การตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง จะวุ่นวายพอสมควร


เพิ่มเพื่อน    

 พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) หรือ พรรคชาติไทยเดิม ที่ถือว่าเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ของการเมืองไทย หากดูตามหน้าเสื่อการเมือง เป็นพรรคขนาดกลาง-เล็กที่ได้รับผลกระทบมากพอควรสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เพราะแกนนำ-อดีต ส.ส.หลายคนลาออกจากพรรคชาติไทยพัฒนาไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นจำนวนไม่น้อย อาทิ  กลุ่มพิจิตร ของประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์-ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รวมถึงเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีต รมช.คมนาคม อดีต ส.ส.พระนครศรีอยุธยาหลายสมัย-ชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี ขณะเดียวกัน ในสุพรรณบุรี ฐานเสียงหลักของพรรคชาติไทยฯ ก็เกิดปัญหาแตกคอกันเรื่องการส่งคนลงเลือกตั้งในระบบเขต จนณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี ออกไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย

สถานการณ์ของพรรค ชทพ.ในยามนี้ ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา-บุตรชาย บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีข่าวว่าจะขึ้นเป็น หัวหน้าพรรค ชทพ. ในการประชุมใหญ่พรรค ชทพ.ปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งในการให้สัมภาษณ์ทาง วราวุธ ยังออกตัวว่า ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะได้เป็นหัวหน้าพรรค ชทพ.หรือไม่ แต่หากคนในพรรคโหวตเลือกมอบความไว้วางใจ ก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

“ทุกวันนี้พรรคชาติไทยพัฒนาคือบ้านของผม เป้าพุ่งมาที่ผมเพียงเพราะว่านามสกุลศิลปอาชา ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับพรรคมานาน แต่ว่าสิ่งสำคัญวันนี้คือพรรคต้องอยู่ให้ได้

บ้านนี้คือบ้านของผม จะเรียกว่าเป็นเจ้าบ้านหรือลูกบ้าน ก็บ้านผมเหมือนกัน วันนี้เรายังไม่ได้มีการเลือกหัวหน้าพรรค เพียงแต่คาดกันว่าเป็นผม แต่ถึงวันนั้นจริงๆ ทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนแปลงก็ได้ ผมไม่ได้ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ ยึดติดแค่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ในวันที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ไม่อยู่แล้ว พวกเราต้องอยู่ให้ได้”

ส่วนเรื่องอดีต ส.ส.-แกนนำพรรคทยอยออกจากพรรค ชทพ.ไปในเวลานี้ โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะมีอดีตนักการเมืองคนดังต่างพรรค จะเข้ามาอยู่กับพรรค ชทพ. เรื่องนี้ วราวุธ บอกว่า ขณะนี้พรรค ชทพ.ได้ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคคอยให้การสนับสนุน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง มีการย้ายเข้า-ย้ายออกของอดีต ส.ส.ภายในพรรค ที่ก็มองว่าเป็นปกติธรรมดา แต่การโยกย้ายถ่ายเทอดีต ส.ส. บางทีคนที่มาอาจจะยังไม่ได้มาจริงๆ ก็ได้ คนที่ไปอาจไม่ได้ไปจริงๆ ก็ได้ ต้องรอดูวันที่ 23 พ.ย.61 (วันที่หากมีการเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 ผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองใดต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นไม่น้อยกว่า 90 วัน) ที่ถึงตอนนั้น จะเห็นชัดว่า อดีต ส.ส.คนไหนอยู่พรรคไหนบ้าง

...วันนี้ที่บอกไปอยู่พรรคนั้นพรรคนี้มันยังไม่แน่ เพราะรู้กันอยู่ว่า เวลาจะสมัครเข้าพรรคก็แค่เซ็นใบสมัคร เวลาจะออกก็แค่เซ็นทีเดียว ลาออกได้เลย ง่ายมาก อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เรามีคนมาสมัคร ทั้งอดีต ส.ส. จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ซึ่งยังมีเข้ามาเรื่อยๆ ที่สำคัญคือ วันนี้ผู้ใหญ่ในพรรค ทั้งนายประภัตร โพธสุธน นายจองชัย เที่ยงธรรม นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ซึ่งดูแลพื้นที่เลือกตั้งทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน ยังให้การช่วยเหลือกันอยู่

ส่วนอดีต ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นนายชาดา ไทยเศรษฐ์ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ที่ออกจากพรรคไปอยู่กับภูมิใจไทย  เห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่พอเวลาจบฤดูกาล แต่ละคน ซึ่งเราให้ความเคารพในการตัดสินใจว่า เมื่อไปแล้วได้อิสระในการทำงาน หรือว่ามีอะไรที่ลงตัวมากกว่ากับสังกัดใหม่ ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าในวงการการเมือง บางทีไปแล้วไม่ได้ไปลับ ไม่ต่างอะไรกับการย้ายสโมสรของนักเตะในวงการฟุตบอล เมื่อไปแล้วเราก็เคารพการตัดสินใจ แต่ในอนาคตอาจจะได้กลับมาร่วมงานกันใหม่ก็ได้

..เราก็หาคนใหม่เข้ามา ซึ่งผมคิดว่าเราก็มีอะไรดีๆ เข้ามาเหมือนกัน บางทีมันข้อจำกัดบางอย่างที่เราไม่สามารถบอกได้ แต่อย่างที่บอกว่าเมื่อถึงวันที่ 23 พ.ย.61 ทุกพรรคจะต้องหงายไพ่ออกมาหมดแล้วว่าใครอยู่พรรคไหน

..เป้าหมาย ส.ส.ที่พรรค ชทพ.ตั้งเป้ากันไว้ก็อยู่ที่ 20-30 ที่นั่ง คือเราไม่ใช่พรรคใหญ่ หากเราได้ตามนี้ก็ดีใจแล้ว โดยตั้ง ส.ส.เขตไว้ที่ 10-15 ที่นั่ง แล้วปาร์ตี้ลิสต์ก็ตัวเลขใกล้เคียงกัน แต่จะได้หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่เราตั้งเป้าไว้ก่อน  ส่วนแคนดิเดต รายชื่อนายกฯ 3 ชื่อ พรรคคงเสนอด้วยตอนเลือกตั้ง แต่จะมีชื่อไหนบ้าง ต้องคุยกันในที่ประชุมพรรคให้ที่ประชุมตัดสิน ว่าสุดท้ายจะเสนอกี่ชื่อ และใครบ้าง ซึ่งหากพรรคเสนอชื่อผม ก็พร้อม ไม่กลัวอยู่แล้ว

มีเหมือนกัน บิ๊กเนมเข้าชาติไทยฯ

- คนของพรรคที่ออกไประดับเกรดเอก็ออกไปมากแล้วคนจะเข้ามามีเกรดเอหรือไม่?

มี ก็จะฮือฮาไม่แพ้กัน แต่ว่าเขาขอเคลียร์อะไรให้จบก่อน คือหลัง 23 พ.ย. ทุกพรรคจะเห็นชัดหมด เรื่องความคาดหวังว่าจะได้ ส.ส.กี่คน เราก็ต้องคาดหวังและทำให้เต็มที่เพื่อให้ได้ตามที่คาดหวัง แต่หากผลออกมาแล้วไม่เป็นอย่างที่คิดก็อย่าได้แปลกใจ คือวันนี้พรรค ชทพ.ผ่านการเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ก็ต้องตั้ง ไม่เช่นนั้นก็จะทำงานแบบไร้จุดหมาย แต่ผลลัพธ์ออกมาก็ดูที่ว่า เราได้เท่าไหร่ ดีกว่าจะมองว่าหายไปเท่าไหร่ เพราะหากคิดว่าหายไป มันก็จะหมดแรงใจทำงาน แต่คิดว่าเราได้มาขนาดนี้ ผมลงทำงานการเมืองเต็มตัว ได้มาขนาดนี้ ก็กำไรแล้ว จากนั้นก็ลุยกันต่อไป ไม่ได้เดือดร้อนอะไร

เมื่อถามว่า หากในที่ประชุมใหญ่เลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค จะมีทิศทางทำงานทางการเมืองอย่างไร วราวุธ ยังสงวนท่าทีในเรื่องนี้ โดยกล่าวแค่ว่า เมื่อพรรคยังไม่ได้มีการประชุมใหญ่ ที่บอกกันว่าวราวุธต้องเป็นหัวหน้าพรรค หรือคนนั้นคนนี้จะเป็นอะไรในพรรค ยังมาไม่ถึง แต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคสำหรับผมไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือ พรรคชาติไทยพัฒนา สำหรับผมจังหวัดสุพรรณบุรีคือบ้านเกิด ผมพูดมาตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็แล้วแต่ บ้านหลังนี้ก็ยังเป็นบ้านของผมอยู่ ถ้าผู้ใหญ่ให้ความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าพรรค ผมก็ทำ ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ถ้าถึงเวลามีคนที่เหมาะสมกว่า หรือมีคนมีศักยภาพกว่า เราก็ไม่ขัดข้องเหมือนกัน

