โพลเขย่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสังกัดพรรคการเมืองไขก๊อก สร้างบรรทัดฐานต้นแบบผู้นำ นักวิชาการชี้แค่หุ่นเชิด คสช. หากนั่งรากงอก ส่อประเทศเป็นรัฐราชการ ด้านเด็กเพื่อไทยควันออกหู 3บิ๊ก พปชร.ลอยหน้าลงพื้นที่หาเสียง สวดยับยังกินภาษี ปชช. บี้ถอดหัวทุกตำแหน่งก่อนเข้าถนนการเมือง
เมื่อวันอาทิตย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลโพล เรื่อง ลักษณะต้นแบบผู้นำประเทศที่ดี จำนวนทั้งสิ้น 1,061 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-20 ตุลาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา โดยพบข้อมูลที่น่าพิจารณาว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 99.2 ระบุกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่แสดงตนอยู่กับพรรคการเมือง ควรลาออก มีเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้นที่เห็นว่า ไม่ควรลาออก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 214 ง โดยคำสั่งดังกล่าวได้ประกาศแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 12 คน นอกเหนือจากกรรมการโดยตำแหน่งที่มีอยู่แล้ว ประกอบด้วย 1.นายกานต์ ตระกูลฮุน 2.นายชาติศิริ โสภณพนิช 3.นายเทียนฉาย กีระนันทน์ 4.นายบัณฑูร ล่ำซำ 5.พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง 6.นายพลเดช ปิ่นประทีป 7.นายวิษณุ เครืองาม 8.นายศุภชัย พานิชภักดิ์ 9.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 10.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ 11.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ 12.นายอุตตม สาวนายน
โดยพระราชบัญญัติการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 134 ตอนที่ 79 ก เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2560 ในหมวด 2 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มาตรา 13 ได้กำหนดวาระกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไว้ว่า มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 5 ปี
สำหรับกรรมการในยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่งที่มีทั้งสิ้น 18 ตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 ตำแหน่ง รวม 30 คนนั้น มีจำนวน 4 รายที่ได้ประกาศลงเล่นการเมือง ได้แก่ กรรมการโดยตำแหน่ง คือ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าที่รองหัวหน้าพรรค พปชร., นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าที่หัวหน้าพรรค พปชร. และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สมาชิกพรรค พปชร.
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีวาระดำรงตำแหน่งต่ออีก 5 ปี ซึ่งหมายความว่า การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จะครอบคลุมระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาลชุดต่อไปอย่างแน่นอน ซึ่งการทำงานยังครอบคลุมไปถึงข้าราชการส่วนต่างๆ ที่ในภาพรวมฝ่ายที่ทำหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.เกือบทั้งสิ้น ทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปฯ สมาชิกวุฒิสภา หรือแม้แต่สมาชิกขององค์กรอิสระบางแห่ง ทำให้ภาพรวมของระบบเกือบทั้งหมดถูกกำกับโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
"นอกจากนี้ การแต่งตั้งข้าราชการมาดำรงตำแหน่งในหน่วยงานเหล่านี้ มีแนวโน้มที่อาจทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐราชการ เพราะข้าราชการจะเป็นส่วนที่อำนาจมากในการต่อรอง และมีอิทธิพลเหนือภาคส่วนอื่น ทำให้การบริหารอาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน" รศ.ดร.ยุทธพรกล่าว
นักวิชาการผู้นี้ระบุด้วยว่า ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ควรมีที่มาจากการคัดเลือกด้วยกระบวนการประชาธิปไตยผ่านระบบรัฐสภา โดยให้ ส.ส.ที่ได้รับเลือกมีส่วนร่วมด้วย ในการแต่งตั้ง โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งต้องเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของประชาชน และเข้าใจว่าเรื่องใดควรพัฒนาก่อน เพื่อการยอมรับของทุกฝ่ายมากกว่า ขณะที่คณะกรรมการชุดปัจจุบันทั้งหมดควรดำรงตำแหน่งเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่หากจะให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินั้นคงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินไป
ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กล่าวปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น โดยระบุว่า ส่วนงานที่ตนเองทำอยู่ จะยังทำต่อ ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการ สช. และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพราะไม่ได้มีกติกาหรือรัฐธรรมนูญข้อไหนห้ามว่าข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ ที่สำคัญ ตนเองจะไม่แสดงปฏิกิริยาอะไรในเรื่องการเมือง
