ฎีกายืน‘สุพจน์’นอนเรือนจำ10เดือน


เพิ่มเพื่อน    

  ศาลฎีกาฯ พิพากษายืนจำคุก 10 เดือน "สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" อดีตปลัดคมนาคม ห้ามดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ปี ชี้เป็นผู้บริหารระดับสูงกลับทำผิดเสียเอง ไม่มีเหตุผลพอให้รอลงอาญา

    ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม เวลา 10.45 น. องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์รวม 9 คน ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้พิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งมีนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา เป็นเจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อม.27/2560 ที่นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อายุ 65 ปี อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ระหว่างปี 2552-2554 ผู้คัดค้าน ยื่นอุทธรณ์ผลคำพิพากษาองค์คณะศาลฎีกา อม. 9 คน ที่มีนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา เป็นเจ้าของสำนวน ซึ่งมีมติเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2560 พิพากษาให้จำคุกนายสุพจน์ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินและเอกสารประกอบอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงกรณีพ้นจากตำแหน่ง รวม 5 กระทง กระทงละ 2 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 10 เดือน  และมีคำสั่งห้ามนายสุพจน์ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมวันที่ 18 พ.ค.2555 ด้วย
     กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้อง ยื่นให้ศาลวินิจฉัยข้อกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลังจากเมื่อปี 2555 ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดข้อกล่าวหานายสุพจน์มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จเกี่ยวกับเงินจำนวน 17,553,000 บาทเศษ และรถตู้ยี่ห้อโฟล์กสวาเกน ราคา 3,000,000 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 20,473,000 บาท โดยสืบเนื่องจากเหตุคนร้ายบุกปล้นบ้านนายสุพจน์ ในซอยลาดพร้าว 64 เมื่อค่ำวันที่ 12 พ.ย.2554 ซึ่งคนร้ายที่ร่วมทำผิดคดีอาญาได้ให้การเกี่ยวกับทรัพย์สินว่าพบเงินสดในบ้านนายสุพจน์นับร้อยล้านบาท โดยนายสุพจน์ไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงิน 17 ล้านบาทเศษและรถโฟล์กสวาเกนได้
     ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 195 วรรคสี่ ให้สิทธิจำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกา อม. ได้อีกครั้งทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย นายสุพจน์จึงได้ใช้สิทธิยื่นประกันตัวไปในชั้นอุทธรณ์ ด้วยหลักทรัพย์ที่ศาลตีราคาประกัน 2 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล วันนี้นายสุพจน์พร้อมทนายความ ครอบครัวและคนใกล้ชิดเดินทางมาศาล
     โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คน พิเคราะห์แล้วระหว่างการพิจารณา มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐแสดงบัญชีทรัพย์สินหลังพ้นตำแหน่ง 1 ปี ซึ่งมีเนื้อหาต่างกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่ผู้คัดค้านยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดหลังพ้นตำแหน่ง 1 ปี ตามคำร้อง ยังเป็นความผิดอาญาหรือไม่ แต่มีบทบัญญัติกรณี ป.ป.ช.มีมติก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ใช้บังคับเป็นอันใช้ได้ สำหรับคดีที่ฟ้องก่อนแล้วก็ให้ถือว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังมีผลใช้บังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด จึงยังมีผลบังคับใช้ในคดีนี้ การกระทำของผู้คัดค้านยังเป็นความผิดอาญา ต้องห้ามดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปี
     ส่วนที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอรับสารภาพ อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ เนื่องจากผู้คัดค้านรับราชการด้วยความสุจริต ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ธรรมาภิบาลมาโดยตลอด เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม ไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบหรือทำความผิดอาญา รักษาผลประโยชน์ราชการนั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์มีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กำหนดหลักการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐไปแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยสมควร ซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมและกำกับการใช้อำนาจของรัฐเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผู้คัดค้านเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะปลัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่รับผิดชอบในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก
     อีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านมูลค่าทั้งสิ้น 64,998,587.52 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติ การที่ผู้คัดค้านปกปิดไม่แสดงรายการทรัพย์สินตามคำร้องทั้งสองรายการมีมูลค่าสูงถึง 20,473,000 บาท ทั้งที่ผู้คัดค้านเป็นผู้บริหารระดับสูง ควรที่จะต้องยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม อยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม แต่กลับมากระทำความผิดเสียเอง นับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้ผู้คัดค้านไม่เคยกระทำความผิด และเคยประกอบคุณงามความดีมาก่อน ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่ผู้คัดค้าน เห็นว่าที่ศาลฎีกาฯ อม. ลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ให้ออกหมายขังผู้คัดค้านตามคำพิพากษาถึงที่สุด และให้คืนหลักประกัน 2 ล้านบาทกับผู้คัดค้าน
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทางครอบครัวและคนใกล้ชิดที่เดินทางมาให้กำลังใจได้ร่ำไห้เข้าไปกอดนายสุพจน์พร้อมพูดคุย ขณะที่นายสุพจน์ก็มีสีหน้าเศร้าน้ำตาซึม พูดปลอบใจครอบครัวด้วยว่าแป๊บเดียว ก่อนถอดสิ่งของมีค่าฝากให้ครอบครัว โดยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายสุพจน์ขึ้นรถตู้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 11.30 น. ไปคุมขังรับโทษยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"