อัดกม.โปลิตบูโรไซเบอร์


เพิ่มเพื่อน    

  2 สมาคมไซเบอร์ยื่นหนังสือถึง “สนช.”  ต้านกฎหมายไซเบอร์ ลั่นไร้ธรรมาภิบาลอย่างรุนแรง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์จวกเละ ย้อนยุคโปลิตบูโร เตือนระวังต่างชาติถอนทุนหนี เพราะขัดหลักสากลรุนแรง

เมื่อวันศุกร์ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) และสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ นำโดยนายเมธา สุวรรณสาร นายกสมาคมความมั่นคงฯ ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองส่วนบุคคล โดยนายเมธากล่าวว่า  ขอให้นำข้อเสนอ 3 ข้อคือ 1.การไม่มีธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงและการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) เพราะการที่เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่ควรมีหน้าที่เป็นผู้ให้บริการและไม่ควรต้องแสวงหารายได้ รวมถึงการถือหุ้นกับเอกชน 2.สำนักงาน กปช. มีอำนาจหน้าที่มากเกินไป จนเข้าข่ายผูกขาด โดยควรแยกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ จัดทำนโยบาย ให้บริการ กำกับดูแล ออกจากกันอย่างเด็ดขาดเพื่อความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ และ 3.อำนาจหน้าที่ของเลขาธิการ กปช. มีอำนาจมากเกินไป สามารถที่สั่งการหน่วยงานราชการ หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชน
          “อยากให้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองฯ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองฯ ที่มีลักษณะผูกขาดรวบอำนาจทุกอย่าง ซึ่งขัดหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง เพราะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองฯ มีอำนาจมากครอบคลุมมาก เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ แต่กลไกการควบคุมตรวจสอบกลับไม่มีความชัดเจน”
         นายสุรชัยกล่าวว่า กิจการเกี่ยวกับไซเบอร์มีความสำคัญเป็นอย่างมาก การตรากฎหมายจึงต้องคำนึงเรื่องการคุ้มครองประชาชนและรักษาประโยชน์สาธารณะควบคู่กัน ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากเสนอมายัง สนช.เมื่อไหร่ สนช.จะเชิญตัวแทนของสมาคมมาร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ต่อไป
ขณะเดียวกัน นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ว่า ในต่างประเทศตื่นตัวป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ จึงทำกฎหมายเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์ขึ้น แต่หลักการเดิมในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยการตรวจสอบถ่วงดุลยังมีอยู่ โดยจะเข้าค้นต้องผ่านการกลั่นกรองของศาลเหมือนการจับกุม แต่ร่างกฎหมายใหม่ไม่ต้องมีคดี คณะกรรมการเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะมีอำนาจเยอะ ทั้งตรวจค้น จับกุม ยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ และหน่วยบันทึกความจำได้หมด โดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองของศาล ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ ซึ่งต่างประเทศที่มีการกระทำผิดรุนแรงทางไซเบอร์เขายังไม่กล้าออกกฎหมายเช่นนี้ 
“ระบบนี้ไม่ใช่ระบบสากล ปกติแล้วนิติรัฐต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุล เพราะตัวบุคคลถ้ามีอำนาจมากไปจะทุจริตใช้อำนาจในทางมิชอบได้ ถ้ามองก้าวหน้าไปในทางการเมือง อาจใช้กฎหมายเข้ามาล่วงละเมิดแย่งชิงความได้เปรียบ ซึ่งถือว่าอันตรายมากต่อระบอบประชาธิปไตย” นายศรีอัมพรกล่าว
     นายศรีอัมพรกล่าวถึงความเป็นห่วงอีกว่า ถ้าเรามีกฎหมายประเภทนี้จะมีลักษณะให้อำนาจเบ็ดเสร็จของพนักงานเจ้าหน้าที่ Cyber Security ซึ่งมีอำนาจกว้างขวางกว่าตำรวจ มีโอกาสที่จะกระทำผิดหรือใช้อำนาจที่ล่วงเกินสิทธิเสรีภาพแล้ว ยังสามารถหาผลประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าข้อมูลทางราชการหรือเอกชน ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ รวมทั้งบริษัทข้ามชาติเขาก็กังวลในเรื่องนี้อยู่ ถ้ากฎหมายผ่านออกไปโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ โดยการลงทุนจากต่างประเทศจะชะงักงันทันที 
“เราจะกลายเป็นการปกครองแบบรัฐตำรวจ เรื่องนี้อันตราย การยึดอายัดได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องมีคดี คล้ายกับรัสเซียสมัยก่อนล่มสลายที่มีโปลิตบูโร ลักษณะองค์กรคล้ายกัน ผมในฐานะที่เป็นนักกฎหมายที่เคยศึกษา ไม่มีประเทศไหนออกกฎหมายให้คนกลุ่มเดียวมีอำนาจล้นฟ้าไม่มีการตรวจสอบ” นายศรีอัมพรย้ำ และว่า จากรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ค่อนข้างมองไทยในแง่ลบอยู่แล้ว ถ้ากฎหมายนี้ออกมาจะซ้ำเติม กลายเป็นว่าไทยไม่น่าลงทุน
     ถามถึงขั้นตอนของร่างกฎหมายในขณะนี้ นายศรีอัมพรกล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากกฤษฎีกา แล้วก็ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เป็นห่วงในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลของเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าดีใจที่นายกฯ ให้ความสำคัญประเด็นนี้ ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ก็อยากให้อารยประเทศด้วย เพราะไม่เช่นนั้นไทยอาจถอยหลังเข้าคลองได้
    เมื่อถามว่า ควรยกเลิกหรือแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างไร นายศรีอัมพรกล่าวว่า ไม่ควรเร่งรีบออก เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการแก้ไขความมั่นคงของประเทศ แต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ระดับนานาชาติ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเขาเพ่งเล็งเรื่องนี้มาก ส่วนประเด็นการไม่สามารถปราบปรามการกระทำผิดได้ทัน ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่ต้องมาออกกฎหมายใหม่ แต่เป็นเรื่องความสามารถของเจ้าหน้าที่ดีอี ควรไปแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่มากกว่า หรือจะจ้าง Outsource ที่เป็นมืออาชีพ ไม่ควรแก้ปัญหาโดยให้ประชาชนหรือประเทศชาติมาแบกรับเลย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"