วันเดียวกัน ที่ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดยนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะว่าที่หัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะว่าที่เลขาธิการพรรค, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะว่าที่รองหัวหน้าพรรค ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม “สร้างเครือข่าย SME ต่อยอดธุรกิจเกษตร” ที่เลม่อน มี ฟาร์ม ฟาร์มมะนาวยุคใหม่ของนายธงชัยพัฒน์ ดีสวัสดิ์ ซึ่งมีการนำแนวคิดเกษตรแบบใหม่มาบูรณาการจนประสบความสำเร็จ โดยแกนนำ พปชร.ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับเครือข่ายเกษตร เพื่อหาแนวทางต่อยอดส่งเสริมธุรกิจกับเครือข่ายภาคเกษตรด้วย
โดยนายสนธิรัตน์กล่าวกับเครือข่ายภาคเกษตรตอนหนึ่งว่า มาวันนี้ไม่มีตำแหน่งอะไร ไม่ได้มาในนามรัฐมนตรี ขออย่าเรียกว่ารัฐมนตรี ถ้าเรียกก็จะโกรธ เรามาเพื่อรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ด้านนายอุตตมระบุว่า การมารับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ พรรค พปชร.ได้รับการเชิญชวน ซึ่งแกนนำทั้ง 3 คนมีความสนใจอยู่แล้ว เมื่อเกษตรกรรวมกลุ่มกัน ชวนเรามา เราก็ยินดี เพื่อมาดูว่าควรจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร แต่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์แน่นอน ส่วนเสียงวิพากษ์ว่าพรรค พปชร.เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นนั้น เรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นในนามรัฐบาล หรือในนามรัฐมนตรี เราปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และห้ามไม่ได้ เป็นเรื่องของความคิดเห็นของแต่ละคน เรื่องแบบนี้ต้องให้คนไทยฟังและตัดสินด้วยตัวเอง คงไม่ต้องอธิบายมาก เพราะสังคมจะพิจารณาและตัดสินเอง ว่าใครพูดอย่างไร และที่ผ่านมาเคยปฏิบัติอย่างไร
เมื่อถามว่า นายชวน ชูจันทร์ ว่าที่กรรมการบริหารพรรค ระบุว่าพรรค พปชร.จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ นั้น นายอุตตมกล่าวว่า ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด วันนี้เราไม่ได้มาเพื่อพูดเรื่องการเมือง และเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีคนพูดกันนานแล้ว และยังอีกไกลมาก เมื่อถึงเวลา เราจะมาหารือร่วมกัน แต่วันนี้พรรคยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะมาพูดคุยกัน
ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย และคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ถ้าอยากจะหาเสียงได้ทุกวันก็ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี แล้วมาลงพื้นที่หาเสียงเสีย เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันไหนๆ ท่านก็ยังกินเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชน และอยู่ในตำแหน่งที่สามารถให้คุณให้โทษได้ ดังนั้น ทุกพื้นที่ที่ท่านลงไป เจ้าหน้าที่รัฐต่างก็ต้องเกรงกลัวท่าน ทั้งเรื่องของการกินเงินเดือนจากภาษีประชาชนและตำแหน่ง ที่ท่านมีสิ่งเหล่านี้ติดตัวท่านไปด้วยในทุกที่
"ทุกวัน ไม่ว่าท่านจะบอกว่าท่านถอดหัวโขนหรืออะไรแล้วก็ตาม ท่านไม่ต้องมาโวยวายคนอื่นเขาว่าท่านเสียเปรียบที่หาเสียงได้เพียงวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะท่านสามารถลาออกแล้วลงมาสู่ถนนการเมืองให้เต็มที่ได้ ทุกวันนี้ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ไม่แฟร์อยู่แล้ว" นายสามาร ถกล่าว
เมื่อถามว่า รัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดยบอกว่าเป็นการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชน ไม่ได้ไปหาเสียง นายสามารถ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากพอถึงเวลาท่านก็อ้างว่าท่านไปรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน ทั้งที่ก็ลงไปหาคะแนนความนิยมในพื้นที่นั่นเอง เพียงแต่ถ้าเป็นพรรคอื่นลงไปจะเท่ากับเป็นการหาเสียงเท่านั้น
"การแก้ปัญหาง่ายๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม คือ คสช.ควรปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ และ 4 รัฐมนตรีที่มาเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองควรลาออกเสีย เพียงเท่านี้ก็หมดปัญหาทุกอย่าง ไม่ต้องมายึกยักเจตนาให้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ" นายสามารถระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |