WEF ชี้ชัดไทยเข้าสู่ยุค 4.0 มากขึ้น ขีดความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้น ขยับอยู่อันดับ 38 จากปี 60 อยู่ที่ 40 ขุนคลังบินรวมถกเวทีไอเอ็มเอฟ-ธนาคารโลก ชมเปาะเศรษฐกิจไทยยังแกร่ง
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายพสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) แถลงรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index : GCI 4.0) ซึ่งเปรียบเทียบความสามารถทางการแข่งขันของ 140 ประเทศทั่วโลกว่า ในปีนี้ผลสำรวจชี้ชัดว่าประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 38 โดยมีคะแนน 67.5 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน นับว่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปีที่ผ่านมา ซึ่งปี 60 ไทยอยู่ในอันดับที่ 40 และมีคะแนน 66.3
ในปีนี้ประเทศที่ได้อันดับ 1-10 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยสิงคโปร์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร สวีเดน และ เดนมาร์ก ตามลำดับ
สำหรับคะแนนและอันดับของประเทศนั้น หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะพบว่าด้านที่มีอันดับที่ดีและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านระบบการเงิน ที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 14 ของโลก และได้รับคะแนน 84.19 (จาก 100) โดยในด้านระบบการเงินนั้น มีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมของเงินทุน การให้สินเชื่อ ผลิตภัณฑ์การเงินประเภทต่างๆ รวมทั้งระบบในการลดและกระจายความเสี่ยงต่างๆ ทางด้านการเงิน
ส่วนด้านที่ประเทศไทยยังจะต้องพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่ความเป็น 4.0 ให้มากขึ้นนั้น ประกอบไปด้วย ด้านการแข่งขันภายในประเทศ ซึ่งอยู่อันดับที่ 92 ของโลก ด้วยคะแนน 53.4 โดยในด้านนี้จะเกี่ยวข้องกับระบบการแข่งขันภายในประเทศที่เปิดให้บริษัทต่างๆ ได้มีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการปิดกั้นและความซับซ้อนของกฎระเบียบต่างๆ นอกจากนี้ ด้านการศึกษาและทักษะ อยู่ที่ 66 ของโลก ด้วยคะแนน 62.99
"ทาง WEF พยายามชี้ให้เห็นว่า ถ้าประเทศต่างๆ มุ่งเน้น 4.0 เพิ่มคะแนน 4.0 ให้ดีขึ้น รายได้ของประชากรก็จะเพิ่มขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้น และประชาชนของประเทศก็จะมีความสุขมากขึ้น โดยผลสำรวจของปี 61 บ่งบอกชัดเจนระหว่างความสัมพันธ์ของการแข่งขันกับรายได้ ซึ่ง 20 อันดับแรกของโลก เป็นประเทศที่มีรายได้สูงทั้งสิ้น และ 40 ประเทศก็เป็นประเทศที่มีรายได้สูงทั้งสิ้น ยกเว้นอยู่ 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย จีน และไทย ซึ่งเราสามารถเพิ่มคะแนนให้สูงขึ้นในปีถัดไปได้โดยเน้นด้านนวัตกรรม" นายพสุระบุ
ทั้งนี้ ตามแนวทางของ WEF การที่ประเทศจะก้าวไปสู่ความเป็น 4.0 ต้องให้ความสำคัญทั้งหมด 4 ด้าน คือ ระบบเศรษฐกิจและการธุรกิจที่มีความคล่องตัว, นวัตกรรมทั้งระบบ ทั้งด้านที่จับต้องไม่ได้ หรือความหลากหลายของคน ความคิดของคน และที่จับต้องได้ และบุคลากรที่มีทักษะและสุขภาพดี รวมถึงรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ที่พร้อมที่จะปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม นโยบาย 4.0 ของรัฐบาล ถือว่ามาถูกทางแล้ว สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จไปอีกขั้น แต่ก็ยังมีข้อกังวลในเรื่องของการปฏิบัติ จากไอเดียที่คิดจะทำยังไงให้นำไปปฏิบัติได้จริง ขณะเดียวกันมองภายหลังมีการเลือกตั้งแล้วการเมืองยังไม่มีความมั่นคงไปอีก 2-3 ปี น่าจะทำให้ระดับการแข่งขันของประเทศปรับตัวลดลงได้
ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ในฐานะผู้ว่าการของไทยในกลุ่มธนาคารโลก เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปี 2561 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้แข็งแกร่งในปีหน้า
นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาพรวมทั้ง 2 องค์กรไม่ได้เป็นห่วงต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี เห็นได้จากทั้ง 2 องค์กรปรับจีดีพีไทยเพิ่มขึ้นจากระดับ 3% กว่ามาอยู่ในระดับ 4.5-4.6% แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากปัญหาสงครามการค้าก็ตาม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |