"ดีดีบินไทย" เต้น! ตั้งกรรมการสอบทีจี 971 ซูริก-กรุงเทพฯ ดีเลย์เครื่อง หลังนักบินที่ร่วมโดยสารไม่ได้นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาส พร้อมขอโทษทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ "นายกสมาคมนักบินไทย" ฉุน บ.การบินไทยสั่งสอบนักบิน โพสต์อ้างสิทธิ์นั่งเฟิร์สต์คลาสตามเงื่อนไขบริษัท ขู่เตรียมคุยนัก กม.เรียกร้องค่าเสียหายถูกทำให้เสียชื่อเสียง "ผู้โดยสาร" ลั่นร้องเรียนตามขั้นตอน
ความคืบหน้ากรณีสื่อสังคมออนไลน์ส่งต่อข้อความที่มีผู้โดยสารร้องเรียนความล่าช้าของเที่ยวบิน TG971 เส้นทางซูริก-กรุงเทพฯ ของการบินไทย เนื่องจากนักบินไม่ยอมนำเครื่องขึ้นบินเพราะที่นั่งของนักบินที่จะโดยสารต้องการเดินทางไม่ได้นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสตามต้องการ ทำให้ผู้โดยสารกว่า 300 คนต้องรอ สุดท้ายมีผู้โดยสาร 2 คน สามี-ภรรยา ยอมสละที่นั่งชั้นธุรกิจให้นักบินที่ต้องการเดินทาง เครื่องจึงขึ้นบินนั้น
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนในฐานะผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร จึงได้สั่งการให้เรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการตามระเบียบของบริษัทอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจะกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต
"ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ผมขอแสดงความเสียใจ และขออภัยต่อผู้โดยสารทุกท่านที่ทำให้ทุกท่านได้รับผลกระทบต่อการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นมืออาชีพ ทำให้เกิดความล่าช้า และขอโทษท่านผู้โดยสารที่ได้ผลกระทบโดยตรงจากการย้ายที่นั่ง ผมขอน้อมรับผิดต่อผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขณะนี้ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกในอนาคต" นายสุเมธกล่าว
ขณะที่กัปตันสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีการบินไทยสั่งสอบข้อเท็จจริงนักบินทีจี 971 ซูริก-กรุงเทพฯ ว่า ถ้าเราถอยมากๆ วันหนึ่งเราจะไม่มีที่ให้ยืน ด้วยความที่เป็นคนประนีประนอม ผมจึงไม่ค่อยเชื่อคำเตือนของกัปตันรุ่นพี่ๆ ประโยคนี้ซักเท่าไหร่ และยอมเป็นฝ่ายถอยมาตลอด
กัปตันสนองระบุว่า วันนี้ผมแต่งตัวออกจากบ้านไปทำงานตั้งแต่เช้า กว่าจะกลับมาถึงบ้านก็เกือบสี่ทุ่ม ลูกๆ จึงหลับหมดแล้ว อาบน้ำเสร็จก็ตั้งใจว่าจะเข้านอนเลย เพราะพรุ่งนี้มีนัดตอน 8 โมงเช้า แต่มาสะดุดตากับข่าวที่โจมตีเพื่อนร่วมอาชีพกรณีเที่ยวบิน TG 971 แล้วมันหลับไม่ลง เพราะรู้สึกว่านักบินถูกกล่าวหา ถูกวิจารณ์ในทางเสียหาย โดยข้อมูลด้านเดียว และไม่มีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ น่าจะต้องรอผลสอบสวนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก่อนที่จะมีการตัดสินหรือนำข้อมูลออกไปสู่สื่อสาธารณะ
นายกสมาคมนักบินไทยกล่าวว่า มีประเด็นหนึ่งที่เพื่อนหลายคนสงสัยว่าทำไมกัปตันการบินไทยถึงต้องเดินทางในชั้น First class ผมอยากจะให้ข้อมูลเพื่อนๆว่า สิทธิอันนี้ มันเป็นสิทธิที่เขาได้รับตามเงื่อนไขที่บริษัทตกลงว่าจ้างมาตั้งแต่ก่อนที่ผมจะเข้าทำงานเมื่อ 21 ปีที่แล้วซะอีก โดยภายหลัง ทางฝ่ายบริหารได้ตัดสิทธิ์ในกรณีกัปตันเดินทางไปทำงานให้บริษัท โดยจะสำรองที่นั่งในชั้นธุรกิจแทน ยกเว้นในกรณีที่นั่งในชั้น First class ว่าง จึงจะได้ไปนั่ง เป็นเรื่องที่แม้ว่าจะรู้สึกเสียสิทธิที่เคยมี แต่ทุกคนก็ยอมเสียสละเพื่อให้บริษัทมีรายได้จากการขายตั๋วในชั้น First class
"มาถึงวันนี้ เกิดกรณีที่แม้ไม่มีผู้โดยสาร First class กัปตันก็ไม่ได้ถูกสำรองที่นั่งให้ตามสิทธิที่มี ซ้ำร้ายต้องกลายเป็นจำเลยสังคม พรุ่งนี้ผมตั้งใจว่าจะหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายถึงที่มาของหนังสือที่นำมาเผยแพร่กัน ที่แม้จะไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่เนื้อหาก็ทำให้นักบินเสียชื่อเสียงนั้น สามารถเรียกร้องค่าเสียหายอะไรได้บ้าง เพราะวันนี้ผมเชื่อแล้วว่า..ถ้าเราถอยมากๆ วันหนึ่งเราจะไม่มีที่ให้ยืน" นายกสมาคมนักบินไทยกล่าว
มีรายงานว่า ผู้จัดการเที่ยวบินอาวุโสเที่ยวบิน TG971 เส้นทางซูริก-กรุงเทพฯ ชี้แจงว่า เมื่อนักบิน ลูกเรือ นักบินสำรอง เดินทางมาถึงสนามบิน เจ้าหน้าที่ภาคพื้นได้แจ้งว่าหมายเลขที่นั่งคือ 16A 16B 16J และ 16K ผู้จัดการเที่ยวบินอาวุโสจึงได้ขอเปลี่ยนที่นั่งให้กับนักบินที่ passive เป็นเฟิร์สต์คลาสที่ว่างอยู่ แต่ได้รับคำตอบว่า ที่นั่งดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้โดยสารไปแล้ว กัปตันที่ทำหน้าที่ในเที่ยวบินนั้นจึงติดต่อนายสถานีขอให้เปลี่ยนที่นั่งให้เป็นเฟิร์สต์คลาส 2 ที่ สำหรับนักบินที่ passive และขอไม่ให้ปล่อยผู้โดยสารขึ้นเครื่อง เพราะรู้ดีว่าถ้าผู้โดยสารขึ้นเครื่องแล้วการเปลี่ยนที่นั่งจะทำได้ยาก
เขาระบุว่า แม้จะเลยกำหนดการเดินทางไปแล้ว แต่การประสานงานยังไม่เสร็จสิ้น จนกระทั่งเวลา 11.00 UTC ผู้จัดการเที่ยวบินอาวุโสจึงประสานเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินให้ทำตามที่กัปตันเที่ยวบินนี้ขอ เพราะเกรงว่าจะเกิดความล่าช้า จนเวลา 15.15 น. เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินแจ้งว่าเปลี่ยนที่นั่งให้กับผู้โดยสารเรียบร้อย จึงเริ่มรับผู้โดยสารขึ้นเครื่องผู้จัดการเที่ยวบินอาวุโส ได้แจ้งกับผู้โดยสารทั้งสองคือนายศักดาและนางยุวรีย์ พันธ์กล้า ที่ต้องย้ายจากที่นั่ง 1K และ 2K ไปนั่งที่ 16A และ 16B ว่า การเปลี่ยนที่นั่งครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนให้ผู้โดยสารไปนั่งในชั้นธุรกิจที่ตรงกับตั๋วของผู้โดยสาร ไม่ใช่การลดชั้นบริการ เพราะเที่ยวบินนี้ ไม่ได้มีการขายตั๋วเฟิร์สต์คลาส เพราะเครื่องลำเดิมไม่มีเฟิร์สต์คลาส
อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารแจ้งกับผู้จัดการเที่ยวบินอาวุโสว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินว่า นักบินต้องการที่นั่งของท่าน ถ้าไม่เปลี่ยนที่นั่งเครื่องจะออกไม่ได้ และขอร้องผู้โดยสารท่านอื่นแล้วไม่มีใครยอม เปลี่ยน ผู้จัดการเที่ยวบินอาวุโสได้สอบถามผู้โดยสารอื่นอีก 7 คนในโซนเฟิร์สต์คลาส แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้โดยสารคนใดได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กพท. จะไม่เข้าตรวจสอบอะไร และไม่ต้องรายงานมาที่ กพท. เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยที่ กพท.กำกับดูแลอยู่ แต่ตามระเบียบเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยที่ กพท.กำหนดตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ที่เกี่ยวข้องกับนักบินนั้นกำหนดไว้ว่า นักบินมีความจำเป็นต้องสะสมชั่วโมงพักผ่อนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด จึงจะสามารถทำการบินต่อหลังจากลงเครื่องได้ ดังนั้นหากเครื่องบินมีที่นอน นักบินก็จะได้นอน แต่หากไม่มีที่นอน ก็ต้องให้นักบินได้นั่งอยู่ในที่นั่งที่สามารถพักผ่อนได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถสะสมชั่วโมงการพักผ่อนเพียงพอตามกฎหมายกำหนด จึงจะสามารถที่จะทำการบินต่อได้
ส่วนนายศักดา พันธ์กล้า อดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ที่ยอมเปลี่ยนที่นั่งให้กับนักบิน กล่าวว่า หลังเกิดเรื่องขึ้นตนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปตามช่องทางที่การบินไทยให้ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนได้ตามปรกติจริง แต่ไม่ทราบว่าหนังสือดังกล่าวหลุดออกมาเผยแพร่ในโลกโซเชียลได้อย่างไร
"ทางผู้บริหารการบินไทยได้ประสานขอเข้าพบผมในวันจันทร์ที่ 22 ต.ค.นี้ เพื่อหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้ยังอยู่ในการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งผมก็ต้องรอดูท่าทีของการบินไทยว่าจะจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร พร้อมกันนี้ทางการบินไทยยังขอร้องผมอย่าเพิ่งให้ข่าวกับสื่อมวลชน ซึ่งผมก็พร้อมจะยอมทำตามคำขอร้อง" อดีตรองปลัด ก.อุตสาหกรรม กล่าว
นอกจากนี้ ได้มีเฟซบุ๊กของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นผู้เสียสละที่นั่งให้กับนักบิน โพสต์ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องภายในของการจัดการขององค์กรท่าน ไม่ควรนำปัญหาเหล่านี้มาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้โดยสารที่ต้องเสียเวลา เสียสุขภาพจิต เวลาที่สูญเสียไปหลายชั่วโมงมีคุณค่ามากมายต่อหลายๆ คน ทำให้เรารับไม่ได้ต่อการการกระทำในครั้งนี้ เราทราบดีว่ามีระเบียบมากมายเพื่อเอื้อต่อนักบิน เพราะนักบินต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารหลายชีวิต แต่มนุษย์ก็คือสิ่งมีชีวิตที่สามารถบิดเบี้ยวกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เอื้อประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด ไม่ว่าจะตั้งกฎเกณฑ์อะไรที่คิดว่าดี แต่ย่อมมีช่องว่างให้คนเห็นแก่ตัวนำมาสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองเสมอ เราก็ได้แต่หวังว่าคนประเภทนี้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งขององค์กร โดยคนส่วนใหญ่คงจะรักองค์กรและคำนึงถึงประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก ระบายจากใจจริงๆ ทั้งที่ไม่เคยบ่นอะไรทางนี้เลย
วันเดียวกัน นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.กบท.) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับการบินไทย โดย สร.กบท.รวมทั้งพนักงานการบินไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น และขอเสนอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาออกกฎระเบียบสิทธิของพนักงานใหม่ ซึ่งควรคำนึงถึงความเท่าเทียมกัน และสิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงรายได้บริษัทเป็นหลักก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |