โลกของเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีทิศทางเป็นเช่นไร บลูมเบิร์กได้จัดทำผลสำรวที่น่าสนใจจากนักธุรกิจ 2,000 คน จำนวน 20 ประเทศ ซึ่งระบุว่าจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ถูกมองว่าจะยังคงเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่อไปในช่วง 10 ปีข้างหน้า และตามมาด้วยอินเดีย รวมถึงยังมีรายละเอียดปลีกย่อยด้านอื่นที่มีความน่าสนใจอีกหลายอย่างเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจกระแสใหม่ ที่ถือเป็นตัวชี้วัดความคิดเห็นของสาธารณชนที่มีต่อช่วงเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจโลก ลองมาดูกันว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไรกันบ้าง
นักธุรกิจกว่า 7 ใน 10 หรือคิดเป็น 74% คาดหวังว่าระบบการค้าโลกจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ในระยะยาวเท่านั้น และเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐทำให้มีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ตอบรับการสำรวจ คิดเป็น 55% ที่ยังคงเชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าการค้าทั่วโลกจะเพิ่มตัวสูงขึ้น ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้ออกมาเตือนว่าความขัดแย้งทางการค้าจะทำให้ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.9% จะเหลือเพียง 3.7%
ขณะเดียวกัน จากแบบสำรวจยังได้มีการสอบถามความคิดเห็นว่าประเทศใดที่กลุ่มนักธุรกิจคาดการณ์ว่าจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก 3 อันดับแรกในอีก 10 ปีข้างหน้า นักธุรกิจ 86% ส่วนใหญ่จะเลือกประเทศจีน สหรัฐอเมริกา 70% และคิดว่าเป็นญี่ปุ่น 36%
จัสติน บี. สมิธ กรรมการผู้จัดการ บลูมเบิร์ก มีเดีย กรุ๊ป ได้ให้ความเห็นว่า การสำรวจนี้แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่ายที่มองถึงอนาคต และเป็นการชี้ชัดให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการรวมตัวกันของภาครัฐและผู้นำทางธุรกิจทั่วโลก เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาสำคัญต่างๆ ของโลก
สำหรับประเด็นที่มองกันว่าควรจัดการอย่างเร่งด่วนนั้น จะเป็นเรื่องของธรรมาภิบาลโลก โดยประมาณ 26% ระบุว่าควรได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนที่สุด ความคิดเห็นนี้เด่นชัดมากในกลุ่มผู้ตอบรับการสำรวจจากประเทศอินเดีย 39% ฟิลิปปินส์ 35% มาเลเซีย 31% และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 41% แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะแสดงออกว่าพวกเขาไม่ค่อยเชื่อมั่นในศักยภาพของภาครัฐ ก็ยังมีผู้ตอบรับการสำรวจมากถึง 3 ใน 4 ที่ยังคงเชื่อว่าผู้นำโลกและรัฐบาลต่างๆ ควรจะเป็นกำลังหลักในการผลักดันการแก้ปัญหาสำคัญต่างๆ ของโลก และมีเพียง 10% เท่านั้นที่คิดว่า
ส่วนความแตกต่างระหว่างมุมมองของตลาดเกิดใหม่และตลาดที่พัฒนาแล้ว ผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงความมั่นใจในแนวโน้มภาพรวมการค้าที่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัดของนักธุรกิจจากประเทศกำลังพัฒนา เมื่อเทียบกับนักธุรกิจจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งแนวคิดการคุ้มครองทางการค้ากำลังเป็นที่นิยม โดยนักธุรกิจจากตลาดเกิดใหม่มากกว่า 3 ใน 5 หรือคิดเป็น 63% เชื่อว่าการค้าโลกจะเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยมุมมองนี้ชัดเจนมากในกลุ่มผู้ตอบรับการสำรวจจากประเทศจีน 66% อินโดนีเซีย 74% ฟิลิปปินส์ 76% ไทย 80% และอินเดีย 71% ตรงข้ามกับมุมมองของนักธุรกิจจากตลาดประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีเพียงราว 1 ใน 3 หรือ 36% เท่านั้นที่คิดว่าการค้าโลกจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 5 ปีนี้
มีความคิดเห็นเพิ่มเติมจาก ทอม ออร์ลิก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำบลูมเบิร์ก ว่า หนึ่งในผลการสำรวจที่โดดเด่นที่สุดจากการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ คือความแตกต่างระหว่างทัศนคติเชิงบวกต่อภาพรวมแนวโน้มการค้าในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ กับทัศนคติเชิงลบในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้ว บอกเป็นนัยว่าตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มความเสียหายจากสงครามการค้าอาจจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี ในยุคของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พบว่า 60% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดได้เริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต โดยนักธุรกิจจากกลุ่มตลาดเกิดใหม่แสดงความสนใจอย่างเห็นได้ชัดกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และเชื่อว่าเอไอจะช่วยเปิดโอกาสงานใหม่ๆ ให้กับคนวัยทำงาน ซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะในประเทศจีน อินเดีย และเวียดนาม มีเพียงแค่ 5% ของผู้ตอบรับการสำรวจจากตลาดเกิดใหม่ที่บอกว่าไม่ได้วางแผนรับมือกับอนาคตไว้เลย.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |