ปีหน้าครบ 50 ปี มนุษย์เหยียบดวงจันทร์


เพิ่มเพื่อน    

      ผมเพิ่งไปดูหนัง First Man ว่าด้วยชีวิตของ Neil Armstrong มนุษย์อวกาศคนแรกที่ไปเหยียบดวงจันทร์มา ทำให้ย้อนกลับไปคิดถึงการแข่งขันกันเป็น "เจ้าอวกาศ" ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นอย่างร้อนแรง

      อเมริกาตกใจมากที่อยู่ดีๆ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 1957 สหภาพโซเวียตประกาศยิงดาวเทียมลูกแรกของโลกชื่อ Sputnik 1 ขึ้นไปในอวกาศ

      ทั่วโลกแตกตื่นโดยเฉพาะสหรัฐฯ ยอมไม่ได้ที่จะให้คู่แข่งร้ายกาจที่สุดของตนแสดงความเก่งกล้าสามารถทางด้านอวกาศเหนือเมฆอย่างนี้

      เพราะการที่มอสโกสามารถยิงดาวเทียมขึ้นฟ้าและหมุนรอบโลกได้เช่นนี้ ย่อมแปลว่าสหภาพโซเวียตสามารถยิงอาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีปได้อย่างไม่ยากเย็น

      เป็นการท้าทายความเชื่อที่ว่าอเมริกาเป็นเบอร์หนึ่งของโลกทางด้านทหาร, เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี

      ประธานาธิบดีดไวต์ ไอเซนฮาวร์ ตัดสินใจตั้งองค์การด้านอวกาศที่รู้จักกันดีทุกวันนี้ในนาม NASA  (National Aeronautics and Space Administration) เพื่อยืนยันว่าวอชิงตันจะไม่มีวันยอมตามหลังคู่แข่งเบอร์หนึ่งเป็นอันขาด

      เป็นจุดก่อเกิดของโครงการอวกาศแรกของอเมริกาชื่อ Project Mercury ซึ่งมีเป้าหมายแรกคือการส่งมนุษย์ไปบินรอบโลกให้ได้

      แต่ไม่ทันไรคนอเมริกันก็มีเหตุจะต้องตกใจอีกรอบ เพราะวันที่ 12 เมษายน 1961 สหภาพโซเวียตส่งนักบินอวกาศคนแรกของโลกชื่อ Yuri Gagarin ที่นั่งยานอวกาศโคจรรอบโลกได้

      ผ่านมาไม่ถึงเดือน วันที่ 5 พฤษภาคม 1961 อเมริกาก็ส่ง Alan Shepard ขึ้นเป็นมนุษย์อวกาศมะกันคนแรกขึ้นโคจรรอบโลก 15 นาที

      จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ประกาศนโยบายมนุษย์พิชิตดวงจันทร์ในคำปราศรัยต่อสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1961

        “สหรัฐฯ ต้องเป็นประเทศแรกที่ส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์และกลับมาอย่างปลอดภัยก่อนจะสิ้นทศวรรษนี้”!

      โครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ชื่อ Apollo ซึ่งกว่าจะทดลองได้สำเร็จก็ถึง Apollo 11 โดย Apollo 11 มี 3 ส่วน

      ส่วนที่หนึ่งเรียก Command Module (CM) ซึ่งเป็นยานบังคับหลัก จุนักบินอวกาศ 3 คน และเป็นยานเดียวที่กลับสู่โลก

      ส่วนที่สองคือ Service Module (SM) ซึ่งเป็นยานสนับสนุนด้วยไฟฟ้า, ออกซิเจน, น้ำ

      ส่วนที่สามคือ Lunar Module (LM) ซึ่งมีสองชั้น ชั้นแรกสำหรับร่อนลงผิวดวงจันทร์ ชั้นที่สองสำหรับส่งนักบินอวกาศขึ้นจากผิวดวงจันทร์กลับสู่วงโคจรรอบๆ ดวงจันทร์ มีชื่อว่า Eagle และร่อนลงจุดบนดวงจันทร์ที่เรียกว่า Sea of Tranquility หรือ ทะเลแห่งความสงบ

      จรวดที่ใช้ส่งยานอวกาศนี้คือ Saturn V จากนั้นทีมนักบินอวกาศก็จะแยกยานอวกาศออกจากจรวด ฝึกเดินทางสามวันก่อนเข้าวงโคจรของดวงจันทร์

      นักบินอวกาศชุดนี้มีสามคนคือ Michael Collins ซึ่งประจำอยู่ในยานบังคับ และ Neil Armstrong  กับ Edwin Buzz Aldrin, Jr ซึ่งลงไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1969

      Armstrong กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบผิวดวงจันทร์ หกชั่วโมงหลังยานอวกาศร่อนลงแตะพื้น และอีก 20 นาทีต่อมา Aldrin ก็ลงจากยานมาสมทบ

      ทั้งสองใช้เวลาด้วยกันข้างนอกยาน 2 ชั่วโมง 15 นาที และเก็บวัตถุจากผิวดวงจันทร์ทั้งหมด 21.5  กิโลกรัมเพื่อนำกลับบ้าน ส่วน Michael Collins ไม่ได้ลงมาเพราะมีหน้าที่บังคับยาน Columbia ที่วิ่งโคจรรอบดวงจันทร์

      มนุษย์อวกาศทั้งสองที่ได้เหยียบดวงจันทร์ใช้เวลาบนผิวดวงจันทร์ทั้งหมด 21.5 ชั่วโมง ก่อนจะกลับขึ้นไปยาน Columbia เพื่อหมุนรอบดวงจันทร์ก่อนจะทะยานกลับโลก

      ขากลับจากดวงจันทร์ นักบินอวกาศใช้ช่วงบนของยาน Eagle ยกตัวเองขึ้นจากผิวดวงจันทร์เพื่อเชื่อมกลับไปอยู่ในยานบังคับหลักที่ Collins ขับอยู่

      จากนั้นนักบินอวกาศก็สลัดยาน Eagle เพื่อกระโจนออกนอกวงโคจรของดวงจันทร์มุ่งกลับสู่โลก หลังจากใช้เวลา 8 วันในอวกาศ คณะนักบินอวกาศทั้งสามก็กลับสู่โลกในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อวันที่  24 กรกฎาคม 1969

      ผมเป็นสักขีพยานการปล่อยในฐานะนักข่าววัย 23 ปี เมื่อได้เห็น Apollo 11 ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี ที่เกาะ Merritt ของรัฐฟลอริดากับ คุณพิชัย วาสนาส่ง ซึ่งได้ศึกษาเรื่อง Apollo 11 อย่างลึกซึ้ง

      ไปถึงที่พัก ณ Kenney Space Center คุณพิชัยพาผมไปร้านขายของเล่นเพื่อซื้อของเล่น Apollo  แกถอดออกมาเป็นชิ้นๆ เพื่ออธิบายให้ผมฟังอย่างละเอียด

      พอได้ดูหนัง First Man เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องอวกาศก็กลับมาเป็นแรงบันดาลใจอย่างเข้มข้นสำหรับผมอีกครั้งหนึ่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"