ทัศนะ ความเห็น แนววิเคราะห์ต่อการเมือง การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า ในความเห็นของคีย์แมนคนสำคัญในวงการการเมืองไทย สุเทพ เทือกสุบรรณแกนนำ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) - อดีตเลขาธิการ กปปส. - อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่ในวงการการเมืองไทยมาหลายสิบปี เขาอ่านกระดานการเมือง-การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยเชื่อว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เข้าสู่การเมือง การตั้งรัฐบาลที่จะมีขึ้นหลังเลือกตั้ง คนที่มีโอกาสจะจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นฝ่ายแรกก็คือฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
การวิเคราะห์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเราถามว่า ในฐานะที่มีประสบการณ์การเป็นผู้จัดการรัฐบาลมาก่อน เคยอยู่พรรคการเมืองใหญ่ มองว่าหลังเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นหรือไม่ที่ต้องให้พรรคที่ได้เสียง ส.ส.มาอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลก่อน โดย สุเทพ แกนนำพรรค รปช. - อดีตผู้จัดการรัฐบาลสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุว่า ผมมองว่าตอนนี้เงื่อนไขมันเปลี่ยนไปแล้ว วันนี้อยู่ที่ใครรวมเสียงได้เกินครึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว.อีก 250 คน ใครที่รวมเสียงได้ 376 เสียงขึ้นไป ก็จะได้จัดตั้งรัฐบาล
“วันนี้คนที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นคนแรกคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากท่านยืนยันว่าสนใจงานการเมือง จะทำงานการเมืองต่อ เพราะว่าท่านมีเสียง ส.ว.อยู่ 250 เสียง โดยในจำนวนนี้เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน คสช.แต่งตั้งอีก 194 คน และอีก 50 คนที่เลือกกันเอง ที่แม้จะมีคะแนนเสียงแตกไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็ต้องมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ส่วนหนึ่ง หมายความว่ามีเสียง ส.ว.แล้วกว่า 200 เสียง ต้องการเสียงจาก ส.ส.อีกเพียง 176 ก็พอแล้ว ผมคิดว่าเขามีโอกาสมากกว่าคนอื่น เว้นแต่วันนั้นจะเกิดสถานการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ที่เราก็ไม่รู้ สุเทพ แกนนำพรรค รปช. - อดีตเลขาธิการ กปปส. วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
สุเทพ กล่าวต่อว่า แต่การเมืองหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลหลังเลือกตั้ง จะเป็นคนละอย่างกับรัฐบาล คสช.ที่เป็นอยู่เวลานี้ เพราะวันนี้เรียกได้ว่า คสช.เป็นกลุ่มเดียว แต่รัฐบาลหลังเลือกตั้ง อย่างที่ผมบอก จะไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง ก็จะเป็นรัฐบาลผสม ที่ตอนตั้งรัฐบาลต้องมีการเจรจากัน ทุกอย่างจะไม่เป็นอย่างที่ คสช.ต้องการฝ่ายเดียวแล้ว อย่างไรก็ตาม มองว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเรียบร้อย ประชาชนคนไทยมีประสบการณ์การเมืองมาก พบเห็นอะไรเยอะ และรู้ว่าทุกฝ่ายต้องดูแลบ้านเมืองให้เสร็จเรียบร้อย ส่วนที่ใครเป็นห่วง ผมไม่ห่วง ผมเชื่อว่าดีขึ้น เรียบร้อย
ถามถึงว่า แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจไม่ไปอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โอกาสเกิดนายกฯ คนนอกมีความเป็นไปได้หรือไม่ สุเทพ แกนนำพรรค รปช. ประเมินความเป็นไปได้ของสูตรนี้ว่า นายกฯ คนนอกคงเป็นไปได้ยาก คุณถามเรื่องใหญ่เลยนะนี่ (หัวเราะอารมณ์ดี) ถามพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลงบัญชีรายชื่อ แสดงว่าท่านไม่สนใจทำหน้าที่ต่อแล้ว คงยาก แต่ก็คงเป็นหน้าที่สมาชิกรัฐสภา 750 คน พิจารณาคนในบัญชีรายชื่อพรรคต่างๆ คนในเหมาะสม แต่คิดว่าคนนอกคงเกิดยาก เพราะต้องไปยกเว้นบทบัญญัติบางอย่างที่ขั้นตอนมันซับซ้อน ผมยังเชื่อว่าคนในคือคนที่พรรคการเมืองประกาศ จะได้รับการพิจารณาก่อน
ผ่าแผนทักษิณ-เพื่อไทย
แบงก์พันแตกเป็นแบงก์ร้อย
สุเทพ วิเคราะห์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยออกตัวว่า คงคาดยาก แต่ถ้าวิเคราะห์ตามสถานการณ์จริงวันนี้ ผมเชื่อว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียวที่จะมีเสียงข้างมากเด็ดขาด หรือมีเสียง ส.ส.เกินครึ่งของสภา
“พรรคการเมืองใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทย ผมคิดว่าวันนี้คะแนนนิยมของเขาคงลดลง 2 พรรคดังกล่าวได้แสดงอะไรที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับความคิดของประชาชน” สุเทพระบุ
...ยกตัวอย่างเช่นตอนที่มีการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 พรรคประกาศจุดยืนไม่รับรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่ามีประชาชน 16 ล้าน 8 แสนคน ลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่าประชาชนคิดไกลกว่านักการเมือง เพราะฉะนั้นค่านิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองใหญ่อาจลดลง ในลักษณะที่เห็นชัด
“พรรคการเมืองบางพรรคก็รู้สึกตัว ตระหนักตรงนี้ดี วันนี้ผมจึงได้พูดคำว่า บางพรรคใช้วิธีแตกแบงก์ 1,000 เป็นแบงก์ 100”
สุเทพ กล่าวขยายความเรื่องการใช้วิธี แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ของบางพรรคการเมืองว่า ขณะนี้ จะเห็นว่าบางพรรคแตกออกมาเกือบ 10 พรรค อาทิ พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ เยอะแยะเลย เพราะเขารู้ว่าการเมืองไม่เป็นแบบเดิมแล้ว พรรคเดียวจะมีคะแนนนิยมสูงไปไม่ได้ พวกนี้จึงแตกเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย เลือกขายตามตลาดแต่ละภูมิภาค บางพรรคมุ่งไปตลาดคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว คนวัยรุ่น บางพรรคหันไปหาคะแนนชาตินิยม คือไปมุ่งคะแนนเสียงในตลาดที่แตกต่างกัน แต่เราทำการเมืองทุกภูมิภาค ทั้งประเทศ รปช.ทำแบบนั้นอยู่
-ประเมินว่าขั้วพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อธรรม พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทยทั้งหมด รวมกันแล้วจะได้ที่นั่ง ส.ส.รวมกันเกินกึ่งหนึ่ง 250 ที่นั่งหรือไม่?
คือสุดท้ายพรรคเหล่านี้ก็จะมารวมกัน แต่ผมว่ารวมกันแล้วก็คงไม่เกิน เพราะพอแตกเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย อาจมีบางพรรคได้ ส.ส. 10-30 คน แต่รวมกันแล้วผมคิดว่าไม่เกิน
มั่นใจพรรคไม่เอาระบอบทักษิณ
รวมเสียงได้เกิน 250 เก้าอี้
-ถ้าเช่นนั้นก็คือเชื่อว่าฝ่ายอีกขั้วหนึ่ง เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรค รปช. หรือพรรคของนายไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาธิปัตย์ รวมกันแล้วจะเกินกึ่งหนึ่งมากกว่า?
หากรวมทุกพรรคที่ไม่ใช่พรรคของระบอบทักษิณ ผมมองว่าคงจะเกินครึ่ง แบบที่ผมบอกแล้ว หากพรรคของระบอบทักษิณได้ไม่เกินครึ่ง ที่เหลือก็จะเป็นของพรรคอื่นที่รวมกันแล้วก็เกินครึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
เมื่อถามย้ำว่า ถ้าเช่นนั้นขั้วฝ่ายหลังที่ถาม มีโอกาสจะจับมือกันตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ สุเทพ อดีตผู้จัดการสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ประเมินว่า การจัดตั้งรัฐบาลเป็นอีกเรื่องหลังการเลือกตั้ง ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วพรรคการเมืองต่างๆ ต้องเจรจากัน แต่ละพรรคก็มีนโยบายของแต่ละคน หากเป้าหมายไปกันได้ก็จับมือกัน อาทิ นโยบายเรื่องการศึกษา นโยบายด้านการเกษตร ก็มาคุยกันได้ หากตกลงกันได้ก็คงจับมือกันเป็นรัฐบาล
-พรรค รปช.พร้อมที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่?
มีหลายคนถามคำถามนี้กับผม แต่ความจริงคือ ตัวบุคคลจะเป็นใครยังไม่มีใครรู้เลย ถึงวันเลือกตั้งทั่วไป พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่หากพูดในหลักการ พรรค รปช.พร้อมจะร่วมมือกับพรรคการเมืองหรือบุคคลที่ยืนหยัดจะปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชน ใครรับหลักการ ใครยืนยันจะปฏิรูปประเทศ เราเอาด้วย แต่ที่แน่ๆ คือฝ่ายกระบวนการของคุณทักษิณคงร่วมกับเราไม่ได้อยู่แล้ว เพราะบางพรรคไปประกาศชัดเจนแล้วว่าจะฉีกรัฐธรรมนูญ ที่หมายความถึงว่าโอกาสในการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชนก็หายไปด้วย ต้องถอยหลังไปนับหนึ่งใหม่ หากเป็นแบบนั้นเราคงไม่เอาด้วย
สุเทพ แกนนำพรรค รปช. กล่าวถึงเป้าหมายทางการเมือง โดยเฉพาะตัวเลขเบื้องต้นจำนวน ส.ส.ที่คาดว่าพรรค รปช.จะได้หลังการเลือกตั้งไว้ว่า ที่ผ่านมาผมไม่มีโอกาสได้ขยับ โดยตั้งแต่เข้าไปร่วมกับคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันที่จะทำพรรคการเมืองของประชาชน ผมยังไม่มีโอกาสได้ออกมาเคลื่อนไหว เพราะยังติดขัดอยู่ แต่เรามั่นใจว่าเมื่อไรก็ตามที่เราได้เคลื่อนไหว พบปะผู้คน เรามั่นใจว่าจะมีคนเป็นแสนเป็นล้านมาร่วมเป็นเจ้าของพรรค รปช. เพราะนี้คือการสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีพรรคการเมืองของประชาชนในประเทศไทย คุณลองไปย้อนดูประวัติศาสตร์ มีพรรคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม, พรรคของจอมพลถนอม กิตติขจร, พรรคของนายบรรหาร ศิลปอาชา หรือพรรคของนายทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่มีพรรคการเมืองของประชาชนเลย
“เราจะสร้างพรรคการเมืองของประชาชนแท้ๆ ทุกอย่างกำหนดโดยประชาชน นักการเมืองเป็นผู้ปฏิบัติ ผมคิดว่าเรายังมีเวลา เมื่อเขาปลดล็อก เราจะทำได้” นายสุเทพกล่าวด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น
..ผมมองว่าในการต่อสู้ของประชาชนในปี 2556-2557 ที่จริงเขาต่อมายาวนานกว่านั้น ประชาชนตื่นตัว ตื่นรู้มาก พวกเขาเห็นว่าเป็นภาระหน้าที่ของประชาชนในการรับผิดชอบบ้านเมืองด้วยการสร้างการเมืองที่ดี ซึ่งการสร้างการเมืองที่ดี ต้องสร้างพรรคการเมืองที่ดีก่อน พรรคการเมืองที่ประชาชนไว้ใจได้ต้องเป็นพรรคการเมืองของประชาชน นั่นคือสิ่งที่ผมคิด และผมเชื่อว่าอย่างน้อยๆ มีคน 4-5 ล้านคน ในประเทศไทยที่จะสนับสนุนแนวทางนี้ แนวทางพรรคการเมืองของประชาชน ผมจึงมั่นใจอย่างน้อยที่สุด พรรครวมพลังประชาชาติไทย จะมี ส.ส.ทั้งบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 50 คน
สุเทพ แกนนำพรรค รปช. ย้ำว่า หากประชาชนลงคะแนนเสียงให้พรรค รปช. 3.5-4 ล้านเสียง คำนวณตามรัฐธรรมนูญ เราก็จะมี ส.ส. 50 คนทั่วไป ส่วนจะได้จากระบบแบ่งเขตเท่าใด ก็ต้องมาดูผลการเลือกตั้ง เช่นสมมติว่าเราได้จากแบ่งเขตเลือกตั้ง 20 คน ที่เหลือต้องเป็นบัญชีรายชื่ออีก 30 คน อย่างนี้เป็นต้น เราไม่ได้ควาดหวังอะไรมากมาย แต่เราหวังว่า สิ่งที่ทำจะเป็นก้าวสำคัญของการเมืองในประเทศไทย ที่มีพรรคการเมืองของประชาชน
..สำหรับพรรค รปช. เรื่องรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ พรรคก็ต้องคุยกันก่อน แต่เวลานี้ยังไม่ได้คุย ต้องรอให้มีสมัชชาพรรค เราถึงจะได้คุยกัน เราจะส่งหรือไม่ บางทีเราเป็นพรรคเล็กๆ อาจคิดอีกแบบ บางทีอาจจะกันเหนียว ก็เสนอชื่อหัวหน้าพรรคไว้ด้วย ก็แล้วแต่ พรรคนี้ถามผมไม่ได้ ผมไม่ได้กำหนดเรื่องของพรรค แต่เป็นประชาชนกำหนด เพราะโดยโครงสร้างอำนาจอยู่ที่ประชาชน ผมเป็นเพียงผู้ปฏิบัติงานคนหนึ่ง และที่ผมตัดสินใจมาทำงานพรรคการเมืองครั้งนี้ ผมมาเพื่อรับใช้ประชาชน ผมไม่รับตำแหน่งใดๆ ในพรรค ไม่ลงสมัครส.ส.ทั้งบัญชีรายชื่อ ส.ส.เขต ถ้าพรรค รปช.ได้เข้าร่วมรัฐบาล ผมไม่รับตำแหน่งใดๆ ผมทำหน้าที่เป็นโค้ช อยู่ในมุมเป็นพี่เลี้ยง ไม่ได้เป็นนักกีฬา
สุเทพ ยังขยายความถึงกรณีที่เคยบอกว่าพรรครปช.จะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยสาเหตุที่ทำให้มีความเชื่อเช่นนั้น เป็นเพราะพรรค รปช.ไม่ใช่พรรคของจังหวัดหรือภาคใดภาคหนึ่ง แต่เป็นพรรคของคนทั้งประเทศ รวมพลังประชาชาติไทยเป็นการรวมพลัง คนทั้งประเทศ คือพรรคที่มีฐานของประชาชนทั่วประเทศ ใครเป็นรัฐบาลก็อยากเป็นพวกด้วย อยากนำไปร่วมงานด้วย ผมจึงมั่นใจ เพราะผมสัมผัสประชาชนมามากว่ามีประชาชนที่คิดแบบนี้อยู่ทั่วประเทศ โดยแนวทางของพรรคจะไม่ไปชวนพรรคอื่นหรือนักการเมืองอื่นๆ ให้มาเข้าสังกัด ไม่ต้องเอานักการเมืองเก่าๆ มา เป้าหมายเราคือการสร้างคนใหม่ในทางการเมือง
สุเทพ แกนนำพรรค รปช. ที่เป็นอดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์มาหลายสมัย กล่าวถึงพื้นที่เลือกตั้งภาคใต้ที่ต้องแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยอยู่มาก่อนว่า ประชาชนภาคใต้มีความคิด สนใจการเมือง ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ประเมินสถานการณ์จริงทางการเมือง เชื่อว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะได้รับคะแนนสนับสนุนจากพี่น้องชาวใต้เป็นกอบเป็นกำ สูสีกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่อยากเรียกว่าไปแย่งคะแนนเสียงกับประชาธิปัตย์ เพราะเป็นการแข่งขัน
ถามอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ว่ามองดูแล้วมีโอกาสจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่พรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกับพรรคเพื่อไทย สุเทพ ตอบว่า ก็เป็นข่าวอยู่ตลอดทั้งข่าวคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พบกับนายโภคิน พลกุล มีข่าวสายล่อฟ้าไปเจรจาเรื่องคดี ก็เป็นข่าวไป แต่ในพรรคประชาธิปัตย์ มีคนมีเหตุมีผลมาก ผมอยู่พรรคประชาธิปัตย์มา 37 ปี เชื่อว่ามีนักการเมืองประชาธิปัตย์ที่ ถึงอย่างไรต้องคิดถึงความอยู่รอดของประเทศ บางทีผู้นำพรรคคงไม่สามารถพาคนไปทำอะไรที่ขัดใจกับคนส่วนใหญ่ แต่ว่าถึงเขาจะจับมือกัน แต่ถ้าสองพรรครวมกันได้ 200 เสียง คงไม่มีความหมาย (นิ่งคิด) ผมว่ายากนะ ยากนะหากจะเกิดภาวะอย่างนั้น
ถ้าลงคะแนนได้
จะลงให้หมอวรงค์เป็น หน.ปชป.
สัมภาษณ์กันในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังอยู่ระหว่างที่กำลังหาเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. เลยถามถึงเสียงวิจารณ์และกระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีข่าวนายสุเทพเข้าไปเป็นคีย์แมน สุเทพ อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. กล่าวว่า เรื่องนี้ก็วิจารณ์กันไปมากเลย ผมขอเท้าความให้ฟัง เมื่อตอนลาออกจาก ส.ส. ก็ลาออกจากประชาธิปัตย์ และประกาศชัดเจนจะไม่กลับไปประชาธิปัตย์แล้ว เมื่อมาตั้งพรรคการเมืองร่วมกับประชาชน ผมก็ไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการของพรรคไหน ก็ดูแต่เรื่องพรรครวมพลังประชาชาติไทย เฉพาะเวลาที่ทำงานให้พรรค รปช. ก็เหนื่อยอยู่แล้ว จะไปแทรกแซงคนอื่นจึงไม่มี แต่เมื่อตอนนำการต่อสู้ร่วมกับมวลมหาประชาชน ก็มีแกนนำนักการเมืองหลายคนมาสู้ด้วย พอเสร็จแล้วเขาก็กลับพรรคของตัวเอง
...ตอนที่ผมมาตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่มีแกนนำ กปปส.มาร่วมเลย มีแต่ผมคนเดียวที่ร่วมกับประชาชนคนอื่น หลายคนก็กลับประชาธิปัตย์ บางคนก็ไปพรรคพลังประชารัฐ แต่เมื่อผมเป็นเจ้าของความคิด เรื่องต้องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปพรรคการเมือง ทำพรรคการเมืองให้เป็นพรรคประชาชน ให้พรรคการเมืองมีอำนาจเหนือพรรค เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารพรรคโดยตรงจากประชาชน ตอนแรกเขาไม่สนใจ ตอนหลังก็สนใจ ผมก็ยินดี ถือเป็นก้าวหนึ่ง ส่วนที่มีการแข่งขัน 3 คน คุณอภิสิทธิ์, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม, คุณอลงกรณ์ พลบุตร บังเอิญ นพ.วรงค์ขึ้นเวที กปปส.บ่อย มาพูดเรื่องทุจริตจำนำข้าว ประชาชนสนใจ โดยหมอวรงค์ก็ขึ้นเวที กปปส.มากกว่าคนอื่น คุณอลงกรณ์รู้สึกจะมาบ้าง คุณอภิสิทธิ์มาตอนต้นๆ ตอนสู้กฎหมายนิรโทษกรรม แต่พอยกระดับ ปฏิรูปประเทศ ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้มาด้วย แต่ตอนหลัง นพ.วรงค์ ไปบวชที่วัดสวนโมกขพลารามกับผม หลังมีการรัฐประหาร ..พอหมอวรงค์ลงแข่งขัน คนก็นึกว่าผมไปช่วย ซึ่งจริงๆ ผมก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะผมลงคะแนนให้ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ปชป.
ถามถึงกรณีนายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกปปส.ไปช่วย นพ.วรงค์ เลยมีการไปโยงกันมา สุเทพพูดเรื่องนี้ว่า อันนั้นมองแบบจงใจไปหน่อย ถาวรไปช่วยหมอวรงค์ แต่คุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ก็เป็นแกนนำกปปส. แต่ก็ไปสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ ทำไมไม่มีใครมาบอก ผมไปสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์บ้าง (หัวเราะ) อันนั้นก็แล้วแต่ ก็เป็นประเด็นข่าวไป
“แต่ถ้าถามผมว่าลงคะแนนให้ใคร ถ้าผมลงคะแนนได้ ผมลงคะแนนให้หมอวรงค์นะ เพราะเห็นว่าแกเอาจริง ตั้งใจ เป็นความใหม่ เป็นสิ่งใหม่ๆ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์”
ถามย้ำว่า ในคนที่ลงแข่งขันมีสามคน เหมือนเชียร์นพ.วรงค์เป็นพิเศษ สุเทพ แจงว่า ไม่ได้เชียร์ ไม่ได้เชียร์นะ อันนี้คุณถามเอง ผมก็พูด เพราะไม่มีสิทธิ์ไปทำอะไรได้ ไม่ได้เป็นสมาชิกแล้ว ขณะนี้ผมกำลังหาแต่สมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ได้ไปยุ่งกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และก็ไม่เชิญชวนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไปลงคะแนนให้หมอวรงค์ ส่วนความสัมพันธ์กับคุณอภิสิทธิ์ตอนนี้ก็โอเค ไม่มีปัญหาอะไร เคยร่วมงานกัน คุณอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้า ผมเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อผมมาทำพรรครวมพลังประชาชาติไทยร่วมกับประชาชนแล้ว ก็ไม่ได้มีอะไรที่ต้องไปผูกพันสัมพันธ์กัน
.............................................................................................................................
(2)
เส้นทาง-โรดแมปพรรครปช.
