การเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ แม้ คสช.ยังไม่ปลดล็อก แต่หลายพรรคก็มีการขยับกันอย่างคึกคักผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ภายใต้การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยกพลไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อประชุมร่วมคณะผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำพรรค รปช.ในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน โดยเป็นการรับฟังความคิดเห็นและแนวทางการดำเนินงานของพรรคในพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีข่าวว่ามีผู้ให้การสนับสนุนพรรค รปช.ในพื้นที่ภาคอีสานที่เข้าร่วมประร่วมกว่า 300 คน
"สุเทพ" กล่าวในงานไว้ว่า กระแสการตอบรับของพรรค รปช.ที่มีต่อคนอีสานนั้นดีขึ้นอย่างมาก วันนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่คนอีสานต้องการผู้แทนหรือต้องการ ส.ส.ที่ตัวเองนั้นสั่งการได้และเลือกเอง ซึ่งแนวทางการดำเนินงานของพรรคนั้นชัดเจนคือการที่แสดงออกถึงการเป็นพรรคการเมืองที่คนไทยทั้งประเทศนั้นเป็นเจ้าของ ไม่ใช่พรรคนายทุน แต่พรรค รปช.นั้นเป็นพรรคของประชาชน ที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเสนอแนวทางการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์ หรือแม้กระทั่งผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ถึงเวลาที่ผู้ที่มีอุดมการณ์ร่วมกันที่ต้องการนักการเมืองที่ทำงานเพื่อประชาชนและมาจากประชาชนอย่างแท้จริง ในการร่วมให้การสนับสนุนพรรค โดยสมัครเป็นสมาชิกและร่วมลงขันวันละ 1 บาท ทุกคนก็จะได้ ส.ส.หรือผู้แทนที่ทุกคนนั้นสั่งได้ และที่สำคัญยังคงด่าได้อีกด้วย
“ผมมาอีสานวันนี้ไม่ได้มาหาเสียง เพราะวันนี้พรรค รปช.นั้นยังคงไม่มีการดำเนินงานใดๆ แต่ขอยืนยันว่าเมื่อถึงเวลาจะมีการประชุมสมัชชาครั้งใหญ่ เพื่อให้สมาชิกพรรคนั้นมีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรค เลือกคณะกรรมการบริหารพรรค และที่สำคัญคือการเลือกผู้แทน ในเขตเลือกตั้งของตนเอง ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองแรกของไทยที่ทำในลักษณะเช่นนี้ เพราะการเมืองเป็นการดำเนินงานตามระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกในด้านต่างๆ อย่างแท้จริง ไม่ใช่การเมืองจอมปลอมหรือประชาธิปไตยจอมปลอมอย่างเช่นในยุคสมัยต่างๆ ที่ทำกันมา”
ก่อนหน้านี้สุเทพและแกนนำพรรคเคยร่วมกันลงพื้นที่ภาคอีสานมาบ้างแล้ว เช่น การเดินทางไปยังบุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด โดยเฉพาะการไปยัง "ทุ่งกุลาร้องไห้" เมื่อช่วง ก.ค.2561 ที่ผ่านมา
โดย "สุเทพ" ได้กล่าวถึงเรื่องแนวคิดการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ไว้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด เป็นพื้นที่กันดาร ประชาชนมีความเป็นอยู่ยากลำบาก แต่ว่าทุ่งกุลาร้องไห้ก็มีจุดดีของมัน ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นพื้นที่ที่สามารถผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ และรสชาติดีที่สุดในโลก แต่ปัญหาคือดินที่นั่นเป็นดินทราย มีความแห้งแล้ง มันทำให้ข้าวหอมมะลิที่ผลิตได้มีผลผลิตต่อไร่ต่ำ ชาวนาที่อื่นปลูกข้าว แล้วได้ผลผลิต 800-900 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ ขณะที่ทุ่งกุลาร้องไห้ผลิตได้ 250-280 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ ทั้งที่เป็นข้าวหอมมะลิที่อร่อยที่สุด แต่ขายแพงกว่าข้าวปกติกิโลกรัมละ 1-2 บาทเท่านั้นเอง เราถึงได้คิดร่วมกันกับพี่น้องประชาชนในทุ่งกุลาร้องไห้
"เราจะประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ จะมีการจัดระบบการผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ มีการแบ่งโซนนิ่ง ว่าพื้นที่ไหนทำนา ทำปศุสัตว์ หรือเป็นเขตอุตสาหกรรมที่จะแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร จะปรึกษากับพี่น้องประชาชนว่า เราจะยกระดับคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรในทุ่งกุลาร้องไห้เพื่อขายในราคาที่พิเศษ ในความคิดร่วมกันขณะนี้ เราจะให้ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นเขตเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารพิษและสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นข้าว ผัก หรือปศุสัตว์"
"แกนนำพรรค รปช." กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เนื่องจากชุมชนรอบๆ พื้นที่นั้นมีประวัติศาสตร์เป็นพันๆ ปี ก่อนมีประเทศไทยเสียอีก มีการตั้งรกราก มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และมีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีใครคิดทำมาก่อนในประเทศไทย แต่เราคิดทำสิ่งเหล่านี้ ในลักษณะของการบูรณาการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่นั่น เราเชื่อว่าข้าวหอมมะลิที่ผลิตด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์จากทุ่งกุลาร้องไห้ จะเป็นข้าวหอมมะลิที่ชาวโลกต้องการ และเราจะขายได้ราคาที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้พอเพียงในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี นี่คือที่มาของแนวทางการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการเกษตร
"เราเคยได้ยินเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก แต่ที่ทุ่งกุลาฯ จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เราเห็นว่าในประเทศไทยเราสามารถจะประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในลักษณะอย่างนี้ได้อีกหลายแห่ง เช่นเศรษฐกิจการค้าชายแดน เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อสร้างฐานะความเป็นอยู่ สร้างผลผลิตที่ทำให้ได้ประโยชน์แก่ประชาชนด้วยกัน"
พื้นที่ภาคอีสาน เป็นที่รู้กันดีว่า หากพรรคการเมืองไหน ยึดกุมฐานเสียงไว้ได้ ก็มีสิทธิ์ชนะการเลือกตั้งได้สบายๆ เหมือนกับที่ทักษิณ ชินวัตร ทำไว้มาตลอดการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2544, 2548, 2550 และ 2554 ทำให้ฝ่ายทักษิณชนะการเลือกตั้งมาตลอดที่ผ่านมา ภาคอีสานถือเป็นจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ที่สุเทพเคยเป็นแกนนำ เลขาธิการพรรคมาก่อน ซึ่งที่ผ่านมาแม้ ปชป.จะพยายามแก้ปัญหานี้อย่างไร แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ
มาวันนี้ "สุเทพ" ในบทบาทของแกนนำพรรคตั้งใหม่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งแม้อาจยากในการทำให้ พรรค รปช.ได้คะแนนในอีสานแบบเป็นกอบเป็นกำ แต่เป้าหมายจริงๆ ของพรรค รปช.เชื่อได้ว่าทางพรรคน่าจะวางเป้าหมายไว้ที่การ "เก็บคะแนน" ปาร์ตี้ลิสต์ในพื้นที่เลือกตั้งภาคอีสานให้พรรคได้คะแนนเสียงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วไปรอบวกเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์พรรค เป็นหลักเสียมากกว่า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |