พท.ผวา'ไซเบอร์'ล้วงตับ รบ.อ้างกม.ยังปรับแก้ได้


เพิ่มเพื่อน    

    "กองปราบฯ" นำ 3 แกนนำเพื่อไทยส่งอัยการสั่งฟ้องคดีแถลงข่าว 4 ปี คสช.เข้าข่ายยุยง ปลุกปั่น "จาตุรนต์" โวยรัฐบาลเข็นร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์หวังจำกัดสิทธิเสรีภาพฝ่ายตรงข้าม แถมส่งผลต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุน "วิษณุ" ไม่กังวลเสียงวิจารณ์ บอกเป็นเรื่องดี จะได้นำมาปรับปรุงก่อนประกาศใช้
    ที่สำนักงานอัยการสูงสุด วันที่ 17 ต.ค. พนักงานสอบสวนกองปราบปราม นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข, นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายชูศักดิ์ ศิรินิล แกนนำพรรคเพื่อไทย เป็น 3 ผู้ต้องหาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งผู้แทนแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือข้อหายุยงปลุกปั่น กรณีแถลงข่าวถึงผลงานของ คสช. ในหัวข้อ “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาลและ คสช. นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย” ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2561 ต่ออัยการสำนักงานคดีอาญา โดยในวันนี้ผู้ต้องหาทั้งสามเดินทางมาพบพนักงานอัยการเพื่อรับทราบ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวกับพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาเสร็จสิ้นแล้ว นายวัฒนากล่าวว่า อัยการได้นัดฟังคำสั่งคดีนี้ครั้งแรกในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เวลา 13.00 น. ส่วนหากจะมีคำสั่งคดีในวันดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ทางอัยการจะมีการประสานมาว่าจะให้มาทราบนัดฟังคำสั่งด้วยตนเอง ซึ่งหลังจากนี้ตนก็จะยื่นร้องขอความเป็นธรรมเข้าไปด้วยเช่นกัน 
    "ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. บอกเข้ามาเพื่อสร้างความปรองดอง เคารพความเห็นต่าง มาถามผมซิ เดินขึ้นอัยการขึ้นศาลกี่รอบ เคารพแบบไหนที่ให้คนมาแจ้งความดำเนินคดีกับพวกผม ทั้งที่เป็นความเห็นต่าง ใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทีหลังอย่าหลับตาโกหก ฝากไปบอกด้วย" นายวัฒนากล่าว
    ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ว่า ทางพรรคเพื่อไทยคุยกันทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.ไซเบอร์ เรามีหลักการสำคัญคือ ควรจะใช้ประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของระบบคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เพื่อประโยชน์ทางการทำธุรกิจของภาคเอกชน หรือการสื่อสารระหว่างประชาชนให้มีเสรี และคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคล เอกชน ไม่ควรใช้มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้อยู่ตรงข้ามผู้มีอำนาจ 
    "พ.ร.บ.นี้จะทำให้เกิดผลเสียต่อธุรกิจ ระดับโลกจะไม่กล้ามาลงทุนถ้ากฎหมายล้าหลัง เผด็จการ อนุญาตให้รัฐแทรกแซงล่วงรู้ข้อมูลที่ไม่จำเป็นของเอกชนหรือประชาชน เราเป็นห่วงภาคเอกชน การลงทุนของประเทศ" นายวัฒนากล่าว
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนว่า ถือเป็นเรื่องดีที่มีความกังวล เพราะก่อนหน้านี้การออกกฎหมายอาจจะมีการมุบมิบออก ประชาชนจะมารู้ก็ต่อเมื่อกฎหมายประกาศใช้ แต่เจตนารมณ์ของมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญนั้น กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนระหว่างการออกกฎหมายในทุกขั้นตอน ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการร่าง และจะยังกลับเข้ามาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงยังไม่มีอะไรที่ ครม.จะบอกว่าสิ่งไหนถูกหรือผิด สิ่งไหนเอาหรือไม่เอา
    "คนที่เพิ่งเห็นเรื่องแล้วออกมาวิพากษ์วิจารณ์นั้น  เป็นสิ่งที่เราอยากเห็น เจ้าของร่างกฎหมายจะได้นำความคิดเห็นไปปรับปรุง แต่ประชาชนต้องเรียนรู้เช่นกันว่าการรับฟังความคิดเห็นนั้นยังไม่ใช่ข้อยุติ ยังมีอีกหลายขั้นตอน ทั้งในขั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาและขั้นสภา และหลังจากนี้ยังมีขั้นตอนของ ส.ว.อีก เพราะฉะนั้นการวิจารณ์ถือเป็นเรื่องดี ขอเชิญชวน เพราะก่อนหน้านี้ผมเสียดายกฎหมายหลายฉบับที่เปิดรับฟังความคิดเห็น แต่มีผู้แสดงความคิดเห็นน้อย และที่แสดงความเห็นนั้นส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย แต่พอกฎหมายจะออกกลับมีการโวยวาย" รองนายกฯ กล่าว.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"