ผลกระทบแต่น้อยนิด...เพื่อพิชิตผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

รัฐบาลมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยการกำหนดให้มีโครงการระเบียบเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) ในพื้นที่สามจังหวัดในภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ในการพัฒนาโครงการดังกล่าวนี้จะต้องใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายที่จะรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่เกิน 1% ของพื้นที่ทั้งหมดในสามจังหวัดดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการขอใช้พื้นที่ราชพัสดุที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ ในการขอใช้พื้นที่ดังกล่าวนั้นจะต้องผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีร่วมเป็นกรรมการ 14 คน ดังนั้นการขอใช้พื้นที่ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ตามความต้องการของใครคนใดคนคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทุกครั้งที่ขอใช้พื้นที่ใดๆ ก็ต้องให้เหตุผลและชี้ให้เห็นว่ามีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องใช้พื้นที่ดังกล่าว เพราะในการพัฒนาโครงการดังกล่าวนี้รัฐบาลต้องการให้มีผลกระทบกับผู้ที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ และหากมีความจำเป็นที่จะต้องก่อให้เกิดผลกระทบก็จะต้องมีการแจ้งให้ทราบและต้องมีการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสม

ในเวลานี้ มีพื้นที่สองแห่งที่จะถูกนำมาใช้ในการพัฒนา EEC นั่นคือพื้นที่สำหรับพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา Logistics อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีความประสงค์จะเดินทางโดยเครื่องบิน ไม่ต้องเข้ามาขึ้นเครื่องบินที่กรุงเทพฯ นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC แล้ว ยังช่วยลดความแออัดของสนามบินในกรุงเทพฯ ทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมอีกด้วย ทำให้ประเทศไทยให้เป็น Hub หรือศูนย์กลางการบินในภาคพื้นอาเซียนได้อย่างแท้จริง เราจะเป็นประตูสู่ประเทศอื่นๆ ในอินโดจีนที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี

เมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจเชิงพาณิชย์มากมายในโครงการ EEC ก็จะมีการลงทุนจากผู้ประกอบการทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มการลงทุนจากต่างชาติ (Direct foreign investment) ที่จะก่อให้เกิดการสร้างงาน การเพิ่มผลผลิตมวลรวมของชาติ (Gross national product - GDP) ที่ทำให้ประเทศเติบโตและมีรายได้เพิ่มเติมในการเก็บภาษีจากธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ของ EEC คนในพื้นที่และนอกพื้นที่จะมีงานทำมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่จบสายอาชีวะที่เป็นแรงงานฝีมือที่มีทักษะ ทำให้รัฐบาลและสถานศึกษาด้านอาชีวะมีความจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนในสายอาชีวะให้ได้แรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโครงการ EEC แรงงานมือที่ได้ทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC จะมีรายได้สูงขึ้น มีระดับการครองชีพที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการกระจายรายได้ที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว การที่มีต่างชาติมาลงทุนมากขึ้นจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เพราะเชื่อแน่ว่าอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้นจะต้องเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ โดยผู้ร่วมทุนเหล่านั้นย่อมนำเอาจุดแข็งและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาลงทุนร่วมกันแบบบูรณาการ ที่จะทำให้การพัฒนาต่างๆ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ตัวอย่างเช่น เรื่องรถไฟความเร็วสูงที่มีผู้ที่คาดว่าจะเข้าประมูลหลายรายนั้น ต่างก็มีการร่วมทุนกันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญ มีความชำนาญระดับต้นๆ ของโลก อย่างเช่น ฝรั่งเศสและจีนที่มีประสบการณ์ด้านรถไฟความเร็วสูงมาอย่างยาวนาน โครงการดังกล่าวนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเป็นความร่วมมือกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ ลำพังรัฐบาลทำเองก็คงติดขัดปัญหาด้านงบประมาณ แต่ก็เป็นหุ้นส่วนที่ดีในการจัดการให้โครงการมีการเดินหน้าไปได้ในกรอบของกฎหมาย ผู้ประกอบการไทยอาจจะมีเงินทุนมากพอ แต่ก็อาจจะขาดประสบการณ์ จึงต้องมีผู้ประกอบการต่างประเทศที่จะเข้ามาร่วมทั้งด้านการลงทุนและการนำเอาความเชี่ยวชาญมาทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อ 3 สนามบินดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

โครงการ EEC นั้นถือได้ว่าเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ รัฐบาลควรจะมีโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ในจังหวัดทางภาคเหนือ ทางภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคตะวันตก เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในทุกภูมิภาค เป็นความเจริญก้าวหน้าที่ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตรงตามเจตนารมณ์ของประเทศไทย 4.0 ที่ประเทศไทยจะต้องหลุดออกจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ที่มีการกระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรมในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

แน่นอน โครงการที่รัฐบาลจัดให้มีขึ้นนั้นอาจจะไม่ใช่โครงการที่ดีเลิศจนปราศจากข้อบกพร่อง และประเด็นที่ต้องได้รับคำชี้แนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ดังนั้นสำหรับผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาของ EEC นั้น หากมีอะไรที่ต้องการจะชี้แนะเพื่อให้โครงการได้ประโยชน์สูงสุด ก็กรุณาให้ความคิดเห็นแก่ผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่โปรดอย่าได้โจมตีในท่าทีเหมือนต้องการระงับไม่ให้มีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น หรือไม่ก็ต้องการให้มีบางโครงการที่เป็นองค์ประกอบของการพัฒนา EEC ต้องล่มสลายไป ติเพื่อก่อเพื่อให้ได้โครงการที่ดีที่สุดสำหรับประเทศและประชาชน เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรทำตามความรู้ความสามารถที่มี แต่การโจมตีจนโครงการแท้งและประโยชน์อันพึงได้ไม่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าเสียดายนะคะ

มาช่วยกันให้โครงการ EEC ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นๆ ดีกว่านะคะ ประเทศชาติต้องการคำชี้แนะจากบุคคลที่เป็นคลังสมองของประเทศค่ะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"