ไม่เชื่อ ทุกเสียงไม่ตกน้ำ

พรรคกลาง-เล็ก ได้เปรียบ

วราวุธ-แกนนำพรรค ชทพ. กล่าวถึงระบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว นับทุกคะแนนเสียง จนมีการมองกันว่า พรรคขนาดกลาง-เล็กจะได้ประโยชน์มากขึ้นจากระบบดังกล่าวทำให้มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น เรื่องนี้ วราวุธ วิเคราะห์ว่า บัตรเลือกตั้งใบเดียวมันเสียเปรียบทุกพรรค เพราะท้ายที่สุดแล้วคะแนนของ ส.ส. ยกตัวอย่างเช่น จะมีคะแนนเฉลี่ยเก้าอี้ ส.ส. อยู่ที่ประมาณ 70,000 เสียง เท่ากับว่าในเขตเลือกตั้งหนึ่ง ถ้า ส.ส.คนหนึ่ง ได้คะแนน 40,000 เสียง อีกคนได้คะแนน 30,000 เสียง อย่างนี้คนที่แพ้กำไรกว่าคนชนะ เพราะว่าคนชนะได้คะแนน 40,000 เสียง ขณะที่ค่าเฉลี่ยมัน 70,000 เสียง เท่ากับมันหายไป 30,000 เสียง นอกเสียจากว่า ผมลงสมัคร ส.ส. แล้วได้คะแนน 140,000 เสียง อย่างนี้ผมได้เขตแล้วยังได้ปาร์ตี้ลิสต์มาอีกคน

สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะจำนวน ส.ส.พึงมี มันต้องนำไปหักลบด้วยจำนวน ส.ส.เขตที่เรามี แต่ว่าคะแนนที่เราได้ทั้งหมดประเทศ พอเอา 70,000 ไปหาร สมมติว่าเราได้ ส.ส.พึงมี 30 คน ได้เขตไปแล้ว 17 เขต แปลว่าเราได้ปาร์ตี้ลิสต์อีก 13 คน แต่ถ้าใน 17 เขต ได้คะแนนกัน 20,000 หรือ 30,000 คะแนน แทนที่จะเอามาช่วย ทำให้โอกาสที่จะได้ปาร์ตี้ลิสต์มันน้อยลง เราก็ต้องมาวางแผนในการส่งผู้สมัครลงเขตต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เราตั้งเป้าไว้ 350 เขต โดยเอาคะแนนของคนที่ได้ที่ 2 ที่ 3 หรือที่ 4 มาช่วยกันในส่วนของคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ดังนั้น การเหลือบัตรใบเดียว ชาวบ้านผู้ลงคะแนนคงต้องคิดหนัก เพราะเมื่อก่อนเลือกคนที่เรารัก เลือกพรรคที่เราชอบ แต่พอเหลือบัตรใบเดียว ชาวบ้านต้องตัดสินใจแล้วว่าระหว่างคนกับพรรค สมมุตินโยบายพรรคก็ดี แต่ถึงเวลาผู้สมัครไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ส่วนพรรคอยู่ที่ กทม. แต่พอเลือกคน ดันชอบนโยบายของอีกพรรค ปัญหาจึงตกมาอยู่ที่ผู้ลงคะแนน

แล้วช่วงการคำนวณผลได้-เสียตอนเอ็กซิตโพล จะทำได้ยากมาก เพราะเมื่อก่อนเวลาลงคะแนนให้กับพรรคเสร็จ  เราจะรู้เลยว่าพรรคนั้นๆ กระแสมาขนาดไหน คาดเดาได้ แต่มารอบนี้ได้คนมาเพียบ ปรากฏว่าผลต้องไปคำนวณหักลบกับ ส.ส.พึงมีอีก ดังนั้น เอ็กซิตโพลที่จะออกมามันจึงเดาไม่ออกว่าแต่ละพรรคจะได้เท่าไร

 ผมพูดตรงๆ ว่า รอบนี้กว่าจะรวมคะแนนกันแบบไฟนอลได้ คิดว่ากินเวลาเป็นเดือน อย่างบัตรที่จะเอามาคำนวณจะนับเฉพาะบัตรลงคะแนนให้กับพรรคการเมือง แปลว่าบัตรเสีย และไม่ประสงค์ลงคะแนนก็ไม่นับ จะนับเฉพาะบัตรที่มีคะแนนให้กับพรรคนั้นๆ ต้องมานั่งรวมกันทั้งหมด แล้วมานั่งแบ่งสันปันส่วนกัน มันไม่ง่าย ยังไม่รวมใบเหลือง ใบแดง ซึ่งถ้าแจกใบแดงแล้ว ต้องลบคะแนนของคนนั้นออกไป ก็กระทบยอดใหญ่อีก ก็ต้องถัวเฉลี่ยกันใหม่ นี่เป็นเรื่องอีกยาวเลย 350 เขตทั่วประเทศ การที่จะให้มีปาร์ตี้ลิสต์ถึง 150 คน โอ้โห เป็นเรื่องที่มันไม่ง่าย

ผมไม่คิดว่าระบบใช้บัตรใบเดียวจะมีใครได้ประโยชน์สักคนเดียว เสียเปรียบกันหมดทุกพรรค เหมือนเมื่อก่อนพรรคเล็ก คะแนนพรรคสู้ไม่ได้ก็เอาเขตชัวร์ๆ ไว้ก่อน พรรคใหญ่ได้คะแนนเขตมา ก็ได้ปาร์ตี้ลิสส์ด้วย ก็กลายเป็นสองทาง พอมานั่งคำนวณผมเลยคิดว่ารอบนี้เสียเปรียบกันหมดเลย ยากจริงๆ ว่าคะแนนมันจะออกมารูปแบบไหน

รัฐบาลใหม่ตั้งยาก อยู่ลำบาก!

วราวุธ-แกนนำพรรค ชทพ. มองการเมืองในอนาคตโดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งด้วยว่า คงจะวุ่นวายพอสมควร เพราะคงไม่มีพรรคไหนได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และการทำงานของรัฐบาลหลังเลือกตั้ง จะมีความซับซ้อนมาก รัฐบาลต้องได้รับความเห็นชอบเรื่องนโยบายจากองค์กรอิสระด้วย ดูแล้วการขับเคลื่อนองคาพยพหลังเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ามีอะไรขึ้นมาแล้วยุบสภา เลือกตั้งใหม่ จะยิ่งหนักขึ้นไปใหญ่ เพราะพรรคการเมืองต้องทำไพรมารีโหวตทั้ง 350 เขต ตอนนั้นไม่มีมาตรา 44 ดูแล้ว รัฐบาลชุดหน้าน่าสงสารเหมือนกัน ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ เมื่อเข้ามาทำงาน

                - ช่วงการเลือกตั้ง การหาเสียงอาจถูกแบ่งเป็นสองขั้ว คือฝ่ายหนุน-ค้าน คสช. –พลเอกประยุทธ์ พรรคชาติไทยพัฒนาจะอยู่ตรงไหน?

                เรื่องนี้ต้องแล้วแต่มติที่ประชุมพรรคเป็นผู้ตัดสิน แต่ถึงตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่า พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี พูดว่าจะลงเล่นการเมือง แค่พูดแต่ว่าสนใจการเมือง คนก็ตีความไปต่างๆ ทั้งที่นายกฯ อยู่มาสี่ปีกว่า หากบอกไม่สนใจการเมืองก็ผิดปกติแล้ว เอาไว้ถึงเวลา หากนายกฯ ประกาศชัดว่าจะไปอยู่กับพรรคการเมืองใด แล้วเราค่อยมาถามเมื่อถึงตอนนั้นดีกว่า ว่าเราจะไปยังไงกันต่อ แต่สำหรับพรรคชาติไทยฯ เราเป็นองค์กรที่ทำอะไรก็แล้วแต่ต้องถกในองค์กร ต้องให้มติที่ประชุมพรรค ไม่ใช่ให้คนใดคนหนึ่งมาตัดสินหรือมาทำอะไร แต่เราต้องมาถกกัน มติที่ประชุมพรรคเห็นอย่างไร เราก็ต้องเห็นพ้องไปในทางเดียวกัน คงไม่สามารถตอบในนามส่วนตัวได้

