นั่งรถไฟไป 'คยา'  


เพิ่มเพื่อน    

สภาพจราจรที่ดูสงบเงียบกว่าปกติบริเวณแยก Dorina ใจกลางนครโกลกาตา ด้านหลังคืออาคาร Metropolitan

นักท่องเที่ยวที่พักบนถนน Sudder Street นครโกลกาตานั้น ยากนักที่จะนอนหลับอย่างสุโขสโมสร ถ้าท่านมาเยือนในช่วงเทศกาลบูชาต่างๆ โดยเฉพาะ “ดิวาลี” จะยิ่งแล้วใหญ่ นอกจากบทเพลงผ่านเครื่องขยายเสียง ก็มีการจุดประทัด จุดพลุกันจนล่วงไปยังตี 2 ตี 3 

การพักที่ Hotel Maria เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา แม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาลสำคัญอะไรก็ยังทำให้ตื่นนอนคืนละหลายครั้ง เพราะเสียงแตรรถยนต์ที่ดังฟังชัดแม้จะดึกปานใด แถมด้วยเสียงหมาเห่ากังวาลไปทั้งย่าน บางรอบเห่าเดี่ยว บางรอบก็เห่าประสานเสียง คอยปลุกให้ตื่นทุกๆ 15 นาที    

เวลาเช้าที่รถราเริ่มมาก เสียงแตรดังต่อเนื่อง ดูเหมือนว่าเป็นโมงยามที่นอนหลับได้ง่ายกว่า เพราะเสียงที่ดังต่อเนื่องไม่ติดขัดนั้นหูจะปรับให้ชาชินกับเสียง ส่วนเสียงแปร๊นปร๊านที่ดังนานๆ ครั้ง จะทำให้เราสะดุ้งตอนกำลังเคลิ้มหลับอยู่เรื่อย  

ทราบข้อมูลว่าสำนักงานการรถไฟภาคตะวันออกในย่าน Fairlie Place ใกล้แม่น้ำฮูคลีเปิดเวลา 10 โมงเช้า ผมลงไปจ่ายเงินค่าที่พักต่ออีกคืนในราคา 500 รูปี แล้วเดินเท้าราว 3 กิโลเมตร ผ่านความวุ่ยวายในช่วงต้นๆ และเลี้ยวเข้าถนนที่ปลอดคนในช่วงท้ายๆ ไปซื้อตั๋วรถไฟ “โกลกาตา – คยา”

ได้ค่ำนี้ก็จะไปค่ำนี้ ได้พรุ่งนี้ก็จะไปพรุ่งนี้ ต้องการออกจากโกลกาตาให้เร็วที่สุด

ห้องสำรองตั๋วสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีเจ้าหน้าที่ให้บริการ 2 โต๊ะ รวม 3 คน ผมเดินเข้าไปขอเอกสารแบบฟอร์ม เจ้าหน้าที่หนุ่มใหญ่จดเลขคิวที่ 30 ลงไปบนหัวของแบบฟอร์ม บอกว่าใช้สำเนาพาสปอร์ต ผมมีอยู่แล้วจึงไปยืนกรอกแบบฟอร์มบนโต๊ะว่างตัวหนึ่ง มีคนบังคลาเทศมาถามว่า“Howrah เขียนอย่างไร ?” เขาสะกดไม่ถูก ซึ่ง Howrah (ฮาวราห์) ก็คือสถานีต้นทางหลักของรถไฟระหว่างเมืองที่ออกจากนครโกลกาตา

เขาหรือเธอคนนี้เป็นชายหรือหญิงผมดูไม่ออกจริงๆ น้ำเสียงไม่บ่งบอก ตัวเล็กและผอม ศีรษะล้านอันเกิดจากการรักษาโรคหรือผ่าตัด เห็นมีรอยผ่ายาวอยู่กลางศีรษะ เขาเขียนเสร็จก็ขอบคุณผมยกใหญ่ ในแบบฟอร์มต้องระบุสถานีต้นทางและปลายทาง ชื่อขบวนรถ ที่อยู่ผู้ขอซื้อตั๋วในประเทศของตน ชื่อผู้ที่จะร่วมเดินทางด้วย ซื้อได้ครั้งละไม่เกิน 5 คน ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วซื้อได้ไม่เกิน 6 คน อินเดียมีการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาต่างๆ อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งชื่อถนนหนทาง สถานที่สำคัญๆ ก็เปลี่ยนกันเป็นว่าเล่น ชื่อเก่ายังจำไม่ได้ก็เปลี่ยนชื่อใหม่ซะแล้ว

ขณะนั่งรอคิว ได้ยินเจ้าหน้าที่เรียกหมายเลข 24 ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเบงกาลี ผมหันไปเห็นคู่ลุง-ป้าฝรั่ง เพิ่งเข้ามานั่ง มีสำเนาพาสปอร์ตหน้าข้อมูลส่วนบุคคลและหน้าวีซ่าอยู่ในกระดาษแผ่นเดียวกัน สอบถามก็ได้ความว่าต้องถ่ายให้อยู่ในแผ่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่กำชับมา ผมจึงถามว่าถ่ายจากที่ไหน ลุงฝรั่งตอบว่าแค่ข้ามถนนไปเดินเลี้ยวขวาไปนิดหน่อยก็เจอ อยู่ในตัวตึกก่อนถึงลิฟต์ หนุ่มเกาหลียืนฟังอยู่ก็ตามผมออกไปด้วย

หน้าตาของรถเมล์โกลกาตา มีหลายสายที่วิ่งไปยังปลายทางสถานีรถไฟฮาวราห์

คิวถ่ายเอกสารไม่ยาวแต่มีคนที่ถ่ายครั้งละหลายๆ แผ่นยื่นตัดหน้าอยู่บ่อยๆ พนักงานหญิงก็รับไปอย่างว่าง่ายทุกครั้ง คงเป็นพวกลูกค้าประจำ บรรดาที่ยืนรอถ่ายพาสปอร์ตอยู่ก็รอกันไป สักพักหนุ่มเกาหลีพยายามจะแซงคิว หนุ่มบังคลาเทศเสื้อเขียวที่ยืนอยู่ด้านหน้าพูดออกมาว่า “ไลน์” หรือให้ต่อแถวตามลำดับ หนุ่มเกาหลีก็ทำหน้าแหยๆ บอกว่าเขาอยู่คิวที่ 27 ใกล้เข้ามาแล้ว ผมบอกว่า “ไม่ต้องตกใจ ทันแน่ เจ้าหน้าที่ทำงานช้า วันหนึ่งจองได้แค่ประมาณ 100 คิวเท่านั้น” เขาจึงดูใจเย็นลง แต่คิวถ่ายเอกสารก็ถูกแซงโดยมือปริศนาที่ยื่นให้ที่ละปึกอยู่เรื่อยๆ สุดท้ายหนุ่มบังคลาเทศที่พูดว่า “ไลน์” ให้หนุ่มเกาหลีแซงไปก่อนเพราะเขามีพาสปอร์ตในมือหลายใบและคิวซื้อตั๋วอยู่หลังหนุ่มเกาหลีหลายคิว

ค่าถ่ายเอกสารหน้าละ 1 รูปี ถ่ายหน้าข้อมูลส่วนบุคคลและหน้าวีซ่าให้อยู่ในหน้าเดียวกันจึงเท่ากับ 2 รูปี หนุ่มเกาหลีมีใบละ 100 กลัวเขาจะเสียเวลาไปมากกว่านี้ผมจึงล้วงเหรียญให้เขาไป 2 รูปี และเป็นผมเองที่ได้ถ่ายเอกสารเป็นคนสุดท้าย เสร็จแล้วก็รีบวิ่งกลับเข้าไปในห้องจองตั๋ว คิว 29 เพิ่งถูกเรียก แต่หนุ่มเกาหลียังนั่งรออยู่ คิวเขาเลยไปแล้วแต่เจ้าหน้าที่ให้รอหลังคิว 28 ที่กำลังดำเนินการ ถือว่าโชคดีไปที่ไม่ต้องต่อคิวใหม่ ไม่งั้นก็ต้องรออีกราวครึ่งวัน  

รถไฟขบวน Mumbai Mail เที่ยว 21.55 น. ของคืนนี้ว่างอยู่เฉพาะชั้น Sleeper Class หรือเป็นชั้นนอนซ้อนกัน 3 เตียง ไม่มีแอร์ ผมตอบตกลงทันทีเพราะระยะทางจากโกลกาตาไปยังคยาไม่ไกลนัก ราคาตั๋วแค่ 420 รูปี หรือประมาณ 200 บาทเท่านั้น

ตอนผมเดินออกจากประตูสำนักงานการรถไฟฯ หนุ่มบังคลาเทศเสื้อเขียวยืนดื่มชาอยู่ริมบาทวิถี เขาชวนให้ผมดื่มด้วย ผมขอบคุณและบอกว่าไม่อยากดื่มแต่เขาก็ยังคะยั้นคะยอ จึงต้องตอบตกลง พ่อค้าหาบเร่รินชาร้อนใส่ถ้วยพลาสติกเล็กๆ บีบมะนาวลงไปแล้วยื่นให้ ผมจะจ่ายเงินแต่หนุ่มเสื้อเขียวไม่ยอมให้จ่าย เขาบอกว่าเป็นคนชวนต้องเลี้ยง เขาจะจ่ายด้วยธนบัตรแต่พ่อค้าไม่มีทอน ควานหาเหรียญได้จำนวนหนึ่ง พ่อค้ารับไปนับแล้วส่งคืนให้ 2เหรียญ

คนบังคลาเทศที่ผมพบเจอในอินเดียหลังจากคุยกันสักพักเขาจะบอกว่าเขาเป็นคนบังคลาเทศเพราะไม่เช่นนั้นเราจะแยกไม่ออกว่าเป็นบังคลาเทศหรืออินเดีย และคงอยากให้เราจดจำในด้านดีๆ ของคนบังคลาเทศ หนุ่มเสื้อเขียวนี้อัธยาศัยดีและยิ้มแย้มตอนพูดจา บอกว่าเดือนหน้าจะไปเที่ยวโปรตุเกศและประเทศในละแวกนั้น ผมอวยพรให้เขาโชคดี ยื่นมือไปจับแล้วเดินออกมา

ไม่ทันพ้นมุมตึก หันไปมองร้านอาหารริมทาง เห็นคนกำลังกินผัดหมี่อยู่ สาบานว่าหยุดดูแค่วินาทีเดียว อาบังเจ้าของร้านโผล่มาจู่โจม ร่ายมนตร์ใส่จนผมทำอะไรไม่ถูก นั่งลงบนม้านั่งข้างๆ คนที่กินผัดหมี่ ตอนนี้เริ่มเห็นแล้วว่าทุกอย่างในร้านไม่สะอาด แต่ก็ยังสั่งไก่ทอดสีแดงๆ มา 2 ชิ้น แกะเอาแป้งและหนังไก่เย็นชืดออก กินเฉพาะเนื้อแล้วจ่ายเงิน 30 รูปี ไม่น่าเชื่อว่าไก่ทอด 2 ชิ้นใหญ่ราคาแค่ประมาณ 15 บาท และนี่คือเหตุผลว่าทำไมคนอินเดียถึงอยู่กันได้แม้รายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเราอยู่มาก ผมเคยเห็นร้านอาหารริมทางที่ถูกกว่านี้ก็มือ เช่น ข้าวแกงที่พาราณสีจานละ 12 รูปีเท่านั้น  

ด้านหน้าของสถานีรถไฟคยา (Gaya Junction) ยามเช้าตรู่

เดินไปได้อีกไม่ไกลก็ผ่านแผงลอยน้ำส้มคั้น มีส้มใบใหญ่สีเขียววางอยู่เป็นกอง ที่ปอกเปลือกเห็นเป็นสีขาวๆ ถูกครอบไว้ในฝาชี ผมเข้าไปถามราคา อาบังชี้ไปที่แก้ว 2 ขนาด ใบใหญ่ 50 รูปี ใบเล็ก 40 รูปี ผมไม่คิดจะดื่มเยอะจึงชี้กลับไปที่แก้วใบเล็ก

อาบังเอาเหยือกพลาสิกตักน้ำจากกะละมังล้างด้านนอกของที่คั้นเหล็ก ใส่ส้มที่ปอกเปลือกลงในหลุมคั้นแล้วใช้ไม้ลักษณะคล้ายสากอันใหญ่บดลงไปในหลุม น้ำส้มไหลตามรูลงสู่เหยือกพลาสติกที่ใช้ตักน้ำเมื่อสักครู่ อาบังรินใส่แก้วให้ ผมรับมาดื่มจนหมด แกก็รินน้ำส้มที่เหลือในเหยือกให้อีกเกือบครึ่งแก้ว ผมรับมาดื่มอีก แล้วก็สงสัยว่าแก้ว 50 รูปี คงจะเปลี่ยนเฉพาะแก้วเท่านั้นแต่ปริมาณน้ำส้มเท่าเดิม ผมจ่ายเงินเดินออกมาอย่างรู้สึกผิด จะท้องเสียซ้ำรอยเมื่อ 2 ปีก่อนอีกไหมหนา

ค่ำนั้น หลังจากข้าวกับปลาบัตเตอร์มาซาลาและสลัดแตงกวาแล้วก็ไม่มีวี่แววว่าอาการท้องเสียจะมาเยือน เก็บกระเป๋าแบกขึ้นหลังเดินออกจากSudder Street เข้าถนนเส้นหลักชื่อ Mirza Ghalib Street ซึ่งเมื่อก่อนเรียกว่า Free School Street ไม่ถึง 1 กิโลเมตรถึงสี่แยกที่ถนนเส้นนี้ตัดกับถนนS.N. Banerjee Road ผมเช็กสายรถเมล์มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่เมื่อเห็นรถเมล์โบราณคันหนึ่งวิ่งมาโดยไม่มีตัวเลข ได้ยินเด็กรถตะโกน “ฮาวราห์ๆๆ” ผมก็ขึ้นไปหาที่โหน วางเป้ใบเล็กลงบนพื้นแล้วจ่ายเงิน 9 รูปี ผู้โดยสารขึ้นมาเรื่อยๆ จนแน่นชนิดที่ขยับตัวไม่ได้ กว่าจะถึงสถานีรถไฟก็ปวดหลังปวดไหล่ไปพอประมาณ

สถานีฮาวราห์เป็นชุมทางที่ใหญ่มาก เป็น 1 ใน 5 ของสถานีรถไฟหลักของโกลกาตาที่วิ่งระหว่างเมือง มี 23 ชานชาลา รถไฟผ่านวันละเกือบ700 ขบวน รองรับผู้โดยสารวันละประมาณ 1 ล้านคน ต้องไม่ลืมว่าโกลกาตาเป็นเมืองหลวงของอินเดียอยู่หลายสิบปีในสมัยที่อังกฤษถือวิสาสะยึดครองและกอบโกยทั้งในรูปแบบบริษัทและจักรวรรดิอยู่นับร้อยปี จนอินเดียถือเป็น “อัญมณีบนมุงกุฎของอังกฤษ” เลยทีเดียว  

ขณะรอรถไฟออกผมหันไปเห็นชายหนุ่มเดินจับมือกันเป็นคู่ๆ ตอนแรกรู้สึกแปลกใจแต่ก็นึกขึ้นได้ว่านี่คือภาพธรรมดา เพื่อนรักกัน เพศเดียวกัน มักจับมือกัน และเดินไปด้วยกัน

รถไฟวันนี้ออกตรงเวลา ปลายทางคือนครมุมไบ ระยะทางห่างออกไปราว 2 พันกิโลเมตร ผมได้ที่นั่ง (ที่นอน) เตียงล่างของฝั่งที่มีเตียง 3 ชั้นเรียงกัน 2 แถว รวม 6 เตียง อีกฝั่งของทางเดินติดตั้งเตียงขนานไปกับทางเดินจำนวน 2 ชั้น ตอนที่ยังไม่ถึงเวลานอนผู้โดยสารที่มาด้วยกันก็นำอาหารมาตั้งวงตักแกงราดข้าวแล้วเปิบกินด้วยมืออย่างเอร็ดอร่อย

ฝั่งของผม นักศึกษาหนุ่ม 2 คนที่มาด้วยกันเอาน้ำที่กรอกใส่ขวดเก่าๆ จากจุดให้บริการฟรีที่สถานีรถไฟขึ้นมาจิบ ก่อนนอนพวกเขาก็งัดเอาผ้าขาวม้าขึ้นมานุ่งเพื่อเปลี่ยนจากกางเกงยีนส์เป็นกางเกงวอร์ม เช่นเดียวกับผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่ใช้วิธีการเดียวกันนี้เปลี่ยนชุดนอน (รถไฟอินเดียมีตู้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะแยกออกไป แต่หากจะนอนร่วมกับคนในครอบครัวก็ไม่มีปัญหา)

นักศึกษาคนที่นอนตรงข้ามกับผมเอาผ้าเช็ดที่นอนของเขาแล้วใจดีเช็ดให้ผมด้วย และยังบอกอีกว่าใกล้ถึงคยาแล้วจะเตือน รถไฟชั้นนี้ไม่มีหมอน ไม่มีผ้าปู ไม่มีผ้าห่ม ผมก็เอาเป้ใบเล็กหนุนต่างหมอน อากาศช่วงนี้ยังร้อนอยู่จึงไม่เดือดร้อนที่ไม่มีผ้าห่ม กว่าจะหลับลงไปได้ก็เกือบตี 3 ตื่นมาตี 4 กว่าๆ มีคนปูเสื่อพลาสติกนอนอยู่บนพื้นระหว่างผมและหนุ่มนักศึกษา และมีอีกคนนั่งรอคอยด้วยความหวังอยู่ที่ปลายเท้าของที่นอนด้านข้างอีกฝั่งทางเดิน พวกเขาคงซื้อตั๋วกะทันหันและยอมลำบากบนรถไฟเพราะจุดหมายปลายทางสำคัญกว่า

ขณะนี้รถจอดนิ่งอยู่กลางทาง ผมเดินไปเข้าห้องน้ำแล้วกลับมาจะนอนต่อรถไฟก็ออก นักศึกษาหนุ่มหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูในแอพพลิเคชั่นสำหรับติดตามขบวนรถไฟแบบเรียลไทม์ บอกว่าอีกนิดเดียวก็จะถึงสถานีคยา รถไฟวิ่งไปได้ประมาณ 2 นาทีก็จอดที่สถานีคยา เวลา 05.13 น. เร็วกว่าเวลาจริง 2 นาที เท่ากับว่าที่จอดแช่กลางทางเมื่อสักครู่เป็นการจอดรอเวลานั่นเอง และคนที่เข้าครอบครองที่นอนของผมก็คือคนที่นั่งลุ้นอยู่เมื่อครู่นี้เอง

อยากได้ผู้โดยสารต้องตื่นเช้า โชเฟอร์ออโต้ริคชอว์ของผู้เขียน 

รถไฟอินเดียเป็นอีกอย่างที่คาดการณ์อะไรไม่ได้ เพื่อนของผมเคยเล่าให้ฟังว่าขณะที่เขารอรถไฟขบวนหนึ่ง รถไฟเข้ามาเทียบจอดตรงเวลา เขาดีใจมาก เอ่ยขึ้นพร้อมรอยยิ้ม “วิเศษเลย วันนี้รถไฟมาตรงเวลา” ก่อนจะได้ยินใครบางคนพูดขึ้นบ้างว่า “นี่เป็นรถไฟของเมื่อวาน” แต่บางครั้งรถไฟอินเดียก็มาถึงปลายทางเร็วกว่ากำหนดอย่างวันนี้

โชเฟอร์ออโต้ริคชอว์จำนวนมากเมื่อเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ฟันธงได้เลยว่าต้องการเดินทางต่อไปยังพุทธคยา ระยะทางห่างออกไปประมาณ15 กิโลเมตร คนแรกเสนอราคา 400 รูปี ผมตอบว่าไม่รีบ จะรอให้สว่างก่อน พอใกล้จะเดินออกจากสถานีอีกคนเดินเข้ามาหา เสนอราคา 300 รูปี ผมบอกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วเคยใช้บริการ 200 รูปีเท่านั้น เขาลดให้เหลือ 250 รูปี พร้อมคำอธิบาย “ช่วงนี้น้ำมันแพง”

ผมตอบตกลงเพราะเห็นว่าหน้าตาเขาไม่มีพิษภัย และดูมีความจริงใจในการเสนอราคาที่ไม่ได้สูงเกินไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"