พรรคการเมืองของประชาชน
สุเทพ แกนนำ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย - อดีตเลขาธิการ กปปส. กล่าวถึงเส้นทางการเมืองของพรรค รปช. ก่อนจะเข้าสู่สนามเลือกตั้งว่า เรื่องการตัดสินใจตั้งพรรค รปช.นั้น เรื่องนี้ผมคิดอยู่หลายปี นับตั้งแต่สึกจากพระถึงหลังจากการร่วมชุมนุมต่อสู้กับพี่น้องประชาชนในปี 56 ถึง 57 แล้วผมก็บวชอยู่ที่วัดสวนโมกขพลาราม ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้กับบรรดาผู้ร่วมการต่อสู้เพื่อชาติเพื่อแผ่นดินที่เสียชีวิตไป
ผมไปบวชอยู่ปีเศษ แต่หลังจากลาสิกขาบทออกมา ผมก็เริ่มมีความวิตกกังวลเรื่องอนาคตทางการเมืองของประเทศไทย ทั้งนี้เพราะว่าตามความคาดหวังตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ได้ออกมาร่วมกันต่อสู้เพื่อชาติเพื่อแผ่นดินในคราวนั้น ประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแก้ไขข้อบกพร่องทั้งหลายในระบบที่ไม่ดี ไม่สมบูรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเมืองที่เลวร้ายไม่ให้ประเทศชาติตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของทางการเมือง ไม่ให้มีประชาธิปไตยแบบจอมปลอมต่อไป และที่สำคัญก็คือให้การพัฒนาประเทศเป็นไปโดยรวดเร็วตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งวันนั้นประชาชนก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศกัน 5 ด้านด้วยกัน
สุเทพ แกนนำพรรค รปช. กล่าวต่อว่า เรื่องแรกที่ประชาชนเรียกร้อง คือ ปฏิรูปการเมือง ต้องทำการเมืองให้เป็นการเมืองที่ดี เป็นการเมืองเพื่อประชาชน เป็นการเมืองเพื่อประเทศไทยอย่างแท้จริง และต้องเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเท่านั้น
ประการที่ 2 ประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการ วิธีการ และระบบในการแก้ไขป้องกันการทุจริตระดับชั้นให้ได้ผลอย่างจริงจัง
ประการที่ 3 ประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น เลิกระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้คงไว้เฉพาะราชการส่วนกลาง คือ รัฐบาล กระทรวง กรม แล้วก็ท้องถิ่นคือจังหวัด โดยยกจังหวัดขึ้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดมีอำนาจที่จะวางแผนพัฒนาจังหวัดของตัวเอง เป็นแผน 4 ปีจัดสรรงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับแผน 4 ปีในการพัฒนาจังหวัดนั้น โดยมีหัวหน้าคณะผู้บริหารจังหวัดเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ นายก อบจ.ก็แล้วแต่ เป็นหัวหน้าข้าราชการทั้งหมดของจังหวัดนั้น ทำอย่างนี้ถึงจะทำให้จังหวัดต่างๆ สามารถพัฒนาได้โดยเท่าเทียมกันพร้อมๆ กัน
ประการที่ 4 เรื่องสำคัญที่ประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างทันที ก็คือการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญมาก เราไม่ต้องการให้มีความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกต่อไป ดังนั้นจึงต้องปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการสาธารณสุข ปฏิรูปสังคม ต้องปฏิรูปเรื่องวิธีการกระบวนการในการยกระดับคุณภาพชีวิต ยกระดับรายได้ของพี่น้องประชาชน การดูแลแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนทั้งหลายนี่เป็นเรื่องใหญ่และต้องทำเป็นขบวนการ
และประการสุดท้าย คือ ประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตำรวจ ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมานั้น ได้เขียนบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนเอาไว้เกือบจะครบถ้วน แต่นักการเมืองพรรคการเมืองไม่ยอมรับการออกมารณรงค์ชักชวนประชาชนมาให้ลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือให้ลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้
...สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ผมเกิดความกังวลใจเป็นครั้งแรก สิ่งที่ผมได้ทำได้ในตอนนั้นก็คือ ผมก็ออกรณรงค์ด้วยตัวคนเดียว พูดผ่านทางเฟซบุ๊กไปถึงพี่น้องมวลมหาประชาชนทั้งหลายเชิญชวนให้ผนึกกำลังกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน ออกมาแสดงประชามติรับรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะผลักดันให้การปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
หลังจากนั้นเราก็ได้ติดตามเรื่องการปฏิรูปประเทศที่ทาง คสช.ได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา ก็พบความจริงว่าการปฏิรูปประเทศทำได้ยากมาก มีคนไม่เห็นด้วยมาก มีคนต่อต้านมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือบรรดาผู้มีอำนาจในวงราชการทั้งหลายไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง พอใจกับอำนาจที่มีอยู่ พอใจอยู่กับสถานภาพในปัจจุบัน และที่น่ากลัวที่สุดก็คือนักการเมืองที่ไม่แสดงความกระตือรือร้นในการที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ
สุเทพ ย้ำว่าสิ่งที่ผมคิดมากก็คือว่าพี่น้องประชาชนผู้รักชาติรักแผ่นดินได้เสียสละกันมาก เสียสละเวลาทำมาหากิน เสียสละเงินทองออกมานอนกลางดินกินกลางถนน ร่วมกันต่อสู้เพื่อหวังที่จะเห็นประเทศมันดีขึ้นเห็นการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศเป็นผลสำเร็จ คน 900 กว่าคนบาดเจ็บสาหัส 24 คนต้องเสียชีวิต มีทั้งเด็ก มีทั้งผู้หญิง มีทั้งผู้สูงอายุ มีทั้งคนหนุ่มคนสาว ผมถือว่าประชาชนได้ลงทุนมาก เสียสละมากเพื่อประเทศไทย เพื่อที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้น แต่ว่าเมื่อเห็นความไม่ราบรื่นในการปฏิรูป เมื่อเห็นการต่อต้านขัดขวางการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชน
“ผมก็เริ่มคิดว่าถ้าไม่มีพลังของประชาชนจำนวนมากมายมหาศาลช่วยกันผลักดันการปฏิรูปประเทศแล้ว ไม่มีทางที่จะปฏิรูปประเทศได้สำเร็จตามเจตนารมณ์ของประชาชน ตรงนี้ครับจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะสร้างองค์กรทางการเมืองที่จะเป็นการรวมพลังของประชาชนเข้าด้วยกัน เพื่อปฏิบัติภารกิจเรื่องของการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชนให้เป็นผลสำเร็จให้ได้ ความคิดที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริงจึงเกิดขึ้น”
เมื่อถามถึงกรณีคนออกมากล่าวโจมตีว่านายสุเทพกับคำพูดเคยประกาศว่าจะไม่กลับไปเป็นนักการเมืองอีก วันนี้มีคนกล่าวหาว่าตระบัดสัตย์ สุเทพ อดีตเลขาธิการ กปปส. แจงเรื่องนี้ว่าผมเป็นคนรักษาคำพูด ตอนที่ผมออกมานำพี่น้องประชาชนต่อสู้เพื่อชาติเพื่อแผ่นดินคราวนั้นผมได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และผมได้ประกาศว่า ผมจะไม่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว ผมจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกแล้ว ผมยืนยันกับประชาชนว่าการต่อสู้คราวนั้นไม่ได้ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ต่อสู้เพื่อหวังจะให้ผมมีประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง ผมจึงได้ประกาศไปอย่างนั้น และวันนี้ผมก็ยังรักษาสัจจะวาจานั้น
วันนี้ผมไม่ได้กลับไปพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่บรรดาเพื่อนฝูงแกนนำการต่อสู้ แกนนำ กปปส.ทั้งหลายก็กลับไปที่พรรคประชาธิปัตย์กันทั้งสิ้น และผมก็ยังยืนยันว่าผมจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. การที่ผมมาร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย กับพี่น้องประชาชนผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน ผู้มีเจตนารมณ์เดียวกันในการที่จะปฏิรูปประเทศมันเป็นการทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งในพรรครวมพลังประชาชาติไทย ผมไม่รับตำแหน่งอะไรเลย ผมไม่เป็นกรรมการบริหารพรรค ผมเป็นสมาชิกพรรคธรรมดาๆ คนหนึ่งเหมือนกับพี่น้องประชาชนทั้งหลายที่มาร่วมกันเป็นเจ้าของพรรค ผมมี 1 เสียง เท่ากับคนเหล่านั้น ไม่มีอะไรพิเศษกว่านั้น แต่ผมจะได้ใช้ประสบการณ์ทางการเมืองที่ผมเป็นนักการเมืองมาเกือบ 40 ปีเป็น ส.ส.ติดต่อมา 37 ปี เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี เคยเป็นรัฐมนตรี ผมคิดว่าประสบการณ์ของผมเป็นประโยชน์สำหรับพรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริง ผมมีความรู้ ผมมีความเข้าใจในสถานการณ์ทางการเมือง ผมรู้เท่าทันบรรดานักการเมืองทั้งหลาย และผมเห็นแนวทางที่จะพาประเทศไปข้างหน้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน
สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าผมสามารถทำตัวให้เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองที่แท้จริงของประชาชนได้ และผมก็ได้บอกกับทุกคนที่มาร่วมกันทำพรรคการเมืองพรรคนี้ว่าต้องตกลงกันว่า ผมไม่รับตำแหน่งอะไรในพรรคทั้งสิ้น ผมไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และเมื่อพรรคเป็นรัฐบาล ผมก็ไม่รับตำแหน่งอะไรในคณะรัฐบาล ผมขอเพียงเป็นที่ปรึกษา เป็นโค้ช เป็นผู้ช่วย ช่วยกันสร้างพรรคการเมืองของประชาชนให้แข็งแรง ช่วยกันสร้างนักการเมืองใหม่ใหม่ที่มีอุดมการณ์ มีความรักชาติ รักแผ่นดิน ไม่เห็นแก่ตัว ให้เขาสามารถทำหน้าที่ทางการเมืองได้อย่างเข้มแข็ง นั่นคือปณิธานของผม และการทำอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผมกลับไปสู่รัฐสภา ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะกลับไปสู่รัฐสภา ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะกลับไปเป็นนักการเมือง ผมเป็นแค่พี่เลี้ยงเท่านั้น
สุเทพ กล่าวถึงหลักการสำคัญของพรรค รปช.ว่า หลักการสำคัญของพรรคการเมืองพรรคนี้ที่ชื่อว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย คือการที่ให้พรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะว่าตั้งแต่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ไม่เคยมีพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริงขึ้นมาเลย ประเทศไทยเราไปดูประวัติศาสตร์การเมืองก็จะพบว่ามีพรรคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พรรคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พรรคของจอมพลถนอม กิตติขจร เรื่อยมาจนกระทั่งมาถึงพรรคของนายทักษิณ ไม่เคยมีพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของเลย พรรคการเมืองเหล่านั้นทุกพรรคมีเจ้าของพรรค และเจ้าของพรรคเป็นผู้ควบคุมสั่งการทุกเรื่องทุกราวในพรรค เป็นพรรคของเขา ไม่มีพรรคของประชาชน อย่างมากที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นในประวัติศาสตร์ก็คือมีพรรคการเมืองของนักการเมืองคือบรรดานักการเมืองอิสระทั้งหลายเมื่อไม่ต้องการจะอยู่ในสังกัดพรรคที่มีเจ้าของก็เลยมารวมตัวกันตั้งพรรคของตัวเองขึ้นมา ก็เรียกว่าเป็นพรรคการเมืองของนักการเมืองไม่ใช่พรรคการเมืองของประชาชนอยู่ดี
...แล้วอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่เราเห็นที่เราพบจากประสบการณ์จริงของคนไทยก็คือว่า นักการเมืองทั้งหลาย ส.ส.ทั้งหลาย เขาทำงานการเมืองเพื่อรับใช้เจ้าของพรรคการเมือง ไม่ได้รับใช้ประชาชน ไม่ได้รับใช้ประเทศชาติอย่างแท้จริง ตัวอย่างเลวร้ายที่สุดที่เราเห็นก็คือ ระบอบทักษิณ นายทักษิณเป็นเจ้าของพรรค นายทักษิณก็สั่งการลูกพรรค ลูกพรรคทั้งหลายก็ทำงานเพื่อรับใช้นายทักษิณ ทำถึงขนาดออกกฎหมายพิเศษเพื่อลบล้างความผิดอาญาให้กับนายทักษิณและสมุนบริวาร ที่กระทำความผิด ตั้งแต่การฉ้อโกงคอร์รัปชันจนถูกศาลพิพากษาจำคุก ทำความผิดอาญาในการฆ่าคนตาย ฆ่าประชาชน ฆ่าตำรวจ ฆ่าทหารทำความผิดอาญาวางเพลิง เผาทรัพย์ของห้างสรรพสินค้า โรงหนัง ร้านค้าของประชาชน เผาศาลากลางจังหวัด ทำความผิดเรื่องของการปล้นทรัพย์ ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกที่เขาจะออกกฎหมายลบล้างความผิดอาญาให้กับผู้ที่กระทำความผิดเหล่านี้ แต่ว่านายทักษิณก็สั่งให้ ส.ส.ที่เป็นบริวาร ออกกฎหมายที่เรียกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ใช้เสียงข้างมากในสภาใช้อิทธิพลในทางการเมืองผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ทั้งๆ ที่ประชาชนคัดค้านกันทั้งประเทศ แต่คนเหล่านี้เขาลุแก่อำนาจ เมื่อเขาสามารถกุมอำนาจทางการเมืองไว้ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เขาพร้อมที่จะใช้อำนาจนั้นโดยไม่เกรงใจประชาชน ไม่เกรงใจใครทั้งสิ้น ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของเขาตรงนี้มันเป็นตัวอย่างว่าถ้าปล่อยให้พรรคการเมืองเป็นอย่างนี้ไปทั้งหมด ไม่มีใครสนใจปัญหาของประชาชนจริงๆ ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะต่อสู้เพื่อให้ประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่มาต่อสู้เพื่อประเทศชาติอยู่รอดปลอดภัย
“หนทางเดียวที่เราจะทำได้ก็คือการตั้งพรรคการเมืองของประชาชน พรรคการเมืองของใครก็รับใช้ใครคนนั้น พรรคการเมืองของประชาชนก็รับใช้ประชาชน เพราะฉะนั้นหลักการสำคัญก็คือว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค”
สุเทพ กล่าวต่อไปว่า ความเป็นเจ้าของพรรคแสดงออกกันตรงไหน ดูตามข้อเท็จจริงตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เจ้าของพรรคก็คือคนที่เป็นผู้ออกเงินออกทุนในการตั้งพรรค ในการทำงานของพรรค พรรคคุณทักษิณเงินทองมาจากคุณทักษิณ บรรดาพี่ๆ น้องๆ ผู้ร่วมทุนของคุณทักษิณทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นความเป็นเจ้าของพรรคเขาดูที่เงินทุนพรรคการเมืองของประชาชนก็ต้องประชาชนเป็นเจ้าของทุน เป็นเจ้าของเงิน เพราะฉะนั้นพรรครวมพลังประชาชาติไทยจึงได้มีประชาชนเสียสละค่าบำรุงพรรคต่อปีแพงกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ถึงสามเท่าครึ่ง พรรคอื่นเขาเก็บค่าบำรุงพรรคกันปีละ 50 บาท แพงที่สุดก็ 100 บาท พรรครวมพลังประชาชาติไทยเก็บค่าบำรุงพรรคปีละ 365 บาท คิดเป็นวันก็วันละ 1 บาท ประชาชนเสียสละเงินวันละ 1 บาท เพื่อให้พรรคมีเงินทุนที่จะทำงานทางการเมือง แล้วเป็นเงินทุนที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานจากความเสียสละของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของทุน เป็นคนออกเงิน เป็นคนออกทุน สำหรับพรรค รปช.นอกจากเงินทุนแล้ว ประการที่สองที่สำคัญก็คือตัวคน หรือบุคลากรของพรรคตรงนี้ก็สำคัญ พรรคที่คุณทักษิณเป็นเจ้าของ คุณทักษิณก็เป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบไป คุณทักษิณก็มอบหมายให้คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค คุณสมัคร สุนทรเวช พ้นตำแหน่งไป คุณทักษิณก็เอาสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน พ้นจากคุณสมชาย คุณทักษิณก็มอบหมายให้น้องสาว คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้นำพรรคแทน เพราะพรรคนี้คือพรรคของคุณทักษิณ คุณทักษิณจะมอบหมายให้ใครมาดูแลพรรค มาบริหารพรรค ทำได้ทั้งนั้น แต่ว่าพรรคการเมืองของประชาชน พรรครวมพลังประชาชาติไทยคนที่จะแต่งตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคกรรมการบริหารพรรค คือประชาชน
เราจะดำเนินการประชุมสมัชชาพรรคให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศประชุมพร้อมกันในวันเดียวทุก 4 ปีแล้วเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค และเลือกกรรมการอื่นๆ ที่เป็นคณะกรรมการที่มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคณะกรรมการวินัยและจริยธรรมของพรรค นี่เรียกว่าประชาชนเป็นผู้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบพรรคของประชาชน ไม่ปล่อยให้คนอื่นมาแต่งตั้ง ประชาชนตั้งเอง
การกำหนดตัวบุคคลเพื่อทำงานการเมืองของพรรคนอกจากคณะผู้บริหารพรรคแล้วก็คือคนที่เป็น ส.ส.ในพรรคการเมืองทั่วไปคนที่จะเป็น ส.ส.หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคเป็นคนกำหนด ประชาชนไม่ได้กำหนด แต่ในพรรครวมพลังประชาชาติไทย ประชาชนในแต่ละจังหวัด ในแต่ละเขตเลือกตั้งเป็นคนกำหนดว่าใครจะลงสมัคร ส.ส.ในนามของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ได้เป็นอำนาจของหัวหน้าพรรค ไม่ได้เป็นอำนาจของคณะผู้บริหารพรรค ความคิดนี้เป็นความคิดของประชาชนที่มาร่วมชุมนุมกันปี 56, 57 และได้กลายมาเป็นบทบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญในกฎหมายพรรคการเมืองที่พูดกันถึง primary vote ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินว่าจะให้ใครลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรครวมพลังประชาชาติไทย
...และการที่จะให้คนไปเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล เราจะให้ประชาชนเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ไม่มีม้ามืด ไม่มีคนโนเนม ไม่มีการสอดไส้ คนที่จะมาทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะที่เป็นคณะรัฐมนตรีต้องเป็นบุคคลที่ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจและเห็นชอบให้ไปทำหน้าที่นั้นได้โดยจะมีกรรมวิธีในการขอรับความเห็นชอบจากประชาชนก่อนที่จะให้ใครเป็นรัฐมนตรี
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือการกำกับควบคุมความประพฤติพฤติกรรมของนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นคณะผู้บริหารพรรค ไม่ว่าจะเป็นคนที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือดำรงตำแหน่งอื่นในทางการเมือง ที่แล้วมาไม่มีใครควบคุม และเราต้องพบเห็นว่าบรรดา ส.ส. บรรดารัฐมนตรีเหล่านั้นได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองอย่างยับเยินในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ประเทศเสียหายกันมากมายเป็นสี่ห้าแสนล้านมาแล้ว การใช้อำนาจโดยมิชอบทำมาแล้วถึงขนาดจะออกกฎหมายพิเศษล้างความผิดให้อาชญากรที่ทำความผิดอาญาแผ่นดิน แต่ที่จริงมีลึกกว่านั้นนักการเมืองแต่ละคน ส.ส.แต่ละคนหาประโยชน์ที่มิชอบ แต่ไม่มีใครว่าใคร ประชาชนตระหนักแล้วว่าของสภาพอย่างนั้นอยู่ต่อไปไม่ได้
...พรรครวมพลังประชาชาติไทยจึงมีนวัตกรรมทางการเมืองที่เป็นพิเศษคือการแต่งตั้งคณะกรรมการวินัยและจริยธรรมของพรรคต่างๆ โดยประชาชนหรือประชาชนเป็นคนเลือกคนดีคนมีคุณธรรมคนที่ยึดมั่นในหลักการความซื่อสัตย์สุจริตมาเป็นคณะกรรมการวินัยและจริยธรรมของพรรค เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับควบคุมความประพฤติของส.ส.ของผู้บริหารพรรค และผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองในนามของพรรค เห็นอะไรไม่ดี เห็นความผิดปกติในความประพฤติ เอาออกทันที ไม่ปล่อยให้คนเหล่านี้ไปสร้างความเสียหายให้แก่ชาติบ้านเมืองต่อไป เราจะทำอย่างนี้ให้เป็นตัวอย่าง
สุเทพ แกนนำพรรค รปช. ย้ำว่า เมื่อพรรค รปช.ทำอย่างนี้พรรคอื่นก็จะต้องหาหนทางที่จะมาอธิบายกับประชาชน ว่าทำไมไม่ทำเช่นนั้น ความเป็นพรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริงอย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทยมันเป็นเรื่องที่ยังประโยชน์ให้เกิดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หลักการสำคัญของพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็คือว่า นักการเมืองของพรรคนี้ต้องเคารพประชาชน ต้องฟังคำสั่งประชาชน การทำงานทางการเมือง ทิศทางทางการเมือง นโยบายทางการเมืองของพรรค หรือต้องให้ประชาชนผู้กำหนดเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราเห็นนโยบายที่ไม่นำมาใช้ในการทำงานทางการเมืองที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติให้กับประชาชนอย่างมากมายมาแล้ว
ยกตัวอย่าง เช่น นโยบายประชานิยมทั้งหลาย เราเห็นกันมาแล้ว ประเทศเสียหายต่อหน้าต่อตาพวกเรามาแล้ว นั่นกำหนดโดยตัวนักการเมืองเองไม่ใช่โดยประชาชน และนโยบายเยอะแยะเลยที่เราเคยเห็นมาทั้งหมด พรรคการเมืองหรือนักการเมืองเป็นคนกำหนดนโยบายเอง และไปบอกประชาชน แต่พรรครวมพลังประชาชาติไทยจะให้ประชาชนเป็นคนกำหนดนโยบาย พรรคไม่มีใครรู้ปัญหาของประชาชนได้ดีกว่าประชาชน ไม่มีใครรู้ความทุกข์ความเดือดร้อนของประชาชนได้ดีกว่าตัวประชาชนเอง ไม่มีใครเข้าใจความใฝ่ฝัน ความคาดหวังของประชาชนได้ดีกว่าประชาชน เราออกไปรับฟัง ฟังประชาชนพูด ฟังประชาชนตั้งความหวัง ฟังความทุกข์ของประชาชน ฟังปัญหาของประชาชนแล้วมาสังเคราะห์กำหนดออกมาเป็นนโยบายของพรรครวมพลังประชาชาติไทย
หลักการสำคัญของเราก็คือว่าประชาชนคิดว่านักการเมืองเป็นคนทำ นักการเมืองมีหน้าที่ที่จะทำงานการเมืองด้วยความทุ่มเทเพื่อที่จะทำให้ความฝันความหวังของประชาชนเป็นจริง ทำให้ความทุกข์ยากของประชาชนหมดไป
สุเทพ แกนนำพรรค รปช. กล่าวว่า เรื่องการเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ประชาชนได้ประโยชน์อะไรนั้น คำตอบก็คือว่าเมื่อประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ประชาชนก็จะได้พรรคการเมืองเป็นของตัวเอง จะได้นักการเมืองมาเป็นผู้รับคำสั่ง เรียกว่าประชาชนเป็นนายของนักการเมือง เป็นผู้บังคับบัญชาของนักการเมือง ประชาชนก็จะได้นักการเมืองที่ประชาชนสั่งการได้ ประชาชนจะได้นักการเมืองที่ทำตามคำสั่งของประชาชน ในอดีตที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นนักการเมืองคนไหนที่อุทิศตัวเอง น้อมรับคำสั่งประชาชนและทำตามคำสั่งประชาชน เราได้พบความจริงมาโดยตลอดว่าประชาชนคนธรรมดาสามัญที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งเป็นชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร ทั้งที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ทั้งที่เป็นผู้หาเช้ากินค่ำขึ้นมาจนถึงประชาชนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ทั้งที่อยู่ในภาครัฐและในภาคเอกชน เรื่อยมาจนถึงพ่อค้าแม่ขาย คนธรรมดาสามัญชนเหล่านี้พูดอะไรไม่มีใครฟัง บ่นไปเถอะ ร้องไปเถอะ ทั้งปีทั้งชาติไม่มีใครได้ยินเสียงเรียกร้องไม่มีความหมาย
มันจะมีความหมายได้รับความสนใจขึ้นก็ต่อเมื่อถึงจุดที่ประชาชนทนทานต่อไปไม่ไหวแล้ว รวมตัวกันชุมนุมกัน เดินขบวนตั้งกลุ่มประท้วง อย่างนั้นถึงจะมีคนได้ยินเสียงประชาชน ถึงมีคนสนใจสภาพอย่างนั้น มันเป็นความวุ่นวาย มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการเห็น แต่ว่าไม่มีใครเคยบอกว่า จะแก้อย่างไร
วันนี้การที่ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมืองประชาชนจะแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ต้องเสียเวลามาเดินขบวน ไม่ต้องเสียเวลามาประท้วง เพราะประชาชนมีเครื่องมือที่จะทำให้เสียงของประชาชนดัง ประชาชนมีเครื่องมือที่จะผลักดันให้คนต้องออกมารับผิดชอบในการแก้ปัญหาของประชาชนเครื่องมือนั้นก็คือพรรคการเมืองของประชาชนที่ประชาชนสร้างขึ้นมาด้วยมือตัวเอง ต่อไปนี้ปัญหาของชาวไร่ ชาวนา เกษตรกรที่เกิดขึ้นติดต่อกันมาโดยตลอด ราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำจะไม่มีอีกแล้ว ที่เคยมีข้าราชการนักการเมืองออกมาแก้ตัวว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของตลาดโลก เป็นเรื่องของเศรษฐกิจโลก ไม่มีไม่มีคำแก้ตัวอย่างนี้ต่อไป จะมีแต่ว่ารัฐบาลจะต้องรับผิดชอบที่จะให้ชาวไร่ ชาวนา เกษตรกรเหล่านี้ มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี คือขายผลผลิตของตัวเองออกไปแล้วมีเงินเหลือพอที่จะกินใช้เลี้ยงครอบครัวได้ ไม่มีอีกแล้วที่จะมีความฝันลมๆ แล้งๆ ที่จะแก้ปัญหาคนจนให้หมดไปภายในเท่านั้นเท่านี้ เหมือนที่นักการเมืองทั้งหลายเคยพูด แต่ต่อไปนี้จะมีหลักประกันที่แน่นอนว่าคนจนที่อยู่ในเมืองทั้งหลาย ที่ไม่มีใครเคยพูดถึง คนจนที่อยู่ตามชนบททั้งหลาย วันนี้มีพรรคการเมืองของประชาชนที่จะคอยเอาใจใส่ดูแลที่รับจัดหามาตรการ หรือดำเนินมาตรการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาให้มีชีวิตอยู่ในระดับที่เรียกว่าพอเพียงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ขอเพียงมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียบพร้อม นี่คือสิ่งที่ประชาชนจะได้รับจากการเป็นเจ้าของพรรคการเมือง จะได้เห็นสิ่งใหม่เกิดขึ้น การทำการเมืองเพื่อประชาชนจะได้มีรัฐบาลที่จะต้องทำการเมืองเพื่อประชาชนอย่างจริงจังไม่มีข้อแก้ตัว ไม่มีข้อยกเว้น เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทำงานแก้ปัญหาประชาชน เลยมีพรรคการเมืองของประชาชนเป็นคนกำกับควบคุมผลักดัน
ถามถึงว่าที่บอกประชาชนสั่งพรรคหรือสั่งนักการเมืองของพรรคได้ทำอย่างไร สุเทพ แกนนำพรรค รปช. อธิบายว่า เอาว่าประชาชนสั่ง ส.ส.ได้ก่อน ที่แล้วมาในอดีตเราจะเห็นว่าประชาชนไปเลือกตั้งหย่อนบัตรลงคะแนนเลือก ส.ส.ตั้งแต่วันที่เขาได้เป็น ส.ส.4 ปีนับจากนั้น ไม่สามารถสั่งอะไรเขาได้ เพราะว่าเขาได้เป็น ส.ส. เขาก็ไปฟังคำสั่งหัวหน้าพรรค ไปฟังคำสั่งเจ้าของพรรค ไม่ฟังคำสั่งประชาชน เขาคิดว่าประชาชนไม่รู้อะไร ประชาชนไม่เข้าใจการเมือง พวกเขารู้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเขาเลือกทำตามที่เขาคิด ไม่ได้ทำตามที่ประชาชนคิด 4 ปีถัดมาเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งพรรคก็ส่งเขากลับมาสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นอีก ประชาชนก็ลงคะแนนเลือกตั้งให้อีกสมัย ส่งเสาไฟฟ้ามาลง ส่งเสาโทรเลขมาก็ต้องเลือก เพราะพรรคส่งมาแล้ว แต่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ประชาชนต้องสั่ง ส.ส.ได้เพราะประชาชนเป็นคนตัดสินใจตั้งแต่แรกว่าจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในนามพรรค ถ้าตัดสินใจส่งสมัครแล้วได้เป็นผู้แทนราษฎรแล้วไม่ฟังประชาชน ไม่สนใจประชาชน ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนกับปัญหาของประชาชน เที่ยวต่อไปประชาชนก็ไม่ส่งลงเลือกตั้ง นี่คืออำนาจในการควบคุม ส.ส.ของประชาชน นี่คือสิ่งที่เป็นหลักประกันว่าประชาชนสั่ง ส.ส.ได้
ผู้บริหารพรรคก็เช่นเดียวกัน หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค เลือกโดยประชาชนทั้งประเทศ ลงคะแนนเสียงโดยตรงทุก 4 ปี ประชาชนเจ้าของพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็ประชุมสมัชชาพรรคกันครั้งหนึ่งแล้วก็ลงคะแนนเสียงเลือกหัวหน้าพรรคเลขาธิการพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค ทำงานไม่ดี 4 ปีต่อมาก็เลือกคนใหม่ ถ้าประชาชนสั่งไม่ได้ไม่ทำการเมืองในทิศทางที่ประชาชนกำหนด ก็ไม่ต้องเป็นผู้บริหารพรรคต่อไป นักการเมืองจะได้มีความเคารพประชาชน จะให้ความสำคัญต่อประชาชนมากขึ้นอย่างจริงจัง