                สำหรับเรื่องโอกาสจะเกิดนายกฯ คนนอก รัฐธรรมนูญเปิดช่องเอาไว้ ก็แสดงว่าคนเขียนกฎหมายคงคิดเผื่ออะไรไว้หลายอย่าง แต่สำหรับนายกฯ จะคนนอกหรือนายกฯ คนใน ก็เป็นเรื่องที่รัฐสภาจะตัดสิน เราตอบแทนไม่ได้

ถามย้ำว่า แล้วถ้าการแข่งขันช่วงเลือกตั้ง เกิดมีการสร้างกระแส แบ่งออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายหนุนประชาธิปไตย–หนุนเผด็จการ จะส่งผลต่อพรรคขนาดกลาง-เล็ก แบบชาติไทยพัฒนาหรือไม่ วราวุธ-แกนนำพรรค ชทพ. ให้มุมมองว่าผมว่า แค่วลีนี้ก็ขัดแย้งกันในตัวเองแล้ว กับที่บอกว่าเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย เพราะมันคือเลือกตั้ง ถึงเวลามันก็คือเลือกตั้ง จะบอกว่าเผด็จการ แต่ว่ามันก็อยู่ในสนามเลือกตั้งแล้ว ก็คือทุกคนก็ทำงานภายใต้ระบบการเลือกตั้ง ก็แล้วแต่ว่าใครจะรวบรวมเสียงข้างมากในสภาได้ ถึงเวลานั้นค่อยว่ากันอีกที

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกมองว่า พรรค ชทพ.เป็นพรรคเล็ก แต่ วราวุธ-แกนนำพรรค ชทพ. ย้ำว่า เบื้องต้นพรรคตั้งเป้าไว้ว่าจะส่ง ส.ส.เขตให้ครบ 350 เขต ทำให้ดีที่สุด แต่บางเขตมีผู้สมัครถึง 19 พรรค มันจะอะไรขนาดนั้น ก็ต้องมาดูกันไป อีกอย่างเงื่อนไขในการตั้งพรรคการเมืองสมัยนี้มันไม่ได้ง่าย ต้องเป็นกำลังใจให้พรรคใหม่ๆ ที่ตั้งขึ้น เพราะขนาดผมยังรู้สึกว่ามันยาก เงื่อนไขมันเยอะจริงๆ อย่างไม่นับการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าการเลือกตั้งครั้งต่อไป ในการที่จะต้องทำไพรมารีโหวตทั้ง 350 เขต แปลว่าผมต้องมีสมาชิกเขตละ 100 คน 350 เขต ก็ 35,000 คน บวกกับสาขาพรรคเหนือ-กลาง–อีสาน-ใต้ เพราะเขากำหนดมาว่าพรรคการเมืองต้องสาขาอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา และ 1 สาขา ต้องประกอบไปด้วยสมาชิกไม่ต่ำกว่า 500 คน แปลว่า 4 สาขา ต้องมีสมาชิก 2,000 คน บวกกับทุกเขตเลือกตั้งที่เราจะส่ง 350 เขต ที่ต้องมี 35,000 คน รวมเป็น 37,000 คน ถามว่าในเมืองไทยพรรคที่มีสมาชิกเป็นหลักหมื่นหลักแสนหรือหลักล้านมีแค่ไม่กี่พรรคเท่านั้นเอง พรรคเล็กๆ ตายหมด

 วราวุธ-ว่าที่ หน.พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีมีการมองกันว่าเลือกตั้งที่จะมีขึ้น พรรค ชทพ.จะยิ่งเล็กลงไปอีกว่า เป็นสิ่งที่คาดเดากันไป และเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วว่าวราวุธนั้นบารมีไม่เท่านายบรรหาร ถ้าเล็กกว่าที่นายบรรหารเคยทำไว้ก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลกอะไร ถ้าทำได้เท่ากัน หรือมากกว่าถือว่าเป็นที่คิดผิด เพียงแต่ว่าเลือกตั้งสมัยนี้ เป็นสมัยที่ผมทำงานการเมืองเต็มตัว จะอยู่ในสถานะใดก็แล้วแต่ ประสบการณ์ในการที่จะดำรงตำแหน่ง ในการที่จะมาเดินสนามการเมืองเต็มตัวมันยังน้อย ที่ผ่านมาเราเดินตามคำแนะนำของคุณพ่อ แต่พอวันที่นายบรรหารไม่อยู่ เราต้องออกมาฝ่าคลื่นลมเอง

