ย้อนรอยไทยผลักดันตั้งอาเซียน เมื่อลีกวนยูฝันร้ายกลัวไทยขุดคอคอดกระ


เพิ่มเพื่อน    


    ผมเพิ่งได้หนังสือชื่อ "50 ปีของไทยในอาเซียน" ที่กระทรวงการต่างประเทศตีพิมพ์ เป็นวิธีการบันทึกประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริงและมีประสบการณ์โดยตรง เรียกว่า oral  history
    ผมอ่านแล้วได้ประโยชน์และสนุกมาก สะท้อนถึงบทบาทของประเทศไทยที่ถือได้ว่าเป็นแกนหลักในการก่อตั้งอาเซียนตั้งแต่ยังตั้งไข่ อีกทั้งไทยเรายังเป็นผู้ "เดินสาย" ไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อประสานให้มีการก่อตั้งองค์กรแห่งนี้ จนกระทั่งลงนามปฏิญญาอาเซียน (ปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8  สิงหาคม 2510 ณ วังสราญรมย์ กระทรวงการต่างประเทศ)
    ตอนหนึ่งของหนังสือ ดร.สมปอง สุจริตกุล ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขานุการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.ถนัด คอมันตร์
    เกร็ดสำคัญตอนหนึ่งคือที่นายลีกวนยู นายกฯ สิงคโปร์ขณะนั้นยอมรับว่ามีความหวั่นเกรงมากๆ  ว่าประเทศไทยจะขุดคอคอดกระ ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์หมดความหมายในทันที
    ดร.สมปอง สุจริตกุลเล่าว่า
    "ก่อนหน้าที่จะตั้งอาเซียน เรามีกลุ่มภูมิภาคแล้ว เรียกว่า Association of South East Asian  States (ASA) มี 3 ประเทศ คือ ไทย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่เหตุการณ์ที่กระตุ้นให้อาเซียนเกิดขึ้นก็คือ ในเวลานั้นสิงคโปร์แยกตัวออกมาจากมาเลเซีย สิงคโปร์เป็นประเทศที่เล็กมาก แต่ก็มีศักยภาพสูงมากเช่นกัน และก็มีนายพลซูฮาร์โตที่เพิ่งขึ้นมาเป็นใหญ่ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรมุสลิมกว่า 100  ล้านคน ซึ่งในขณะนั้นท่านรัฐมนตรี (ต่างประเทศ) ถนัด (คอมันตร์) เห็นว่าอาจจะเป็นโอกาสเหมาะ  ท่านเลยปรารภขึ้นมาว่าเราไปคุยกับประเทศเพื่อนบ้านกันดีกว่า ว่าเขาสนใจจะรวมตัวกันหรือไม่ และได้มอบหมายให้ผมยกร่างเอกสารซึ่งต่อมาได้กลายเป็นร่างแรกๆ ของปฏิญญากรุงเทพฯ แต่เราก็ทำในรูปแบบที่ง่ายที่สุด คือยกร่างในรูปแบบของ Joint Communique ซึ่งต่อมาเนื้อหาได้ผันแปรมาเป็น  Bangkok Declaration..."
    ท่านเล่าต่อว่า
    "ตอนนั้นยังไม่มีคำว่า ASEAN ผมตั้งชื่อในร่างว่า SEA ARC-South East Asia Association for  Regional Cooperation 
    จากนั้นไปมาเลเซีย ไปพบผู้ใหญ่ที่สุด ก็มีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตุนกู อับดุล ราห์มัน (Tunku Abdul Rahman) ท่าน Tunku Abdul Rahman มีความสนิทสนมกับเมืองไทยเป็นอย่างดี ท่านเป็นบุตรชายของสุลต่านแห่งรัฐเกดะห์ และเป็นบุตรบุญธรรมของรัชกาลที่  6 ท่านเรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ภรรยาคนแรกของท่านก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ท่านพูดภาษาไทยคล่อง ท่านได้ให้การรับรองท่านถนัดและผมเป็นอย่างดี
    เราก็ยื่นร่างข้อเสนอให้ท่านไปพิจารณา และท่านได้มอบให้ให้นายอิสเมล บิน แอมเบีย (Datuk  Ismail bin Ambia) เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการต่อ ซึ่งต่อมา Datuk  Ismail bin Ambia ก็มาเป็นเลขาธิการอาเซียนฝ่ายมาเลเซีย
    ในวันนั้นพอหารือข้อราชการกับท่านรัฐมนตรีถนัดเป็นที่เรียบร้อย ท่าน Tunka Abdul Rahman ก็เอ่ยปากชวนผมซึ่งขณะนั้นเพิ่งอายุ 30 ต้นๆ ไปดูการแข่งขันฟุตบอลภายในของมาเลเซีย ท่านตุนกูอยู่เมืองไทยมานาน พูดภาษาไทยคล่อง แต่ท่านไม่พูดภาษาไทยกับผมเลย ระหว่างที่ชมการแข่งขันฟุตบอลในวันนั้น ท่านพูดคุยกับผมเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด
    ต่อมาจากมาเลเซีย เราก็ไปสิงคโปร์ สิงคโปร์นี่ข้ามเขตแดนด้วยรถยนต์จากมาเลเซียตรงช่องแคบมะละกา ไปหารือกับท่านลีกวนยู (Lee Kuan Yew) ในการพบปะครั้งนั้นมีเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กน้อย คือท่านลีกวนยูปรารภขึ้นมาว่า ตั้งแต่ได้รับเอกราชมาท่านกลัวและมีฝันร้าย (nightmare) อยู่เรื่องเดียวบ่อยครั้ง คือฝันร้ายว่าถ้าประเทศไทยขุดคอคอดกระขึ้นมาเมื่อใด สิงคโปร์ก็จะหลุดลอย อันนี้เป็นความกลัวของท่าน เราก็พยายามบอกท่านว่า ไม่มีวี่แววว่าเราจะไปขุดคอคอดกระ แต่ว่า pipeline ขนส่งน้ำมันนี่อาจจะสร้างนะ pipeline ที่ว่านี้ก็คือเอาเรือมาจอดที่ฝั่งอันดามัน เอาน้ำมันเข้ามาในอ่าวไทย ผ่าน pipeline มา แล้วก็มาลงเรือในอ่าวไทย เราก็คงจะทำได้โดยไม่ต้องขุด ขุดนี่มันก็มีอันตราย เราก็เรียนให้ท่านลีกวนยูทราบว่าเราก็ไม่อยากเสี่ยงเหมือนกัน และในอีกแง่หนึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญไทยอีกด้วย เพราะแผ่นดินไทยควรจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แบ่งแยกมิได้ แล้วจะไปขุดทำไม ไปขุดเหมือน  Suez Canal หรือก็จะมีปัญหา Panama Canal ก็มีปัญหา ล้วนมีปัญหาการเมืองทั้งสิ้น สิ่งนี้เราได้เห็นมาแล้ว เราก็เรียนท่าน
    ก่อนที่เราจะไปที่สิงคโปร์ ท่านลีกวนยูเพิ่งมาเยือนประเทศไทย ผมรับหน้าที่พาท่านไปเล่นกอล์ฟ  แต่ฝีมือท่านคนละชั้นกับผม ท่านไม่ต้องใช้หัวไม้เลย ท่านใช้ไม้เหล็ก 5 ตี ตีครั้งหนึ่งก็ 250 หลา ตีไกลมาก ท่านแข็งแรงมาก ตีไกลมากและแม่นมากด้วย ผมมันคนละระดับ ก็พาท่านไปสนุกๆ ไปที่บางพระ  ท่านก็ชอบ
