ย้อนการก่อตั้งอาเซียน : อ่านขาดมะกันแพ้สงครามเวียดนาม


เพิ่มเพื่อน    

    หนังสือ “50 ปีของไทยในอาเซียน” ตีพิมพ์โดยกระทรวงต่างประเทศของไทย เป็น “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” หรือ oral history ที่ทำได้น่าอ่านและน่าติดตามไม่น้อย
    สำหรับคนทำข่าวที่เห็นการก่อเกิดของอาเซียนในช่วงที่เป็นนักข่าวใหม่ๆ การได้อ่านเบื้องหลังของเหตุการณ์ช่วงนั้นเป็นการได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยรู้หรือรู้ไม่ละเอียดมาก่อนเลย


            
                สุจิต  บุญบงการ    

    อาจารย์สุจิต บุญบงการ บันทึกเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้อย่างน่าสนใจว่า
    “ไทยเป็น 5 ประเทศแรกในการก่อตั้งอาเซียน อันที่จริงต้องให้เครดิตไทยในเรื่องนี้ เพราะว่าผู้ที่ริเริ่มความคิดเห็นที่จะให้มีอาเซียน และเป็นผู้ให้มีการดำเนินการจัดการประชุมเพื่อจะให้มีการจัดตั้งอาเซียนนั้นก็มาจากอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ดร.ถนัด คอมันตร์ 
    “ในขณะนั้นท่านเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับภูมิภาคนี้แทนที่จะไปหวังพึ่งมหาอำนาจคือสหรัฐอเมริกาแต่เพียงอย่างเดียว เพราะนับตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมา ท่าน ดร.ถนัด อ่านเกมออกแล้วว่าเวียดนามเหนือจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นทุกที ในขณะที่สหรัฐจะค่อยๆ อ่อนกำลังลงในที่สุด 
    “ท่านอ่านเกมออกมาในลักษณะนี้ แม้ว่าในปี 2508 ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ของสหรัฐ จะสั่งการให้เพิ่มกองกำลังของสหรัฐในเวียดนามมากขึ้นเป็นทวีคูณ จนในที่สุดมีจำนวนมากถึงกว่าห้าแสนคน
    “ดร.ถนัดท่านเห็นว่าการพึ่งพามหาอำนาจนั้นไม่สามารถจะช่วยสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นได้ในภูมิภาคนี้ เพราะในที่สุดแล้วประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจึงต้องเรียนรู้ด้วยตนเองที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงมีบทบาทนำตั้งแต่เริ่มต้นในการก่อร่างสร้างตัวของอาเซียน โดยได้มีการประชุมหลักๆ กัน 2 รอบ รอบแรกเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่บางแสน ที่แหลมแท่น ได้มีการพบปะพูดจากันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ 5 ประเทศ นอกจากประเทศไทยแล้วก็ยังมีประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ก็เป็นประเทศเริ่มแรก 5 ประเทศ และการประชุมรอบที่สองคือ การประชุมอย่างเป็นทางการที่วังสราญรมย์ กระทรวงต่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ในที่สุด นับจากนั้นประเทศไทยก็มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียนมาตลอด สามารถพูดได้เลยว่า เราเป็นพี่ชายใหญ่คนหนึ่งของอาเซียน
    “และที่น่าสนใจคือ ภายหลังการลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ได้เพียง 6 เดือน เวียดนามเหนือได้บุกโจมตีเมืองหลวงของเวียดนามใต้ คือเมืองไซ่ง่อนในช่วงเทศกาลตรุษจีนและเวียดนาม (Tet) ในวันที่ 31 มกราคม 2511 จนกองกำลังของรัฐบาลเวียดนามใต้ถูกทำลายเสียหายอย่างหนัก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถที่แท้จริงของกองกำลังเวียดนามเหนือ จนทำให้อีกสองเดือนต่อมา ประธานาธิบดีจอห์นสันของสหรัฐยอมตัดสินใจให้สหรัฐเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพกับเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ในที่สุด ส่วนประธานาธิบดีจอห์นสันเองก็ยอมรับในความผิดพลาดของตนในการส่งกองกำลังจำนวนมากเข้าไปสู้รบในเวียดนาม และประกาศที่จะไม่สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีเดียวกัน
    “สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิดเพียงไม่กี่เดือนภายหลังการลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ เป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความสามารถในการอ่านเกมการเมืองโลกได้อย่างทะลุปรุโปร่งของท่าน ดร.ถนัด คอมันตร์”.

                
            
                วิทยา เวชชาชีวะ

    คุณวิทยา เวชชาชีวะ อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศเล่าอีกตอนหนึ่งว่า
    “มีเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กน้อย คือเดิมทีในร่างปฏิญญากรุงเทพฯ ไม่ปรากฏคำว่าอาเซียน (ASEAN) ร่างปฏิญญาฯ ใช้คำเต็ม Association of Southeast Asian Nations แต่ไม่มีคำว่า ASEAN ที่มาของคำอาเซียนคือ เมื่อทุกประเทศพร้อมร่วมลงนามในปฏิญญาฯ ท่านรัฐมนตรีถนัดก็กล่าวขึ้นมาว่า เราควรจะเรียกชื่อย่อขององค์กรว่าอย่างไรดี? ท่านตุน อับดุล ราซัก (Tun Abdul Razak) ก็พูดขึ้นมาว่าอาเซีย (ASEA) สิ ที่ท่านเสนอเช่นนี้ เพราะในตอนนั้นยังไม่มีคำว่า Nations ยังคงเป็น Association of Southeast Asians ท่านรัฐมนตรีถนัดก็เลยเสนอว่าอินโดนีเซีย โดยเฉพาะท่านอาดัม มาลิก มักจะเก่งเรื่องการบัญญัติคำด้วยการนำตัวอักษรมาประกอบเป็นคำย่อ (acronym) ว่าแล้วท่านถนัดก็หันไปถามท่านอาดัม มาลิก ว่า ท่าน ดร.อาดัมท่านว่าอย่างไร ท่านคิดว่าควรเรียกชื่อองค์กรอย่างไรดี ท่านอาดัม มาลิก เลยเสนอว่าให้เติมอักษร N สำหรับคำว่า Nations เข้าไปในปฏิญญาฯ เพื่อให้เป็นคำอ่านว่า ASEAN (อาซีอ้าน) ...”
    คุณวิทยาบอกต่อว่า
    “ประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ก็เหมือนห้านิ้วของมือ ถ้ามีห้านิ้วแล้ว กำมือเข้ามาแล้ว จะไปชกต่อยกับใครก็ได้ ฉะนั้น ต้องหาคู่ต่อสู้ ต้องกำหมัด...”
    (พรุ่งนี้ กว่าจะก้าวเข้าสู่ “เขตการค้าเสรีอาเซียน” AFTA).
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"