 ทุกอย่างเหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่ ไม่ใช่ว่าพอเป็นลูกนายบรรหารมานับหกเลยมันไม่ใช่ ทางการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ผมจึงเหมือนนับหนึ่งใหม่ แล้วได้เท่าไรผมถือว่าเป็นกำไร ที่จะบอกว่าเล็กลงหรืออะไร ตรงนั้นเป็นวัฏจักรการเมือง นายบรรหารเองกว่าจะมาถึงวันนั้นใช้เวลาเกือบค่อนชีวิต 30-40 ปี แต่ผมเพิ่งทำงานการเมืองได้ปีกว่าเอง ดังนั้น เราจึงไม่ได้หวั่นไหวอะไร แต่ยืนยันว่าจะสู้เต็มร้อย

...แน่นอนว่า พรรคเราไม่ใช่พรรคใหญ่ที่จะตั้งเป้าว่าเราจะเป็นนายกฯ ดังนั้น นโยบายที่เราจะนำเสนอให้กับสาธารณะมันจะต้องเป็นอะไรที่พูดได้ ประชาชนฟังแล้วคิดออก ทำได้ทันที หัวใจสำคัญของเราคือ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี มีกินมีใช้ ทุกวันนี้เศรษฐกิจไม่ดี จะทำอย่างไรให้คนในประเทศมีเงินในกระเป๋า ทำให้จนกระจุก รวยกระจาย ซึ่งแนวทางของเราจะเป็นนโยบายที่พอพูดออกมาแล้ว คนจะเห็นทันที ไม่ใช่ไปวาดฝันอะไรให้เขา

สิ่งที่เรามีคือ มีทั้งผู้หลักผู้ใหญ่และ 2 คนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทัพ ดังนั้น สิ่งที่เรามีจะเป็นการบาลานซ์ระหว่างเหล้าใหม่และเหล้าเก่าผสมกัน นโยบายของเราอาจจะไม่ได้ตั้งธงว่าจะต้องเป็นนายกฯ เพราะเราไม่ใช่พรรคไซส์ใหญ่ แต่นโยบายของเราต้องเข้าไปเปลี่ยนความเป็นอยู่ของประชาชนได้

..อย่างเรื่องเกษตรจะเป็นส่วนหนึ่งสำคัญของนโยบายเรา เพราะวันนี้เราเถียงกันอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เกษตรกรก็ยังไม่มีเงินใช้ ทั้งที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ จึงต้องเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกร หากเกษตรกรของเรามีความรู้ทางการเกษตรมากขึ้น ผลผลิตสามารถขายได้โดยที่เราใช้วิทยาการ ใช้การตลาดเข้ามาช่วย ไม่ใช้ตะบี้ตะบันผลิตอย่างเดียว ท้ายที่สุดแล้ว หัวใจสำคัญของประเทศไทยคือ คนกว่า 70-80 ล้านคน ที่ทำหน้าที่เป็นเกษตรกร ทำอาชีพเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นปศุสัตว์ ทำนาทำไร่ ทำประมง คนเหล่านี้ถ้าอยู่ได้ มีกินมีใช้ เงินมันจะผันจากข้างล่างขึ้นมา แนวทางของเราคือ ทำอะไรที่เป็นไปได้ ไม่ใช่ขายฝัน

วราวุธ พูดเรื่องแนวทางเรื่องการศึกษาของพรรคชทพ. ไว้ด้วยว่า เรื่องการศึกษา เป็นแผนระยะยาวที่ต้องแก้ เพราะเป็นเบื้องลึกสุดของปัญหาต่างๆ แนวทางนี้จะทำได้ ไม่ใช่ได้ใช้เวลา 3 เดือน 7 เดือน แล้วเห็นผล มันต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปี มันต้องเริ่มต้นขั้นตอนกระบวนการทำ 2-3 ปี กว่าจะไปแก้ตรงรากฐานมันได้ ดังนั้น สิ่งนี้ถ้าเราได้โอกาสมาทำงาน เราจะมีกลไกในการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายด้านการศึกษา เพื่อจะมาเปลี่ยนความคิดอะไรทั้งหมด ต้องเป็นการกระจายอำนาจสู่ทุกๆ จังหวัด แล้วฟังเสียงจากข้างล่างขึ้นมาสู่ข้างบน ไม่ใช่จากข้างบนลงไปข้างล่าง

ถ้าเราไปพูดเรื่องประเด็นการศึกษา ชาวบ้านก็จะนั่งฟังแล้วร้องโอ้โห ต้องใช้เวลาถึง 20 ปีเลยหรือ แต่ผมบอกแล้วว่านี่เป็นแผนระยะยาว แต่แผนระยะสั้นเราก็มีเอาไว้ว่าจะทำ 1 2 3 4 ไม่ได้ออกมาแบบคลุมทั้งหมด เพราะเราไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราพูดกันในหลักความเป็นจริง เราไม่ใช่พรรคขนาดใหญ่อยู่แล้ว เราจึงคิดในสิ่งที่เป็นไปได้ และสิ่งที่เราสามารถทำได้ กระทรวงไหนจะเป็นอย่างไร เรามาคิดในเรื่องให้เป็นแผนปฏิบัติการให้ชัดเจนดีกว่า

ยอมรับโอกาสพรรคจะเล็กลง

- ภาคกลางซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรค ชทพ.จะรักษาเอาไว้อย่างไร?

แน่นอนว่าต้องมีผู้ท้าชิงขึ้นมา ไม่มีอะไรที่เป็นสัจธรรมดาวค้างฟ้า มีขึ้นก็มีลง มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น รอบนี้หากไซส์มันจะลดลงบ้าง ก็ถือว่าเป็นสัจธรรมของวงการการเมืองไทย

 หน้าที่ของผมจะทำอย่างไรให้พรรคชาติไทยพัฒนาเดินไปข้างหน้าเคียงคู่กับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะหัวหน้าพรรคหรือลูกพรรค เพราะที่นี่คือบ้านของผม ถึงผมจะเป็นลูกพรรคคนหนึ่งก็ต้องผลักดันให้พรรคของเรามีความยิ่งใหญ่ และดึงคนเข้ามาให้ได้มากที่สุด

...ส่วนเรื่องการขยายฐานเสียงไปยังพื้นที่อื่นเช่นภาคใต้ ที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ เรื่องนี้ ประเด็นของผมคือ เอาตัวให้รอดก่อน อย่าเพิ่งไปขยายเยอะ ตัวเองยังจะไม่รอดเลย แล้วจะไปเอาอันนั้นอันนี้ ตอนนี้คือ รักษาฐานที่มั่น ส่วนที่ จ.สุพรรณบุรี เราพยายามจะเอาให้ได้ให้ครบทั้ง 4 เขต ก็มีข่าวอะไรต่างๆ ออกมามากมาย ซึ่งวันที่ 23 พ.ย.61 จะชัดเจนว่าแต่ละเขตจะออกมาแบบไหน ส่วนกรณีที่นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ย้ายไปพรรคเพื่อไทย วันนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าท่านไปแล้วท่านจะกลับหรือเปล่า อาจจะกลับมาก็ได้ แต่ถ้าไม่กลับมาก็คงต้องคุยกัน คือสิ่งที่ผมพูดก่อนหน้านี้ว่าเขตดังกล่าวจะไม่ส่ง เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ถึงเวลาต้องดูคณะกรรมสรรหาผู้สมัครและผู้ใหญ่ในพรรคว่าตกลงจะเอาอย่างไร เพราะทุกอย่างที่เราทำในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องทำในรูปแบบของสถาบัน ต้องดูมติพรรคว่าลุยไหม หรือจะถอย ต้องถามผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ใช่แค่ผม

วราวุธ-แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ยังกล่าวถึงความพยายามผลักดันการสร้าง นิวบลัดพรรคชาติไทย หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ทำมาแล้วหลายเดือนว่า ต้องบอกตรงๆ ว่าพรรคการเมืองทุกพรรค ถ้าจะไปข้างหน้าได้ต้องประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็นการเข้ามาเสริมทัพ แต่การจะไปข้างหน้าได้ขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ต้องใช้คนรุ่นเก่าเป็นหลัก และใช้คนรุ่นใหม่มาเสริม ในการที่จะมีไอเดียใหม่ๆ เข้ามา ไม่อย่างนั้นตายแน่นอน

สิ่งที่เรานำเสนอคือ พรรคชาติไทยพัฒนาของเราก็มีทีมงานคนหนุ่มเข้ามาทำงานด้วยเหมือนกัน แต่หัวใจที่จะทำให้พรรคเดินไปข้างหน้าได้คือต้องไปด้วยกัน ถ้าหนุ่มอย่างเดียวก็ตายหมู่ เก่าอย่างเดียวก็จะไปวนอย่างเดิม ดังนั้น เราต้องช่วยกัน ทุกองค์ประกอบของเครื่องจักรที่ชื่อชาติไทยพัฒนา จะเป็นชิ้นส่วนใหม่ ชิ้นส่วนปัจจุบัน หรือเก่ากึ้กแล้ว อย่างไรก็ต้องเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เอาเฟืองใหม่เอี่ยมเข้ามา แต่มันยังไม่ลื่น ติดๆ ขัดๆ ก็ต้องใช้เฟืองตัวเก่าๆ เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานการเมือง

ส่วนกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก เห็นว่ากลุ่มผู้ใช้สิทธิ์กลุ่มดังกล่าว จะต้องมีไอดอลให้กับเขา จะต้องมีนโยบายที่จับต้องให้กับเขา ต้องไม่ใช่นโยบายขายฝัน ต้องพูดแล้วออกมาเขาเห็นภาพว่าทำแล้วเขาได้อะไร จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรบ้าง และพวกเขามีสิทธิ์ที่อยู่ในมือที่จะมาร่วมกำหนดอนาคตของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม สังคมไทยตอนนี้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมามุ่งเฉพาะกลุ่ม first voter ไม่ได้ แต่ต้องดูด้วยว่ากลุ่มผู้สูงอายุ ข้าราชการบำนาญ–เกษียณอายุแล้ว ต้องการอะไร กลุ่มนี้ก็มีความสำคัญ แต่จริงๆ ทุกกลุ่มสำคัญหมด เพราะหากพูดถึงประเทศไทยเรา ตอนนี้กลุ่มผู้เกษียณอายุเยอะกว่ากลุ่ม first voter อีก จะไปมุ่งแต่ว่าจะไปซื้อใจกลุ่มดังกล่าวอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูองค์รวม

- ต่อจากนี้พรรคชาติไทยพัฒนาต้องรีแบนด์พรรคกันใหม่หรือไม่ เพราะก็ยังมีการใช้คำพูดเดิมๆ เรียกขานพรรคอยู่ เช่น พรรคปลาไหล?

ที่ผ่านมา พรรคเราก็ทำงานมาเกือบทุกตำแหน่งแล้ว ทั้งแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล แกนนำฝ่ายค้าน พรรคร่วมฝ่ายค้าน เราจึงไม่ได้เดือดร้อนในการจะไปจ้องเสียบหรือเป็นปลาไหล และที่สำคัญเราเป็นพรรคที่ยึดมั่นในคำพูดของเรา ที่บอกว่าปลาไหล แต่หากไปดูก็จะพบว่าพรรคไม่เคยผิดคำพูดกับใคร ก็ยังสงสัยว่าวาทกรรม วลีการเมืองที่ออกมามันตรงกับความจริงหรือไม่ หรือพูดเพียงเพื่อความสะใจ แต่ก็ไม่เป็นไร เราเป็นอย่างไร เรารู้ดีสุด

ถามปิดท้ายว่าอนาคตพรรคชาติไทยพัฒนาต่อจากนี้ จะเหมือนกับทีมฟุตบอล สุพรรณบุรี เอฟซี ที่ฤดูกาลหน้ายังได้อยู่ในไทยพรีเมียร์ลีก ต่อหรือไม่ วราวุธ-ประธานสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี เอฟซี กล่าวว่า ยังไม่รู้เพราะสุพรรณ เอฟซี ผลออกแล้ว แต่ชาติไทยพัฒนาผลยังไม่ออก แต่ผมประกาศตั้งแต่ต้นฤดูกาลแล้วว่า สโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี ขอไม่ตกชั้น ที่สุดท้ายก็รอด ไม่ได้บอกว่าจะอยู่ในท็อปไฟว์ เพราะปีนี้ทีมตกชั้นมีห้าทีม เพราะรู้อยู่แล้วว่าสู้กันหนัก ผมก็ทำได้ตามสัญญา ตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

..................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"