    ที่สิงคโปร์เราก็ประชุมกัน พิจารณาร่างที่ผมเสนอไป จากสิงคโปร์เราก็ไปต่ออินโดนีเซีย เดินทางในลักษณะนี้ นำความเห็นและข้อเสนอแนะของแต่ละท่านไปแจ้งให้คนอื่นได้ทราบ ทุกฝ่ายก็ไม่มีใครคัดค้านอะไร
    สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือในปี 2506 มาเลเซียได้รับเอกราช และไม่นานจากนั้นอินโดนีเซียซึ่งมีความระแวงมาเลเซียและอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ประกาศนโยบายเผชิญหน้า (konfrontasi) กับมาเลเซีย เพื่อแย่งดินแดนรัฐซาบาห์ (Sabah) และซาราวัก (Sarawak) ระหว่างกัน
    ในขณะเดียวกันฟิลิปปินส์ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่มาเลเซียอ้างกรรมสิทธิ์เหนือรัฐซาบาห์ก็ออกมาประท้วงเช่นเดียวกัน ประเทศไทยและสหประชาชาติจึงเข้าไปมีส่วนร่วมการเจรจายุติความขัดแย้งในครั้งนี้ ในส่วนของเราเท่าที่ผมจำได้ก็มีท่านโอวาท สุทธิวาทนฤพุฒิ และท่านประสงค์ บุญเจิมไปช่วยผ่อนปรนไม่ให้เขาปะทะกัน ไม่ต้องการให้เขาทะเลาะกัน
    ฉะนั้นจากสิงคโปร์เราก็ไปอินโดนีเซีย เราก็ไปเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีซูการ์โน (Soekarno) ซึ่งขณะนั้นท่านเริ่มหมดอำนาจลงไปทุกทีแล้ว รัฐบาลใหม่ได้จำกัดบริเวณและให้ท่านไปอยู่ที่เมืองโบกอร์  (Bogor) ในตอนนั้นเป็นเมืองในป่าไกลมาก ครึ่งทางไปเมืองบันดุง (Bandung) ไปอีก ไปอยู่ทางใต้ เราก็ไปเยี่ยม ท่านรัฐมนตรีถนัดใกล้ชิดกับท่านประธานาธิบดีซูการ์โนเป็นอย่างดี ท่านเคยมาเยือนไทย
    ดังนั้นตอนเราไปอินโดนีเซีย เราไม่ได้หยุดอยู่เพียงที่จาการ์ตา แต่เราได้ลงไปทางใต้ของประเทศอีกด้วย ที่จาการ์ตาเราได้พบกับนายพลซูฮาร์โต (General Suharto) ซึ่งกำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ท่านให้การรับรองคณะของเราเป็นอย่างดี แต่ยังไม่มีความรู้เรื่องการต่างประเทศมากนัก  ในครั้งนั้นเราได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่เป็นครั้งแรก คือนายอาดัม มาลิก  (Adam Malik) ท่านเป็นคนเก่งมาก เป็นคนที่มาจากพื้นฐานการเมือง แต่มีส่วนสำคัญในการเจรจาอิสรภาพ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสหภาพโซเวียต
    ที่มาเลเซียเวลาเจ้าหน้าที่ปรึกษาหารือกันต่อหน้าคนต่างชาติ เขาจะพูดกันด้วยภาษามาเลย์ หรือภาษาจีนถ้าเป็นคนจีน แต่สำหรับอินโดนีเซีย เจ้าหน้าที่ของเขาจะไม่พูดภาษาบาฮาซา (Bahasa) เขากลัวคนกันเองรู้ เขาพูดภาษาดัตช์ เวลาอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ บังเอิญผมเคยประจำอยู่ที่ประเทศเนเธอแลนด์อยู่หลายปี และเคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ที่นั่น ก็พอจะฟังรู้เรื่อง แต่ทำเป็นฟังไม่รู้เรื่อง...
    (พรุ่งนี้: เมื่อไทยอ่านเกมออกว่าสหรัฐฯ จะต้องแพ้สงครามเวียดนาม).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"