หนังสือ "50 ปีของไทยในอาเซียน" ที่กระทรวงการต่างประเทศเพิ่งตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เราได้รับรู้รายละเอียดของอาเซียนหลายประเด็นที่อาจจะไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
ผมอ่านอย่างสนอกสนใจและสนุกสนาน เพราะทำให้ย้อนกลับไปเข้าใจถึงเบื้องหลังของเหตุการณ์สำคัญๆ หลายเรื่องที่เกี่ยวโยงกับไทยและอาเซียนอย่างดียิ่ง
เรื่องการก่อเกิดของ Asean Free Trade Area (AFTA) เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุนเล่าได้อย่างเห็นภาพชัดเจน
ท่านบอกว่า
"ประสบการณ์เกี่ยวกับ AFTA ของผมมีหลายช่วงเวลาด้วยกัน นับตั้งแต่การที่ ASEAN Task Force ได้จัดทำรายงานเสนอแนะให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ ASEAN Free Trade Area ขึ้นมาในปี 2527 ผมก็ได้ให้ความสำคัญต่อแนวคิดนี้และพยายามผลักดันมาโดยตลอด
จนกระทั่งผมมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2534 ในช่วงแรกตามประเพณีปฏิบัติ ผมก็ไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านคือประเทศสมาชิกอาเซียน ครั้งที่ผมไปเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งตอนนั้นนายลีกวนยูไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ปรึกษา (Minister Mentor) ซึ่งยังถือเป็นตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ดูแลเรื่องเฉพาะกิจ อาทิ กองทุนเงินลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ (Singapore Government Investment Fund)
ในครั้งนั้นนายลีกวนยูได้ติดต่อขอเข้าพบปะหารือกับผม ผมแจ้งท่านไปว่าผมควรเป็นคนไปพบท่านน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะท่านเป็นผู้นำอาวุโส แต่ท่านตอบว่าตอนนี้ท่านไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นท่านควรจะต้องมาเยี่ยมคารวะผม การพบปะในวันนั้นเราได้หารือกันประมาณชั่วโมงครึ่ง มีเรื่องที่ผมประทับใจท่านลีกวนยูมาก คือตอนท่านมาพบผม ท่านนำเด็กวัยรุ่นมาด้วย 2 คน ท่านแจ้งว่าอยากให้เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสมาฟังว่าผู้ใหญ่คุยอะไรกัน เป็นการฝึกอบรมในรูปแบบหนึ่ง
ท่านลีกวนยูกล่าวกับผมว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เรามีนายกรัฐมนตรีในประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีพื้นฐานทั้งจากการเป็นข้าราชการมาก่อน เคยอยู่ในภาคธุรกิจและปัจจุบันก็มาทำการเมือง ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดในอาเซียนที่มีพื้นฐานในลักษณะนี้ และบัดนี้คุณเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว คุณมีโอกาสมาก ที่คุณเคยปฏิบัติหน้าที่ใน ASEAN Task Force และเคยมีข้อเสนอแนะว่าอาเซียนควรจะจัดตั้ง ASEAN Free Trade Area ดังนั้นเวลานี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะโน้มน้าวรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศให้ร่วมกันคิดทบทวนอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้แนวความคิด ASEAN Free Trade Area เป็นความจริงขึ้นมา"
คุณอานันท์บอกอีกว่า
"การที่ผมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ทำให้ผมอยู่ในฐานะที่จะโน้มน้าวผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้เต็มที่ และในขณะเดียวกันการที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ทำให้ผมสามารถทุบโต๊ะ สั่งการระบบราชการในประเทศได้ อาทิ ในประเทศไทยในขณะนั้นมีหลายหน่วยงานที่ต้องการเป็นเจ้าภาพเป็นเจ้าของเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่ผมได้ตัดสินใจมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของเรื่อง เป็นผู้แสดงบทบาทนำในเรื่องนี้ เนื่องจากหัวใจของเขตการค้าเสรีก็คือการลดหย่อนภาษีศุลกากรระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นผมรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งที่กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการพูดคุยกันทั้งเป็นกลุ่มและเป็นส่วนตัว จนในที่สุดทุกคนก็ยอมรับให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของเรื่อง..."
อีกหนึ่งตอนของหนังสือคือคำว่า "resilience" สำหรับอาเซียน
คุณเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเท้าความให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า
"การประชุมสุดยอดที่บาหลีมีขึ้นหนึ่งปีภายหลังการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม ในขณะนั้นประเทศ
ต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างตกอยู่ในฐานะลำบาก สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากภูมิภาค ทำให้เกิดคำถามในอาเซียนว่าเราควรจะวางตัวอย่างไร พื้นที่ของเราจะอยู่ที่ไหน เมื่อเวียดนามรวมกันเป็นหนึ่งประเทศใหญ่แล้ว ต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในกัมพูชาและในลาวด้วย ทั้งนี้ก็หมายความว่าอดีตประเทศอินโดจีนทั้ง 3 ประเทศได้กลายเป็นประเทศที่ปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งหมดในเวลาใกล้เคียงกัน
ด้วยเหตุนี้ ผู้นำอาเซียนจึงได้ตกลงกันที่จะจัดการประชุมสุดยอดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อที่จะคุยกันเกี่ยวกับความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งข้อสรุปก็คืออาเซียนจะต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง หรือใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า resilience ซึ่งคำว่า resilience ในสมัยนั้นหรือแม้แต่สมัยนี้ยังไม่มีศัพท์ที่ตรงตัวเป็นภาษาไทย ซึ่งในการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดมีการถกแถลงกันมากในวงการของไทย ไม่ว่าในสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือในกระทรวงต่างประเทศว่าความหมายคืออะไร ซึ่งต่อมาผู้ใหญ่ในสมัยนั้นได้บัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่สำหรับคำว่า resilience ว่า 'พลานุภาพ' ซึ่งค่อนข้างเป็นศัพท์ที่หายไปแล้ว ซึ่งหมายถึงว่า resilience ในสายตาของไทย มุ่งไปในทางที่ว่าเรามีพลังเป็นอานุภาพของตัวเอง ซึ่งก็อาจจะไม่ตรงกันกับภาษาอังกฤษมากนัก resilience ในภาษาอังกฤษอาจจะแปลว่าความยืดหยุ่น แต่ว่าในสมัยนั้นไทยต้องการให้อาเซียนมีพลานุภาพของตนเอง ซึ่งก็เห็นว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อาเซียนสามารถที่จะแสดงพลานุภาพนี้ออกมาได้โดยตลอดจนถึงวันนี้ แล้วก็อาจจะเป็นที่มาของนโยบายของอาเซียนที่ต้องการเป็นศูนย์กลางของการพิจารณาการถกแถลงปัญหาทางความมั่นคงทางการเมือง ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคทั้งหมด ดังที่เรียกในปัจจุบันว่าการมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง (ASEAN Centrality)...”
ใครยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมเชียร์ให้ไปหาอ่านครับ เล่าเรื่องและย้อนความได้เห็นภาพชัดเจนทีเดียวครับ!
หนังสือ "50 ปีไทยในอาเซียน" ที่กระทรวงการต่างประเทศตีพิมพ์ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |