาตลาดทดแทนเพราะการส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ดีเหมือนเดิม กลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน แม้จะได้รับผลกระทบ แต่กรมฯ ยังมองว่าเป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ (S Curve) ซึ่งจะทำให้ในอนาคตไทยจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น

สำหรับรายละเอียดส่งออกเดือนก.ย. 2561 พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 0.6% โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ ข้าว เพิ่ม 20.5% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 21.7% เครื่องดื่ม เพิ่ม 5.4% ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 7.7% ส่วนสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง เช่น ยางพารา ลด 24.3% น้ำตาลทราย ลด10.6% เป็นต้น ขณะที่สินค้าอุตสาสหกรรมส่งออกลด 6.7% ลดลงครั้งแรกรอบ 19 เดือน เช่น ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 6.3% เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ลด 4.1% เครื่องใช้ไฟฟ้าลด 0.8%

ด้านตลาดส่งออกเดือนก.ย. พบว่า ตลาดหลัก เพิ่ม 1.7% เช่น ญี่ปุ่น เพิ่ม 0.2% สหรัฐฯ เพิ่ม 1.2% สหภาพยุโรป (15) เพิ่ม 3.9% ตลาดศักยภาพสูง ลด 1.2% โดยจีนลด 14.1% ฮ่องกง ลด 7.0% ไต้หวันลด 17.5% อาเซียน เพิ่ม 7.9% แบ่งเป็น อาเซียน (5) เพิ่ม 0.9% CLMV เพิ่ม 17.5% ตลาดศักยภาพรอง ลด 6.9% เช่น ทวีปออสเตรเลีย ลด 19.3% ตะวันออกกลาง ลด 0.5% ลาตินอเมริกา ลด 12% กลุ่มรัสเซียและซีไอเอส ลด 19.9% และตลาดอื่นๆ ลด 83.9%


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"