ที่สำคัญก็คือว่าประชาชนยังเลือกคณะกรรมการชุดพิเศษที่มีความหมายมีความสำคัญ ซึ่งไม่เคยมีในพรรคการเมืองไหนมาก่อนในประเทศไทย คือ คณะกรรมการวินัยและจริยธรรมของพรรค เราจะมีคนที่เป็นคนดีมีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักการแห่งความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม ประชาชนเลือกมาเป็นกรรมการวินัยและจริยธรรม ทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับควบคุมความประพฤติพฤติกรรมของนักการเมือง ถ้าเบี่ยงเบนออกไปจากแนวทางที่ประชาชนกำหนดเอาไว้ ก็ต้องออกจากตำแหน่ง ถูกประชาชนปลด
เพราะฉะนั้นนักการเมืองในพรรคนี้ตั้งแต่ ส.สไปจนถึงผู้บริหารพรรค ไปจนถึงผู้ที่พรรคมอบหมายให้ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมตรวจสอบของประชาชนจะต้องฟังคำสั่งประชาชนทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้คือความสำคัญของการที่ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค เป็นเจ้าของทุน เป็นเจ้าของอำนาจ เราจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าอำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นผู้กำหนดตัว ส.ส. ประชาชนเป็นผู้กำหนดตัวผู้บริหารพรรค ประชาชนเป็นคนกำหนดตัวผู้ไปเป็นรัฐมนตรีของพรรค ประชาชนควบคุมความประพฤติคนเหล่านี้ เพราะฉะนั้นคนทั้งหมดในพรรคนี้ประชาชนสั่งได้
สุเทพ แกนนำพรรค รปช. ยืนยันว่า พรรค รปช.ฟังผู้ที่มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนแต่ละกลุ่ม คนของพรรคออกไปฟังชาวนาชาวไร่ เกษตรกร แต่ละสาขาที่เป็นชาวนา ที่เป็นชาวสวนยาง ที่เป็นชาวสวนปาล์ม ที่เป็นชาวสวนผลไม้ ที่ปลูกมันสำปะหลัง ที่ปลูกข้าวโพด เราไปฟังปัญหาของท่านคืออะไร ความทุกข์ของท่านคืออะไร รู้หมดเราไปฟังคนที่เขาใช้ชีวิตหาเช้ากินค่ำ คนจนในเมืองต่างๆ คนที่ขายแรงงานมีความทุกข์อะไร มีปัญหาอะไร เราออกไปสัมผัสคนชั้นกลางมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย แล้วออกไปพบกับคนที่เป็นพ่อค้า แม่ขายที่เขาทำมาหากินโดยสุจริต ปัญหาคืออะไร การรับฟังปัญหา การรับความคิดเห็น การรับฟังความใฝ่ฝันความคาดหวังของเขา นำมารวมสังเคราะห์กันเป็นนโยบายของพรรค เรายึดในหลักการว่าประชาชนทั้งหลายเป็นผู้มีเหตุผล ฟังเหตุผลของประชาชน ระบอบประชาธิปไตยไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าอย่างอื่นนอกจากการเป็นปฏิบัติการเมืองบนพื้นฐานของเหตุผล และเหตุผลทั้งหลายคือเหตุผลที่ประชาชนเป็นผู้กำหนด พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงเคยสอนเอาไว้ ประชาธิปไตยต้องศรัทธาไว้วางใจประชาชน นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องศรัทธาและไว้วางใจประชาชน ประชาชนเป็นผู้มีเหตุผล ประชาชนสามารถกำหนดอนาคตของชาติได้ ประชาชนชี้ถูกชี้ผิดได้ นักการเมืองต้องเคารพประชาชนต้องเชื่อมั่นประชาชนเพราะฉะนั้นการไปรับฟังปัญหาการไปร่วมเสวนาจะเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะได้เป็นผู้กำหนดนโยบายของประเทศ
สุเทพ แกนนำพรรค รปช. กล่าวตอนท้ายว่าจริงๆพวกเราได้ใช้ชีวิตร่วมกับประชาชนมาตลอดชีวิต และที่สำคัญก็คือว่าในช่วงเวลา 204 วันของปี 2556 และ 2557 ขณะที่กินนอนอยู่ด้วยกันบนถนนในกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัดขณะที่เดินขบวนกันไปตามท้องถนนทุกสาย ประชาชนได้พูดคุยกันได้ปรึกษากันได้ เปลี่ยนความคิดเห็นกัน ได้ปรับทุกข์กัน แล้วสิ่งที่เป็นความใฝ่ฝันของของประชาชนคือต้องการเห็นการเมืองที่ดี การเมืองที่มีคุณธรรม การเมืองที่มีธรรมะ ที่เรียกว่า ประกอบด้วยธรรม มันเป็นการเมืองที่ทำเพื่อชาติ ทำเพื่อประชาชน นั่นคือสิ่งที่กลายมาเป็นนโยบายของพรรค มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติในพรรครวมพลังประชาชาติไทย จึงได้มีหลักการเรื่องมาตรฐานทางวินัยและจริยธรรมที่นักการเมืองจะต้องยึดถือประพฤติปฏิบัติ เมื่อนักการเมืองยึดถือปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรม อยู่ในกรอบวินัยแล้วการทำงานอื่นก็ง่ายขึ้น
...นโยบายอีกเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องมากก็คือ ธรรมาภิบาล การปฏิบัติราชการบ้านเมืองต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสสะอาด มีการบริหารจัดการที่ดี กระจายอำนาจให้กับประชาชนให้ประชาชนได้ตัดสินใจวางแผนในการที่จะพัฒนายกระดับความเจริญของสังคมของบ้านเมืองของครอบครัวตัวเอง จึงได้มีการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจ ให้เลิกราชการส่วนภูมิภาค เหลือเฉพาะราชการส่วนกลางกับท้องถิ่นพอแล้ว นโยบายอีกประการที่มาจากประชาชนก็คือขอให้ประชาชนได้มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พรรค รปช.ได้กำหนดให้เศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาเป็นอุดมการณ์เป็นแนวทางที่พรรคต้องยึดถือปฏิบัติในการนำไปใช้แก้ปัญหาให้กับประชาชนในการพัฒนาประเทศ เราจะแก้ปัญหาคนจนในเมืองทั้งหลายที่มีทุกข์ยากลำบากให้เขามีชีวิตอย่างพอเพียง เราจะกำหนดเส้นมาตรฐานแห่งความพอเพียง ใครที่มีรายได้ มีชีวิตอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานแห่งความพอเพียงนั้นต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือยกระดับชีวิตเขาขึ้นสู่ระดับความพอเพียงให้ได้ เมื่อถึงขั้นพอเพียงแล้วก็ต้องยกระดับให้เขาไปอยู่ในขั้นมีความมั่นคง อย่างนี้ต้องทำ เช่นเดียวกัน เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ทั้งหลายจะต้องขายผลผลิตทางการเกษตรแล้วมีกำไร มีเงินเหลือพอที่จะเลี้ยงลูกครอบครัวให้มีชีวิตอย่างพอเพียงได้
...นโยบายสำคัญของพรรคคือต้องแก้ทุกข์ของประชาชนเหล่านี้ นโยบายอีกอันที่เห็นชัดเจนก็คือว่านโยบายทางการศึกษาประชาชนเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศ เพื่อจัดการศึกษาให้ลูกหลานของประชาชนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมโดยไม่ต้องเสียเงินจนถึงระดับที่สามารถออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเอง เป็นพลเมืองดี สร้างครอบครัวที่มั่นคงได้ต่อไป จึงจะมีเรื่องโดดเด่นที่พรรคนี้จะทำก็คือการผลักดันการปฏิรูประบบการบริหาร จัดการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาทั่วประเทศเพื่อผลิตมืออาชีพที่มีคุณธรรม มีศีลธรรม ออกไปทำงานรับใช้สังคมในสาขาต่างๆ เพื่อให้ลูกหลานของประชาชนเป็นคนดี มีอาชีพ นี่เป็นจุดยืน นี่เป็นนโยบายที่กำหนดด้วยตัวของประชาชนนโยบายของพรรค หรือที่สำคัญที่สุดคือนโยบายเศรษฐกิจของพรรคนี้คือการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนของประชาชนให้ประชาชนมีชีวิตอย่างพอเพียง มีที่อยู่อาศัยที่พอเพียง มีอาหารที่ปลอดภัย ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันอย่างนี้ เป็นต้น.
..................................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |